ยุบพรรค มีใบสั่ง! อดีต ตลก.รธน.ข้างมากซุกหุ้นแฉ

ยุบพรรค มีใบสั่ง! อดีต ตลก.รธน.ข้างมากซุกหุ้นแฉ

ยุบพรรค มีใบสั่ง! อดีต ตลก.รธน.ข้างมากซุกหุ้นแฉ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประชุมรอบแรกอนุกรรมการ 3 ชุด ฟิตจัดวางกรอบทำงาน เสนอแก้รัฐธรรมนูญ อดีตตุลาการศาล รธน.ชุดสร้างความสมานฉันท์ฯ ปูดกลางวงมีใบสั่งยุบพรรค "มาร์ค"ปัดไอเดีย"เสนาะ"เสนอ รบ.แห่งชาติ "สาทิตย์"ชี้พูดมีวาระซ่อนเร้น แต่"เพื่อไทย"เด้งรับพร้อมให้"อภิสิทธิ์"นั่งนายกฯ

"สธ.อู้"นั่งปธ.อนุกก.ชุดแก้รธน.

หลังคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชุมครั้งที่ 2 ลงมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการ 3 ชุด คือ คณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเมือง และคณะอนุกรรมการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ล่าสุด เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 13 พฤษภาคม คณะอนุกรรมการศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประชุมกันที่ห้องประชุม 206 อาคารรัฐสภา 2 ที่ประชุมเลือก พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา เป็นประธาน นายถวิล ไพรสณฑ์ ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองประธานคนที่ 1 และนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย เป็นรองประธานคนที่ 2 นายประสิทธิ์ ปิวาวัฒนพานิช ผู้ทรงคุณวุฒิจากพรรคเพื่อไทย เป็นเลขานุการ และนายศุภชัย โพธิ์สุ ส.ส.นครพนม พรรคภูมิใจไทย เป็นผู้ช่วยเลขานุการ

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ทหารเป็นประธานแก้รัฐธรรมนูญ จะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และพูดให้น้อยที่สุด ประเด็นใดที่ตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เห็นชอบตรงกันและมีเสียงเป็นเอกฉันท์สามารถเสนอผลการศึกษาต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ได้ทันที จะนัดประชุมกันทุกวันพุธและวันพฤหัสบดี เวลา 09.30 น. ก่อนจะนำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ทุกวันอังคาร

จี้"ปชป."เสนอประเด็นแก้รธน.

ด้านนายประยุทธ ศิริพานิชย์ กรรมการจากพรรคเพื่อไทย กล่าวในที่ประชุมว่า มีการพูดเรื่องการเยียวยาอดีตกรรมการบริหารพรรคทั้งกลุ่ม 111 และ 109 คน ทำเพื่อคนใดคนหนึ่งหรือไม่ และจะเป็นต้นตอปัญหาความขัดแย้งในอนาคตต่อไปหรือไม่ เรื่องนี้ยากจะปฏิเสธ แต่ตนไม่อยากให้เขียนบทนิรโทษกรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะไม่มีประเทศไหนทำกัน จึงไม่อยากให้พูดถึงมาตรา 237 หรือ 309 มาตราใดมาตราหนึ่งโดยเฉพาะ อย่างไรก็ตาม อยากเห็นประเด็นของพรรคประชาธิปัตย์มากที่สุด เพราะเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ยังไม่เสนอความเห็นมายังคณะอนุกรรมการฯ หากได้รับความเห็นครบทุกพรรคการเมืองแล้ว จะทำให้ง่ายต่อการทำงาน

นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เห็นว่ามี 3 ประเด็นใหญ่ที่อนุกรรมการควรศึกษา คือ 1.ปัญหาความไม่เป็นธรรมที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งหลายเรื่องไม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 2.ความขัดแย้งมาจากปัญหามาจากระบบการเมืองและสถาบันทางการเมืองหรือไม่ ถ้าใช่จะทำอย่างไร และ 3.ผลการศึกษาของ กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญมีอะไรบ้าง เพราะหากไม่แก้ไขเสียทีเดียวจะเป็นปัญหาต่อการบริหารงานในอนาคต ทั้งนี้ อนุกรรมการต้องเปิดโอกาสให้รับฟังข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆ ให้มากที่สุด

ต่อมาที่ประชุมได้ถกเถียงถึงประเด็นแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 และ 237 อย่างกว้างขวาง แต่ไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน กระทั่งพักการประชุม

เคาะแก้ระบบเลือกตั้ง"ส.ส."

ต่อมาเวลา 13.00 น. อนุกรรมการแก้รัฐธรรมนูญประชุมต่อโดยใช้เวลา 4 ชั่วโมงจึงแล้วเสร็จ ซึ่ง พล.อ.เลิศรัตน์แถลงว่า คณะอนุกรรมการดูประเด็นหลักที่จะนำไปสู่การแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น การประชุมนัดแรกพิจารณาที่มาของ ส.ส. ซึ่งในส่วน ส.ส.เขตนั้น เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าให้กลับไปใช้รับธรรมนูญปี 2540 แบบเขตเดียวเบอร์เดียว 400 เขต รวมไปถึง ส.ส.แบบสัดส่วน 100 คนทั่วประเทศ ซึ่งวันที่ 14 พฤษภาคม จะประชุมพิจารณามาตรา 68 และมาตรา 237

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า มติของคณะอนุกรรมการไม่ใช่ข้อสรุปของคณะกรรมการชุดใหญ่ที่จะเสนอต่อประธานรัฐสภา วันนี้เพียงแต่เห็นว่าควรแก้อะไรบ้างแต่ขั้นตอนยังมีอีกเยอะแต่ที่รีบทำเพราะต้องการให้มีฟีดแบ๊คกลับมาและเราพยายามรักษาความเป็นธรรม โดยเป้าหมายคือไม่แก้อะไรที่จะไปทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แต่ถ้าหากอะไรที่แก้แล้วเป็นสากลมากขึ้นถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เห็นตรงกันปัญหาจากผู้ใช้"รธน."

ขณะที่ประชุมอนุคณะกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางสร้างความสมานฉันท์ทางการเมืองของสังคมไทย ประชุมที่ห้อง 203 อาคารรัฐสภา 2 ก่อนเข้าวาระที่ประชุมเลือกนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ นายภาวิช ทองโรจน์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากพรรคเพื่อไทย เป็นรองประธาน นางผุสดี ตามไท ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ เป็นเลขานุการ จากนั้นนายตวงทำหน้าที่ประธานโดยเปิดโอกาสให้กรรมการนำเสนอปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมือง ซึ่งส่วนใหญ่เสนอปัญหาที่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 และเห็นพ้องกันว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากผู้ใช้รัฐธรรมนูญ และที่ประชุมแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยุบพรรค และทางออกของปัญหาคือหาหนทางไปสู่การยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ให้เร็วที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ กรรมการจากพรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอแนวคิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมานฉันท์ โดยนำรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มารวบรวมเฉพาะข้อดีมา ส่วนนางผุสดี แสดงความคิดเห็นเรื่องนิรโทษกรรมนักโทษการเมืองว่า จะให้ความเป็นธรรมผู้ที่ได้ผลกระทบก็ควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย

อดีตตุลาการศาลรธน.ปูดใบสั่งยุบพรรค

ด้านนายประเกียรติ นาสิมมา กรรมการจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ปัญหาคือการรัฐประหารปี 2549 ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญ 2550 เกิดตุลาการภิวัตน์ และเรื่อง 2 มาตรฐาน ที่ยุบพรรคก่อให้มวลชนของพรรคการเมืองไม่พอใจ หากแก้รัฐธรรมนูญได้สามารถแก้เรื่องพวกนี้ได้ การผ่อนคลายความขัดแย้งระยะสั้นคือให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกตัดสิทธิทางการเมือง 220 คน ขณะที่นายสันติ พร้อมพัฒน์ กรรมการจากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นอีกจุดหนึ่งที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งของสังคม การพิจารณาคดีแค่ศาลเดียวไม่สามารถอุทธรณ์ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมเริ่มคึกคักเมื่อนายศักดิ์ เตชาชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิจากพรรคภูมิใจไทย อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฝ่ายเสียงข้างมากในการตัดสินคดีซุกหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ระบุว่าการยุบพรรคการเมืองนั้นมี "ใบสั่ง" มา เพราะตนเคยเป็นศาลรัฐธรรมนูญ ตอนมีคำสั่งยุบพรรคนั้น

"ผมได้สอบถามเบื้องหลังจากเพื่อนฝูง ทุกคนเห็นว่าไม่ควรยุบพรรค ควรลงโทษเฉพาะหัวหน้าพรรค เลขาธิการและผู้เกี่ยวข้องเท่านั้น แต่พอจะเขียนคำวินิจฉัยปรากฏว่ามีใบสั่ง ซึ่งไม่ทราบว่าจริงหรือไม่จริง แต่พูดว่ามีใบสั่งมา สร้างความสับสนให้ผู้พิพากษาทั้งหมดที่เห็นด้วยกับผมก็เปลี่ยนความคิด คำวินิจฉัยจึงออกมาน่าเกลียดมาก รวมทั้งการเลือกตั้งเป็นโมฆะและองค์กรอิสระต่างก็เป็นใบสั่งและผลออกมาอย่างที่เขาคาดการณ์ทุกเรื่องได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ผมไม่ยอมทำตามใบสั่งจึงไม่เจริญถึงทุกวันนี้ หลายคนที่ทำตามใบสั่งก็เจริญรุ่งเรืองเป็นใหญ่เป็นโต ดังนั้น ต้องหาวิธีพิสูจน์ว่าใบสั่งมีจริงหรือไม่ ถ้ามีต้องเลิกเด็ดขาด" นายศักดิ์ กล่าว

นายประสงค์ศักดิ์ บุญเดช ผู้ทรงคุณวุฒิจาก ส.ว. โต้ว่าได้ยินเรื่องใบสั่งก็หนักใจ แต่อยากถามว่ามีหลักฐานหรือไม่ ไม่น่าจะเป็นไปได้ คำพิพากษาปกติละเอียดมาก แต่ละคนที่นั่งตรงนั้นเป็นผู้มีเกียรติ มีความรู้ มีฐานะทางสังคม ใครจะออกใบสั่งได้ อย่างเก่งออกได้ 1-2 คน แต่ส่วนใหญ่ออกพร้อมกันทั้งคณะเป็นเรื่องยาก

กก.ปฏิรูปวาง4กรอบนำทาง

เมื่อเวลา 10.30 น. ที่รัฐสภา คณะอนุกรรมการปฏิรูปการเมือง ประชุมนัดแรกโดยเลือกนายประเสริฐ ชิตพงศ์ ส.ว.สงขลา เป็นประธาน นายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร รองเป็นประธาน นายอนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นเลขานุการ จากนั้นเปิดให้เสนอกรอบการทำงานและวิเคราะห์ปัญหาทางการเมือง ที่ประชุมอภิปรายอย่างกว้างขวาง ทั้งข้อดีและข้อเสียของรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กว่า 3 ชั่วโมง

นายประเสริฐแถลงสรุปว่า กำหนดโจทย์ 4 ข้อ คือ 1.การปรับปรุงโครงสร้างในรัฐธรรมนูญที่สัมพันธ์กับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ซึ่งเป็นแผนระยะสั้นต้องไปดูว่า หากบางมาตรามีปัญหาจะแก้หรือไม่ แก้อย่างไร 2.การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองแบบประชาธิปไตย และการให้การศึกษาด้านประชาธิปไตย ซึ่งเป็นแผนระยะกลางและยาว 3.กฎหมายต่างๆ ที่อาจต้องปรับปรุงให้สอดคล้องกับการพัฒนาประชาธิปไตย การทำให้ประเทศเป็นนิติรัฐ และ 4.บทบาทการเมืองของภาคส่วนต่างๆ ทั้งฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร องค์กรอิสระ ภาคประชาชน จะพัฒนการปฏิบัติหน้าที่อย่างไร และนัดประชุมวันที่ 14 พฤษภาคม

"มาร์ค"ปัดไอเดียรบ.แห่งชาติ

ด้าน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่เนียบรัฐบาล กรณีนายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ในฐานะที่ปรึกษากรรมการสมานฉันท์ฯเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสมานฉันท์ฯถึงแนวทางรัฐบาลเพื่อชาติ โดยให้พรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจับมือกันตั้งรัฐบาล ว่า "แล้วพรรคอื่นล่ะ ทุกพรรคเป็นรัฐบาลเหรอ ผมคิดว่าไม่น่าเป็นประเด็นที่เป็นคำตอบ เพราะไม่ใช่เรื่องหลักการที่พูดถึงว่ารัฐธรรมนูญหรือกระบวนการยุติธรรมเป็นปัญหา กลับจะกลายเป็นถูกมองว่า เป็นเรื่องของทุกพรรคจะมาแบ่งปันผลประโยชน์กันมากกว่าถ้าสรุปอย่างนั้น จะเห็นได้ว่าช่วงที่เราเป็นฝ่ายค้านมีข้อเสนออย่างนี้ แต่ผมคิดว่าไม่ใช่คำตอบ"

เมื่อถามว่า ข้อเสนอของนายเสนาะจะเป็นทางออกได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่ได้มองว่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะประเด็นพื้นฐานที่เรียกร้องกันเป็นเรื่องอื่น เมื่อถามว่า มองเจตนาข้อเสนอของนายเสนาะอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เป็นความเห็นของนายเสนาะ เพราะนายเสนาะเคยเสนออะไรคล้ายๆ อย่างนี้อยู่หลายครั้ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด แต่ไม่มีคนนอกมามีส่วนร่วมว่าไม่เปิดกว้างนายอภิสิทธิ์กล่าวว่า จริงๆ ในกรรมการชุดใหญ่มีบุคคลภายนอกอยู่ ตนเชื่อว่าอนุกรรมการแต่ละชุดคงไปหากรอบความคิดกรอบการทำงานในส่วนของตัวเองก่อน แต่เชื่อว่าคงไม่ไปปิดการมีส่วนร่วมจากข้างนอก

นายอภิสิทธิ์กล่าวกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งอนุกรรมการไต่สวนกรณีการยื่นถอดถอน 5 รัฐมนตรี ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ว่า เข้าใจว่าเป็นการรับเรื่องไว้ ซึ่งพอไต่สวนแล้วผู้เกี่ยวข้องต้องไปชี้แจงตามกระบวนการปกติ เมื่อถามว่า จำเป็นต้องพิจารณปรับ ครม.หรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังไม่ได้เป็นเรื่องการชี้มูล เป็นเพียงการรับเรื่องไว้ไต่สวน

ข้องใจ"เสนาะ"เข็นรบ.แห่งชาติไม่เลิก

ด้าน นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวถึงข้อเสนอของนายเสนาะตั้งรัฐบาลแห่งชาติเพื่อความปรองดองว่า ไม่มีประเทศใดในโลกมีรัฐบาลแห่งชาติ นอกจากประเทศในระบอบสังคมนิยม แนวคิดการตั้งรัฐบาลแห่งชาติมีมาทุกยุคสมัย แต่ไม่เคยเกิดขึ้นจริงเพราะถือเป็นเรื่องใหม่นอกทฤษฎี อย่างไรก็ตาม การสร้างความสมานฉันท์ของคนในชาติอยู่ที่จิตสำนึกของความเป็นคนไทยที่รักแผ่นดินไทย เหตุที่ยังแตกแยกกันอยู่เป็นเพียงคนไม่กี่คนที่ไม่พึงพอใจกันเท่านั้น

เมื่อถามว่า หากพรรคประชาธิปัตย์กับพรรคเพื่อไทยจับมือกันตั้งรัฐบาลจริง ถือเป็นการฮั้วกันทางการเมืองหรือไม่ นายชาญชัยกล่าวว่า ถ้าจำได้ช่วงที่ทั้ง 2 พรรคเคยแถลงข่าวก่อนหน้านี้ได้พูดข้ามกันไปหมดแล้วจึงไม่น่าเป็นไปได้ที่ทั้ง 2 พรรคจะตั้งรัฐบาลร่วมกัน และปัจจุบันก็เป็นรัฐบาลแห่งชาติอยู่แล้วคือชาติไทย มาจากการเลือกตั้งตามวิถีทางของรัฐสภาในระบอบประชาธิปไตย

"ปธ.วิปรบ."ยันไม่ปรับครม.

ด้าน นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล หรือ วิปรัฐบาล กล่าวถึงกระแสข่าวความขัดแย้งของรัฐบาลและอาจปรับคณะรัฐมนตรีว่า ขอยืนยันว่าข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง เพราะพรรคร่วมรัฐบาลได้ปรึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ตลอดเวลา ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลได้มีส่วนช่วยขับเคลื่อนการทำงานของรัฐบาลใน 4 เดือนที่ผ่านมา และเห็นชัดเจนว่ารัฐบาลสามารถแก้ไขปัญหาการเมือง และสามารถนำปัญหาการเมืองนอกสภากลับเข้าสู่สภาโดยใช้กลไกของสภาในการดำเนินการอยู่ขณะนี้ โดยตั้งความหวังว่าอยากเห็นคณะกรรมการ 2 ชุดที่สภาตั้งขึ้นได้หาข้อยุติในเหตุการณ์เพื่อให้มีการเยียวยาและเกิดความยุติธรรม และการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้ค้นหาสาเหตุปัญหาทางการเมืองและนำความเข้าใจในทุกภาคส่วนและทำให้ประชาชนช่วยหาทางออกให้ประเทศต่อไป

"ชวรัตน์"เห็นด้วยตั้งรบ.เพื่อชาติ

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวกรณีที่ นายเสนาะ เสนอให้พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย จับมือกันเพื่อยุติความขัดแย้งว่า หากทั้ง 2 พรรคจะจับมือกันก็สามารถทำได้ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะหากการจับมือกันของทั้ง 2 พรรคจะช่วยลดปัญหาความขัดแย่งของประชาชน เมื่อถามว่าทั้ง 2 พรรคจับมือกันจัดตั้งรัฐบาล พรรคภูมิใจไทยจะทำอย่างไร นายชวรัตน์กล่าวว่า จะไปบังคับกันไม่ได้ หาก 2 พรรครวมกันจัดตั้งรัฐบาลจริง พรรคภูมิใจไทยก็พร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้าน ผู้สื่อข่าวถามว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอรัฐบาลเพื่อชาติ ที่ให้ทุกพรรคเป็นรัฐบาลหรือไม่ นายชวรัตน์ กล่าวว่า เห็นด้วย แต่คงเป็นไปไม่ได้ หรือไม่ก็เป็นไปได้ยาก เพราะติดปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะการแบ่งสัดส่วนโควตารัฐมนตรีของแต่ละพรรค

เมื่อถามว่าหากพรรคการเมืองเห็นแก่ประเทศชาติ ยอมลดสัดส่วนของตัวเองแบ่งให้พรรคอื่น เพื่อลดปัญหาได้หรือไม่ นายชวรัตน์ กล่าวว่าได้ แต่ใครจะยอมลด เมื่อถามว่าพรรคภูมิใจไทยจะยอมลดหรือไม่ นายชวรัตน์ ไม่ตอบ เพียงแต่ยิ้มก่อนที่จะเดินออกไป

"สาทิตย์"ชี้"เหนาะ"พูดมีวาระซ่อนเร้น

ด้านนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่นายเสนาะเสนอให้พรรคประชาธิปัตย์จับมือกับพรรคเพื่อไทยตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ว่า ไม่แน่ใจว่าเป็นข้อเสนอของนายเสนาะ หรือข้อเสนอของพรรคเพื่อไทยกันแน่ แต่ข้อเสนอของนายเสนาะเป็นแค่ความเห็นของคนคนหนึ่งเท่านั้น รัฐบาลขณะนี้ยังสามารถเดินหน้าทำงานได้ จึงไม่อยากตั้งข้อสังเกตว่านายเสนาะพูดเพราะมีวัตถุประสงค์อะไรหรือไม่ เพราะพูดเหมือนกับว่าถ้าจับมือกับฝ่ายค้าน รัฐบาลถึงจะทำงานได้ราบรื่น ไปที่ไหนก็ได้ทุกที่ ถ้ายอมจับมือด้วย ไปที่ไหนก็จะมีแต่ปัญหา เหมือนกับว่านายเสนาะรู้ว่าใครเป็นคนทำให้เกิดความวุ่นวาย การพูดของนายเสนาะจึงเป็นเพียงการพูดเพื่อสร้างแรงกดดันทางการเมืองเท่านั้นซึ่งก็คงไม่สามารถทำอะไรรัฐบาลขณะนี้ได้

พท.เด้งรับข้อเสนอ"ป๋าเหนาะ"

นายพีรพันธุ์ พาลุสุข ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทยในฐานะกรรมการสมานฉันท์ฯ กล่าวถึงกรณีที่นายเสนาะ เสนอให้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จับมือตั้งรัฐบาลว่า พรรคเพื่อไทยไม่ปฏิเสธ เห็นว่าแนวทางหนึ่งคือให้มีรัฐบาลชั่วคราว โดยความร่วมมือของทุกพรรค ทำหน้าที่ในระยะเวลาที่ไม่นานนักอาจเป็น 6 เดือน โดยไปกำหนดกติกาและเงื่อนไขใดที่สร้างความเป็นธรรม จากนั้นยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน สิ่งที่จะทำให้เกิดรัฐบาลเพื่อชาติได้คือนายกรัฐมนตรีต้องลาออก แล้วทุกพรรคก็มาพูดคุยกันหากเห็นตรงในหลักการ การมีรัฐบาลเพื่อชาติก็เกิดขึ้นได้ แต่ก็เป็นเรี่องใหญ่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยอมเสียสละตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหรือไม่ หากพรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้นายอภิสิทธิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป พรรคเพื่อไทยไม่มีปัญหา แต่ต้องดูว่าพรรคอื่นและคนอื่นจะยอมด้วยหรือไม่

ปรับทัพดัน"อภิวันท์-มิ่งขวัญ"นำ

นายพีรพันธุ์กล่าวว่า จากการพูดกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่เห็นว่าถึงเวลาที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและกลไกบริหารพรรคแล้วเพื่อให้พรรคสามารถเดินไปข้างหน้าได้ เนื่องจากเวลานี้หัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดมีอำนาจทางกฎหมายแต่ไม่ได้เป็น ส.ส.ไม่มีส่วนร่วมทางสภาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้ส.ส.เข้าอยู่ในโครงสร้างผู้บริหารพรรค โดยเฉพาะตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดว่าผู้นำฝ่ายค้านจะต้องเป็น ส.ส. สำหรับตัวบุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้ายังไม่ได้พูดถึง แต่มีหลายคนเหมาะสม เช่น พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาคนที่สอง หรือนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.สัดส่วน

"เรื่องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างนี้ได้ปรึกษา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี บ้าง ซึ่งท่านบอกว่าให้ ส.ส.และสมาชิกพรรคปรึกษาหารือกัน เห็นชอบใครก็พร้อมสนับสนุน" นายพีรพันธุ์ กล่าว

รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงเช้าวันเดียวกันนี้ พรรคเพื่อไทยประชุม ส.ส.ของพรรค มีนายพายัพ ชินวัตร และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แกนนำพรรคเพื่อไทยเข้าร่วม ทั้งนี้นายสุรสิทธิ์ เจียมวิจักษณ์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เปิดเผยหลังประชุมว่า ที่ประชุมประเมินว่าไม่เกิน 3 เดือน นายกรัฐมนตรีจะประกาศยุบสภา ด้วยเหตุผลภาวะทางเศรษฐกิจรวมถึงการทำงานที่ล้มเหลวของคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจจริงการสลายชุมนุม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook