ประเทศเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมชำรุด: เมื่อคนจนเป็นเหยื่อของระบบ “ยุติธรรม”
เหตุสะเทือนใจที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก ชวนให้เรากลับมาตั้งคำถามว่า “ความยุติธรรม” สำหรับประเทศไทยนั้นมีอยู่จริงหรือไม่? เพราะแม้ทางฝ่ายผู้เสียหายจะมีหลักฐานที่รวบรวมมาเองเป็นจำนวนมาก ทว่าศาลกลับตัดสินยกฟ้องคดีลูกชายของผู้ตายที่ถูกแทงเสียชีวิต เหตุการณ์นี้ยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อของสังคมที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” และสิ่งที่เรียกว่าความยุติธรรมนั้นก็เป็นสิ่งที่ถูกสงวนไว้ให้เหล่าคนรวยและคนมีสีเท่านั้น นี่คือ "ความเหลื่อมล้ำ" อย่างหนึ่งที่เหล่าคนระดับล่างของสังคมต้องเผชิญ นอกเหนือจากเรื่องข้อจำกัดของรายได้
เพื่อจะหาต้นตอของปัญหาและร่วมกันหาวิธีแก้ไข Sanook! News ได้รวบรวมข้อมูลส่วนหนึ่งจากงานเสวนาวิชาการ “ประเทศเหลื่อมล้ำ ความยุติธรรมชำรุด” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2561 มาให้ผู้อ่านทุกคนได้ทำความเข้าใจและร่วมขบคิดไปด้วยกัน
นโยบายที่ไม่สนใจบริบททางสังคม
ปัญหาหลักอย่างแรกของกระบวนการยุติธรรมของไทยคือ การให้ความสำคัญกับตัวบทกฎหมายในเชิงนโยบายที่มีผลครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยลืมไปว่า “สังคมไทย” เป็นสังคมที่มีบริบทหลากหลายมากกว่านั้น ประเด็นนี้ถูกถ่ายทอดให้เห็นจากกรณีงานศึกษาวิจัยแบบลงพื้นที่ของ อ.ไพสิฐ พาณิชย์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องผลของการออกกฎหมายห้ามใช้โพงพาง (อุปกรณ์ทำการประมงพื้นบ้าน) ของรัฐบาล คสช. เพราะรัฐมองว่าเป็นการทำลายสัตว์น้ำ ทำให้กลุ่มชาวประมงที่คลองยี่สานแห่งแม่น้ำแม่กลองต้องได้รับความเดือดร้อน กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับผลกระทบจึงได้รวมตัวกันเพื่อยื่นคำร้องต่อศาล โดยพยายามชี้ให้เห็นว่าการทำประมงของพวกเขาไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวการ “ทำลาย” สัตว์น้ำที่แท้จริงอย่างที่รัฐเข้าใจ ตามข้อสรุปของอาจารย์ไพสิฐ งานศึกษานี้สะท้อนให้เราเห็นว่า ในระดับของนโยบาย การออกกฎหมายของไทยยังมีลักษณะครอบคลุม ทว่าไม่คำนึงถึงเรื่องของ ต้นทุนทางสังคม เลย เนื่องจากนักกฎหมายขาดความรู้ด้านสังคมวิทยาทางกฎหมาย ไม่มีการเปิดพื้นที่ให้คนตัวเล็กตัวน้อยในสังคมได้มีส่วนร่วมในการชี้แจง เมื่อไม่มีเสียงของประชาชน กฎหมายที่ถูกร่างออกมาจึงขาดความประณีต และกลายเป็นสิ่งที่เบียดขับซ้ำเติมคนระดับล่างของสังคม
ยุติธรรมตามกฎหมายแต่ไม่ยุติธรรมกับสังคม
รูปแบบความยุติธรรมที่ชำรุดแบบต่อมา คือการที่เจ้าหน้าที่รัฐที่ยึดมั่นในเรื่องตัวบทกฎหมายและขั้นตอนทางกฎหมายมากเกินไปจนไม่ดูสภาพแวดล้อม หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “ยุติธรรมตามกฎหมายแต่ไม่ยุติธรรมกับสังคม” รวมทั้งการใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการที่ทำงานแยกส่วนกัน ทำให้การสืบสวนคดีแต่ละครั้งขาดผู้ที่จะช่วยกันตรวจสอบในเรื่องความโปร่งใสและการแทรกแซงโดยมิชอบ โดย พ.ต.อ.วิรุตม์ ศิริสวัสดิบุตร คอลัมนิสต์ ผู้เขียนหนังสือ “วิกฤติตำรวจและงานสอบสวน จุดดับกระบวนการยุติธรรม” ระบุว่า ต่อให้มีการปฏิบัติโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ก็ยังอาจมีความเสียหายเกิดขึ้น เพราะหากลองไล่เรียงดูคดีต่างๆ ที่เป็นข่าว ทุกฝ่ายตั้งแต่ตำรวจ พนักงานสอบสวน อัยการ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ล้วนปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วน ทว่าปัญหาสำคัญที่สุดกลับซ่อนอยู่ในชั้นสอบสวน พ.ต.อ.วิรุตม์มองว่า ในความเป็นจริง ตำรวจควรจะมีหน้าที่ในการตรวจตราป้องกันอาชญากรรม แต่สำหรับสังคมไทย ตำรวจกลับมีบทบาทในการสอบสวนด้วย โดยที่กระบวนการดังกล่าวไม่ได้ผ่านการกลั่นกรองหรือตรวจสอบโดยใครเลยนอกจากตำรวจ จับมาแล้วก็ต้องแจ้งข้อหา หลายครั้งมีการทำพยานหลักฐานเท็จ ทำสำนวนเท็จส่งให้อัยการ รวมทั้งยังให้น้ำหนักกับ “พยานบุคคล” ซึ่งเป็นหลักฐานที่มีโอกาสผิดพลาดสูงมาก ผู้เสียหายที่หวังพึ่งอัยการว่าจะให้ความยุติธรรมก็ต้องผิดหวังเพราะอัยการจะพิจารณาว่าจะฟ้องหรือไม่ฟ้องโดยดูจาก สำนวนคดีที่ตำรวจเขียนขึ้นมาเท่านั้น ไม่ได้พิจารณาบริบทอื่นใด หรือถึงแม้อัยการจะสั่งไม่ฟ้อง จำเลยก็ยังต้องอยู่ในสถานะ “ผู้ต้องหา” ถูกกักตัวคุมขังอยู่ดีแม้ว่าตัวเองจะไม่มีความผิด
หลักคิดทางกฎหมายที่กลับหัวกลับหาง
ความชำรุดของระบบยุติธรรมอย่างสุดท้าย คือการที่วิธีคิดของกฎหมายไทยมีความแตกต่างจากหลักกฎหมายสากล ซึ่งประเด็นนี้ น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี จังหวัดกาญจนบุรี ระบุว่า หลักสากลของกระบวนการยุติธรรม คือทุกคนล้วนต้องเสมอภาคภายใต้กฎหมาย Rule of Law ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน ซึ่งหลักกฎหมายของไทยไม่สามารถรับประกันสิทธิประชาชนในเรื่องนี้ได้ นอกจากนี้ กระบวนการวิธีพิจารณาความอาญาของไทยยังแตกต่างกับในหลายประเทศอย่างเห็นได้ชัด สำหรับในประเทศที่มีระบบยุติธรรมที่ก้าวหน้าและเที่ยงตรง วิธีพิจารณาความอาญาจะต้องเป็นเรื่องสากล เพราะมันเป็นขั้นตอนสำคัญที่กำหนดว่าจะจับ ขัง ค้น และแจ้งข้อหาผู้ต้องหาแบบไหน ดำเนินคดีอย่างไร สิ่งนี้เกี่ยวพันกับเรื่องของปฏิญญาสากลว่าด้วยหลักสิทธิมนุษยชน ในกลุ่มประเทศที่มีระบบยุติธรรมที่สามารถเชื่อถือได้ ผู้ที่ถูกจับกุมตัวจะต้องถูกนำตัวไปให้ศาลหรือเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เป็นผู้ตรวจสอบโดยเร็วที่สุด และผู้ที่ถูกจับโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิได้รับการชดใช้ค่าเสียหาย ทว่าในเมืองไทยยังไม่มีการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการจับกุมโดยมิชอบ
ยิ่งกว่านั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญายังใช้แนวทางที่เรียกว่า “แจ้งข้อหาไปก่อน ถ้าบริสุทธิ์จึงค่อยให้ศาลยกฟ้อง” ซึ่งในขั้นตอนการไต่สวนมูลฟ้อง กฎหมายไทยเลือกที่จะให้น้ำหนักกับพยานของฝ่ายโจทก์ ในขณะที่พยานกับหลักฐานของจำเลยจะไม่ถูกนำมาพิจารณา ซึ่งคุณน้ำแท้มองว่า อัยการควรเป็นฝ่ายที่สามารถแจ้งข้อหา คือเมื่อตำรวจจับคนมาแล้วต้องให้อัยการเป็นคนตัดสินว่าจะแจ้งหรือไม่แจ้งข้อหา วิธีการคิดในหลักสากลคือ ถ้ามีเหตุให้จับ มีเหตุอันควรสงสัย ตำรวจสามารถจับผู้ต้องสงสัยได้ หากไม่มีการแจ้งข้อหาจะถือว่าไม่ละเมิดมาตรา 157 ว่าด้วยการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด แต่ในเมื่อแจ้งข้อหาไปแล้วพบว่าจับผิดตัว หลายครั้งจึงเกิดกรณีอย่างการยัดยา เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะได้ไม่ถูกลงโทษตามมาตรา 157
ปัญหาเรื่องวิธีคิดที่ผิดแผกและไม่เป็นธรรมนี้ยังถูกสะท้อนออกมาผ่านข้อกฎหมายที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ได้นานถึง 84 วัน ระหว่างสอบสวน แจ้งข้อหา หากเป็นผู้บริสุทธิ์ จะต้องรอจนกว่าอัยการจะสั่งไม่ฟ้อง คนที่ถูกขังจะต้องถูกขังฟรีโดยไม่ได้ค่าชดเชย ในขณะที่กรณีของญี่ปุ่นซึ่งมีการระบุไว้เลยว่า เมื่อเจ้าหน้าที่จับใคร เขาจะต้องส่งตัวผู้ต้องสงสัยไปให้อัยการทันที โดยดูพยานหลักฐาน ดูว่ามีการซ้อมผู้ต้องสงสัยหรือไม่ มีการบังคับผู้ต้องสงสัยหรือไม่ จับผู้ต้องสงสัยในเวลาอันสมควร มีเหตุอันควรจับหรือเปล่า มีความผิดจริงไหม และอัยการจะฟ้องเขาจริงหรือเปล่า ไม่ใช่ว่าจับไปขังไว้ก่อนแล้วค่อยมารออัยการตัดสินใจทีหลัง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องการปล่อยตัวผู้ต้องสงสัย ซึ่งประเทศไทยมีข้อกำหนดในการปล่อยตัวที่เข้มงวดมาก ทำให้การปล่อยตัวเป็นเรื่องยาก ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ขัดกับหลักความยุติธรรมสากลอย่างสิ้นเชิง
สาเหตุของ “ยุติธรรมชำรุด”
อ.ไพสิฐกล่าวว่า ความผิดพลาดของระบบยุติธรรมของไทยเกิดจากมุมมองของนักกฎหมาย ที่มองว่า กฎหมายมีคุณค่าในฐานะเป็นสิ่งที่ช่วยในการกำหนดโทษทางอาญาและหน้าที่ของประชาชนเป็นหลัก แม้ประเทศไทยจะมีการออกกฎหมายที่ช่วยเพิ่มความเข้มแข็งให้สังคม อย่างวิสาหกิจเพื่อสังคม หรือกฎหมายที่พูดถึงภาคประชาชนที่เป็นจิตอาสา ทว่าคนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงกลับต้องถูก “ข่มขู่” ด้วยกระบวนการยุติธรรมผ่านระบบราชการ ที่บีบให้คนเหล่านี้ต้องจำยอมกับความอยุติธรรม และทนอยู่กับความเหลื่อมล้ำและความกลัวต่อไป เพราะการลุกขึ้นมาสู้กับ “ระบบ” นั้นมีราคาที่ “แพง” จนอาจถึงชีวิต
สิ่งนี้สอดคล้องกันกับข้อมูลของคุณสุรชัย ตรงงาม ทนายความมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ที่กล่าวว่า การจะเป็น “ผู้ตื่นรู้” ในประเทศนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีข้อจำกัดมากมาย โดยยกตัวอย่างกรณีที่ชาวบ้านใน จ.สกลนคร ไปร้องเรียน อบต. เรื่องการก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาล ว่ามีผลกระทบต่อที่ดินสาธารณะหรือไม่ ซึ่งเป็นการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่ดูแลตามปกติ แต่ผู้ที่ไปร้องเรียนกลับโดนฟ้องในฐานหมิ่นประมาท ซึ่งเป็นการฟ้องปิดปาก เพื่อสร้างความหวาดกลัวและภาระ ไม่ให้ประชาชนตัวเล็กๆ สามารถใช้สิทธิ์ได้อย่างเต็มที่ ทำให้ประโยชน์สาธารณะที่ควรจะเป็นเรื่องของทุกคนกลับถูกโยงเข้ากับเรื่อง “หมิ่นประมาท” ซึ่งเป็นเรื่องส่วนตัว “สำหรับประเทศไทย คุกนอกจากจะมีไว้ขังคนจนแล้ว คุกยังมีไว้เพื่อขังคนที่กล้าลุกขึ้นมามีปากมีเสียง ต่อสู้เพื่อสังคม หรือแม้แต่กล้าท้าทายอำนาจรัฐ” ทนายสุรชัยกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างเจ็บปวด
เมื่อยุติธรรมชำรุด จะซ่อมแซมอย่างไร
เป็นเรื่องจริงที่กระบวนการยุติธรรมของไทยถูกผูกขาด และไม่สามารถตรวจสอบได้ อีกทั้งฝ่ายร่างนโยบายเองก็มองกฎหมายแบบเป็นเนื้อเดียวกันไปหมดทุกพื้นที่โดยไม่ให้ความสำคัญกับบริบททางสังคม ไม่มีช่องทางใดให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อกฎหมาย แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ โดยอาจารย์ไพสิฐเสนอว่า “สิ่งสำคัญคือเราทุกคนต้องทำให้กระบวนการยุติธรรมมองเห็นความชำรุดของตัวเอง นักกฎหมายไทยถูกสร้างให้เชื่อว่าข้อกฎหมายเป็นสรณะ แต่โดยหลักความเป็นจริงหัวใจของกฎหมายไม่ได้อยู่ที่ตัวบท แต่อยู่ที่ความยุติธรรม สังคมต้องรู้ว่าเหล่าคนตัวเล็กตัวน้อยที่ถูกเบียดบังด้วยกฎหมาย พวกเขาเหล่านั้นไม่เคยนอนรอความช่วยเหลือ แต่พวกเขามุ่งพยายามที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง แม้จะยากเข็ญและสุ่มเสี่ยงเพียงใด”
ด้านคุณน้ำแท้ระบุว่า เราจำเป็นต้องทำลายการผูกขาดความถูกต้องของกระบวนการยุติธรรม จะต้องมีการทำงานและตรวจสอบร่วมกันในทุกขั้นตอนทางกฎหมาย โดยการให้อัยการและฝ่ายปกครองเข้าไปดูแลในแต่ละขั้นตอนเพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือนหลักฐานหรือการแทรกแซงจากภายนอก
การเป็นมนุษย์นั้น ไม่ว่าจะเกิดที่แหล่งแห่งหนใดในโลก ยากดีมีจน บกพร่องหรือสมบูรณ์ สิ่งพื้นฐานที่สุดที่บุคคลพึงจะได้รับ นั่นก็คือสิทธิ์ที่จะได้รับความเป็นธรรม สิทธิ์ที่จะมีตัวตน และสิทธิ์ในการมีชีวิตอย่างมีเกียรติ การกดขี่คนจนที่เกิดขึ้นในทุกมิติของสังคมเป็นปัญหาในเชิงระบบและนโยบาย ลำพังเสียงของคนระดับล่างในสังคมไม่อาจที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้เลย ตราบใดที่คนส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของตัวเองกับระบบที่ครอบงำอยู่ แน่นอนว่าคนจนในสังคมก็จะยังคงถูกกดขี่ต่อไป การทำความเข้าใจและเรียนรู้เกี่ยวกับความทุกข์ยากของคนในทุกระดับชั้นนี่แหละ คือจุดเริ่มต้นง่ายๆ ที่จะช่วยร้อยเรียงทุกคนในสังคมเข้าด้วยกัน อย่างน้อยที่สุด พวกเขาก็สมควรได้รับรู้ว่าตัวเองนั้นไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวท่ามกลางลมพายุ