โปรดเกล้าฯ "พรป.ป.ป.ช." มี 200 มาตรา ปรับกฎไม่นับอายุความ หากจำเลยหนี
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ พรป. ป.ป.ช.แล้ว สาระสำคัญไม่นับอายุความจำเลยผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี กำหนดต้องไต่สวนคดีให้จบใน 2 ปี
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ความว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล
ซึ่งมาตรา 26 ประกอบกับมาตรา 28 มาตรา 32 มาตรา 33 มาตรา 37 และมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทําได้โดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เหตุผลและความจําเป็นในการจํากัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติสามารถดําเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ
ซึ่งการตราพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญขึ้นไว้โดยคําแนะนํา และยินยอมของสภานิติบัญญัติแห่งชาติทําหน้าที่รัฐสภา
ทั้งนี้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มีทั้งสิ้น 200 มาตรา ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยมีสาระสำคัญ ในการดําเนินคดีอาญาตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้
ถ้าผู้ถูกกล่าวหา หรือจําเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดําเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ, คณะกรรมการ ปปช.มีวระดำรงตำแหน่ง 7 ปี พร้อมกำหนด กรอบการทำงาน ที่จําเป็นต้องมีการไต่สวน ต้องไต่สวนและมีความเห็นหรือวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในกําหนดเวลาที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กําหนด ซึ่งต้องไม่เกินสองปีนับแต่วันเริ่มดําเนินการไต่สวน