สกอ.ประกาศแอดมิชชั่น7พ.ค.นี้17เว็บไซต์พันธมิตรร่วมประกาศผล

สกอ.ประกาศแอดมิชชั่น7พ.ค.นี้17เว็บไซต์พันธมิตรร่วมประกาศผล

สกอ.ประกาศแอดมิชชั่น7พ.ค.นี้17เว็บไซต์พันธมิตรร่วมประกาศผล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สกอ.เลื่อนประกาศผลแอดมิชชั่นส์เร็วขึ้น เป็น 7 พ.ค.นี้ พร้อมพันธมิตรที่เข้าร่วมประกาศผลทั้งหมดประมาณ 17 เว็บไซต์ให้บริการผู้สมัครทั้ง 119,377 คน ด้านอธิการบดีม.ธรรมศาสตร์ โวยโยนความผิดเด็กเรียนวิทย์คุณภาพแย่ ให้ทปอ. แจงเด็กวิทย์คะแนนต่ำเหตุเรื่องของกลไกตลาด ไม่เกี่ยวกับระบบแอดมิชชั่นส์ ชี้แยกสอบฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ระวังเด็กสับสน แนะทางแก้อยากได้เด็กเก่งเข้าเรียนให้เพิ่มสัดส่วน แพต2 เป็น 30% พร้อมชี้โอกาสการมีงานทำ

ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา กล่าวว่าในวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) จะแถลงการประกาศผลการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับ นิสิตนักศึกษาหรือแอดมิชชั่นส์ เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ว่านักเรียนจะสามารถเข้าดูผลการคัดเลือกผ่านทางเว็บไซต์ของสกอ. www.cuas.or.th ได้ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 7 พฤษภาคมนี้ จากเดิมที่กำหนดว่าจะประกาศวันที่ 9 พฤษภาคม เนื่องจากสกอ.มีความพร้อมและมองว่าจะเป็นประโยชน์ต่อนักเรียน ทั้งนี้ ปีนี้มีพันธมิตรที่เข้าร่วมประกาศผลทั้งหมดประมาณ 17 เว็บไซต์ ทำให้นักเรียนสามารถตรวจสอบได้มากขึ้น และมั่นใจว่าไม่น่าจะมีปัญหาเว็บล่ม ซึ่งปีนี้มีผู้สมัครแอดมิชชั่นส์จำนวนทั้งสิ้น 119,377 คน

อย่างไรก็ตาม สกอ.คงไม่สามารถประมวลได้ว่าคณะใดเป็นคณะยอดนิยมเพราะมีมากกว่า 3,000 รหัส อีกทั้งการเลือกอันดับคณะของเด็ก เป็นการเลือกตามคะแนนที่ทำได้ ซึ่งบางคณะเด็กต้องการแต่ไม่สามารถเลือกได้เพราะคะแนนไม่ถึง จึงต้องไปเลือกคณะอื่นที่คิดว่าจะติดแทน ฉะนั้นคณะที่มีจำนวนคนเลือกเยอะ จึงไม่ได้สะท้อนว่าเป็นคณะยอดนิยมแท้จริง

ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) รองประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า อยากให้มหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วยประชาสัมพันธ์เรื่องการสอบแกตและแพต เพราะเข้าสู่ระบบแอดมิชชั่นส์ระบบใหม่ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน แม้สังคมมักจะวิจารณ์ว่าระบบแอดมิชชั่นส์เกิดปัญหามาก ไม่ประสบผลสำเร็จในการคัดเลือกนักศึกษาเข้าสู่มหาวิทยาลัย แต่ระบบนี้เป็นระบบที่ดีมาก ช่วยกระจายความเป็นธรรมให้เด็กต่างจังหวัดเข้าสู่มหาวิทยาลัยได้มากขึ้น แม้จะมีการฟ้องร้องให้เห็นบ้าง แต่หากสังเกตดีๆ จะพบว่าคนที่ฟ้องร้องส่วนใหญ่เป็นคนหน้าเดิมๆ

สำหรับข้อเสนอของที่ประชุมสภาคณบดีคณะวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ทวท.) ที่ขอให้แยกสอบสาขาทางวิทยาศาสตร์หรือแพต2 ออกเป็นฟิสิกส์ เคมี ชีวะ เพื่อแก้ปัญหาเด็กมีผลการเรียนตกต่ำลง เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกต้อง เป็นการโยนความผิดให้แก่การสอบแกต แพต และระบบแอดมิชชั่นส์ แต่ความจริงเป็นเรื่องของกลไกตลาด เด็กอยากเรียนสาขาวิทยาศาสตร์น้อยลง แนวทางแก้ปัญหาที่ถูกต้องจึงควรเพิ่มโอกาสและทำให้เด็กเห็นว่าหากจบคณะวิทยาศาสตร์แล้วจะทำงานอะไร

"ผมไม่รู้ว่าทปอ.จะยอมให้แยกข้อสอบวิทย์เป็น 3 วิชาหรือไม่ เพราะหากแยกสอบจะทำให้เด็กเรียนวิทย์น้อยลงไปอีก หรือหากเด็กเกิดความสับสนแล้วจะเกิดการฟ้องร้องขึ้นอีกหรือไม่ วิธีการแก้ปัญหาจึงไม่น่าจะทำให้ระบบการเข้ามหาวิทยาลัยต้องตกเป็นจำเลย เพราะจริงๆ แล้วแพต2 แบบเดิมก็สามารถคัดกรองเด็กเก่งได้ โดยเพิ่มค่าน้ำหนักเข้าไปและกำหนดว่าเด็กที่จะเข้าคณะวิทย์ได้จะต้องมีคะแนนแพต2 ไม่น้อยกว่า 30%" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

รศ.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ควรมีส่วนรับรู้กระบวนการออกข้อสอบของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) เพราะได้รับผลกระทบโดยตรงต้องรับเด็กเข้าเรียน แม้ว่าทปอ.จะยกหน้าที่ดังกล่าวให้แก่สทศ.ไปแล้ว

ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะประธานทปอ.กล่าวว่า ต่อไปทปอ.จะทำวิจัย วิเคราะห์เปรียบเทียบว่า ข้อสอบของสทศ.สามารถวัดความถนัดของเด็กที่เข้าเรียนในสาขานั้นๆ ได้เที่ยงตรงมากน้อยแค่ไหน

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook