ทำไม ผบ.ทบ.คนต่อไปถึงน่าจะชื่อ "พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์"
หากไล่เรียงสถานการณ์ขณะนี้ การวางตัวผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ (ผบ.ทบ.) เป็นที่แน่นอนว่า พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก นายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ กองบัญชาการทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ คือผู้บัญชาการคนใหม่ที่จะเข้ารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2561 นี้แน่นอน
แม้จะได้ชื่อว่า เป็นลูกของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) แต่คงไม่ได้ตำแหน่ง เพราะบารมีของพ่ออย่างแน่นอน แล้วนายทหารคนนี้มีดีอะไร ถึงได้รับความไว้วางใจจากเหล่าขุนพลแห่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้รับไม้ถืออำนาจต่อในกองทัพบก
นายวันวิชิต บุญโปร่ง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง อธิบายที่มาที่ไปว่า การที่ตั้ง พล.อ.อภิรัชต์ ขึ้นมานั้น มันสะท้อนถึงภาพความมั่นคงทางการเมืองได้เป็นอย่างดี ยิ่งในขณะนี้ รัฐบาลและกองทัพมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ยิ่งตอกย้ำหลักประกันให้รัฐบาลบริหารประเทศด้วยความสบายใจ
"คนที่จะเข้ามารับตำแหน่งนี้ รัฐบาลต้องวางคนที่ได้รับความไว้วางใจ ทำงานร่วมกันได้ เพราะว่าในรัฐบาลหน้า สิ่งที่จะเกิดขึ้นในวุฒิสภา ตำแหน่งที่นั่งในสภาจะมาจากผู้บัญชาการเหล่าทัพรวมทั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 6 ตำแหน่ง เป็นตำแหน่งโดยอัตโนมัติ ทำให้มีหมวก 2 ใบในการทำงาน สามารถเข้าไปวิพากษ์วิจารณ์หรือแสดงความคิดเห็นในฐานะนักการเมืองในตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาได้ เมื่อพิจารณาแล้ว กองทัพมีอิทธิพลกลับเข้าสู่การเมืองในฐานะผู้เล่นในอีกรูปแบบหนึ่ง ยิ่งทำให้การแต่งตั้งโยกย้ายในปีนี้ เป็นที่จับตามองอย่างมาก ทำให้บุคคลที่คาดหมายว่าจะเป็น ผบ.ทบ. จึงมองมาที่ พล.อ.อภิรัชต์" อาจารย์วันวิชิตอธิบายให้เห็นภาพ
รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต กล่าวต่อไปอีกว่า ว่าที่ ผบ.ทบ. มีความใกล้ชิดศูนย์อำนาจและเติบโตในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา รับตำแหน่งสำคัญๆ ในช่วงรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารประเทศมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) แม่ทัพภาคที่ 1 เรียกว่าเติบโตในตำแหน่งของไลน์ความอาวุโส ในตำแหน่งสำคัญ ประกอบกับตัว พล.อ.อภิรัชต์ มีอายุราชการที่จะเกษียณในปี 2563 มีผลอย่างมากหากโครงการอนุญาตหรืออนุมัติให้พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเรื่องการขยายเวลาเกษียณอายุราชการ เมื่อมีอายุ 63 ปี จะส่งผลอย่างแน่นอนในการวางตัวบุคคลเหล่านี้ ไม่แน่ใจว่าทางกองทัพจะใช้เกณฑ์เหมือนที่พระราชกฤษฎีกาประกาศไว้หรือไม่
"อย่างน้อยจะเห็นรวมทั้งหมด ในเรื่องเสถียรภาพของกองทัพนั้นไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ในเรื่องการจัดตัวบุคคล คุณสมบัติของ พล.อ.อภิรัชต์ ต้นทุนทางสังคมฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นลูกชายอดีตประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อ 27 ปีที่แล้ว แน่นอนว่าด้วยบุคลิกของ พล.อ.สุนทร ที่มีภาพลักษณ์เมตตาผู้ใต้บังคับบัญชา สร้างพระเดชพระคุณไว้ เป็นเหมือนการกรุยทางส่งผลตรงให้ พล.อ.อภิรัชต์ เนื่องด้วยตัว พล.อ.สุนทร เป็นเสมือนต้นแบบ คนใจถึงพึ่งได้ และเป็นคนให้มอตโต้คำคมที่ว่า ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน ทำให้นายทหารรุ่นถัดมา นึกถึงและปรับใช้คำคมนี้ มาเป็นวัฒนธรรมองค์กรทหาร ซึ่งฝังลึกในใจ ทำให้กลายเป็นจุดแข็งในแง่สร้างคุณูปการ ทำให้มีผลต่อการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.อภิรัชต์ เพราะท่านเติบโตในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ซึ่งเป็นที่รับรู้ว่าเป็นกรมทหารที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันอย่างสูง"
นอกจากนี้ นายวันวิชิต ยังวิเคราะห์ต่อไปอีกว่า ไม่ว่าจะเป็นฐานตระกูล ฐานตำแหน่งหน้าที่ก็ดี รวมทั้งบุคลิกลักษณะของ พล.อ.อภิรัชต์ แทบจะถอดแบบจาก พล.อ.สุนทร มาไม่ผิดเพี้ยน ใจถึงพึ่งได้ ไม่มีศัตรูกับใครในกองทัพ มีคนรักและให้ความเคารพ ทำให้ส่งผลสะท้อนต่อตัว พล.อภิรัชต์ เอง การเติบโตในกองทัพผสานไปกับภาพความจงรักภักดีต่อสถาบันอย่างสูง หลายต่อหลายครั้งในวิกฤติทางการเมือง พล.อ.อภิรัชต์วางตัวเป็นกองทัพของสถาบัน ยืนหยัดในความถูกต้อง รวมทั้งการชุมนุมทางการเมือง พล.อ.อภิรัชต์ก็มีบทบาทไม่น้อย
"ประกอบกับการรับภารกิจสำคัญๆ ที่รัฐบาลได้มอบหมาย ตั้งแต่สมัย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้บัญชาการทหารบก คงพิจารณามาโดยตลอดว่า ตั้งแต่เป็นผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (ผบ.พล.1 รอ.) จนมาเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 เห็นฝีไม้ลายมือเป็นอย่างไร ดังนั้นทหารจึงต้องการบุคคลเข้ามากระชับพื้นที่ให้กองทัพมีเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว ไม่เป็นทหารการเมือง ไม่เป็นทหารวิ่งเต้น ไม่เข้าหาการเมือง เป็นทหารที่มีศักดิ์ศรี จึงเป็นความโดดเด่นและลงตัวของ พล.อ.อภิรัชต์"
ก่อนการประชุมสภากลาโหมที่จะมีขึ้นในวันที่ 25 ก.ค. นี้ เรื่องโผการแต่งตั้งโยกย้าย นักวิชาการสายความมั่นคงท่านนี้มองว่า เมื่อโผหรือธงมาประมาณนี้ และตั้งข้อสังเกตได้ว่า การที่ดึงพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ จากเสนาธิการทหารบกเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก เป็นการดึงเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหารรุ่น 20 เพื่อเป็นการยืนยันในเรื่องการสนับสนุนการเติบโตของเพื่อนร่วมรุ่น และเป็นการผ่องถ่ายตำแหน่งของ 5 เสือ ทบ.ให้มีความเรียบร้อย สามารถปรับเปลี่ยนได้มากขึ้น
"ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด จะมีอีก 2 คนคือ พล.ท.กู้เกียรติ ศรีนาคา แม่ทัพภาคที่ 1 และพล.ท.วิจักขฐ์ สิริบรรสพ แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก อีกตำแหน่งที่น่าสนใจคือ เสนาธิการทหารบก น่าจะเป็น พล.ท.ธีรวัฒน์ บุณยะวัฒน์ ซึ่งท่านนี้เป็นเตรียมทหารรุ่น 19 ถือเป็นรุ่นพี่ แล้วรุ่นน้องเป็นนาย จะเกิดความลำบากใจในการทำงานหรือไม่ แต่ถ้ามาดูว่าฝ่ายการเมืองต้องการกระจายรุ่น ไม่ให้น้ำหนักถ่วงไปที่เตรียมทหารรุ่นใดรุ่นหนึ่งมากเกินไป เพราะว่าไม่อยากจะให้กองทัพแข็งมากจนเกินไป ถ้าวันหนึ่งการเมืองในอนาคตเราไม่สามารถคาดเดาอะไรได้ เพราะมีบทเรียนทางการเมืองมาแล้ว สมัยรัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร ครั้งนั้น พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผู้บัญชาการทหารบก และอดีตหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นเตรียมทหารรุ่นเดียวกันหมด ดังนั้นจึงกระจายรุ่นเตรียมทหารออกไป"
เมื่อถามว่า การที่จะตั้ง พล.อ.อภิรัชต์ ขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ. เป็นการสร้างฐานอำนาจของ คสช.ให้มั่นคงก่อนจะถึงการเลือกตั้งหรือไม่ นายวันวิชิตกล่าวว่า ปฏิเสธไม่ได้ในแง่ความใกล้ชิดของพล.อ.อภิรัชต์ และ คสช. รวมทั้งกองทัพมีฐานอำนาจอยู่ในรูปของ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.)
"พูดง่ายๆ ว่า ต้องการทำให้สภาพบ้านเมือง และฝ่ายการเมือง อยู่ในความสงบเรียบร้อยให้มากที่สุด การวางตัวบุคคลที่มีบุคลิกชัดเจนแบบนี้ ผมมองว่าไม่ใช่การป้องปราม แต่เป็นการวางสัญลักษณ์ทางการเมืองอีกแบบหนึ่ง ไม่ว่าใครจะขึ้นมาจะต้องบริหารความสัมพันธ์กับกองทัพอย่างไร ไม่ให้เกิดปัญหากระทบกระทั่งกัน หากผิดไปจากนี้ ผู้นำรัฐบาลใหม่ไม่ได้ชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นท่านอื่น จะบริหารความสัมพันธ์ไม่ให้มีปัญหา หรือทำงานใกล้ชิดร่วมมือกันกับกองทัพได้อย่างไร" นายวันวิชิต กล่าวทิ้งท้าย