วิเคราะห์ 4 ทางเลือกพา “ทีมหมูป่า” ออกจากถ้ำหลวง
แม้ว่าจะพบตัว 13 นักฟุตบอลและโค้ช “ทีมหมูป่าอะคาเดมี” แล้ว แต่ภารกิจครั้งนี้กลับยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เนื่องจากทีมกู้ภัยยังไม่สามารถพาทั้ง 13 ชีวิตออกมาจากถ้ำได้ เนื่องจากอุปสรรคอย่างปริมาณน้ำในถ้ำที่สูง สภาพแวดล้อมที่มืดมิด รวมทั้งสภาพร่างกายและการขาดทักษะในการดำน้ำของสมาชิกทีมหมูป่า ส่งผลให้ทั้งนักฟุตบอลและทีมกู้ภัยอาจต้องรออยู่ในถ้ำเป็นเวลานานอย่างน้อย 4 เดือนเลยทีเดียว
>> ผู้เชี่ยวชาญเผย “ทีมหมูป่า” อาจต้องรอใน "ถ้ำหลวง" อย่างน้อย 4 เดือน เพื่อความปลอดภัย
ระยะเวลาที่ยาวนานดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการถกเถียงในโลกออนไลน์ถึงแนวทางที่น่าจะเป็นไปได้ในการช่วยเหลือทีมหมูป่าให้ออกมาจากถ้ำหลวงเร็วกว่าเดิม ซึ่งเว็บไซต์ของสำนักข่าว The Guardian ได้สรุปแนวทางในการช่วยเหลือ 4 แนวทาง โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยจะต้องชั่งน้ำหนักความเสี่ยงของแต่ละแนวทาง ซึ่งไม่ว่าจะเป็นแนวทางใด ผู้เชี่ยวชาญก็ระบุว่าต้องใช้เวลานานหลายวันเป็นอย่างน้อย กว่าที่ทุกคนจะได้ออกมาจากถ้ำอย่างปลอดภัย
1. รอให้ระดับน้ำลดลง
แนวทางนี้ถือว่ามีความเสี่ยง เนื่องจากเป็นฤดูมรสุมของประเทศไทย แม้เจ้าหน้าที่จะเร่งสูบน้ำออกจากถ้ำ แต่ก็คาดว่าจะมีฝนตกลงมาเติมอีก และอาจต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าน้ำจะลดลงสู่ระดับเดียวกับในช่วงที่ทีมหมูป่าเดินเข้าไปในถ้ำ ซึ่งมีรายงานว่าหน่วยซีลของไทยได้เตรียมเสบียงอาหารให้กับทีมหมูป่า สำหรับระยะเวลานาน 4 เดือนเลยทีเดียว
2. เจาะช่องทางใหม่
การเจาะถ้ำเพื่อสร้างช่องทางใหม่ในการพาทีมหมูป่าออกมา ดูเหมือนจะไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติ แม้ว่าทีมกู้ภัยจะสำรวจรอบบริเวณถ้ำเพื่อหาช่องทางที่น่าจะเป็นทางเข้าถ้ำ แต่ก็ยังไม่พบช่องทางที่จะนำไปใกล้กับบริเวณเนินนมสาว ซึ่งเป็นจุดที่ทีมหมูป่าพักอยู่ และแม้ว่าจะเข้าไปได้ ทาง British Cave Rescue Council ก็กล่าวว่า “ทีมหมูป่าอยู่ในพื้นที่ที่ค่อนข้างเล็ก และอาจทำให้งานขุดเจาะถ้ำครั้งใหญ่นี้ สร้างความยากลำบากในการช่วยเหลือ”
3. สอนให้เด็กๆ และโค้ชดำน้ำเพื่อออกจากถ้ำ
แนวทางนี้ถือว่าเป็นไปได้ยากที่สุด เนื่องจากการดำน้ำในถ้ำเป็นกิจกรรมที่ยาก แม้จะเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าเด็กๆ ว่ายน้ำไม่เป็น และไม่เคยใช้อุปกรณ์ดำน้ำ ดังนั้น เด็กๆ อาจจะต้องเรียนว่ายน้ำควบคู่ไปกับการดำน้ำใต้ดิน นอกจากนี้ การนำทางในน้ำโดยหน่วยกู้ภัย ที่แม้จะมีประสบการณ์ ก็ยังเป็นเรื่องที่ยาก เนื่องจากน้ำขุ่น และทัศนวิสัยใต้น้ำแทบจะเป็นศูนย์ รวมทั้งกระแสน้ำที่ไหลแรง และเส้นทางที่แคบด้วย
4. ให้ทีมกู้ภัยต่อแถวเป็นโซ่ และส่งเด็กทีละคนไปจนถึงทางออก
ให้เด็กๆ สวมหน้ากากดำน้ำ พร้อมอุปกรณ์ช่วยหายใจ และชุดดำน้ำอย่างหนา เพื่อป้องกันภาวะตัวเย็นเกิน (hypothermia) จากนั้น ให้ทีมกู้ภัยต่อแถวเป็นโซ่ แล้วค่อยๆ ทยอยส่งเด็กทีละคนออกไปยังทางออก ซึ่งเป็นแนวทางที่ซับซ้อน อีกทั้งเส้นทางในถ้ำบางส่วนก็แคบมาก จนกระทั่งหน่วยซีลและอาสาสมัครต้องถอดอุปกรณ์ออก เพื่อให้ผ่านช่องทางแคบๆ ได้ ดังนั้นจึงยังไม่ชัดเจนว่าทีมหมูป่าจะสามารถผ่านด่านเหล่านี้ได้อย่างไร นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังระบุด้วยว่า วิธีการนี้จะต้องทำอย่างช้ามาก เพราะต้องส่งเด็กทีละคน ไม่สามารถส่งออกมาเป็นกลุ่มได้ และหากเกิดอะไรขึ้นกับคนแม้แต่คนเดียว หมายความว่าทุกคนจะตกอยู่ในอันตราย