มองกรณีถ้ำหลวงผ่านเลนส์ของสตรีนิยม: ความเชื่อ เพศหญิง และมโนทัศน์ของชนชั้นกลาง

มองกรณีถ้ำหลวงผ่านเลนส์ของสตรีนิยม: ความเชื่อ เพศหญิง และมโนทัศน์ของชนชั้นกลาง

มองกรณีถ้ำหลวงผ่านเลนส์ของสตรีนิยม: ความเชื่อ เพศหญิง และมโนทัศน์ของชนชั้นกลาง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อุบัติภัยที่เกิดขึ้นที่ ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ไม่ใช่เหตุการณ์อุบัติภัยธรรมดา แต่สิ่งที่ทำให้เหตุการณ์นี้กลายเป็นที่พูดถึงในทุกกลุ่มชนชั้นของสังคม นั่นเพราะมันได้สะท้อนบางสิ่งบางอย่างที่อยู่นอกเหนือจากประเด็นเรื่องภัยพิบัติไปไกล กลายมาเป็นเวทีในการแสดงความคิดเห็นที่แตกเป็นสองทาง

ทางที่หนึ่ง นั่นคือ กลุ่มคนที่มองว่าการเข้าไปในถ้ำครั้งนี้ของทีมหมูป่าอะคาเดมีเป็นเรื่องผิดพลาดที่สามารถป้องกันได้ เด็กๆ เหล่านั้นจึงมีส่วนผิดด้วยเพราะถือว่าพวกเขา 'รนหาที่เอง'
ในความเห็นทางที่สอง เด็กๆ และโค้ชได้รับแรงเชียร์และกำลังใจเป็นอย่างมากจากคนไทยส่วนใหญ่ พวกเขาไม่ได้ถูกมองในฐานะ 'ผู้ประสบภัย' เพียงอย่างเดียว แต่ถูกให้คุณค่าในระดับเดียวกับ 'ฮีโร่' (แน่นอนว่านี่ไม่ใช่ความเห็นของส่วนรวมทั้งหมด แต่ก็เป็นอีกหนึ่งในชุดความคิดที่ถูกผลิตซ้ำอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลาเช่นนี้) ภาครัฐต่างกรูเข้ามาให้ความช่วยเหลือจนหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าการทำแบบนี้เป็นสิ่งที่เกินไปหรือไม่

เพื่อจะทำความเข้าใจกับเรื่องดังกล่าว Sanook! News ได้พูดคุยกับ อาจารย์ภาวิน มาลัยวงศ์ หนึ่งในอาจารย์ผู้สอนหลักสูตรสตรีศึกษาฯ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อที่จะหาที่มาของชุดความคิดที่แบ่งออกเป็นสองสายของคนในสังคมไทย

เริ่มแรก อาจารย์ภาวิน ได้ชี้ให้เราเห็นถึงรายละเอียดบางอย่างที่น่าสนใจก็คือ ส่วนใหญ่แล้ว กลุ่มคนที่ตำหนิกลุ่มเด็กๆ และโค้ชมากที่สุดจะเป็นกลุ่ม 'ชนชั้นกลาง' ที่อยู่ในเมือง ซึ่งมโนทัศน์หรือทัศนะของพวกเขาที่มีต่อสถานที่อย่าง 'ถ้ำ' เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจากการรับรู้และคุ้นชิน นั่นอาจเป็นเพราะโลกของพวกเขาถูกจำกัดให้แคบ ด้วยรูปแบบการทำงานที่เป็นวังวนที่หมุนไปเรื่อยๆ อย่างคงที่และเป็นกิจวัตร
ความจริง (Reality) หรืออาจเรียกว่า 'สิ่งที่คนกลุ่มนี้เชื่อว่าสมเหตุสมผล' นั่นคือ การสรุปเอาว่า ถ้ำนั้นเป็นสถานที่ที่ไม่ควรเข้าไปเป็นอย่างยิ่ง ในโลกทัศน์ของพวกเขา โลกของการผจญภัยในป่าลึกเป็นเรื่องที่ 'เสี่ยง' ที่จะก่อให้เกิดอันตราย พวกเขาจึงมอง 'ถ้ำ' ด้วยสายตาของคนนอก ที่เหมารวมเอาว่าความคิดของตัวเองนั้นคือบรรทัดฐานที่สังคมยอมรับ และเป็นสิ่งที่คนทุกระดับควรจะต้องปฏิบัติตาม โดยไม่ได้นึกถึงในเรื่องความต่างของความคิด

การที่ชนชั้นกลางเหล่านี้มองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมุ่งไปที่ความประมาทของเด็กๆ เองเป็นเรื่องที่อาจไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะไม่ได้พิจารณาระหว่างความจริงของพวกเขา กับความจริงของเด็กต่างจังหวัดซึ่งเป็นคนชายขอบ “สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามและปรับความเข้าใจใหม่นั่นก็คือ คนกลุ่มนี้มีภาพของ ‘ถ้ำ’ ในหัวอย่างไร? แล้วภาพนั้นแตกต่างจากภาพของ ‘ห้าง’ ในสายตาของชนชั้นกลางหรือไม่ อย่างไร?”  อาจารย์ภาวิน กล่าวต่อ

“สำหรับคนบางกลุ่มที่ใช้ชีวิตใกล้ชิดกับธรรมชาติแล้ว ความรู้สึกต่อเรื่อง ‘พื้นที่’ (space) และความหมายของคำว่า ‘ปลอดภัย’ นั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างไปจากความคิดของคนเมือง เราจึงไม่อาจใช้สายตาของคนนอกเพื่อไปสรุปหรือตีตราเอาว่าเด็กๆ หาเรื่องใส่ตัวเอง ทว่าสิ่งที่ทุกคนต่างต้องยอมรับตรงกันนั่นก็คือ นี่คือปัญหาที่เกิดจากภัยธรรมชาติซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ และเด็กๆ เองก็คงไม่คิดว่าจะได้เจอกับตัวเองเช่นกัน”

ความเห็นอีกชุดที่ถูกผลิตซ้ำออกมาอย่างต่อเนื่องนั่นคือ การให้ภาพและคุณค่าของเด็กๆ กลุ่มนี้เทียบเท่ากับ 'ฮีโร่' มากกว่าที่จะเป็นแค่ผู้รอดชีวิต หากมองในมุมของนักคิดแนวสตรีนิยม (Feminist) ซึ่งเป็นการมองสังคมเพื่อหาความเชื่อมโยงระหว่างความเป็น 'หญิง' ความเป็น 'ชาย' ซึ่งถูกซ่อนไว้อย่างแนบเนียนภายใต้วัฒนธรรมความเป็นไทย ความคิดเห็นในทำนองนี้จึงไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด

“ในโลกของตำนานและความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นทั้งของเอเชียเองหรือของโลกตะวันตก เด็กชาย มักจะต้องผ่านกระบวนการบางอย่างที่จะทำให้พวกเขาก้าวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ (Coming of age) หรือแม้กระทั่งเป็นฮีโร่หรือวีรบุรุษ ซึ่งการจะผ่านจุดนี้ได้ พวกเขาจะต้องออกเดินทางเพื่อที่จะทำภารกิจหรือเรียนรู้บางอย่าง (อ้างอิง Joseph Campbell, Archetypes: The Roles Characters Play) นี่เป็นภาพที่ผูกติดอยู่กับมโนทัศน์ของเพศชายที่ถูกถ่ายทอดต่อกันมาผ่านเรื่องเล่าและตำนานโบราณซึ่งตัวเอกส่วนใหญ่ล้วนเป็นเพศชาย หากเราลองเปรียบเทียบกับเพศหญิงแล้ว โดยมาก คุณค่าของพวกเธอมักจะถูกผูกโยงไว้กับ โลกหลังบ้าน (Private sphere) เป็นหลัก ในขณะที่เพศชายจะมีคุณค่าและตัวตนในโลกภายนอก (Public sphere) มากกว่า” อาจารย์ภาวินตั้งข้อสังเกต

“รูปแบบในการก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่นี้เห็นได้ชัดในวรรณคดีไทยพื้นบ้านซึ่งส่วนใหญ่มักมีโครงเรื่องคล้ายๆ กัน นั่นคือ มีเจ้าชายที่พลัดพรากจากบ้านเมือง และต้องออกเดินทางผจญภัยเกือบเสียทุกครั้งไป จนเรียกได้ว่า การผจญภัย นี่เองคือคุณลักษณะหนึ่งของ เพศชาย ที่ได้รับการยอมรับและส่งต่อกันมา” ที่มากไปกว่านั้น ภาพของเพศชายเมื่อถูกโยงเข้ากับสถานที่อย่าง “ถ้ำ” ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับ “ความศักดิ์สิทธิ์” ตามโลกทัศน์ของศาสนาพุทธและนิทานพื้นบ้าน ที่นี่เป็นสถานที่ “พิเศษ” จำกัดเฉพาะผู้ถือศีลที่ต้องการฝึกฝนตนเพื่อที่จะสร้างพลังอาคมให้แก่กล้า  หรือก็คือ ฤๅษี ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเป็นเพศชายเท่านั้น การเข้าไปในถ้ำของเด็กๆ จึงเป็นมากกว่าการเล่นซนธรรมดา แต่มันยังมีรูปแบบการดำเนินเรื่องที่คล้ายคลึงกับตำนานพื้นบ้านที่ตัวเอกออกเดินทางและได้รับประสบการณ์บางอย่างที่ทำให้พวกเขาอยู่ “เหนือกว่า” ภาพของผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือ สัญลักษณ์ 2 อย่างที่มีความเกี่ยวพันกันอย่างไม่สามารถแยกออกได้อย่าง บทบาทความเป็นชาย และ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเป็นพื้นที่เฉพาะของเพศชาย ได้เพิ่ม “มนต์ขลัง” ให้กับอุบัติภัยครั้งนี้ได้อย่างน่าสนใจ

หากเราลองเปลี่ยนเด็กผู้ชายและโค้ช 13 คน เป็นเด็กผู้หญิง 13 คน สังคมจะปฏิบัติและพูดถึงพวกเธอต่างจากนี้หรือไม่? พวกเธอจะถูกยกย่องว่าเป็นฮีโร่หรือไม่? ซึ่งหากลองคิดดูให้ดีแล้ว เรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก อาจารย์ภาวินตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติม “มโนทัศน์ของความเป็นหญิงของสังคมไทย (และสังคมอื่นๆ) นั้นไม่เคยถูกผูกโยงเข้ากับกิจกรรมอย่างการผจญภัย การเข้าป่าเข้าถ้ำ เด็กผู้หญิงมักจะถูกคาดหวังให้อยู่แต่กับที่บ้านเพราะนั่นเป็นที่ที่พวกเธอจะมีคุณค่าสูงที่สุด สิ่งนี้ถูกสะท้อนให้เห็นผ่านงานวรรณกรรมมุขปาฐะโบราณอย่างนางสิบสอง ซึ่งพวกเด็กๆ ในถ้ำหลวงและเหล่านางสิบสอง มีชะตากรรมคล้ายกันนั่นคือต่างต้องติดอยู่ในสถานที่ใดที่หนึ่ง แต่ในกรณีของนางสิบสอง พวกเธอถูก กำหนด ให้อยู่ในสถานที่ปิดในขณะที่ทีมหมูป่ามีสิทธิ์ในการ เลือก ที่จะเข้าหรือไม่เข้าไปในสถานที่นั้น เป็นไปได้มากที่หากกรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้หญิง สังคมอาจมีท่าทีที่แปลกไปหรือแม้กระทั่งมองว่าเป็นเรื่องประหลาด (absurd) นั่นเพราะโลกความจริงของพวกเขานั้นไม่เคยที่จะเชื่อมโยงภาพของถ้ำเข้ากับเพศอื่นที่นอกเหนือจากเพศชายได้ คุณสมบัติของการเป็น ‘ฮีโร่’ หรือ ‘ผู้มีอาคมแก่กล้า’ ของสังคมไทยจึงเป็นสิ่งที่ถูกสงวนไว้สำหรับเพศชายเพียงเท่านั้น”

การมองโลกผ่านเลนส์ของนักสตรีนิยมไม่ใช่การมองเพื่อเปรียบว่าใครถูกผิด หรือใครดีเลวกว่ากัน แต่คือการพยายามมองเพื่อตั้งคำถามกับกลไกทางวัฒนธรรมบางอย่างที่กำหนดทั้งความคิด ค่านิยม และความเชื่อที่หลายครั้งได้ถูกซ่อนไว้อย่างแนบเนียนผ่านสัญลักษณ์และเหตุการณ์ต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเรา เพราะแม้แต่กับสถานการณ์คับขันที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ทีมหมูป่าอะคาเดมีเองก็ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่สะท้อน “ภาพคิด” บางอย่างของสังคมไทย ซึ่งหลายครั้งถูกมองผ่านและลดทอนคุณค่า

สังคมเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากความซับซ้อนมากมายหลากหลาย แม้แต่บทบาทของความเป็นชายและความเป็นหญิงเองก็ล้วนเป็นสิ่งที่ถูกสังคมสร้างขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นเองได้ หากแต่ต้องใช้เวลานานทีเดียวกว่าที่มาตรฐานและความจริงเหล่านี้จะกลายเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับและสืบทอดต่อกันมา การพยายามมองให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างตัวเราและส่วนรวม โดยเฉพาะอิทธิพลในเรื่องของเพศคือสิ่งสำคัญที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ เพราะนั่นเป็นรากฐานสำคัญในการตั้งคำถามและท้าทายต่อสิ่งที่กดทับเราอยู่ ทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็น การทำความเข้าใจกับสังคมนี่เองที่จะช่วยให้เราสามารถก้าวข้ามความต่างและเปิดพื้นที่ให้กับทุกคนได้อย่างเท่าเทียม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook