บทเรียนราคาแพง ครบ 1 ปีน้ำท่วมใหญ่ ศูนย์ ปภ.เขต 7 เตรียมรับมือฤดูฝน
ศูนย์ ปภ.เขต 7 สกลนคร จัดอบรมสัมมนาเจ้าหน้าที่ และหน่วยกู้ภัย เตรียมรับมือภัยพิบัติต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นทุกเวลา โดยเฉพาะใกล้จะครบรอบ 1 ปี อุทกภัยครั้งใหญ่ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560
เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ที่โรงแรมสกลแกรนด์พาเลซ อ.เมือง จ.สกลนคร นายนภดล ไพทูรย์ รอง ผวจ.สกลนคร เป็นประธานเปิดโครงการสร้างและพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการแจ้งเตือนภัยพิบัติ
ซึ่งจัดโดยศูนย์ป้องกัน และบรรเทาสาธารณภัย เขต 7 สกลนคร ซึ่งมีพื้นที่ดูแล 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สกลนคร จ.นครพนม และจ.มุกดาหาร
โดยผู้เข้ารับการอบรมประกอบด้วย จนท.จากองค์กรการกุศล มูลนิธิ สมาคมวิทยุสมัครเล่น ชมรมออฟโรด กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน หรือมิสเตอร์เตือนภัย จนท.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจนท.ปภ. จาก 3 จังหวัด
ทั้งนี้ สถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในประเทศไทยทวีความรุนแรงขึ้น ไม่ว่าจากภัยธรรมชาติ หรือภัยที่เกิดขึ้นจากน้ำมือของมนุษย์ ภัยเหล่านี้ได้สร้างความเสียหาย และสูญเสียอย่างมากมายมหาศาล อาทิ อุทกภัยเมื่อปี 2554 หรือกรณีเกิดอุทกภัยใหญ่รุนแรงที่สุดในพื้นที่ จ.สกลนคร และ จ.นครพนม เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2560
นายทแกล้ว นุศรีวอ ผู้อำนวยการศูนย์ ปภ.เขต 7 สกลนคร กล่าวว่า เราเตรียมรับมือกับอุทกภัย เพราะเรามีบทเรียนเมื่อปีที่ผ่านมา การเตรียมการอพยพผู้ประสบภัยล่วงหน้าหากเกิดภัยขึ้นไม่ให้เกิดการสูญเสีย รวมถึงภัยพิบัติตามฤดูกาล เช่น ภัยแล้ง ไฟป่า อัคคีภัย หรือภัยที่เกิดจากอุบัติเหตุ จากสารเคมีวัตถุอันตราย
ดังนั้นกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จึงจัดอบรมโครงการสร้าง และพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการแจ้งเตือนภัยพิบัติขึ้น เพื่อให้มีความรู้ในการรับมือภัยพิบัติต่างๆ รวมถึงการเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ วิธีแจ้งเตือนภัย อันนำไปสู่การสร้างระบบป้องกันภัย
นอกจากนี้ เพื่อแสวงหาอาสาสมัคร ทำหน้าที่เฝ้าระวังเหตุการณ์และรายงานสถานการณ์ให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้รับทราบอย่างทันท่วงที โดยการถอดบทเรียนจากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้มีวิทยากรจากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ พล.ร.อ.เกาะหลัก เจริญรุข และพล.อ.อ.สมนึก เฉลิมถึก มาบรรยายให้ความรู้