วิถีนักกิจกรรม “แอมเนสตี้” บนเส้นทางที่สวนกระแสสังคม

วิถีนักกิจกรรม “แอมเนสตี้” บนเส้นทางที่สวนกระแสสังคม

วิถีนักกิจกรรม “แอมเนสตี้” บนเส้นทางที่สวนกระแสสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

และแล้ว ดราม่าเรื่องโทษประหารชีวิตก็จางหายไป ไม่ต่างกับดราม่าอื่นๆ ที่ผ่านมา แม้ว่ากระแสที่เกรี้ยวกราดจะเริ่มซาลงไป แต่เชื่อว่าตัวละครในดราม่าครั้งนี้ อย่าง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชัลแนล ประเทศไทย คงจะเข้ามาอยู่ในสายตาคนไทยมากขึ้น จากกิจกรรมไว้อาลัยแด่การตัดสินโทษประหารชีวิต เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2561 โดยมีจุดยืนเพื่อคัดค้านการใช้โทษประหารชีวิตในประเทศไทย จนกระทั่งเกิดการถกเถียงครั้งใหญ่ในโลกออนไลน์

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็น นักกิจกรรม ที่เอะอะก็ลุกขึ้นมารณรงค์ จนถูกติดป้ายว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ชอบสร้างความขัดแย้ง ที่จริงแล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย เป็นใครกันแน่ และอะไรที่ยังทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ยังคงทำงานที่ ขัดใจสังคม อยู่ มาหาคำตอบกัน

Amnesty International Thailand

แอมเนสตี้เป็นใคร

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล หรือ องค์การนิรโทษกรรมสากล คือ หน่วยงานเอกชนซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก ที่รวมตัวกันเคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชน โดยมีจุดยืนในการส่งเสริมการใช้สิทธิตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน 30 ข้อ เช่น สิทธิในการใช้ชีวิต, สิทธิในการทำงาน, สิทธิในการแสดงออก, สิทธิในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล และร่วมสร้างสังคมที่ไม่มีการละเมิดสิทธิกัน โดยมีผู้สนับสนุนได้แก่ สมาชิกขององค์กร, ผู้บริจาค และนักกิจกรรม ซึ่งจัดตั้งสำนักงานอยู่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่เป็น 'ผู้เอื้ออำนวย' ให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน พร้อมนักวิจัยที่ทำหน้าที่ศึกษาวิจัย เพื่อนำผลการวิจัยไปเป็นเครื่องมือในการรณรงค์ หรือพูดคุยกับรัฐบาลเพื่อผลักดันเชิงนโยบายต่อไป

เลือกข้าง ฟอกเงิน เข้าข้างโจร?

ตลอดระยะเวลาเกือบ 60 ปี นับตั้งแต่ก่อตั้งองค์กร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล มักจะถูกโจมตีจากรัฐบาลในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการมีอคติ เลือกข้าง รวมทั้งความขัดแย้งกับศาสนจักรคาทอลิก เมื่อปี 2550 จากกรณีที่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล เปลี่ยนท่าทีจากการเป็นกลางเรื่องการทำแท้ง เป็นการสนับสนุนการเข้าถึงการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ในกรณีข่มขืนหรือมีเพศสัมพันธ์ในครอบครัว และในกรณีที่เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตและสุขภาพของแม่ ส่งผลให้เกิดกระแสต่อต้านจากหลายองค์กร โดยเฉพาะศาสนจักรคาทอลิก ที่เคยเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนแอมเนสตี้ ส่วนสำนักงานในประเทศไทยเอง ก็ยังเคยถูกโจมตีด้วยข้อหา รับเงินจากต่างชาติมาสร้างความวุ่นวาย ฟอกเงิน และเข้าข้างคนร้าย ด้วย ซึ่งคุณ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ได้ชี้แจงถึงประเด็นนี้ไว้ว่า

“ก่อนโทษประหารก็มีมาเรื่อยๆ ค่ะ โดยเฉพาะเรื่องฟอกเงิน รับเงินนายทุนมาปั่น รับเงินต่างชาติ เข้าข้างโจร อย่างเช่น กรณีระเบิดที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เราก็จะมีแถลงการณ์ เช่น เสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น และประณามเหตุการณ์ครั้งนี้ เรามีคำว่าเสียใจนะ แต่คนก็จะไปอ่านตรงที่เราบอกว่า ถ้ามีการจับกุมผู้ต้องหา ก็ขอให้มีการสอบสวนที่เป็นธรรมและโปร่งใส เขาก็จะมองว่าเราเข้าข้างโจร แต่จริงๆ แล้วเราอยากให้คุณจับคนผิดได้ และอยากให้จับถูกคนด้วย แต่ต้องมีกระบวนการที่โปร่งใส ทุกปีเราจะมีประชุมสมาชิก แล้วเราก็จะมีการเปิดเผยการใช้เงิน โดยมีกรรมการมาตรวจสอบการใช้เงินของเรา” คุณปิยนุชกล่าว

สำหรับที่มาของรายได้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทยนั้น คุณปิยนุชเล่าว่า รายได้ส่วนใหญ่มาจากเงินบริจาคจากผู้สนับสนุนรายย่อยและสมาชิก ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ รวมทั้งการทำเอกสารขอรับเงินสนับสนุนโครงการต่างๆ จากรัฐบาลหรือสถานทูต ซึ่งจะต้องเป็นโครงการที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนศึกษาเท่านั้น นอกจากนี้ ยังสามารถขอการสนับสนุนจากแหล่งทุนขนาดใหญ่ได้ แต่แหล่งทุนหรือบริษัทเหล่านั้นจะต้องไม่มีประวัติละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งต้องใช้เวลาตรวจสอบอย่างยาวนาน เช่นเดียวกับการทำรายงานการวิจัย และรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี ทั้งนี้ก็เพื่อ 'ความน่าเชื่อถือ' ขององค์กร และความชอบธรรมในการรณรงค์เรื่องต่างๆ

วิถีนักกิจกรรมแอมเนสตี้

“คุณพ่อเราเคยทำงานอยู่ที่ศรีลังกาในช่วงที่สงคราม 32 ปี ใกล้จบ สิ่งที่เราได้เห็นคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในสงครามที่เกิดขึ้นเป็นเวลา 32 ปีนี้ แล้วตอนที่สงครามจบ ฝ่ายทมิฬแพ้ ยิ่งกว่านั้น มันมีการระเบิดโรงพยาบาลกับโรงเรียน และใช้คนเป็นโล่มนุษย์ เราก็รู้สึกว่า ในฐานะคนคนหนึ่ง สิ่งที่เราทำได้ก็คือทำให้คนเคารพกันให้มากขึ้น ก็เลยทำให้เราอยากทำงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน” คุณ เพชรรัตน์ ศักดิ์ศิริเวทย์กุล หรือ เมย์ ผู้ประสานงานฝ่ายนักกิจกรรม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย เปิดบทสนทนาเรื่องวิถีนักกิจกรรมของแอมเนสตี้ ด้วยแรงบันดาลใจที่ทำให้เธอตัดสินใจเดินสู่เส้นทางนี้ โดยมีจุดยืนคือการสร้าง 'บทสนทนาใหม่' เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน เพื่อความหลากหลายในสังคม

“มีไม่กี่ประเทศที่เรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องกระแสหลัก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของคนกลุ่มน้อย หรือคนที่มีความคิดเห็นเป็นส่วนน้อย เราก็คิดว่าควรจะทำอะไรสักอย่าง แต่เราก็เข้าใจว่าสภาพสังคมในประเทศไทยไม่เอื้อให้คนออกมาได้ง่ายขนาดนั้น มันก็เห็นในประวัติศาสตร์มากมายว่า คนที่ออกมาส่วนใหญ่ก็จะโดนว่า ถูกมองเป็นคนที่แตกต่าง หัวรุนแรง ชอบความขัดแย้ง ทำให้สังคมไม่สงบ แต่ว่าเราก็พยายามหาวิธีการ หรือกลยุทธ์ที่ทำให้งานของเราซอฟต์ลง เมย์ว่าถ้าไม่มีกลุ่มคนที่ออกมาพูดเรื่องนี้เลย สังคมก็จะพูดภาษาเดียว หรือว่ามีความคิดแบบเดียว เมย์เลยคิดว่าสังคมจำเป็นต้องเห็นว่ามันมีความเชื่อหลายๆ แบบ” คุณเมย์กล่าว

คุณปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการคัดค้านโทษประหารAFPคุณปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการคัดค้านโทษประหาร

บทเรียนจากปฏิบัติการคัดค้านโทษประหาร

เมื่อพูดถึงประเด็นร้อนที่ผ่านมา อย่างการคัดค้านโทษประหารชีวิต ซึ่งแอมเนสตี้เป็นตัวละครสำคัญที่จุดประเด็นนี้ขึ้นมา สิทธิมนุษยชนมีความจำเป็นกับอาชญากรที่คร่าชีวิตผู้อื่นได้อย่างไร คุณปิยนุชตอบว่า

“สิทธิมนุษยชนในกรณีนี้ คือสิทธิเรื่องการมีชีวิตอยู่รอด เป็นสิทธิพื้นฐาน สำคัญสำหรับทุกคน ถ้าคนเคารพตรงนี้ มันก็จะไม่มีการทำร้ายหรือพรากชีวิตกัน แต่ถ้ามันมีกรณีที่มีการละเมิด คือฝ่ายหนึ่งไปทำร้ายหรือฆ่าอีกฝ่ายหนึ่ง เราก็มองว่ามันควรจะมีการลงโทษ แต่รัฐไม่ควรเอาวิธีการลงโทษโดยการพรากชีวิตมาทำกับอีกฝ่าย คือไม่ควรใช้โทษประหารเป็นใบอนุญาตในการจัดการตรงนี้ เพราะมันจะเป็นวงจรของความรุนแรง และที่สำคัญก็คือ ถึงจะมีโทษประหาร มันก็ไม่ได้ช่วยหยุดคดีเหล่านี้ แล้วก็ไม่ได้ดูเรื่องการลงโทษอย่างเดียว ต้องดูเรื่องการดำเนินคดีที่เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย มีระบบที่ดูว่าอะไรเป็นสาเหตุที่เขาทำ แล้วเราต้องจัดการกับเขาอย่างไร” คุณปิยนุชกล่าว

แล้วถ้าไม่มีโทษประหาร จะจัดการกับอาชญากรอย่างไร คุณปิยนุชบอกว่า ทางเลือกหนึ่งคือการจำคุกตลอดชีวิต และอีกข้อเสนอหนึ่งคือควรจำคุกไม่ต่ำกว่า 20 ปี จึงจะปล่อยตัว โดยมีระบบคัดกรองที่รัดกุม และสามารถใช้ได้กับทั้งคดีอุกฉกรรจ์ จนถึงคดีเล็กๆ น้อยๆ รวมทั้งต้องมีระบบที่รองรับผู้ที่พ้นโทษ หรือทำให้คนเหล่านั้นมีช่องทางทำมาหากินอย่างอื่น โดยที่ไม่กลับไปก่ออาชญากรรมอีก ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องพิจารณาในเชิงกระบวนการ และคุณปิยนุชยอมรับว่ายังไม่มีโอกาสได้สื่อสารเรื่องนี้อย่างชัดเจนพอ นอกจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์

“เราก็ต้องการส่งสัญญาณว่าเราไม่โอเคกับกระบวนการยุติธรรมที่ทำให้โทษประหารเกิดขึ้น การใส่หน้ากากก็เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่า ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร จะเป็นครอบครัวเหยื่อ จะเป็นครอบครัวของผู้ที่รับโทษ หรือประชาชนทั่วไป การที่รัฐใช้โทษประหารมาแก้ปัญหา ยุติความรุนแรง หรือทำให้หวาดกลัว มันไม่ใช่คำตอบ คุณควรจะแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ หรือใช้รูปแบบที่เป็นระบบมากกว่านี้” คุณปิยนุชกล่าวถึงเหตุการณ์การคัดค้านโทษประหารครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ที่แม้จะผ่านการประเมินความเสี่ยงมาอย่างดีแล้ว ก็ยังมีผลกระทบที่รุนแรงต่อตัวทีมงานอยู่

จุดอ่อนของงานครั้งนี้น่าจะเป็นเพราะความที่มันเร็วมากๆ ใช้เวลาคุยกัน 1 คืน รวมทั้งภาษาที่สื่อออกไป สิ่งที่เรามองคือเชิงหลักการ แต่สิ่งที่เราไม่ได้นึกถึงตอนนั้นก็คือระดับความเข้าใจของสังคมตอนนี้มันอยู่ตรงไหน อีกอย่างที่เราไม่ได้พูดคือเราชัดเจนกับตัวเอง เราชัดเจนกับสังคมว่าตอนนี้เรากำลังทำอะไรอยู่ และเราทำเพื่ออะไร นั่นก็คือข้อผิดพลาด ซึ่งเราคิดว่า ถ้าเรามีเวลามากกว่านั้น คงทำให้ดีได้มากกว่านี้” คุณเมย์กล่าวถึงข้อบกพร่องในการรณรงค์ครั้งนี้

สังคมแห่งความหวาดกลัว

นอกจากการรณรงค์ครั้งนี้จะปลุกกระแสการวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับโทษประหารชีวิตในหมู่คนไทย แต่กระแสที่ตามมาอีกอย่างคือ “การล่าแม่มด” ที่ทีมงานนักกิจกรรมของแอมเนสตี้ได้รับผลกระทบไปเต็มๆ ทั้งการโจมตีผ่านข้อความออนไลน์ การขู่ทำร้ายทางโทรศัพท์ ไปจนถึงการนำพวงหรีดมาวางหน้าสำนักงาน ซึ่งคุณปิยนุชเล่าความรู้สึกว่า

“เราคิดว่ามันเป็นเรื่องที่ดีที่มีการถกเถียงกัน ซึ่งนั่นก็คือหนึ่งในจุดประสงค์ของเรา เพราะว่าอย่างน้อยเราก็คิดเหมือนกันว่าเราอยากเห็นสังคมที่ปลอดภัย แต่การใช้ความเกลียดชัง ความโกรธ หรือความคิดที่จะทำร้ายห้ำหั่นกัน มันก็ส่งผลกระทบเรื่องจิตใจและความปลอดภัยของคนทำงาน และที่น่าเศร้าคือ ส่วนใหญ่คนที่จะโดนผลกระทบแรงๆ โดนเหยียดเพศ หรือโดนขู่ จะเป็นผู้หญิงทั้งนั้น เราอยู่ในสังคมที่ไม่อยากเจอการข่มขืน แต่ลงโทษเรา โดยการให้เราไปโดนข่มขืนเอง เพราะคิดว่าเราเข้าข้างโจร มันก็มีความย้อนแย้งและน่ากลัวอยู่” คุณปิยนุชกล่าว

และท่ามกลางกระแสความเกลียดชังที่เกิดขึ้น ทางแอมเนสตี้ก็พยายามวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจปฏิกิริยาของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการคัดค้านโทษประหาร คำตอบของปฏิกิริยาที่รุนแรงครั้งนี้ก็คือ 'ความกลัว'

“มันก็มองได้สองทางคือ มันเป็นอารมณ์ สองคือ มันทำให้เราเห็นภาพสังคมของความกลัว เขากลัวว่าคนที่โดนโทษประหารชีวิตออกมาสู่สังคม จะทำให้เขาไม่ปลอดภัย ถ้าเรามองกว้างออกมาก็คือมันเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรมที่มันไม่ทำให้สังคมรู้สึกปลอดภัยมากขึ้น ก็แปลว่ามันมีงานอื่นเยอะเลยที่ต้องทำ นอกจากนี้ สังคมเรายังไม่เคยเจอความคิดต่างมาก่อน และเป็นสังคมที่ไม่ได้มองคนเท่ากันค่ะ” คุณเมย์กล่าว

'การสื่อสาร' คืออาวุธที่หายไป

ภาพจำของนักกิจกรรมหรือนักสิทธิมนุษยชนในสายตาคนทั่วไป คือกลุ่มคนหัวรุนแรงที่ลุกขึ้นมาสวนกระแส ต่อต้านทุกเรื่อง และพูดในสิ่งที่เป็นนามธรรม เข้าใจยาก ซึ่งในกรณีโทษประหารนี้ก็สะกิดให้แอมเนสตี้ทบทวนตัวเอง และพบว่าอาวุธที่หายไปในการต่อสู้ครั้งนี้ก็คือ 'การสื่อสาร'

“เราก็สรุปบทเรียนด้วยกัน โดยมองว่าสิ่งที่เราทำมันเกิดผลกระทบอย่างไร และเกิดผลเสียอย่างไร ผลกระทบก็คือ องค์กรเราเป็นที่รู้จัก และจุดประสงค์ที่เราอยากให้เรื่องโทษประหารเป็นที่ถกเถียงพูดคุยในสังคมก็เกิดขึ้นแล้ว เราได้สื่อสารความคิดของเราไปถึงภาครัฐแล้ว แต่ผลเสียที่เกิดขึ้นมันก็มีเยอะ ทั้งชื่อเสียงองค์กร ความปลอดภัย คนก็ยังไม่เข้าใจ แต่มันก็ทำให้เรารู้ว่า ก่อนที่จะลุกมา คุณจะต้องมีวิธีการสื่อสารอย่างไร คุณจะต้องทำความเข้าใจกับคนที่คุณจะสื่อสารด้วยอย่างไร เพราะฉะนั้น เราก็ต้องมาตั้งตัวใหม่” คุณปิยนุชอธิบาย

ด้านคุณเมย์ก็มองเห็นข้อดีของดราม่าครั้งนี้ โดยกล่าวว่า “สิ่งแรกที่ได้เรียนรู้คือ ไม่น่าเชื่อว่าคนแค่ 7 คน สามารถทำให้คนทั้งประเทศรับรู้เรื่องนี้ได้ สำหรับเมย์ งานของนักกิจกรรมคือการสร้างแรงกระเพื่อมในสังคม เราทำงานมา 3 ปี เราก็นึกว่าเราเข้าถึงคนได้เยอะในเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่วันนั้นมันก็ทำให้เรารู้ว่า เราต้องทำงานเยอะขึ้นขนาดไหน เพื่อให้คนเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนมากขึ้น แล้วเราก็รู้ว่ามันไม่ได้มีแค่เรื่องของโครงสร้าง แต่มันยังมีเรื่องสังคมที่ยังดื่มด่ำกับความรุนแรง และเขาไม่ได้เคารพสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งมันก็เป็นหนึ่งในงานที่เราทำ”

แม้การรณรงค์ครั้งนี้จะยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่แอมเนสตี้ก็ยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าต่อ และรอเวลาให้อารมณ์ของคนส่วนใหญ่เย็นลง เพื่อที่จะกลับมาพูดคุยเรื่องนี้กันอีกครั้งในรูปแบบใหม่

คำจำกัดความของ 'โลกสวย'

'โลกสวย' อีกหนึ่งฉลากที่คนทั่วไปมักจะหยิบมาแปะให้นักกิจกรรมอยู่เสมอ ซึ่งเมื่อถามคุณปิยนุชว่าที่จริงแล้ว นักกิจกรรมเป็นพวกโลกสวย วิ่งอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์อย่างที่ใครพูดกันจริงหรือไม่ คุณปิยนุชตอบว่า การทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องสวยๆ งามๆ แต่เป็นงานที่ 'ดาร์ก' เลยทีเดียว

“เราจะบอกคนที่ว่าเราว่า นี่แหละ โลกแห่งความจริง ซึ่งถ้าคุณไม่อยากให้มีคดีสะเทือนขวัญ ความรุนแรง ฆ่าข่มขืน ถึงคุณใช้โทษประหารเท่าไร มันก็ไม่ได้แก้อะไร มันก็เกิดซ้ำๆ เป็นวงจรอุบาทว์แบบนี้อยู่ดี นี่คือโลกแห่งความจริงที่คุณต้องรู้ไว้ และคุณควรใช้วิธีอื่น เรายอมรับในความเห็นที่แตกต่างนะ แต่เราต้องมาดูว่าทำไมคุณถึงเห็นต่าง แล้วจุดยืนของคุณ คุณอยากเห็นอะไร เราอยากเห็นแบบนี้ มันใช้วิธีนี้ได้ไหม อย่างนี้มากกว่า มันควรจะเป็นสังคมที่มีการถกเถียงกัน แล้วก็ถ้าเราเคารพความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน มันก็จะเป็นจุดเริ่มต้น”

ส่วนคุณเมย์ก็เสริมว่า “เมย์ถามกลับว่าใครไม่อยากอยู่ในสังคมที่โลกสวยบ้าง ใครบ้างอยากอยู่ในสังคมที่ฆ่ากัน ทะเลาะกัน มันผิดไหมที่เรามองว่าเราอยากให้โลกมันสวยขึ้น แต่แน่นอน เราก็ต้องมองในความเป็นจริงว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้าง ที่เขาว่าว่าอยู่ในทุ่งลาเวนเดอร์ เรามองว่าเราสามารถสร้างทุ่งลาเวนเดอร์ด้วยกันได้ แล้วทุกคนก็อยากได้ทุ่งลาเวนเดอร์ตรงนั้น แต่ว่าตอนนี้มันยังไม่มี แล้วเราจะสร้างด้วยกันอย่างไร”

แม้ว่าดราม่าเรื่องโทษประหารชีวิตจะเป็นอีกครั้งที่สังคมแบ่งออกเป็นสองฝ่าย และมีการปะทะกันทางคำพูดที่รุนแรง แต่คุณเมย์ก็ยังอยากเห็นสังคมที่มีการพูดคุย ถกเถียงกัน และเคารพในความคิดของแต่ละคน เพราะปลายทางที่ทั้งสองฝ่ายต้องการก็คือ “การมีสังคมที่ปลอดภัย”

“เรารู้สึกว่าอย่างน้อย ถ้าเราเชื่อในเสรีภาพในการแสดงออก เราเคารพกัน และเราออกมาพูดคุยกันโดยใช้ข้อมูลเป็นหลัก สังคมที่เราคิดกับสังคมที่เขาคิด ปลายทางมันเหมือนกัน คือทุกคนอยากได้สังคมที่มันดีกว่า เราอยากได้สังคมที่ปลอดภัย แค่เราต้องมาคุยกันว่ามีวิธีใดที่เราจะไปถึงตรงนั้นได้บ้าง มันมีวิธีที่ใช้กฎหมายเยอะๆ แล้วก็จำกัดสิทธิคนเพื่อให้คนกลัว หรือว่ามันมีกฎหมายที่เปิดหน่อย แล้วก็เชื่อว่าคนสามารถพัฒนาตัวเองได้ แล้วก็สร้างพื้นที่เพื่อไม่ให้คนกลับเข้าไปในคุกอีก เราไม่สามารถเอาตัวเองไปใส่ในประเทศอย่างนอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ หรือฮ่องกงได้ แต่ว่าเราก็สามารถสร้างสังคมแบบนั้นขึ้นมาได้ ถ้าเราต่างยอมรับว่ามันมีหลายทางเลือก ไม่ใช่ว่าคุณไปฆ่าคนแล้วสังคมจะดีขึ้นภายใน 1 วัน” คุณเมย์สรุป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook