ปฏิมากรรมพันปี! "เฉลิมชัย" นำทีมศิลปินเชียงรายเตรียมสร้างงานศิลปะ-ปั้นหุ่นจ่าแซม ที่วัดร่องขุ่น
( 12 ก.ค. 61 ) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ผู้สร้างศิลปะวัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมืองเชียงราย กล่าวว่าศิลปินชาวจังหวัดเชียงรายที่มีกว่า 300 คน ร่วมใจกันที่จะสร้างสรรค์ผลงานเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์กรณีการติดภายในถ้ำหลวงของเด็กๆ 13 คน ทีมหมู่ป่าอะคาเดมี่ แม่สาย ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ลงบนพื้นผ้ากว้าง 3 เมตร ยาว 13 เมตร
และสร้างปฏิมากรรมอนุสาวรีย์เพื่อเป็นอนุสรณ์เทิดทูนเกียรติประวัติของ จ่าเอกสมาน กุนัน หรือ “จ่าแซม” นักทำลายใต้น้ำจู่โจมนอกราชการ กองทัพเรือ ที่เสียชีวิตจากปฏิบัติการช่วยเหลือดังกล่าว ในวันที่ 14 กรกฎาคม นี้ที่ขัวศิลปะ อ.เมือง จ.เชียงราย
อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่า ขณะนี้ภาพวาดดังกล่าวกำลังอยู่ในขั้นตอนของการสเก็ตรูป แล้วจะเริ่มดำเนินการวาดในช่วงเช้าของวันที่ 14 กรกฎาคม จะมีการโชว์ภาพสเก็ตทั้งภาพวาด ภาพสเก็ตอนุสาวรีย์ตลอดจนอาคารสำหรับโชว์ผลงาน ส่วนช่วงบ่ายจะเริ่มลงมือคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3 วันผลงานต่างๆ จะแล้วเสร็จ
เบื้องต้นจะโชว์ไว้ที่ขัวศิลปะหรือวัดร่องขุ่นก่อน เพื่อรอการสร้างศาลาโชว์ผลงานเสร็จก็จะไปติดตั้งให้ถาวร สำหรับอนุสาวรีย์จะมีขนาดประมาณ 2 เท่าของคนจริงจะปั้นที่ภายในวัดร่องขุ่นแล้วส่งไปโรงหล่อที่กรุงเทพมหานครต่อไป
อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวด้วยว่า สำหรับงบประมาณการดำเนินการตนเป็นผู้ออกเองทั้งหมด ส่วนประชาชนที่มีน้ำใจอยากช่วยเหลือต้องขอขอบคุณแต่ขอไว้โอกาสหน้าหากใช้งบประมาณมากกว่านี้ เพราะครั้งนี้ใช้เงินเพียง 10 ล้านบาท ตนออกเองได้สบายๆ อยู่แล้ว
โดยภาพวาดที่จะสร้างทั้งหมดเป็นเรื่องราวเหมือนถ้ำและก็มีเรื่องราวของคนที่ช่วยเหลือหมูป่าทั้ง 13 ตัว ของทุกหน่วยงานที่เข้าไปปฏิบัติภารกิจทั้งผู้ว่า หรือคนต่างชาติ ท่อน้ำซิ่ง ชุดดำน้ำหน่วยซีล หน่วยปีนเขา หน่วยรังนก เป็นต้น จะรวบรวมให้ได้มากที่สุด ซึ่งด้านบนจะเป็นรูปดอยนางนอน อาจจะมีความเชื่อหรือคติโบราณเหมือนฝันอยู่ด้านบน ส่วนด้านล่างเป็นเรื่องจริงแล้วนำไปสู่ความสำเร็จ จากมืดไปสู่สว่าง
"รูปเขียนดังกล่าวจะเป็นรูปเขียนบนพื้นที่ใหญ่มาก ซึ่งจะสะใจเมื่อนักท่องเที่ยวที่จะเดินไปถ้ำหลวงในช่วงปีใหม่หรือในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว ก็จะได้เห็นและรำลึกถึงเหตุการณ์ที่ทุกภาคส่วน และนานาประเทศร่วมด้วยช่วยกัน ตอนนี้ศิลปินเชียงรายจะสับเปลี่ยนกันคราวละประมาณ 100 คน เข้าไปทำผลงานนี้ทั้งกลางวันกลางคืน ซึ่งจะเข้าทำผลงานตามความถนัดของตนเอง โดยมีตนเป็นผู้ควบคุม และ อาจารย์สุวิทย์ ใจป้อม เป็นผู้ออกแบบ" อาจารย์เฉลิมชัยกล่าว
อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวอีกกว่า ผลงานศิลปินเหล่านี้ตนและเหล่าศิลปินถือเป็นเรื่องใหญ่ที่อยากทำขึ้นเพื่อบันทึกประวัติศาสตร์ของวันสำคัญนี้ให้อยู่ได้เป็นพันปี ไม่ใช่ 100-200 ปี แม้สถาปัตยกรรมหรือพื้นที่เปลี่ยนแต่รูปเหล่านี้ก็ยังคงอยู่ เพราะจะหล่อเป็นบอร์นคุณภาพคงทนสามารถอยู่ได้ 2-3 พันปี และเป็นความงามทางศิลปะด้วย ซึ่งดีต่อใจ