โพลชี้นักการเมืองคือผู้ทำร้ายประเทศไทย

โพลชี้นักการเมืองคือผู้ทำร้ายประเทศไทย

โพลชี้นักการเมืองคือผู้ทำร้ายประเทศไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สุเทพ ระบุไม่เร่งรัดตำรวจคดี สนธิ  ปัดส.ส.ปชป.อึดอัดพรรคร่วมกดดันแก้มาตรา 237 - นิรโทษกรรม เชื่อไม่แตกแยกเพราะยังมีอีกหลายขั้นตอนพร้อมทำความเข้าใจ บรรหาร ภูมิใจไทย ลั่นเลือกตั้งคราวหน้า กวาดไม่ต่ำ 100 ที่นั่ง ประเมิน อีก 1 ปีได้หย่อนบัตรอีกรอบ สวนดุสิตโพลเผยปชช.ฟันธงนักการเมืองคือผู้ที่ทำร้ายประเทศไทย

เมื่อเวลา 14.30 น. วันที่ 5 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าในการติดตามจับกุมคนร้ายคดีลอบสังหารนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำกลุ่มพันธมิตรฯว่า พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์ รองผบ.ตร.ในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวน ยังไม่ได้รายงานความคืบหน้ามาให้ตนทราบ และตนไม่ได้ไปคาดคั้นเรื่องเวลา เพราะต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำงานอย่างเต็มที่ ซึ่งตนเชื่อว่าในที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถคลี่คลายคดีได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าแต่นายสนธิออกมาระบุว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้ตำรวจจะมีการแถลงความคืบหน้าเกี่ยวกับคดี นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่ทราบสิ่งที่นายสนธิพูดต้องไปถามนายสนธิเอง

ทั้งนี้นายสุเทพ ได้ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางไปตรวจความเรียบร้อยการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าสู่ปีที่ 60 แห่งการบรมราชาภิเษก ที่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าว่า เท่าที่ตรวจความเรียบร้อย พบว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างเรียบร้อยดี ประชาชนมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง เพราะวันนี้ประชาชนมาร่วมแสดงความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์

นายสุเทพ กล่าวด้วยว่า สำหรับการวางกำลังเจ้าหน้าเพื่อดูแลรักษาความปลอดภัยโดยรอบบริเวณสถานที่จัดงานนั้น ทางตำรวจและทหารได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดี และคิดว่าในวันที่เป็นมงคลเช่นนี้คงไม่มีใครคิดทำอะไรที่ไม่ดี ไม่งาม

ปัดส.ส.ปชป.อึดอัดพรรคร่วมกดดันแก้ม.237-นิรโทษกรรม

นายสุเทพ ให้สัมภาษณ์ถึงการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มต่าง ๆ หลังวันที่ 5 พ.ค.นี้ ว่า รัฐบาลก็จะพยายามดูแลกันต่อไป แต่คิดว่านายกรัฐมนตรีส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่า อะไรที่รัฐบาลสามารถร่วมมือได้เพื่อแก้ปัญหา รัฐบาลยินดีทุกอย่าง ดังนั้นประชาชนกลุ่มต่าง ๆ ก็ควรจะคิดไปในแนวทางเดียวกัน

ต่อข้อถามที่ว่ากลุ่มพันธมิตรฯออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะมาตรา 237 และการนิรโทษกรรม รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรเพื่อให้ความเห็นของทุกฝ่ายลงตัวกันให้ได้ นายสุเทพ กล่าวว่า สิ่งที่นายกรัฐมนตรีเสนอ คือ ถ้าประชาชน กลุ่มต่าง ๆ หรือพรรคการเมือง เห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นปัญหา ก็มาช่วยกันพิจารณาดูว่ามาตราไหน อย่างไร ที่เป็นปัญหา แล้วมาช่วยกันระดมสมองดูว่าถ้าจะแก้ไขโดยให้ประชาชนทั้งประเทศเห็นด้วย และมีส่วนร่วมจะต้องทำอย่างไร บางคนก็เสนอถึงวิธีการทำประชาพิจารณ์ หรือการทำประชามติ เราก็อาจจะเลือกวิธีอย่างนั้นก็ได้ ทั้งนี้รัฐบาลเปิดกว้างให้กลุ่มต่าง ๆ แสดงความคิดเห็นได้อย่างเต็มที่ เรื่องประเด็นการยุบพรรคและการนิรโทษกรรมนั้น เราต้องฟังทุกฝ่าย แล้วค่อยมาใคร่ครวญ ตัดสินใจ ทั้งหมดเป็นเรื่องกระบวนการของรัฐสภา

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีมีรายงานข่าวว่ามีส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่อ้างว่าเป็นกลุ่มของนายสุเทพ รู้สึกอึดอัดที่พรรคร่วมรัฐบาลมากดดันให้ต้องแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 237 และการนิรโทษกรรม โดยเสนอให้ยุบสภาไปเลยจะดีกว่า นายสุเทพ กล่าวว่า เป็นเพียงการแตกต่างทางความคิด ส.ส.บางคนก็อาจจะคิดไปอย่างนั้น แต่ตนยืนยันว่าตนไม่มีกลุ่มในพรรค ตนเป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กลุ่มของตนก็คือทั้งพรรคอยู่แล้ว ดังนั้นที่บอกว่ามีคนคิดว่าเป็นกลุ่มของตนคงไม่ใช่

เมื่อถามย้ำว่าแสดงว่าพรรคร่วมรัฐบาลไม่ควรจะมากดดันในเรื่องนี้ใช่หรือไม่ นายสุเทพ กล่าวว่า อย่าไปคิดว่าเป็นการกดดัน คิดว่าเป็นการแสดงความคิดและจุดยืน ซึ่งทุกคนก็ต้องมีเสรีที่จะคิดได้ เราอย่าไปปิดกั้นใคร

เมื่อถามว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลจนทำให้ความสัมพันธ์ของรัฐบาลแตกร้าวหรือไม่ นายสุเทพ กล่าวปฏิเสธว่า ไม่มี ตนยังไม่เห็นว่าจะเป็นความขัดแย้งอะไร เพียงแต่ความเห็นอาจจะไม่เหมือนกันเท่านั้น ซึ่งก็ยังมีอีกหลายขั้นตอน ที่จะนำความเห็นที่หลากหลายนั้นมาเปรียบเทียบเพื่อชั่งน้ำหนัก โดยทุกฝ่าย ทุกพรรค ก็เห็นตรงกันว่าต้องยึดประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก

ทั้งนี้ตนยังไม่ได้นัดแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมาร่วมหารือกัน สำหรับกรณีที่มีการพาดพิงไปถึงนายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยนั้น คงไม่มีปัญหาอะไร ถ้าตนเจอนายบรรหารก็จะพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจต่อไป

"ภูมิใจไทย"ลั่นเลือกตั้งคราวหน้ากวาดไม่ต่ำ100ที่นั่ง

นายศุภชัย ใจสมุทร โฆษกพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้งครั้งหน้าของพรรคภูมิใจไทย ว่า พรรคได้มีการเรียกประชุมผู้สมัครส.ส.เป็นประจำทุกสัปดาห์ เพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกผู้สมัครส.ส.ในเขตเลือกที่ตั้งพรรคยังขาดอยู่ประมาณ 70-80 คน

นอกจากนี้พรรคยังได้วางยุทธศาสตร์ให้ว่าที่ผู้สมัครแต่ละคนลงพื้นที่ของตนตั้งแต่ตอนนี้ ให้ทำความคุ้นเคยกับประชาชน นำแนวนโยบายของพรรคไปชี้แจงกับประชาชนและบอกกับประชาชนถึงผลงานที่พรรคได้ทำในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งรับสมัครสมาชิกพรรคด้วย ซึ่งเราคิดว่าผู้สมัครส.ส.ต้องเร่งลงพื้นที่ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะเมื่อถึงคราวเลือกตั้งจริง ๆ ผู้สมัครเหล่านี้จะได้พร้อมลงเลือกตั้งได้ทันที

ตนประเมินว่าตามแนวทางที่รัฐบาลกำลังดำเนินการแก้ปัญหาทั้งเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจขณะนี้ น่าจะมีการเลือกตั้งอย่างน้อยในอีก 1 ปีข้างหน้า ซึ่งการเตรียมพร้อมตั้งแต่ตอนนี้ไม่ถือว่าเร็วหรือช้าเกินไป อย่างไรก็ตามเราไม่ได้หวังว่าจะเป็นพรรคขนาดใหญ่หรือได้เสียงถล่มทลาย แต่เรามั่นใจว่าได้ส.ส.ประมาณ 80-100 คน และถึงตอนนั้นจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ก็คงต้องดูกัน

นายศุภชัย กล่าวว่า ปัจจัยที่จะทำให้เกิดการเลือกตั้งใหม่นั้นมีอยู่ 2 ปัจจัยคือ ถ้าปัญหาการเมืองรุมเร้ารัฐบาลอย่างมากอันนี้ก็ทำให้รัฐบาลอยู่ไม่ได้ ต้องมีการเลือกตั้งใหม่ และอีกอย่างก็คือเมื่อรัฐบาลบริหารประเทศได้ดีและกำลังอยู่ภาวะที่ได้เปรียบก็จะดำเนินการให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจากสถานการณ์ตอนนี้จะเห็นได้ว่ารัฐบาลสามารถแก้ปัญหาทางการเมืองได้ในระดับหนึ่งแล้ว ดังนั้นเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งต่อก็คือเมื่อรัฐบาลบริหารประเทศแก้ปัญหาให้ประชาชนได้ก็จะถึงการเลือกตั้งใหม่ประมาณ 1 ปีข้างหน้า

ปชช.ฟันธงนักการเมืองคือผู้ที่ทำร้ายประเทศไทย

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,560 คน ระหว่างวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2552 เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมรณรงค์ "หยุดทำร้ายประเทศไทย" พบว่าคนที่ประชาชนคิดว่าเป็นผู้ที่ทำร้ายประเทศไทย ณ วันนี้ ร้อยละ 31.75 ระบุนักการเมือง ร้อยละ 25.40 ระบุกลุ่มผู้ชุมนุม (เสื้อเหลือง-เสื้อแดง) ร้อยละ 16.67 ระบุข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ร้อยละ 15.08 ระบุผู้ที่ไม่หวังดีต่อประเทศมือที่สาม และร้อยละ 11.10 ระบุผู้สื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวไม่เหมาะสม ปลุกปั่น ยั่วยุ

ส่วนวิธีที่ประชาชนคิดว่าจะสามารถหยุดทำร้ายประเทศไทยได้ คือ การสร้างความปรองดองความสมานฉันท์ของคนในชาติที่เป็นรูปธรรม หันหน้าเข้าหากัน แกนนำต่างๆ ต้องยุติการเคลื่อนไหวทุกรูปแบบ การวางตัวเป็นกลางโดยพิจารณาเหตุผลในเรื่องต่างๆ ให้รอบคอบและมีสติ หยุดสร้างความปั่นป่วน โดยนึกถึงประเทศชาติและลูกหลานเป็นสำคัญ ยึดหลักประชาธิปไตย โดยทุกคนเคารพในสิทธิซึ่งกันและกัน

ส่วนวิธีที่ประชาชนคิดว่าจะสามารถหยุดการใช้ความรุนแรงได้ คือ การมีสติ ไม่หลงเชื่อตามคำยุยงของบุคคลบางกลุ่ม นึกถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศชาติ นึกถึงพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว การหันหน้าเข้าหากัน ตกลงกันอย่างสันติวิธี และสื่อมวลชนต้องนำเสนอข่าวตามความเป็นจริง และใช้สติกับประชาชน

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook