กทม.เดินหน้าเจาะอุโมงค์คนเดินลอดถนนราชดำเนิน

กทม.เดินหน้าเจาะอุโมงค์คนเดินลอดถนนราชดำเนิน

กทม.เดินหน้าเจาะอุโมงค์คนเดินลอดถนนราชดำเนิน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กทม.เตรียมหาที่ปรึกษาศึกษาออกแบบสร้างอุโมงค์ทางเดินลอดราชดำเนินกลาง 2 จุด หวังเปิดใช้ทันเฉลิมฉลองในหลวงเจริญพระชนมายุครบ 85 พรรษา สจส.ห่วงจราจรติดขัดถนนเมน 4 สายช่วงเปิดเรียน เหตุ ร.ร.ดังเยอะ โอดถ.สาทรสาหัสสุด รถวิ่งได้เฉลี่ย 10 กม.ต่อชม. รับน้ำปีนี้มาแรง-มากกว่าปกติ 10 วันแรกเดือนนี้ทะลุ 120 มม. จากเดิมทุกปีแค่ 70

นายชาตินัย เนาวภูต ผู้อำนวยการสำนักการโยธา เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักการโยธา อยู่ระหว่างการร่างทีโออาร์จ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาและออกแบบโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินข้ามถนนราชดำเนินกลาง ที่ กทม.ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินการ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการก่อสร้างอุโมงค์คนเดินลอดใต้ถนนราชดำเนินบริเวณหน้าโรงแรมรัตนโกสินทร์ และหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา กว้าง 14 เมตร ยาว 80 เมตร ลึก 5 เมตร มีพื้นที่ขายของภายในอุโมงค์ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เป็นเจ้าของโครงการ งบประมาณศึกษาอุโมงค์ละ 5 ล้านบาท

นายชาตินัย กล่าวว่า สำหรับโครงการก่อสร้างอุโมงค์คนเดินลอดใต้ถนนราชดำเนินดังกล่าวนี้ เพื่อรองรับการจราจรในถนนราชดำเนินกลาง เนื่องจากคาดการณ์ว่าในอนาคตจะมีปริมาณการจราจรที่หนาแน่นมากขึ้นกว่าปัจจุบัน ทำให้ประชาชนคนเดินข้ามถนนจะมีความลำบากและมีอันตรายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สนย.เห็นว่าอุโมงค์ดังกล่าวควรออกแบบให้มีร้านค้าอยู่ภายในอุโมงค์ด้วย เพื่อดึงดูดให้ประชาชนใช้บริการอุโมงค์และเพื่อความปลอดภัยด้วย

นายชาตินัย กล่าวด้วยว่า สนย.ยังมีแนวทางที่จะให้บริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาแนวเส้นทางให้มีความสัมพันธ์กับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสนามกีฬาแห่งชาติ-พรานนก รวมทั้งศึกษาระบบสาธารณูปโภคด้านอื่นๆ เสนอต่อ สนย.ด้วย โดยคาดว่าภายในเดือน ก.ค.นี้ น่าจะได้ที่ปรึกษา ใช้เวลาศึกษาและออกแบบประมาณ 3-4 เดือน ส่วนระยะเวลาในการก่อสร้างอุโมงค์ละ 18 เดือน ทั้งนี้ กทม.จะเร่งดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จเพื่อให้ทันเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมมายุครบ 85 พรรษา

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็น 1 ในโครงการ ที่รัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เห็นชอบในการดำเนินโครงการชองเอลิเซ่ โดยมอบหมายให้ กทม.รับผิดชอบทั้งสิ้น 9 โครงการ รวมงบประมาณ 3,200 ล้านบาท แต่เนื่องจาก สศช. งดให้งบประมาณแก่กทม. ทำให้ต้องมีการพิจารณารายละเอียดโครงการลง ซึ่ง กทม.โดยสำนักผังเมือง(สผม.) ได้ศึกษาความเหมาะสมของโครงการทั้งหมดอีกครั้ง และได้ตัดลดโครงการเหลือเพียง 2 โครงการเท่านั้น คือโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางเดินข้ามถนนราชดำเนินกลาง และโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับปรุงอาคารริมถนนราชดำเนินจำนวน 3 คูหาอยู่

ห่วงจราจรถนนเมน4สายอัมพาต เหตุรร.ดังเยอะ

นายจุมพล สำเภาพล ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) กล่าวถึงการการเตรียมความพร้อมรับการเปิดภาคเรียนการศึกษาที่ 1 ปีการศึกษา 2552 ว่า ขณะนี้ สจส.ได้มีการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมและเตรียมรับมือกับสภาพการจราจรในช่วงที่เริ่มมีการเปิดเรียนตั้งแต่สัปดาห์นี้ ทั้งนี้ สจส.มีความเป็นกังวลสภาพการจราจรบนถนน 4 จุด ซึ่งจะมีโรงเรียนชื่อดังตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกันจำนวนมาก ประกอบด้วย 1.บริเวณ ถ.สาทร ซึ่งจะมีโรงเรียนชื่อดัง เช่น ร.ร.กรุงเทพคริสเตียน ร.ร.อัสสัมชัญ ร.ร.เซนต์โยเซฟคอนแวนต์ ซึ่งถนนเส้นนี้จะเป็นถนนเส้นที่มีการจราจรติดขัดมากที่สุด โดยรถสามารถเคลื่อนตัวได้เฉลี่ย 10 กม.ต่อชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากมีเด็กนักเรียนประมาณ 20000 กว่าคนที่เรียนอยู่โรงเรียนดังกล่าว โดยบรรดาผู้ปกครองมักจะขับรถยนต์ส่วนตัวมาส่งบุตรหลาน

นายจุมพล กล่าวต่อว่า 2.บริเวณ ถ.สามเสน ตั้งแต่บริเวณเกียกกายไปจนถึงท่าวาสุกรี ซึ่งจะมีโรงเรียนชื่อดัง เช่น ร.ร.เซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ เซนต์คาเบรียล ร.ร.ราชินี ร.ร.โยธินบูรณะ เป็นต้น 3.บริเวณ ถ.สุขุมวิทไปจนถึง ถ.พระราม 4 ซึ่งจะมีโรงเรียนชื่อดัง เช่น ร.ร.สายน้ำผึ้ง ร.ร.สาธิต มศว.ประสานมิตร ร.ร.วัฒนา เป็นต้น และ 4.บริเวณฝั่งธนฯ ซึ่งจะมีโรงเรียนชื่อดัง เช่น ร.ร.ศึกษานารี ร.ร.วัดกัลยาณมิตร ร.ร.สตรีวิทยา 3 เป็นต้น

นายจุมพล กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนหน้านี้ สจส.ได้เข้าซ่อมแซมพื้นผิวจราจรในส่วนที่เป็นหลุมเป็นบ่อแล้ว โดยเฉพาะพื้นผิวถนนรอบๆ บริเวณโรงเรียนชื่อดังในพื้นที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ได้เตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ไปจนถึงรถลากตามแยกสำคัญๆ กรณีที่อาจมีรถจอดเสียในช่วงเวลาดังกล่าว รวมทั้งดูแลป้ายและเครื่องหมายจราจรให้อยู่ในสภาพที่เรียบร้อย เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงวันเปิดภาคเรียนให้น้อยที่สุด นอกจากนี้ได้สั่งการไปที่สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต ให้จัดส่งเจ้าหน้าที่เทศกิจอาสา เข้าไปดูแลสภาพการจราจรโรงเรียนทั้งในส่วนของฝั่งพระนครและฝั่งธนฯ จำนวน 28 โรง รวมทั้งอำนวยความสะดวกให้กับนักเรียนในช่วงที่ข้ามถนนด้วย นอกจากนี้ให้ทุกเขตประสานไปที่ สน.ในพื้นที่ เพื่อสอบถามถึงความต้องการอุปกรณ์ในแต่ละพื้นที่ เช่น ป้ายจราจร แผงรั้วเหล็ก เป็นต้น ซึ่ง สจส.จะได้จัดส่งไปให้ก่อนเปิดภาคเรียน

รับน้ำปีนี้มาแรง-มากกว่าปกติเดือนนี้ทะลุ 120 มม.

นายชาญชัย วิทูรปัญญากิจ ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ(สนน.) กรุงเทพมหานคร(กทม.) เปิดเผยถึงมาตรการรับมือน้ำท่วมในฤดูมรสุมที่จะกำลังเริ่มขึ้นว่า เบื้องต้น สนน.ได้เร่งเดินหน้าโครงการก่อสร้างพนังกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาในส่วนที่ยังเหลือให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ขณะเดียวกันก็ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจำสถานีระบายน้ำของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตและของสำนักฯ ในทุกๆ จุด ไปดำเนินการตรวจสภาพเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ว่ามีส่วนใดบกพร่องเพื่อดำเนินการปรับปรุงหรือซ่อมแซมทันทีให้พร้อมรับเหตุฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมงตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

นายชาญชัย ระบุว่า สำหรับภาพรวมปริมาณน้ำฝนในปีนี้เปรียบเทียบสถิติพบว่าปริมาณน้ำฝนในปีนี้ถือว่าค่อนข้างมากกว่าปีก่อนๆ เกือบเท่าตัวอีกทั้งยังมาเร็วกว่าปกติมาก โดยยกตัวอย่างสถิติปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคมทุกปีจะอยู่ที่ 210 มม. แต่ในเดือนพ.ค.ปีนี้กลับพบว่าเพียง 10 วันกทม.มีปริมาณน้ำฝนสูงถึง 120 มม.จากที่ค่าเฉลี่ย 10 วันอยู่ที่ 70 มม.เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กทม.มิได้นิ่งนอนใจและจะพยายามดำเนินการระบายน้ำท่วมขังกรณีเกิดพายุหรือฝนตกหนักในเขตชุมชนเมืองให้กลับสู่สภาวะปกติโดยเร็ว โดยจะประเมินสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมงผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยเพื่อให้ได้ข้อมูลสถานการณ์ที่เป็นปัจจุบันที่สุดก่อนพิจารณาเร่งระบายน้ำลงสู่คูคลองอย่างไร นอกจากนี้ในปัจจุบันอุโมงค์ระบายน้ำของกทม. ทั้งฝั่งมักกะสันและฝั่งพระโขนงก็เสร็จสมบูรณ์สามารถเดินเครื่องได้แล้ว ซึ่งก็จะช่วยระบายน้ำได้มาก ขณะที่พื้นที่รอบนอกคันกั้นน้ำที่น่าเป็นห่วง อาทิ เขตลาดกระบัง หนองจอกและมีนบุรีกทม.ก็ได้ประสานไปยังกรมชลประทานให้ช่วยดูแลอีกทางหนึ่งแล้วและคาดว่าไม่น่าจะมีปัญหา" ผอ.สำนักการระบายน้ำ กล่าว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook