เปิดขั้นตอนหลังนำ "ทีมหมูป่า" ออกจากถ้ำ เข้าห้องปลอดเชื้อ-ห้ามพ่อแม่เข้าใกล้
(4 ก.ค.) ที่อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉิน 14 ชั้น โรงพยาบาลเชียรายประชานุเคราะห์ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายแพทย์เจษฎา โชดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1 นายแพทย์ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย และ นายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้เดินทางไปตรวจดูห้องสามัญอุบัติเหตุ ชั้น 8 ของอาคารดังกล่าวเพื่อเตรียมความพร้อมรองรับนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าที่ยังอยู่ภายในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย หลังจากได้ทีมค้นหาพบตัวแล้วและอยู่ระหว่างฟื้นฟูสภาพร่างกายอยู่ภายในถ้ำและรอระดับน้ำลดลงอยู่
โดยนายแพทย์เจษฎา กล่าวว่าก่อนหน้านี้สาธารณสุขได้สนับสนุนด้านบุคลากร ยาและอาหาร ในการช่วยเหลือทั้ง 13 คนมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพบตัวทั้งหมดในถ้ำแล้วก็จัดเตรียมสถานที่โดยพร้อมทั้งการรองรับกรณีนำเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์จากจุดเกิดเหตุไปยังฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) ใกล้กับโรงพยาบาล ระยะเวลาประมาณ 15 นาทีและกรณีไปทางรถยนต์ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง สำหรับห้องสามัญอุบัติเหตุดังกล่าวถูกจัดให้มีศักยภาพเทียบเท่าห้องผู้ป่วยหนักหรือไอซียู ที่มีผู้ดูแลชนิดคนต่อคน และมีการจัดสถานที่พักเฉพาะให้ญาติที่ได้แจ้งลงทะเบียนเอาไว้กว่า 50 คน เพื่อให้สามารถเข้าเยี่ยมบุตรหลานได้เป็นช่วงๆ นอกจากนี้กรณีญาติหรือเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติงานพบอาการป่วยสามารถแจ้งแพทย์ได้ โดยมีการมอบบัตรเฝ้าระวังโรคให้คนละใบและมีสายด่วนกรณีป่วยโดยโทรศัพท์ไปที่โรงพยาบาลได้
นายแพทย์เจษฎา กล่าวอีกว่าแนวทางการดูแลรักษาทั้ง 13 คน ต้องประเมินอาการโดยแพทย์ก่อน 5-7 วันหลังออกจากถ้ำโดยเริ่มต้นด้วยการปรับอาหาร 3-7 วัน ซึ่งก็ต้องดูก่อนว่าจะออกจากถ้ำได้เมื่อไหร่ หากยังอยู่ในถ้ำนานและเสร็จสิ้นขั้นตอนให้อาหารเหลวแล้วก็จะส่งอาหารปกติเข้าไปให้เพื่อให้ร่างกายปรับตัว แต่เท่าที่ทราบพบว่าทั้งหมดสุขภาพกายแข็งแรงและพูดคุยได้ สุขภาพจิตดีดูสดชื่น ส่วนหนึ่งคือเกิดจากกำลังใจที่ได้รับ เมื่อไปถึงโรงพยาบาลสิ่งที่ต้องทำคือ ตรวจเลือด ตรวจหาเชื้อ ตรวจอาการต่างๆ และจากประวัติพบว่ามีผู้ที่มีอาการหอบหืดจำนวน 2 คน จึงได้จัดแพทย์เฉพาะทางด้านทางเดินหายใจและปอดรองรับแล้ว
"ภายในถ้ำที่มืดที่ไม่มีคนหรือสิ่งมีชีวิตก็เป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไปว่าจะมีเชื้อโรคต่างๆ หรือไม่ ดังนั้นเราจึงต้องจัดให้ห้องสามัญอุบัติเหตุดังกล่าวเป็นห้องปลอดเชื้อ ผู้เข้าออกต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยและเสื้อผ้าที่จัดเตรียมไว้ ภายในห้องมีระบบตรวจหัวใจ ดูดเสมหะ ตรวจชีพจร เครื่องกระตุ้นหัวใจ ฯลฯ เทียบเท่าห้องไอซียู ส่วนทั้ง 13 คนเริ่มแรกคงต้องให้ใส่แว่นตากันแดดหรือใช้ผ้าปิดก่อนโดยจักษุแพทย์ดูเป็นการเฉพาะ" นายแพทย์เจษฎา กล่าว
>>อีกคลิปในถ้ำหลวง "หมอภาคย์" ตรวจร่างกาย-ทำแผลทีมหมูป่า ยิ้มสู้ชู 2 นิ้ว
>>หน่วยซีลเผยคลิปล่าสุด "ทีมหมูป่า" ได้กินอาหาร-ห่มผ้า ส่งเสียงทักทายจากในถ้ำหลวง
สำหรับสุขภาพจิตของญาตินั้นนั้น กรมสุขภาพจิตแจ้งว่าก่อนมีข่าวพบทั้ง 13 คนภายในถ้ำ ได้มีผู้ปกครองมีอาการซึมเศร้าจำนวน 6 คน แต่หลังจากพบทั้งหมดก็มีอาการดีขึ้นอย่างมาก
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวด้วยว่าช่วงแรกคงต้องให้ทั้งหมดอยู่ในห้องดูแลก่อน 1-2 วันโดยให้ผู้ปกครองและญาติอยู่ที่บ้านพักก่อน จากนั้นจึงเปิดให้เข้าเยี่ยมบุตรหลานของตัวเองได้ แต่ยังคงให้สวมเสื้อเสื้อผ้าและหน้ากากอนามัยให้มิดชิดรวมทั้งอยู่ห่างระยะ 2 เมตร กระนั้นเนื่องจากพบว่าทั้ง 13 คนสุขภาพแข็งแรงจึงจะดูอาการและตัดสินใจเรื่องการดำเนินการกันเป็นครั้งๆ ไป ส่วนกรณีพบภาพบาดแผลถลอกของเด็กๆ ภายในถ้ำนั้นถือเป็นเรื่องปกติ และเมื่อดูแล้วไม่พบอาการติดเชื้อหรือบวมแดงที่แผลแต่อย่างใด
นายแพทย์เจษฎา กล่าวในตอนท้ายว่าในปัจจุบันทีมแพทย์รักษามีการติดต่อทางวิดีโอคอนเฟอร์เรนท์กับภายในถ้ำเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและรองรับกรณีนำเดินทางไปถึงโรงพยาบาลดังกล่าว ส่วนการจะสรุปได้ว่าทั้ง 13 คนจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้หลังกระบวนการผ่านพ้นไป 5-7 วันหรือไม่ ยังตอบไม่ได้เพราะต้องผลการตรวจต่างๆ ดังกล่าวก่อน โดยเฉพาะการตรวจบางเชื้อต้องส่งไปยังกรุงเทพฯ และต้องปรับดูผลกันวันต่อวันต่อไปด้วย
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ