เพชรบุรีเร่งระบายน้ำออก หวั่นน้ำล้นอ่างเก็บน้ำ "แก่งกระจาน"
วันที่ 2 สิงหาคม 2561 จากกรณีเมื่อระหว่างวันที่ 17-18 กรกฎาคม 2561 จังหวัดเพชรบุรีได้รับอิทธิพลจากพายุเชินติญ ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาตอนใต้ส่งผลให้มีฝนตกหนักบริเวณบ้านโป่งลึก –บางกลอย ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน ในบริเวณอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งอยู่เหนือเขื่อนแก่งกระจาน
ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากตัดขาดถนน มวลน้ำดังกล่าวได้ไหลลงสู่เขื่อนแก่งกระจานอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีฝนที่ตกในเขื่อนแก่งกระจาน ส่งผลให้เวลา 16.00 น. วันที่ 19 ก.ค. เขื่อนแก่งกระจาน มีปริมาณน้ำ 576.026 ล้าน ลบ.ม. (ลูกบาศก์เมตร) หรือคิดเป็น 81.13 % จากปริมาณเต็มความจุ 100% ที่ 710 ล้าน ลบ.ม.
โครงการชลประทานจังหวัดเพชรบุรี ได้ประกาศเพิ่มการระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานลงเขื่อนเพชรในวันที่ 20 ก.ค. จาก 30 ลบ.ม./วินาที (ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) เป็น 70 ลบ.ม./วินาที เพื่อควบคุมปริมาณน้ำในเขื่อนให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยในเกณฑ์ที่ประมาณ 70%
เนื่องจากเป็นช่วงต้นฤดูฝน ต้องพร่องน้ำให้เขื่อนมีที่ว่างเพื่อเก็บน้ำในอนาคตอีก 3-4 เดือน แต่พื้นที่เหนือเขื่อนแก่งกระจานยังคงมีปริมาณน้ำฝนและน้ำไหลหลากเพิ่มขึ้น
ส่งผลให้เมื่อวันที่ 25 ก.ค. เขื่อนแก่งกระจานมีน้ำในเขื่อนมากถึง 619.254 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 87.22% โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี จึงเพิ่มปริมาณการระบายน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานเป็น 100 ลบ.ม./วินาที ซึ่งเป็นปริมาณระบายน้ำเต็มที่ของเขื่อนแก่งกระจาน
ส่งผลให้ท้ายเขื่อนแก่งกระจานจนถึงเขื่อนเพชร อ.ท่ายาง บางแห่งมีน้ำไหลท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ต่ำกว่าตลิ่ง เขื่อนเพชรตัดน้ำลงคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย คลองสาย 1 คลองสาย 2 และคลองสาย 3 ซึ่งกำลังปรับปรุงขยายเขตคลอง รวม 44.74 ลบ.ม./วินาที
และเปิดประตูระบายน้ำลงแม่น้ำเพชรบุรี 45.71 ลบ.ม./วินาที ทำให้ระดับในแม่น้ำเพชรบุรี ตั้งแต่ท้ายเขื่อนเพชรจนถึงปลายแม่น้ำเพชรบุรี อ.บ้านแหลม สูงขึ้นแต่ยังต่ำกว่าตลิ่ง
แม้โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรีจะเร่งระบายน้ำถึง 100 ลบ.ม./วินาทีอย่างต่อเนื่อง แต่ปริมาณน้ำไหลเข้าในอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานยังคงเพิ่มขึ้น และสูงกว่าปริมาณน้ำที่เปิดระบายออก
ส่งผลให้เวลา 06.00 น. วันที่ 31 ก.ค. ปริมาณน้ำในอ่างแก่งกระจานมีมากถึง 649.322 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 91.45% เหลือพื้นที่รับน้ำได้เพียง 60.648 ล้าน ลบ.ม.
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี จึงเพิ่มปริมาณการระบายน้ำลงคลองชลประทานทั้ง 3 สาย และคลองสายใหญ่ฝั่งซ้ายรวมประมาณ 49.14 ลบ.ม./วินาที และทำการเปิดระบายน้ำท้ายเขื่อนลงแม่น้ำเพชรในอัตรา 57.81 ลบ.ม./วินาที พร้อมติดตั้งท่อระบายระบบกาลักน้ำจำนวน 10 ท่อ ระบายน้ำได้รวม 3.3 ลบ.ม./วินาที เพื่อพร่องน้ำในอ่างรองรับน้ำในฤดูฝน
สถานการณ์ล่าสุดเมื่อเวลา 06.00 น. วันที่ 2 สิงหาคม โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรีได้รายงานว่า ขณะนี้เขื่อนแก่งกระจานมีปริมาณน้ำ 655.717 ล้าน ลบ.ม. (ลูกบาศก์เมตร) หรือคิดเป็น 92.35% จากปริมาณเต็มความจุ 100% ที่ 710 ล้าน ลบ.ม. เหลือพื้นที่รับน้ำได้เพียง 54.283 ล้าน ลบ.ม.
โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเพชรบุรี ต้องเปิดระบายน้ำออกในอัตรา 103.00 ลบ.ม./วินาที หรือ 8,899,200 ลบ.ม./วัน และเพิ่มปริมาณการระบายน้ำลงคลองชลประทานทั้ง 3 สาย และคลองสายใหญ่ฝั่งซ้ายรวมประมาณ 48.17 ลบ.ม./วินาที และทำการเปิดระบายน้ำท้ายเขื่อนลงแม่น้ำเพชรในอัตรา 64.72 ลบ.ม./วินาที
สำหรับเขื่อนห้วยผากซึ่งมีความจุน้ำ 27.50 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีปริมาณน้ำ 50.08 % ของความจุอ่างซึ่งอยู่ในเกณฑ์ควบคุมได้ เนื่องจากมีปริมาณน้ำไหลเข้าสมดุลกับพื้นที่กักเก็บ
ส่วนเขื่อนแม่ประจันต์ ซึ่งมีความจุน้ำ 42.20 ล้าน ลบ.ม. ขณะนี้มีปริมาณน้ำ 26.35 ในช่วงเดือนสิงหาคมจะระบายน้ำออกให้เหลือ 10% หรือ 5 ล้าน ลบ.ม. เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำในฤดูฝน ที่น่าเป็นห่วงคือปริมาณน้ำที่ตกท้ายเขื่อนแม่ประจันต์ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่ไม่สามารถควบคุมได้เช่นเดียวกับปี 2560
ส่วนกรณีมีพายุฝนนอกเหนือฤดูกาลตกหนักในพื้นที่ จนมีปริมาณน้ำในเขื่อนมากจนเกินควบคุม โครงการชลประทานมีแผนรองรับฉุกเฉินโดยอาจเปิดประตูน้ำช่วงที่เชื่อมต่อระหว่างคลองชลประทานสาย 3 และคลอง D9 ที่กำลังก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อใช้เป็นพื้นที่เก็บน้ำและระบายน้ำส่วนหนึ่ง
นอกจากนี้นางฉัตรพร ราษฎร์ดุษดี ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ได้ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกำจัดวัชพืชและขยะที่กีดขวางทางน้ำเพื่อให้น้ำระบายลงสู่ทะเลได้รวดเร็ว
และหากเกิดเหตุฉุกเฉินน้ำท่วมในพื้นที่ จะมีประกาศเตือนให้ประชาชนทราบล่วงหน้า เพื่อเตรียมตัวขนย้ายสิ่งของและรับสถานการณ์ และมีการเตรียมพร้อมแผนการให้การช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อน
อัลบั้มภาพ 4 ภาพ