ชาวบ้านร้องให้รื้อออก-หลังมือมืดแอบปักป้ายเขตอุทยานฯ ในที่ดินทำกินมีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3
( 26 ก.ค. 61 ) ชาวบ้าน ต.ละมอ อ.นาโยง จ.ตรัง ร้องได้รับความเดือดร้อนจากการถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ป่าเทือกเขาบรรทัด ช่วงพื้นที่ อ .นาโยง จ.ตรัง นำป้ายเขตอุทยานแห่งชาติไปปักในพื้นที่สวนยางพาราที่มีเอกสารสิทธิ์ น.ส.3 และที่ดินที่ยังคงเป็นปัญหาในการอ้างสิทธิ์การทำกินระหว่างภาครัฐกับชาวบ้าน ที่ยังอยู่ระหว่างความพยายามจะพิสูจน์สิทธิ์การถือครอง
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้นำป้ายใหม่เข้าไปแอบปักประกาศเป็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติ โดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับรู้ ซึ่งมีทั้งสวนยางพารา สวนผลไม้ ของชาวบ้านคนละประมาณ 5 - 15 ไร่ และบางแปลงเข้าไปถึงเขตบ้านเรือนที่อยู่อาศัยในปัจจุบัน โดยชาวบ้าน เช่น นางนงเยาว์ อายุ 60 ปี ชางบ้านในพื้นที่ ต.ละมอ กล่าวว่า ตนเองและพี่น้องรวม 6 คน ได้รับที่ดินซึ่งเป็นเอกสาร น.ส.3 จากพ่อแม่โอนให้มาคนละประมาณ 3 – 10 ไร่ แต่ขณะนี้มีป้ายของอุทยานฯ มาปักยึดที่ดินทำกินแล้ว
ขณะ นายอาจินต์ อายุ 50 ปี ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ละมอ กล่าวว่า ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น แม้แต่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ก็ไม่มีใครทราบว่าป้ายดังกล่าวเจ้าหน้าที่นำมาปักเอาไว้วันเวลาใด แต่อยู่มาวันหนึ่งชาวบ้านไปกรีดยาง ก็พบกับป้ายปักแสดงอาณาเขตป่ามาปักอยู่ในที่ดินของชาวบ้านแล้ว
พร้อมตั้งคำถามเจ้าหน้าที่จะเข้ามาปักแนวเขตใหม่ยึดที่ดินของชาวบ้านทำไมไม่แจ้งชาวบ้าน หรือผู้นำในพื้นที่ เชื่อว่าคงไม่กล้าแจ้งประสานชาวบ้านหรือผู้นำ เพราะพื้นที่ที่นำมาปักแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ พื้นที่ที่ยังคงเป็นปัญหากระทบกระทั่งหรืออ้างสิทธิ์การเป็นเจ้าของระหว่างรัฐกับชาวบ้าน และอยู่ระหว่างความพยายามในการพิสูจน์สิทธิ์การถือครอง กับที่ดินที่ชาวบ้านมีเอกสารสิทธิ์ถูกต้องซึ่งมีจำนวนมากหลายสิบแปลง ทำให้ทุกแปลงไม่สามารถตัดโค่นไม้เก่า เพื่อปลูกใหม่ทดแทนได้
ทั้งนี้ ชาวบ้านเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่มานำป้ายดังกล่าวออกไป เพราะถ้าชาวบ้านดำเนินการเองอาจจะมีความผิด โดยชาวบ้านทุกคนกลัวว่าเจ้าหน้าที่จะมายึดที่ดินทำกินของตนเอง พร้อมเรียกร้องขอให้สามารถโค่นยางเก่า ขอทุนสงเคราะห์ปลูกยางใหม่ได้ แต่ขณะนี้ถ้าโค่นก็จะถูกจับกุมดำเนินคดี
นอกจากนั้นยังถูกกล่าวหาว่า เป็นนายทุน จึงร้องขอให้นำป้ายดังกล่าวออกไปจากที่ดินของชาวบ้าน ส่วนที่ดินที่ยังคงมีปัญหาการอ้างสิทธิ์ ขอให้เร่งดำเนินการพิสูจน์สิทธิ์การถือครองให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด โดยยืนยันทำกินในที่ดินเดิมที่ได้รับเป็นมรดกตกทอด ไม่ใช่เป็นการบุกรุกใหม่
อัลบั้มภาพ 8 ภาพ