ดราม่านะคะ! หนุ่มเชื่อคนพิมพ์ "นะค่ะ" เพราะพูดภาษาถิ่น ชาวเน็ตโต้ไม่เกี่ยว ต้องใช้ให้ถูก
การพิมพ์คำว่า "นะคะ" ให้ถูกต้องยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เรียกได้ว่าระดับชาติเลยก็ได้ เพราะหลายคนยังไงพิมพ์ว่า "นะค่ะ" ซึ่งหนุ่มคนหนึ่งได้ยกเหตุผลมาอธิบายว่า คนที่พิมพ์เช่นนี้อาจจะเป็นคนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มักลงท้ายด้วยเสียงต่ำ จึงพิมพ์ "นะคะ" เป็น "นะค่ะ" เพราะไม่อยากออกเสียงสูง และกลัวว่าคนฟังอาจมองว่า คนพูดกำลังหาเรื่อง
"สมมติฐาน: คนที่ใช้ผิดคนนั้นเป็นคนอีสาน คือ... ใครเป็นคนอีสาน(หรือ)พูดอีสาน จะรู้สึกว่าการพูดว่า "กินข้าวบ่ค่ะ/ขรับ" มันฟังดูสุภาพกว่า "กินข้าวบ่คะ/ครับ" จริงๆ เพราะลงท้ายด้วย "คะ" เสียงสูงมันฟังดูหาเรื่องมากๆ" หนุ่มคนดังกล่าว โพสต์
นอกจากนี้ หนุ่มคนดังกล่าวยังมองว่า หรือปัญหาที่แท้จริงของเรื่องนี้ อาจเป็นเพราะภาษาถิ่นไม่มีอักษรเป็นของตัวเอง การพิมพ์ด้วยอักษรไทย ที่ออกเสียงวรรณยุกต์ได้แค่ 5 เสียง จึงทำให้ออกเสียงภาษาถิ่นได้ไม่ครบ
"ปัญหามันอยู่ที่ภาษาท้องถิ่นไม่มีตัวอักษรเป็นของตัวเอง ทำให้ผู้พูดภาษาถิ่นเลือกไม่ได้ที่จะต้องใช้อักษรไทย ในการเขียนภาษาถิ่นของตนเอง ซึ่งทำให้ต้องยึดโยงกับการผันวรรณยุกต์แบบกรุงเทพ และไม่สามารถสะท้อนถึงความ distinct (แตกต่าง) ของภาษาถิ่นได้"
นอกจากนี้ ชาวเน็ตหลายคนเห็นต่างในประเด็นทั้งหมดที่ว่ามา เนื่องจากภาษาอีสานก็มีตัวอักษรของตัวเอง เช่นเดียวกับภาษาเหนือที่ใช้อักษรล้านนา ขณะที่ชาวเน็ตคนหนึ่งบอกว่า หลายคนที่ไม่ใช่คนภาคอีสาน โดยเฉพาะคนกรุงเทพ ก็พิมพ์ผิดเป็น "นะค่ะ" จึงไม่เกี่ยวว่าเป็นภาษาถิ่นหรือไม่
ส่วนอีกความเห็นหนึ่ง มองว่า ถ้าหากเป็นภาษาถิ่นก็พอรับได้ แต่ถ้าทั้งหมดเป็นภาษากลาง แต่พิมพ์ว่า "นะค่ะ" คงไม่ถูกต้องนัก ดังนั้นควรใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง