ถึงบางอ้อ! พบซากดึกดำบรรพ์ "ฟิวซูลินิด" หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าข้าวสารกลายเป็นหิน

ถึงบางอ้อ! พบซากดึกดำบรรพ์ "ฟิวซูลินิด" หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าข้าวสารกลายเป็นหิน

ถึงบางอ้อ! พบซากดึกดำบรรพ์ "ฟิวซูลินิด" หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าข้าวสารกลายเป็นหิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พบซากดึกดำบรรพ์ ฟิวซูลินิด สัตว์ทะเลเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึก อายุ 240-280 ล้านปี หรือที่หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าข้าวสารกลายเป็นหิน ที่วัดถ้ำเทพบันดาล อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์

วันที่ 9 ก.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า ที่วัดถ้ำเทพบันดาล (หรือ วัดถ้ำลิง) ตั้งอยู่หมู่ที่ 1 บ้านลำจังหัน ต.สามแยก อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ มีการพบฟอสซิล หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ข้าวสารหิน จึงเดินทางไปตรวจสอบ

โดยมีนายบัณฑิต ใจดี กำนัน ต.สามแยก เป็นคนนำเดินหาจุดฟอสซิล ซึ่งอยู่ภายในบริเวณวัดถ้ำเทพบันดาล ลักษณะโดยรอบมีต้นไม้ปกคลุม ทางขึ้นถ้ำอยู่ด้านข้างวิหารเทพนิมิตร (หลังเดิม)

ซึ่งเป็นภูเขาหินปูนที่มีซากดึกดำบรรพ์ของสัตว์ทะเลเซลล์เดียวที่มีชื่อว่า “ฟิวซูลินิด” (Fusulinids) พบอยู่ในเนื้อหินปูน มีลักษณะยาว หัวท้ายแหลม รูปร่างและขนาดคล้ายเม็ดข้าวสาร จึงทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเมล็ดข้าวสารกลายเป็นหิน จึงมีชื่อเรียกทั่วไปว่า “คตข้าวสาร” หรือ “ข้าวสารหิน” 

ฟิวซูลินิด (Fusulinids) เป็นสัตว์ทะเลเซลล์เดียวที่อาศัยอยู่ใต้ทะเลลึกในอดีต สมัย 240-280 ล้านปี เป็นสิ่งมีชีวิตที่พบมากในยุคคาร์บอนิเฟอรัส และเพอร์เมียน และได้สูญพันธุ์ไปตั้งแต่ปลายยุคเพอร์เมียน

คตข้าวสาร หรือ ข้าวสารหินแบบนี้ ยังสามารถพบได้อีกหลายแห่งใน จ.เพชรบูรณ์ ที่เป็นภูเขาและถ้ำหินปูนโบราณ เช่น ถ้ำใหญ่น้ำหนาว และบ้านยางจ่า ต.ภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี 

หินที่มีซากฟิวซูลินิดสะสม สามารถกำหนดระยะเวลาได้เป็นช่วงแคบๆ ทำให้การเทียบสัมพันธ์ชั้นหินช่วงเวลาเดียวกันมีความถูกต้อง แม่นยำ อันเป็นประโยชน์อย่างมากมายด้านวิชาการ ในเบื้องต้น ทางด้านสภาวัฒนธรรมตำบลสามแยก กำลังดำเนินการจัดทำป้ายประกาศเป็นแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติทางธรณีวิทยา 

ด้าน ดร.วิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ กล่าวว่า อยากให้คงสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์ไว้แบบนี้ โดยอยากให้ทางวัด และชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันอนุรักษ์ ดูแล รักษา เป็นแหล่งเรียนรู้ทางธรณีวิทยาแก่ผู้ที่สนใจ

ขณะที่ทางวัดถ้ำเทพบันดาล ยังมีการนำหินปูนที่มีคตข้าวสารนี้ ไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ทำให้สามารถเห็นซากดึกดำบรรพ์คตข้าวสาร ในเนื้อพระพุทธรูปได้อย่างชัดเจน และสวยงามมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook