สหรัฐฯส่งเชื้อหวัดหมูให้แพทย์จุฬาฯวิจัย
สัตวแพทย์จุฬาฯ ยันหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ไม่เกี่ยวสุกรสามารถกินได้ปกติ ด้านศ.นพ.ยง เผย แพทย์จุฬาฯปรับวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสได้เร็วขึ้นจาก 18 ชั่วโมง เหลือ 4 ชั่วโมงรู้ผล ระบุ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐฯจะส่งเชื้อหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ตายแล้วมาให้ทีมแพทย์จุฬาฯวิจัย คาดถึงไทยจันทร์นี้
(1พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดโครงการ เวทีจุฬาฯเพื่อประชาสังคม ซึ่งระดมผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมชี้แจงให้ความรู้เกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันของ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ที่กำลังเป็นที่วิตกของคนทั่วโลก ศ.น.สพ.รุ่งโรจน์ ธนาวงษ์นุเวช หัวหน้าชันสูตรโรคตับ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่คาดว่ามียีนสำคัญคือ เอช1 มาจากเชื้อไวรัสของสุกรจากอเมริกาเหนือ ส่วนยีนนิวรามินิเดส (เอ็นเอ) และยีนเมตริก (เอ็ม) เป็นยีนที่มาจากเชื้อไวรัสกลุ่มที่แยกได้ในยุโรป-เอเชีย ซึ่งไม่เคยพบมาก่อนในคนและสุกรในอเมริกา และไม่พบว่ามีการแพร่กระจายไวรัสไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกในสุกรของอเมริกา
เหตุการณ์นี้ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องสุขศาสตร์อาหาร ดังนั้น ยังสามารถกินเนื้อสุกรได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ ผู้ป่วย 20 รายที่ได้รับการตรวจพิสูจน์ยืนยันโดยศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคของสหรัฐ ไม่มีรายใดที่มีประวัติการสัมผัสสุกรโดยตรงเลย ถึงขณะนี้ยังไม่ทราบว่าเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวจะก่อให้เกิดโรคในสุกรได้หรือไม่ โดยสถาบันสัตว์ของสหรัฐจะประเมินทดลองฉีดเชื้อไวรัสนี้ในสุกรเพื่อวัดความรุนแรงต่อไป
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก กล่าวว่า ทีมแพทย์จุฬาฯมีประสบการณ์การตรวจหาเชื้อผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ซึ่งผลออกมาเป็นเพียงไข้หวัดใหญ่ปกติ ขั้นตอนการตรวจใช้เวลา 18 ชั่วโมงนับว่านานมาก ขณะนี้ทีมแพทย์ได้เตรียมพร้อมการตรวจให้รวดเร็วขึ้น ด้วยการออกแบบวิธีตรวจแบบ Realtime PCR Perfectmatch ขึ้น มีนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถเปรียบเทียบคัดแยกสายพันธุ์ได้ทันที ใช้เวลาเพียง 4 ชั่วโมงเท่านั้น และวันนี้ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐจะส่งเชื้อไข้หวัดใหญ่เม็กซิโกที่ตายแล้วในรูปของอาร์เอ็นเอ มาให้ คาดว่าจะถึงไทยวันจันทร์นี้ ซึ่งทีมแพทย์จะใช้เชื้อดังกล่าวเป็นตัวต้นแบบคัดแยกสายพันธุ์ ให้ได้มาตรฐานตามแบบสากล เชื่อมั่นว่าการระบาดของหวัดใหญ่นี้จะไม่รุนแรงเหมือนหวัดใหญ่สเปนเมื่อ 90 ปีที่แล้ว.
ด้าน สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย แจ้งว่า สำนักงานบรรเทาทุกข์ฯได้วางแผนเตรียมรับมือหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ที่ระ บาดในเม็กซิโก หรือไข้หวัดใหญ่ เอช1 เอ็น 1 ชนิดเอ ดังนี้ 1.ติดตามข้อมูลข่าวสารสถานการณ์ และการเฝ้าระวังโรคใกล้ชิด โดยมีการรวบรวมข้อมูลและราย งานสถานการณ์แก่ผู้บริหาร ฝ่าย และหน่วยต่างๆ อย่างต่อเนื่องอย่างน้อย 2 วัน/ครั้ง หรือตามสถานการณ์ความรุนแรงที่จำเป็นต้องรายงานทุกวัน พร้อมประ กาศทางเสียงตามสาย 2.ให้ความรู้กับบุคลากรในสำนักงาน ผ่านสื่อประชาสัมพันธ์ต่างๆ เช่น การจัดบอร์ดนิทรรศการทั้งส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค เพื่อให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่และประชาชนภายนอก พร้อมแจกเอกสารความรู้เกี่ยวกับโรคไปยังฝ่ายต่าง ๆ 3. มีการวางแผนพัฒนาระบบการจัดหาและพัฒนาเกณฑ์ขั้นต่ำในการสำรองเวชภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ป้องกันในหน่วยงาน และประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัทเอกชน ในการจัดหาเวชภัณฑ์ วัสดุอุปกรณ์ป้องกันดังกล่าว 4.มีการวางแผนสำรองถุงชุดธารน้ำใจฯในกรณีที่มีการระบาดในไทย และมีพื้นที่ที่กักกันในระยะเวลายาวนาน ทั้งนี้ สนง.บรรเทาทุกข์ฯ ได้มีการสำรองหน้ากาก (Mask) แบบพิเศษ ในคลัง รวม 400 ชิ้น ดังนี้ N95 รุ่น 1860 จำนวน 190 ชิ้น รุ่น 8210 จำนวน 200 ชิ้น N100 รุ่น 8233 จำนวน 10 ชิ้น นอกจากนี้ ยังมีหน้ากากแบบธรรมดา ในคลัง รวม 4,500 ชิ้น และมีชุดอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล (PPE ) จำนวน 20 ชุด (1 ชุด มี 9 รายการ)
ขณะที่ นพ.ปราชญ์ บุญยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการอำนวยการเตรียมพร้อมป้องกันและควบคุมแก้ไขสถานการณ์ระบาดใหญ่ของไข้หวัดใหญ่ เปิดเผยว่า ได้เตรียมทำรายละเอียดเกี่ยวกับของบประมาณจากงบกลาง 120 ล้านบาท เพื่อนำเสนอต่อ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการฯ ก่อนนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม.อนุมัติในวันพุธที่ 6 พ.ค. นี้
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ในไทย ตั้งแต่วันที่ 28-30 เม.ย. 2552 สำนักระบาดวิทยาได้รับรายงานจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักควบคุมป้องกันควบคุมโรคประจำเขต มีผู้ป่วยในข่ายเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่สะสม 4 ราย จาก กทม. สมุทรปราการ และเชียงใหม่ โดย 3 ราย มีประวัติเดินทางจากพื้นที่เสี่ยงในระยะ 7 วันก่อนป่วย อีก 1 ราย เป็นชาวออสเตรเลีย มีประวัติเดินทางไปมาเลเซียซึ่งไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงก่อนป่วย 2 สัปดาห์ เดินทางมาประเทศไทยผ่านสนามบินสุวรรณภูมิเมื่อวันที่ 29 เม.ย.ตรวจพบมีไข้สูงจึงขอนอนพักที่ สถาบันบำราศนราดูร ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไม่พบรายใดติดเชื้อโรคหวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 จึงตัดออกจากรายการเฝ้าระวัง โดยวันนี้แพทย์อนุญาตให้ชาวออสเตรเลียกลับบ้านได้ ซึ่งทางสถาบันบำราศนราดูรได้จัดรถส่งถึงบ้านที่พัทยา โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย
นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก องค์การอนามัยโลกรายงานตั้งแต่ 24 เม.ย.-1 พ.ค. มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 จาก 11 ประเทศ 257 ราย เสียชีวิต 8 ราย ประกอบด้วย อเมริกาป่วย 109 รายใน 11 รัฐ เสียชีวิต 1 ราย เม็กซิโกป่วย 97 ราย เสียชีวิต 7 ราย แคนาดาป่วย 19 ราย สหราชอาณาจักรป่วย 8 ราย สเปนป่วย 13 ราย เยอรมัน 3 ราย นิวซีแลนด์ 3 ราย อิสราเอล 2 ราย ออสเตรีย 1 ราย เนเธอร์แลนด์ 1 ราย และสวิสเซอร์แลนด์ 1 ราย
ปลัดสธ. กล่าวว่า มาตรการป้องกันไม่ให้เชื้อแพร่ระบาดในไทย ทางกระทรวงสาธารณสุขจะประชุมผู้ว่าฯวันที่ 6 พ.ค.นี้ เพื่อซ้อมแผนรับมือถ้าเกิดการระบาดใหญ่ ระหว่างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกับกรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในด้านการแพทย์ สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขต้องเคร่งครัดคือ การป้องกันปัญหาการดื้อยาต้านไวรัส โอเซลทาร์มิเวีย ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีปัญหา เนื่องจากยาดังกล่าวต้องใช้โดยแพทย์สั่ง มีเฉพาะในสถานพยาบาล ไม่มีจำหน่ายในร้านขายยา ในวันจันทร์ที่ 4 พ.ค.นี้ กรมการแพทย์จะจัดประชุมแพทย์ผู้รักษาและผอ.โรงพยาบาลทั่วประเทศ ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ส่วนสต็อกยาโอเซลทาร์มิเวียนั้น ขณะนี้ได้สั่งสำรองเพิ่มอีก 10 เท่า และในระดับอาเซียนยังมีสต็อกอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์อีกประมาณ 5 ล้านกว่าเม็ด จึงมั่นใจว่าเพียงพอ