Australian Golfing

Australian Golfing

Australian Golfing
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

Writer : Otto
Photo by Getty Images

    Australian Golfing ห้าสุดยอดสนามกอล์ฟในออสเตรเลียที่ต้องพิสูจน์
 
    เวลานี้เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังวิกฤติหนัก หนักจนคนส่วนใหญ่ไม่กล้านำเงินที่มีออกมาใช้ เพราะกลัวว่าสักวันจะตกงานและไม่มีเงินสำรองเพียงพอ นั่นทำให้เศรษฐกิจยิ่งฝืดเคืองไปกันใหญ่ เพราะขาดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ หลายๆประเทศจึงมีนโยบายให้คนนำเงินออกมาใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ประเทศไทยเองก็มีโครงการของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่กำลังโหมโปรโมทอยู่ในขณะนี้ นั่นคือ การกระตุ้นให้คนไทยออกมาท่องเที่ยว ภายใต้สโลแกนที่ฮิตติดหูว่า เที่ยวไทย ครึกครื้น เศรษฐกิจไทย คึกคัก
    นั่นหมายรวมถึงแฟนๆกอล์ฟทั้งมือโปรและมือสมัครเล่นก็เช่นกัน ควรชักชวนเพื่อนฝูงและคนในครอบครัวออกมาตีกอล์ฟกันบ้าง อย่ากลัวว่าจะเสียเงินเสียทองมากเกินไป เพราะรายจ่ายที่แลกกับความสนุกสนานและกิจกรรมในครอบครัวที่เราต้องเสียออกไป มันหมายถึงรายรับของสนามกอล์ฟ ของแคดดี้ ของคนสวน ของคนงานในสนามกอล์ฟด้วยเช่นกัน
    แต่เมื่อขึ้นหัวคอลัมน์ไว้ว่า ‘ห้าสุดยอดสนามกอล์ฟในออสเตรเลีย’ ก็ไม่ได้หมายความว่าอ่านแล้วต้องตามไปลองให้รู้ หรือเป็นการส่งเสริมให้ออกไปเที่ยวนอกประเทศ แต่เป็นการแนะนำและชี้ให้เห็นว่าในต่างประเทศเขามีสนามกอล์ฟมากน้อยแค่ไหน สนามไหนเป็นอย่างไร เผื่อใครมีโอกาสแวะเวียนไปก็จะได้มีข้อมูลตรงนี้ไว้

ประเทศออสเตรเลีย
    ประเทศออสเตรเลีย หรือ เครือรัฐออสเตรเลีย (Commonwealth of Australia) เป็นประเทศซึ่งประกอบไปด้วยแผ่นดินหลักของทวีปออสเตรเลีย เกาะทัสมาเนีย และเกาะอื่นๆในมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิก และมหาสมุทรใต้
 เมืองหลวงของออสเตรเลียคือแคนเบอร์รา ฟังดูอาจไม่ค่อยคุ้นหูเพราะคนไทยส่วนใหญ่เข้าใจว่าซิดนีย์คือเมืองหลวง แต่นั่นเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดต่างหาก
ออสเตรเลียประกอบด้วยรัฐใหญ่จำนวนหกรัฐ และเขตปกครองตนเองสองมณฑล ได้แก่
* มณฑลนครหลวงของออสเตรเลีย มีแคนเบอร์ร่า เป็นเมืองหลวงของประเทศ และเป็นศูนย์กลางการปกครอง ลักษณะตัวเมืองทันสมัย เพราะมีการวางผังเมืองอย่างดีเยี่ยม เป็นที่ตั้งขององค์กรระดับชาติ และหน่วยงานสถานทูตของประเทศต่างๆ รวมทั้งสถานทูตไทย
* นิวเซาธ์เวลส์ เมืองหลวงชื่อซิดนีย์ รัฐนี้มีประชากรหนาแน่นมากที่สุด มีชาวไทยและนักศึกษาไทยมากที่สุดด้วย เป็นเมืองที่คึกคัก มีสีสัน สัญลักษณ์ของเมืองคือโอเปร่าเฮาส์ และสะพานข้ามอ่าวซิดนีย์
* มณฑลตอนเหนือ มีเมืองดาร์วินเป็นเมืองหลวง เนื้อที่ส่วนใหญ่จะแห้งแล้ง มีพื้นที่เกษตรกรรมเพียง 10% ภูมิอากาศไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่เป็นแหล่งผลิตไวน์ชั้นเยี่ยม
* ควีนส์แลนด์ เป็นรัฐใหญ่อันดับ 2  เมืองหลวงคือบริสเบน มีแนวปะการังที่ยาวที่สุดในโลก ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกชื่อเกรท แบร์ริเออร์ รีฟส์ (Great Barrier Reefs) มีป่าดงดิบและป่าชื้นเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์
* เซาธ์ออสเตรเลีย เมืองหลวงชื่ออะดิเลด ครั้งหนึ่งเมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นเมืองแห่งเทศกาล เนื้อที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง ภูมิอากาศไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก แต่เป็นแหล่งผลิตไวน์ชั้นเยี่ยม
* ทัสมาเนีย เมืองหลวงคือโฮบาร์ต ทัสมาเนียเป็นรัฐที่เล็กที่สุด ลักษณะเป็นเกาะ ตั้งอยู่ห่างจากรัฐวิคตอเรียแผ่นดินใหญ่ประมาณ 240 กิโลเมตร มีอากาศหนาวที่สุด สภาพภูมิประเทศเป็นหุบเขาและที่ราบสูง ทิวทัศน์สวยงามยิ่ง จนได้รับการขนานนามว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์ของออสเตรเลีย
* เวสเทิร์นออสเตรเลีย เมืองหลวงคือเพิร์ธ เป็นรัฐที่มีพื้นที่มากที่สุด อุดมสมบูรณ์ด้วยเหมืองแร่ และแร่ทองคำ มีชายฝั่งทะเลยาวถึง 12,500 กิโลเมตร อาชีพสำคัญของประชากรคือการทำประมงและทำเหมืองแร่ นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งผลิตเพชรได้มากเป็นอันดับ 3 ของโลก เพิร์ธเป็นเมืองที่สะอาด สวยงามและอยู่ใกล้ประเทศไทยมากที่สุด ใช้เวลาเดินทางหกชั่วโมงครึ่ง มีเวลาต่างกับประเทศไทยเพียงหนึ่งชั่วโมงเท่านั้น
* วิคตอเรีย รัฐนี้ได้ชื่อว่า การ์เดน สเตท  เนื่องจากมีสวนสาธารณะมากกว่ารัฐอื่น เมืองหลวงคือเมลเบิร์น เป็นเมืองเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 2 และเป็นเมืองที่นักศึกษาไทยไปศึกษามากเป็นอันดับ 2 เช่นกัน
ด้วยขนาดของประเทศที่กว้างใหญ่ถึง 7,686,850 ตร.กม. และใหญ่เป็นอันดับ  6 ของโลก มีประชากรราว 20 ล้านคน จึงทำให้มีธุรกิจสนามกอล์ฟเกิดขึ้นมากมาย ปัจจุบันมีสนามที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้วถึง 248 สนามด้วยกัน ซึ่ง Swing ได้คัดเลือกมาเพียงห้าสุดยอดสนาม 


The Royal Melbourne Golf Club
Holes: 36
Yards: 6566+6589
Par: 71+72
เดอะ รอยัล เมลเบิร์น กอล์ฟ คลับ สนามกอล์ฟขนาด 36 หลุมแห่งนี้ บริเวณด้านหน้าของคลับเฮ้าส์ มีสถาปัตยกรรมที่สื่อถึงประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย และคอร์สทางตะวันออกกับตะวันตกสามารถเชื่อมโยงถึงกันได้ อลิสเตอร์ แมคเคนซี หนึ่งในนักออกแบบสนามกอล์ฟที่ดีที่สุดในออสเตรเลีย เริ่มต้นงานของเขาในปี 1926 โดยออกแบบคอร์สทางตะวันตกก่อน และต่อมานักออกแบบสนามกอล์ฟอีกคนนามว่า อเล็กซ์ รัสเซลล์ ก็เป็นผู้รังสรรค์ไอเดียสำหรับคอร์ตทางตะวันออก
คอร์ตทั้งสองฝั่งที่รอยัล เมลเบิร์น เป็นที่กล่าวถึงกันในวงกว้างว่าเป็นสนามที่ดีที่สุดในออสเตรเลีย แมตท์การแข่งขันระดับโลกหลายต่อหลายรายการเกิดขึ้นที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นเวิล์ดคัพ หรือ เพรสซิเดนท์ คัพ เมื่อปี 1998
สนามมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน เช่น แฟร์เวยร์ที่กว้าง และกรีนที่ยาว ทำให้สนามแห่งนี้ดึงดูดใจนักกอล์ฟจากทั่วทุกสารทิศ แต่ความกว้างใหญ่ของสนามไม่ได้ทำให้ทุกอย่างดูง่ายไปหมด นักกอล์ฟหลายต่อหลายคนบ่นอุบกับกรีนที่ไวและต้องวางแผนการเล่นแต่ละหลุมอย่างดีที่สุด
เช่น ในหลุมที่ 3 ด้านคอร์ตตะวันตก หลุมพาร์ 4 นี้มีแฟร์เวย์ที่กว้าง และระยะค่อนข้างสั้น มองดูอาจเหมือนหลุมพาร์ 4 โดยทั่วไป แต่นั่นมีบางอย่างซ่อนไว้ หากใครย่ามใจคิดว่าจะเก็บเบอร์ดี้หรือพาร์แบบสบายๆต้องคิดใหม่ เพราะความที่กรีนสโลปมาก ทำให้การพัตต์นั้นยากยิ่ง คุณจึงจำเป็นต้องมีโชคบ้างถึงจะผ่านหลุมนี้ไปได้อย่างไม่เสียแต้มมากนัก



The Metropolitan Golf Club
Holes: 18
Yardage: 6,500
Par: 72
เดอะ เมโทรโพลิแทน กอล์ฟ คลับ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมลเบิร์น เป็นหนึ่งในสนามที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในออสเตรเลีย โดยเพิ่งเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน วีเมนส์ ออสเตรเลียน โอเพ่น ซึ่ง ลอร่า เดวีส์ โปรสาวใหญ่วัย 45 ปี คว้าแชมป์ไปครอง และถือเป็นแมตท์การแข่งขันระดับสากลแมตท์แรกในปีที่ก่อตั้งสนามครบ 100 ปีอีกด้วย
สนามแห่งนี้เคยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ออสเตรเลียน โอเพ่น ขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1930 รายการกอล์ฟที่ใหญ่ที่สุดในออสเตรเลียมาแล้ว จึงไม่ต้องเอ่ยถึงสรรพคุณและความครบเครื่องของสนามให้เสียเวลา
ในอดีตสนามแห่งนี้เป็นฟาร์มเกษตรกรรม การสร้างสนามจะคงคอนเซปเดิมไว้ค่อนข้างมาก กล่าวคือพวกต้นไม้ใหญ่จะถูกตัดเท่าที่จำเป็น และสัญลักษณ์ที่ทุกคนจดจำได้ดีคือต้นกัม ซึ่งเป็นต้นไม้โบราณอายุกว่า 100 ปี โดยจะออกดอกสีแดงในช่วงเดือนกุมภาพันธ์
ในปี 2005 ต่อเนื่องไปถึงปี 2006 มีการปรับเปลี่ยนเลย์เอาท์ของสนามใหม่ โดยมี ไมเคิล เคลย์ตัน นักออกแบบสนามกอล์ฟเป็นผู้ดำเนินการ การปรับเปลี่ยนครั้งล่าสุดนี้เป็นการยุบรวมหลุมที่ 12  13 และ 14 แล้วสร้างใหม่เป็นหลุมที่ 2  4  6  7  15 และ 16 สรุปคือเปลี่ยนรูปแบบใหม่ทั้งหมด และรับรองว่ายากขึ้นกว่าเดิมอีกเท่าตัว



Commonwealth Golf Club
Holes: 18
Yardage: 7,000
Par: 73
คอมมอนเวลธ์ กอล์ฟ คลับ เป็น 1 ใน 7 สนามที่ได้รับเกียรติให้จัดการแข่งขันกอล์ฟรายการใหญ่อย่าง ออสเตรเลียน โอเพ่น ในปี 1967 และตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาความนิยมของสนามแห่งนี้ก็ตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย หลุดจากการจัดอันดับสนามกอล์ฟทั่วโลกไปไกลถึงกว่า 100 อันดับ
แต่ต่อมาในปี 2000 ได้มีการบูรณะขนานใหญ่  เพื่อฟื้นฟูสนามกอล์ฟคอมมอนเวลธ์ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
หนึ่งในสิ่งที่ผู้คนต่างกล่าวถึงคือความพิเศษของหลุม 15 ที่กรีนเป็นเกาะอยู่กลางบ่อทรายกว้าง ท้าทายความสามารถของผู้เล่นอย่างยิ่ง เพราะกรีนกลางบ่อทรายนั้นนักกอล์ฟกล้าเล่นมากกว่ากรีนกลางบ่อน้ำเป็นไหนๆ เพราะตียังไงก็ไม่ตกน้ำมีแต่จะตกทราย ซึ่งตรงนี้ไม่เสียแต้มแถมถ้าตีดีลูกขึ้นออนเมื่อไหร่เป็นได้เฮสนั่นลั่นกรีนแน่นอน
แต่ในทางกลับกันในหลุมที่ 16 กลับมีอุปสรรคน้ำให้ต้องคิดหาวิธีเล่นกันใหม่ เนื่องจากหลุมนี้มีระยะยาวมาก และไม่ใช่แฟเวย์ที่ตรงซะทีเดียว คุณจึงจำเป็นต้องเล่นอย่างใจเย็นและอาจต้องตีถึง 3 ช็อตกว่าจะได้ลุ้นเห็นธง



Victoria Golf Club
Holes: 18
Yards: 6,219
Par: 72
วิคตอเรีย กอล์ฟ คลับ ตั้งอยู่ใกล้กับ รอยัล เมลเบิร์น ซึ่งติดอันดับ 1 ใน 10 สนามที่ดีที่สุดในออสเตรเลีย โดยสำรวจความคิดเห็นจากนักกอล์ฟทั่วออสเตรเลียโดย
 แฟร์เวย์มีความราบเรียบเสมอกัน จนบางทีก็มองไม่เห็นว่ามีอะไรซ่อนอยู่บนความเรียบนั้น เช่น หลุมทราย ที่นับเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญของสนามแห่งนี้ รองจากสุมทุมพุ่มไม้ที่แผ่กิ่งก้านสาขาจนสะกดให้คุณรู้สึกว่ามนุษย์เราช่างตัวจ้อยเสียนี่กระไร
หลุมแรกของสนามเป็นหลุมพาร์ 4 มีความยาว 254 หลา แต่กรีนนั้นอยู่สูงกว่าบริเวณอื่นโดยรอบ และมีหลุมทราย 2-3 หลุมเป็นอุปสรรคดักอยู่ เป็นการยากที่จะจัดการกับอุปสรรคดังกล่าวหากว่าฝีมือไม่ดีจริง นับว่าท้าทายและต้องพิสูจน์ให้รู้ด้วยตัวเอง
ในขณะเดียวกันก็มีหลุมพาร์ 4 แต่ระยะยาวกว่า 430 หลาอีกด้วย จริงๆมันควรจะเป็นหลุมพาร์ 5 มากกว่า ซึ่งความเป็นจริงหลุมพาร์ 5 ของสนามแห่งนี้ยาวถึง 500 หลาเลยทีเดียว อาทิหลุมที่ 8 และ 18 เป็นต้น ดังนั้นแม้จะตีตรงและพัตต์แม่นก็ไม่สามารถพิชิตสนามแห่งนี้ได้ง่ายๆ ต้องมีพละกำลังที่เหลือเฟืออีกด้วย จึงจะหยิบพาร์หรือเบอร์ดี้กลับบ้านได้บ้าง
พื้นที่รอบกรีนหลุม 8 นั้นแคบมาก มีหลุมทรายดักอยู่ด้วย หากต้องการตีจากระยะ 200 ถึง 250 หลาเพื่อขึ้นกรีนเลย คุณจะต้องเสี่ยงเป็นอย่างมาก ทางที่ดีแนะนำให้ตีออกด้านข้างหรือตีให้เลยธงไปก่อน ยอมเสีย 2 ช็อตเพื่อเพลย์เซฟ ดีกว่าต้องมาเสียแรงแก้ปัญหาว่าจะตีขึ้นจากหลุมทรายอย่างไร เพราะขอบหลุมนั้นลึกใช้ได้เลยทีเดียว
ในขณะที่หลุม 18 นั่นแฟร์เวย์ตรงจนน่าตกใจเลยทีเดียว แต่ถ้าคุณตีไม่ตรงก็จะมีต้นไม้และพุ่มไม้คอยรับลูกกอล์ฟอยู่มากมาย อีกทั้งกรีนที่นี่มีสโลปที่เทไปด้านหน้า การตีลูกในช็อต 2 จึงไม่ใช่เรื่องง่าย หลุมนี้ไม่ยากและไม่ง่าย จะเรียกว่าหลุมปราบเซียนก็คงไม่ผิดนัก เพราะถ้าตีดีคุณมีโอกาสได้อีเกิ้ลเลยทีเดียว แต่ถ้าจับทางไม่ถูกก็คงต้องออกโบกี้โน่นเลย



Kingston Heath Golf Club
Holes: 18
Yardage: 6,813
Par: 72
คิงสตัน เฮธ กอล์ฟ คลับ เป็นอีกหนึ่งสนามที่น่าทดลองยิ่งนัก สนามแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อปี 1923 ออกแบบโดย แดน ซัวตาร์ และปรับปรุงให้ในปี 1927 เพื่อเพิ่มหลุมทรายเข้าไปอีก สนามแห่งนี้มีแฟร์เวย์สุดลูกหูลูกตา หลุมพาร์ 4 นั้นอันตรายทุกหลุม เพราะมีทั้งต้นไม้และหลุมทรายคอยดักอยู่ทุกช่วงเลยก็ว่าได้
สนามวิคตอเรีย กอล์ฟ คลับ นั้นเริ่มหลุมแรกด้วยพาร์ 4 ระยะสั้น แต่สำหรับคิงสตัน เฮธ แห่งนี้แล้วคุณต้องออกแรงตีหลุมพาร์ 5 กันก่อนเลย ซึ่งมีความยาว 457 หลา หลุมนี้ปราบเซียนมานักต่อนักแล้ว เพราะไม่ว่าคุณจะวางแผนการเล่นอย่างไร พอถึงช็อต 2 คุณจะต้องตีลูกลงเขาซึ่งยากแก่การคอนโทรลลูกกอล์ฟเป็นอย่างยิ่ง
พอถึงหลุมที่ 2 การเล่นของคุณต้องเปลี่ยนไปเนื่องจากแฟร์เวย์มีความโค้งไปทางด้านซ้าย และมีหลุมทรายแอบอยู่หัวมุมอีกต่างหาก ถ้าไม่ดูแปลนสนามให้ดีมีหวังต้องลงไปขุดลูกกอล์ฟขึ้นมาในช็อต 2 แน่นอน ส่วนหลุมที่ 3 นั้นมีระยะ 295 หลา ซึ่งหลุมนี้น่าจะเป็นหลุมที่ต้องเก็บไดรเวอร์ลงถุงไปเลย เพราะลำพังแค่หัวไม้ 3 ก็ต้องลุ้นแล้วว่าลูกกอล์ฟจะไปเกี่ยวเอาต้นไม้หรือกิ่งไม้แถวนั้นหรือเปล่า เผลอๆตีแรงไปก็จะถูกดักโดยหลุมทรายอีก การวางแผนและเข้าใจสนามจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นในการเล่นหลุมนี้ ไม่อย่างนั้นอาจต้องเดินหาลูกกอล์ฟกันเมื่อยขาเปล่าๆ
และถ้าคุณเดินไปสะดุดตากับแผ่นหินที่หลุม 14 พาร์ 5 ก็จงรู้ไว้ด้วยว่า เมื่อปี 1979 นายโรเจอร์ แมคเคย์ เคยทำดับเบิ้ล อีเกิ้ล ที่หลุมนี้มาแล้ว ส่วนคุณจะลองทำเหมือนนายแมคเคย์ ก็ได้ไม่มีใครว่า

    จะว่าไปแล้วสนามกอล์ฟทั่วทุกมุมโลกล้วนมีเอกลักษณ์และความท้าทายที่แตกต่างกันไปตามแต่สถาปนิกผู้ออกแบบจะกำหนดไว้ ไม่เว้นแม้แต่สนามกอล์ฟในประเทศไทยที่มีจำนวนมากและสวยงามน่าสัมผัสไม่แพ้กับต่างประเทศ แต่สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือกว่าจะได้ออกรอบ ณ สนามที่เราตั้งใจไว้ ระหว่างทางจากบ้านไปจนถึงแท่นทีออฟต่างหากคือความท้าทายและความสนุกที่หาไม่ได้ในสนามกอล์ฟ
    อย่าลืมชวนเพื่อนฝูงและคนในครอบครัวไปออกรอบกันบ้าง เพื่อความสุขของตัวคุณเองและช่วยเศรษฐกิจไทยให้คึกคักอีกครั้ง

 

                                                                                                                                                                                        สนับสนุนเนื้อหาโดย

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook