มองการทำงาน “สื่อไทยและสื่อต่างประเทศ” ในสมรภูมิข่าว “ถ้ำหลวง”
เหตุการณ์ทีมฟุตบอล “หมูป่าอะคาเดมี” จำนวน 13 คน ติดอยู่ในถ้ำหลวง – ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย เมื่อปลายเดือนมิถุนายน จนกระทั่งสามารถช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตออกมาได้อย่างปลอดภัยเมื่อคืนวานนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ใหญ่แห่งปีของประเทศไทย ที่อุดมไปด้วยดราม่าในโลกออนไลน์ และหนึ่งในดราม่าที่ยาวนานตลอดปฏิบัติการช่วยเหลือ ก็คือภาพลักษณ์ของสื่อมวลชนที่เข้าไปทำข่าวในที่เกิดเหตุ นับตั้งแต่ความพยายามทำข่าวจนกีดขวางการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งการสัมภาษณ์ผู้ปกครองของเด็กๆ ด้วยคำถามที่ไม่เหมาะสม ส่งผลให้ทาง ศรอ. ต้องทำการ “จัดระเบียบสื่อ” โดยจำกัดพื้นที่ของสื่อมวลชนให้อยู่นอกพื้นที่ และให้รอแถลงการณ์จากผอ.ศรอ. ก่อนที่จะดำเนินการพาทีมหมูป่าออกจากถ้ำ
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาจากการจัดระเบียบสื่อมวลชน จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์ก็คือ การที่สื่อรายงานสถานการณ์เฉพาะหน้างาน ไม่ได้มีการแตกประเด็นเพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงหรือข้อมูลเชิงเทคนิคมากเท่าที่ควร ในขณะที่ข้อมูลเหล่านี้กลับมาจากสำนักข่าวต่างประเทศเป็นหลัก จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า การทำงานของสื่อไทยและสื่อต่างประเทศนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร และสะท้อนอะไรในสังคม รวมทั้งสื่อไทยควรวางตัวอย่างไรต่อไป จากบทเรียนครั้งนี้
>> สื่อทั่วโลกพร้อมใจพาดหัว "13 ชีวิตออกถ้ำครบ" ปธน.ทรัมป์โพสต์ยินดีอีกครั้ง
สำหรับบทบาทของสื่อไทยในกรณีนี้ ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ หัวหน้าภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความเห็นไว้ในเวทีจุฬาฯ เสวนา ครั้งที่ 14 เรื่อง “วิเคราะห์ปรากฏการณ์ถ้ำหลวง จากหลากมิติ” เมื่อวันศุกร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 ว่า สื่อไทยในปัจจุบันเริ่มมีความก้าวหน้าเรื่องการนำเสนอข้อมูลผ่านเทคนิคต่างๆ มากขึ้น เช่น อินโฟกราฟิก ซึ่งแตกต่างจากสมัยเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ เมื่อ พ.ศ. 2547 ทว่าในกรณีถ้ำหลวงและหลายครั้งที่ผ่านมา สื่อไทยกลับนำเสนอข่าวได้ไม่ดีเท่าที่ควร เนื่องจากเป็นการรายงานข่าวด่วน ติดตามสถานการณ์เฉพาะหน้าเท่านั้น
“หลายครั้งที่การทำข่าวของไทย ซึ่งควรได้เปรียบในฐานะผู้ที่ใกล้ชิดพื้นที่และแหล่งข่าวมากที่สุด กลับไม่สามารถคลี่คลายเนื้อหาและร้อยเรียงเรื่องราวทั้งหมดให้ผู้รับสารชาวไทยเข้าใจได้ การรายงานส่วนใหญ่เน้นความสด ความเร็ว อัปเดตสถานการณ์เป็นช่วงๆ และมีแหล่งข่าวเป็นบุคคล” ผศ.พิจิตรากล่าว
นอกจากนี้ เนื้อหาของข่าวที่นำเสนอส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องฮีโร่ การหาตัวคนผิด ไสยศาสตร์ และความมีน้ำใจของคนไทย โดยข่าวที่มีผู้อ่านสูงสุด ประกอบด้วย ข่าวการเสียสละของโค้ชทีมหมูป่า ตามด้วยข่าวเกี่ยวกับครูบาบุญชุ่ม ข่าวเกี่ยวกับเสียงเคาะลึกลับภายในถ้ำ ข่าวการพบตัวเด็กๆ และโค้ช โดยนักดำน้ำชาวต่างชาติ และข่าวที่เกี่ยวกับน้ำใจของคนไทย ซึ่ง ผศ.พิจิตรามองว่าข่าวเหล่านี้สะท้อนทั้งการทำงานของสื่อมวลชน และยังสะท้อนถึงนัยทางวัฒนธรรมและฐานคิดของคนไทยอีกด้วย
“ประเด็นหลักๆ ที่เรามองเห็นจากการทำข่าวกรณีถ้ำหลวงคือ หนึ่ง สังคมไทยมีการแสวงหาฮีโร่ ซึ่งสังคมที่แสวงหาฮีโร่ คือสังคมที่ไม่มีความเชื่อมั่นในตัวเอง สองคือสืบค้นหาแพะ พยายามหาคนผิดในเหตุการณ์วิกฤตต่างๆ รวมทั้งความเชื่อในไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ สิ่งเหนือธรรมชาติ” ผศ.พิจิตราอธิบาย
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาดีๆ จะเห็นว่าสำนักข่าวของไทยหลายสำนัก ก็พยายามนำเสนอข้อมูลเชิงลึก แต่เนื่องจากการแข่งขันเพื่อช่วงชิงตัวเลขผู้อ่านและ Engagement ในโลกออนไลน์อันดุเดือด ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าข่าวที่รวดเร็ว ทันต่อสถานการณ์ก็ยังเป็นสิ่งที่จำเป็นอยู่
และเนื่องจากกรณีถ้ำหลวงกลายเป็นประเด็นที่สื่อต่างชาติให้ความสนใจ และหยิบยกไปนำเสนอตามวัฒนธรรมการเสพข่าวของแต่ละประเทศ จึงก่อให้เกิดการเปรียบเทียบวิธีการนำเสนอข่าวระหว่างสื่อไทยและสื่อต่างประเทศ ซึ่ง ผศ.พิจิตราได้ยกตัวอย่างสำนักข่าวของประเทศญี่ปุ่น ที่เน้นการนำเสนอข้อมูลที่ละเอียด รอบด้าน และพยายามทำให้ผู้ชมเห็นภาพ เพื่อสื่อสารให้สาธารณชนรับทราบไปพร้อมๆ กัน
“สำนักข่าวญี่ปุ่น ไม่ได้เน้นการทำข่าวร้อน แต่มีการเล่าเรื่องและคลี่คลายภาพของสถานการณ์ และเก็บประเด็นได้ครบถ้วนกว่า อีกทั้งยังสามารถสร้าง Engagement ได้สูงจากผู้ชมชาวไทยในโลกออนไลน์ด้วย แสดงให้เห็นถึงช่องว่างของงานข่าวที่สังคมไทยยังขาด และมีความต้องการมากในแง่ของการทำข่าวเชิงข้อมูลที่อยู่บนฐานของเหตุและผล มากกว่าถามความเห็นจากการสัมภาษณ์และเก็บเนื้อข่าวปลีกย่อยตามบรรยากาศหน้างานเท่านั้น” ผศ.พิจิตรากล่าว
นอกเหนือจากด้านข้อมูลแล้ว การตัดต่อและการเลือกใช้ภาพเพื่อนำเสนอข่าว ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการสื่อสารข้อมูล และสร้างแรงกระเพื่อมให้กับสังคม โดยสำนักข่าวญี่ปุ่นใช้การตัดต่อและภาพที่มีความหมาย สามารถสื่อสารได้ และให้กำลังใจในภาวะวิกฤต
“ในสถานการณ์เด็กที่ติดถ้ำ และมีคลิปออกมา เขาไม่ได้ปล่อยทั้งคลิปออกมา แต่มีการตัดต่อเล่าเรื่อง และสิ่งที่เห็นก็คือคำต่างๆ ที่เขาพยายามย้ำให้ผู้ชมเห็น ก็คือคำว่า Thank you เป็นเสียงขอบคุณจากเด็กที่ติดถ้ำ มีคำว่า Strong คือเสียงที่ฝรั่งตอบโต้กับเด็กว่าคุณเข้มแข็งมากที่อยู่ตรงนี้ได้ เราจะเห็นว่า เรื่องเดียวกัน แต่พอเอามาเล่าเรื่องแล้วมันได้ภาพคนละมุม ของไทย เราได้ดูแล้วจะรู้สึกปีติ เร้าใจ มีความเห็นใจ Emotional สูง ญี่ปุ่นก็มี Emotional แต่สิ่งที่เราเจอคือเขาเอามาร้อยเรียงเป็นภาพ และเอามาผลิตซ้ำหลายๆ รอบ เพื่อให้กำลังใจซึ่งกันและกัน ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากในช่วงภัยพิบัติ”
“อีกอันหนึ่งที่ตอกย้ำอยู่ในการสื่อสารของญี่ปุ่นคือการทำงานเป็นทีมเวิร์ก จะไม่มีการหาฮีโร่ ฮีโร่เขาไม่ได้มีคนเดียว กับอีกอย่างที่สำคัญมากคือวิธีแก้ไขปัญหา เช่น การทดลองนำดินไปใส่ในน้ำในตู้ปลา แล้วเอากล้องส่องว่าระยะเท่าใดจะมองเห็นทางข้างหน้า อันนี้เป็นรูปแบบการหาวิธีแก้ปัญหาผ่านการทดลอง เพื่อให้คนทางบ้านและกระแสสังคมเข้าใจได้ว่า ถ้าเกิดในพื้นที่จริง แล้วเป็นตัวคุณเอง คุณดำน้ำในสภาพนี้ไหวไหม ทั้งที่ว่ายน้ำไม่เป็น คือให้ข้อมูลเป็นข้อเท็จจริงหมดเลย เพราะฉะนั้นก็จะเห็นได้ว่าวิธีการนำเสนอของญี่ปุ่นก็เพื่อให้สาธารณชนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน” ผศ.พิจิตรากล่าว
>> สื่อญี่ปุ่นทุ่มทุน สาธิตให้ดู "ทีมหมูป่า" ต้องมุดถ้ำแคบแค่ไหนออกมา
>> สื่อญี่ปุ่นทำหนังสั้น จำลองภาพ 13 ชีวิตติดถ้ำหลวง คนทั้งโลกยกนิ้วให้
ด้าน อ.ดร.เจษฎา ศาลาทอง จากภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็ได้เสริมเรื่อง Mood & Tone หรืออารมณ์ในการนำเสนอข่าวของญี่ปุ่นว่า การนำเสนอข่าวญี่ปุ่นจะไม่มีเรื่องดราม่าหรือหาตัวคนผิด แต่จะเน้นเรื่องการให้กำลังใจ มองว่าการช่วยเหลือกันครั้งนี้เป็นความหวังของมวลมนุษยชาติ สร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของคนญี่ปุ่น และสาเหตุที่ชาวญี่ปุ่นสนใจข่าวนี้ก็เพราะว่าเป็นข่าวที่มีความหวังนั่นเอง
นอกจากนี้ อ.ดร.เจษฎา ยังมองว่า นอกจากสื่อญี่ปุ่นแล้ว สื่อต่างชาติหลายสื่อก็มีการทำภาพที่แสดงถึงสาเหตุที่ทำให้การช่วยเหลือเด็กและโค้ชออกจากถ้ำมีความยากลำบากกว่าที่คิด ซึ่งตนยังไม่เคยเห็นสื่อของไทยทำ นั่นหมายความว่า การทำอินโฟกราฟิกสวยๆ อาจไม่พอ แต่ต้องอยู่ที่ว่าอินโฟกราฟิกนั้นสามารถนำเสนอข้อเท็จจริงได้มากแค่ไหนด้วย
แม้ว่าการทำข่าวได้รวดเร็วจะสามารถดึงความสนใจของผู้ชมได้ก่อนใคร แต่ ผศ.พิจิตราก็เห็นว่า จากยอดการแชร์ข่าวและ Engagement ของข่าวญี่ปุ่นที่สูงมากในโลกโซเชียล ก็เป็นไปได้ว่าแท้จริงแล้ว ผู้รับสารก็ยังมีความกระหายข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน ครบถ้วน เป็นขั้นเป็นตอน โดยที่ไม่ต้องดราม่าหรือควานหาคนผิด
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าสื่อต่างประเทศจะเป็นสื่อที่ "ดีงาม" เสมอไป เพราะหลายครั้งเราก็พบว่าสื่อต่างประเทศยังมีการละเมิดสิทธิของแหล่งข่าว รวมทั้งการเสนอภาพที่ไม่สื่อความหมายไม่ต่างจากสื่อไทย เพื่อให้ได้มาซึ่งความสนใจของผู้ชม และตัวเลขยอดคนอ่าน แต่ในเมื่อทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศต่างก็มีข้อดีและข้อเสียไม่ต่างกัน สิ่งที่จะเป็นมาตรฐานให้คนข่าวได้ยึดถือในการทำงาน คือ "การใช้ความเป็นคน" ที่ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ขณะเดียวกัน สื่อก็ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า สื่อจะเป็นแค่กระจกที่สะท้อนสังคม ว่าสังคมอยากทำแบบนี้ เราก็ต้องทำแบบนี้ หรือจะเป็นตะเกียงที่ส่องทางให้กับสังคม ซึ่งในกรณีนี้ ผศ.พิจิตราก็ได้กล่าวไว้ว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สื่อหันมาตั้งสติ และระลึกไว้ว่า “ข่าวที่เร็วที่สุดไม่ใช่ผู้ชนะในเกมนี้”
และจากคำพูดที่ว่า "สื่อเป็นอย่างไร สังคมก็เป็นอย่างนั้น และสังคมเป็นอย่างไร สื่อก็เป็นอย่างนั้น" ซึ่งหมายความว่า ทั้งสื่อและสังคมต่างก็เป็นภาพสะท้อนซึ่งกันและกัน ผู้รับสารเองก็ควรมีสติ รู้จักพิจารณา ตั้งคำถาม และกรองข้อมูลที่ได้รับ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างมาตรฐานของสื่อต่อไป