8 ภารกิจกู้ภัยสุดระทึกที่สะเทือนสังคมไม่แพ้เหตุการณ์ถ้ำหลวง

8 ภารกิจกู้ภัยสุดระทึกที่สะเทือนสังคมไม่แพ้เหตุการณ์ถ้ำหลวง

8 ภารกิจกู้ภัยสุดระทึกที่สะเทือนสังคมไม่แพ้เหตุการณ์ถ้ำหลวง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากที่ใช้เวลาค้นหานานหลายวัน ในที่สุด ทางทีมช่วยเหลือก็สามารถเข้าถึงตัวเด็กและโค้ชทั้ง 13 คนที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง แม้ว่าขณะนี้เด็กๆ จะยังไม่สามารถออกจากถ้ำได้ แต่การค้นพบครั้งนี้ก็ได้ทำให้คนไทยจำนวนมากและเหล่าอาสาสมัครจากนานาชาติต่างรู้สึกโล่งใจและยินดีกับความสำเร็จครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ถ้ำหลวงไม่ใช่เหตุการณ์แรกที่สั่นสะเทือนความสนใจของคนทั้งสังคม เพราะก่อนหน้านี้ มีอุบัติภัยมากมายที่เคยเกิดขึ้นและกลายเป็นกระแสที่ทั่วโลกต้องพูดถึง ซึ่งเหล่าฮีโร่ที่เราต่างต้องยกย่องก็คือเหล่าทีมช่วยเหลือที่พร้อมใจกันปฏิบัติภารกิจอย่างสุดความสามารถ  เช่นเดียวกับเหล่าผู้รอดชีวิตที่ยังมีความหวังแม้จะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

Sanook! News ได้รวบรวม 8 ภารกิจกู้ภัยและเอาชีวิตรอดสุดช็อกที่ครั้งหนึ่งเคยสั่นสะเทือนความรู้สึกของคนจำนวนมาก แต่ก็ทำให้ทุกคนได้สัมผัสถึงความเป็นมนุษย์ที่เชื่อมโยงพวกเราเข้าด้วยกันโดยไม่ถูกจำกัดด้วยพรมแดนของประเทศ

1. ภารกิจกู้ภัยเครื่องบินตกที่แม่น้ำ Hudson

 Chesley หรือ 'Sully' Sullenberger และ Tom Hanks นักแสดงผู้รับบทเป็น Sully ในภาพยนตร์เรื่อง Sully ที่สร้างจากเหตุการณ์เครื่องบินตกในแม่น้ำ Hudson / GettyimagesChesley หรือ 'Sully' Sullenberger และ Tom Hanks นักแสดงผู้รับบทเป็น Sully ในภาพยนตร์เรื่อง Sully ที่สร้างจากเหตุการณ์เครื่องบินตกในแม่น้ำ Hudson / Gettyimages

เหตุการณ์: ภารกิจช่วยเหลือผู้โดยสารออกมาจากเครื่องบิน US Airways เที่ยวบินหมายเลข 1549 ที่ต้องลงจอดฉุกเฉินในแม่น้ำ สาเหตุของอุบัติเหตุครั้งนี้เกิดจากฝูงห่านเคราะห์ร้ายที่ถูกเครื่องยนต์ของเครื่องบินดูดเข้าไปขณะที่เครื่องกำลังเทคออฟออกจากสนามบิน LaGuardia กัปตัน Chesley Sullenberger และนักบินผู้ช่วย Jeffrey Skiles ได้ปฏิบัติการร่อนเครื่องลงจอดบนผิวน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นการลงจอดบนผิวน้ำที่ประสบความสำเร็จที่สุดในประวัติศาสตร์ของการบิน เหตุการณ์นี้ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์เรื่อง Sully ซึ่งฉายในปี 2016

สถานที่: แม่น้ำ Hudson เมือง New York City สหรัฐอเมริกา

วันที่เกิดเหตุ: 15 มกราคม 2009

จำนวนผู้รอดชีวิต: 155 คน

2. ภารกิจช่วยเหลือทารกที่ติดอยู่ในบ่อน้ำนาน 58 ชั่วโมง

ทีมกู้ภัยช่วยเหลือทารกน้อย Jessica McClure ที่ติดอยู่ในบ่อน้ำนานกว่า 3 วัน / Gettyimagesทีมกู้ภัยช่วยเหลือทารกน้อย Jessica McClure ที่ติดอยู่ในบ่อน้ำนานกว่า 3 วัน / Gettyimages

เหตุการณ์: Jessica McClure วัย 18 เดือน พลัดตกลงไปในบ่อน้ำลึก 22 ฟุต ระหว่างที่ถูกปล่อยให้อยู่คนเดียวในสวนหลังบ้านของป้า ทีมกู้ภัยต้องใช้เวลาถึง 58 ชั่วโมงทีเดียว ก่อนที่จะช่วยทารกน้อยออกมาได้ ปัจจุบันเธอเติบโตขึ้น แต่งงาน และมีลูกชาย เหตุการณ์นี้โด่งดังไปทั่วทั้งอเมริกา เหตุเพราะเด็กหญิงใช้วิธีการที่แสนจะน่ารักและชวนให้เอาใจช่วย ด้วยการร้องเพลง Winnie the Pooh ตลอดเวลาที่ติดอยู่ด้านใน เพื่อบอกทีมกู้ภัยว่าเธอยังมีชีวิตอยู่ และเธอยังได้รับเงินบริจาคเป็นจำนวนกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากเหล่าผู้ชมทั่วประเทศที่ประทับใจในความน่ารักของเธอ

สถานที่: Midland รัฐ Texas

วันที่เกิดเหตุ: 14 – 16 ตุลาคม 1987

จำนวนผู้รอดชีวิต: 1 คน

3. ปาฏิหาริย์การกู้ภัยเพื่อช่วยเหลือคนงานในเหมืองที่จีน

เหมืองถ่านหิน Wangjialing ในมณฑลซานซี ที่ซึ่งคนงานหลายชีวิตถูกช่วยออกมาหลังจากที่เหมืองถูกน้ำท่วม /AFP PHOTO/Peter PARKSเหมืองถ่านหิน Wangjialing ในมณฑลซานซี ที่ซึ่งคนงานหลายชีวิตถูกช่วยออกมาหลังจากที่เหมืองถูกน้ำท่วม /AFP PHOTO/Peter PARKS

เหตุการณ์: คนงานเหมืองในจีนได้ทำการขุดอุโมงค์ใหม่ ทว่าเกิดเผลอไปเจาะโดนอุโมงค์เก่าที่มีน้ำขัง ทำให้น้ำไหลบ่าออกมาและ ทำให้คนงานกว่า 153 ชีวิต ต้องติดอยู่ใต้พื้นดิน หลังจากที่ความหวังเริ่มริบหรี่ ทีมกู้ภัยกลับได้รับสัญญาณของชีวิตผ่านเสียงเคาะที่ดังมาจากด้านในลึกเข้าไป จนกระทั่งวันที่ 2 เมษายน 2010 ทีมกู้ภัยได้ส่งนม กลูโคส และคำพูดให้กำลังใจแก่เหล่าผู้เคราะห์ร้ายที่ติดอยู่ด้านใน และ 3 วันต่อมา ทางทีมจึงสามารถส่งแพเข้าไปรับตัวผู้รอดชีวิต 115 คน ออกมาได้ในที่สุด

สถานที่: มณฑลซานซี ประเทศจีน

วันที่เกิดเหตุ: 28 มีนาคม – 9 เมษายน 2010

จำนวนผู้รอดชีวิต: 115 คน

4. เหตุการณ์เครื่องบินตกที่เทือกเขาแอนดีส

ร่างผู้เสียชีวิตที่เน่าเปื่อยกลางหิมะนอกซากเครื่องบินของอุรุกวัยที่ประสบอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม / Gettyimagesร่างผู้เสียชีวิตที่เน่าเปื่อยกลางหิมะนอกซากเครื่องบินของอุรุกวัยที่ประสบอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม / Gettyimages

เหตุการณ์: เที่ยวบินหมายเลข 571 ของกองทัพอากาศอุรุกวัยประสบอุบัติเหตุตกลงที่เทือกเขาแอนดีส บนเครื่องมีผู้โดยสารเป็นทีมนักรักบี้ พร้อมเพื่อนและครอบครัว 45 ชีวิต หลายคนเสียชีวิตทันทีที่เครื่องตก ในขณะที่บางคนเสียชีวิตจากอาการบาดเจ็บและความหนาวเย็น การค้นหาเพื่อช่วยเหลือต้องถูกยกเลิกหลังจากที่ผ่านไปเพียง 8 วัน ในขณะที่ผู้รอดชีวิตที่หลงเหลืออยู่เริ่มขาดอาหาร พวกเขาจึงจำเป็นต้องกินเนื้อของเพื่อนร่วมทีมที่เสียชีวิตไปแล้วเพื่อเอาชีวิตรอด ในที่สุด Nando Parrado และ Roberto Canessa สองผู้ประสบภัยต้องเดินเท้าข้ามภูเขา เป็นเวลา 12 วัน เพื่อขอความช่วยเหลือให้กับผู้รอดชีวิตคนอื่นอีก 14 คน รวมระยะเวลาที่พวกเขาต้องอดทนอยู่บนยอดเขาที่หนาวเหน็บนั้นถึง 72 วัน และเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่อง Alive ซึ่งฉายเมื่อปี 1993

สถานที่: ช่วงระหว่างข้ามเทือกเขาแอนดีส จาก Montevideo ประเทศอุรุกวัยไปยัง Santiago ประเทศชิลี

วันที่เกิดเหตุ: 13 ตุลาคม - 23 ธันวาคม 1972

จำนวนผู้รอดชีวิต: 16 คน

5. เหตุการณ์คนงานเหมืองใน Pennsylvania ติดอยู่ในเหมืองเพราะน้ำท่วม

ผู้ประสบภัยคนที่ 3 จากทั้งหมด 9 คน ถูกช่วยออกมาจากเหมือง Quecreek / Getty Imagesผู้ประสบภัยคนที่ 3 จากทั้งหมด 9 คน ถูกช่วยออกมาจากเหมือง Quecreek / Getty Images

เหตุการณ์: คนงานเหมือง 9 คน ได้เข้าไปทำงานในเหมือง โดยที่ไม่ทราบว่าแผนที่ที่เอาเข้าไปด้วยนั้นไม่ถูกต้อง และเผลอไปขุดโดนเหมืองเก่าที่ถูกทิ้งร้าง ทำให้น้ำจำนวนหลายล้านลิตรที่ขังอยู่ ไหลท่วมออกมา พวกเขาต้องติดอยู่ใต้พื้นดินลึกกว่า 240 ฟุต หลังจากที่มีการระบุตำแหน่งที่อยู่ด้วยดาวเทียมติดตาม ทีมช่วยเหลือได้ขุดช่องแคบลงไปยังช่องทางเดินที่คนงานติดอยู่ ก่อนจะปั๊มลมเข้าไปเพื่อเพิ่มแรงดันอากาศ และทำให้ระดับน้ำคงที่ จากนั้นทีมช่วยเหลือจึงเจาะรูที่ใหญ่ขึ้นจนสามารถเข้าใกล้ผู้ประสบภัยพอที่จะสามารถหย่อนกรงเหล็กเพื่อลำเลียงผู้ประสบภัยออกมาทีละคน หลังจากที่ต้องโกลาหลอยู่กว่า 72 ชั่วโมง ในที่สุด คนงานทั้ง 9 คน ก็สามารถออกมาได้ โดยได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย

สถานที่: รัฐ Pennsylvania สหรัฐอเมริกา

วันที่เกิดเหตุ: 24 - 28 กรกฎาคม 2002

จำนวนผู้รอดชีวิต: 9 คน

6. ภารกิจช่วยชีวิตใต้เศษซากอาคารจากแผ่นดินไหวที่เฮติ

ภาพของบ้านเมืองที่ถูกทำลายลงหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเฮติ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2010 / Gettyimagesภาพของบ้านเมืองที่ถูกทำลายลงหลังจากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ประเทศเฮติ เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2010 / Gettyimages

เหตุการณ์: จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว 7.0 ริกเตอร์ ในประเทศเฮติ ส่งผลให้บ้านเมืองเสียหายในวงกว้าง ยิ่งเวลาผ่านไปหลายวัน โอกาสในการค้นพบผู้รอดชีวิตภายใต้เศษซากของเมืองที่พังถล่มลงมาเริ่มเหลือน้อยลงเรื่อยๆ ทว่าก็ยังคงมีผู้ที่รอดชีวิตมาได้อย่างน่าแปลก หนึ่งในนั้นคือหญิงสาวชื่อ Darlene Etienne ซึ่งโผล่ออกมาจากซากบ้าน  ใกล้กับมหาวิทยาลัย St. Gerard หลังจากที่ติดอยู่ใต้นั้นนานกว่า 15 วัน ในสภาพขาดน้ำอย่างรุนแรงพร้อมกับขาที่หัก แต่ผู้รอดชีวิตวัย 17 คนนี้กลับยังดูแข็งแรงดี ขณะที่ทีมกู้ภัยของฝรั่งเศสดึงเธอออกมาจากซากบ้านที่ถล่มลงมา

สถานที่: เมือง Port-au-Prince ประเทศเฮติ

วันที่เกิดเหตุ: 12 - 22 มกราคม 2010 (วันที่รัฐบาลเฮติประกาศยุติการค้นหาผู้ประสบภัย ทว่ายังมีการค้นพบผู้รอดชีวิตเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ)

จำนวนผู้รอดชีวิต: คาดว่ามีผู้เสียชีวิตราว 100,000 – 160,000 คน

7. ทีมนักสำรวจที่เกือบจะต้องจบชีวิตในถ้ำลึกที่ออสเตรเลีย

เหตุการณ์: ทีมสำรวจชาวออสเตรเลียและชาติอื่นๆ ได้เดินทางเข้าไปในถ้ำขนาดใหญ่ที่ชื่อ Pannikin Plains Cave ภารกิจของพวกเขาคือการเข้าสำรวจพื้นที่ใต้น้ำของถ้ำที่ลึกกว่า 50 เมตร ทว่าได้เกิดพายุรุนแรงขึ้นในวันสุดท้ายของการสำรวจ ทำให้ทางเข้าออกของถ้ำถูกปิด ทีมนักดำน้ำจึงถูกขังอยู่ภายในนั้น เหล่าผู้รอดชีวิตต้องว่ายน้ำและปีนป่ายเพื่อหาที่ที่ปลอดภัย Andrew Wight หนึ่งในทีมสำรวจได้นำทางทีมกู้ภัยไปยังจุดที่ทุกคนรวมตัวกันอยู่ก่อนจะเดินทางออกมาได้ หลังจากที่ติดอยู่ในนั้นกว่า 27 ชั่วโมง เหตุการณ์นี้ถูกนำไปดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ที่ชื่อ Sanctum ซึ่งเข้าฉายเมื่อปี 2011

สถานที่: ถ้ำ Pannikin Plains Cave ประเทศออสเตรเลีย

วันที่เกิดเหตุ: พฤศจิกายน - ธันวาคม 1998

จำนวนผู้รอดชีวิต: 13 คน

8. ภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่เหมือง Copiapó ประเทศชิลี

Victor Segovia (ขวา) และ Pablo Rojas (ซ้าย) 2 ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เหมืองถล่มที่ชิลี / GettyimagesVictor Segovia (ขวา) และ Pablo Rojas (ซ้าย) 2 ผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์เหมืองถล่มที่ชิลี / Gettyimages

เหตุการณ์: เหตุการณ์เหมือง Copiapó ถล่มที่เมืองซาน โฮเซ ประเทศชิลี ทำให้คนงานเหมือง 33 ชีวิต ต้องติดอยู่ใต้เหมืองลึกกว่า 700 เมตร นานถึง 17 วัน กว่าจะสามารถติดต่อกับทีมช่วยเหลือบนพื้นดินได้ แม้ว่าจะติดต่อกับโลกภายนอกได้ พวกเขาก็ยังไม่สามารถออกจากเหมืองได้ในทันที เพราะต้องใช้วิธีเจาะพื้นเพื่อช่วยเหลือ ซึ่งใช้เวลานานนับเดือน ทำให้ผู้เคราะห์ร้ายต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้พื้นดินต่อไป เกือบทุกกระทรวงของรัฐบาลชิลี องค์การ NASA ของสหรัฐฯ และหลากหลายบริษัทจากทั่วโลกได้เข้าร่วมในภารกิจช่วยชีวิตครั้งนี้  มีการแบ่งทีมขุดเจาะพื้นดินเป็น 3 ทีม นอกจากนั้นยังมีการใช้แคปซูลซึ่งถูกสร้างขึ้นมาเป็นพิเศษเพื่อลำเลียงตัวผู้ประสบภัยขึ้นสู่พื้นดิน  เหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่สื่อทั่วโลกต่างให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะต้องใช้เวลารวมถึง 69 วันทีเดียว จึงจะสามารถช่วยเหลือผู้รอดชีวิตออกมาจากเหมืองได้ โดยไม่มีใครได้รับบาดเจ็บรุนแรง

สถานที่: เหมือง Copiapó ประเทศชิลี

วันที่เกิดเหตุ: 5 สิงหาคม – 13 ตุลาคม 2010

จำนวนผู้รอดชีวิต: 33 คน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook