กรณ์เล็งรีดภาษีที่ดิน-บ้านปี54 ไม่แตะมรดก

กรณ์เล็งรีดภาษีที่ดิน-บ้านปี54 ไม่แตะมรดก

กรณ์เล็งรีดภาษีที่ดิน-บ้านปี54 ไม่แตะมรดก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รมว.คลังเล็งเก็บภาษีที่ดิน-บ้าน เผยเตรียมนำเข้าครม.ภายในปีนี้ ก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎร์พิจารณา เริ่มเก็บได้ในปี 54 ไม่แตะภาษีมรดก

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงเรื่อง ภาษีทรัพย์สินและที่ดิน ว่า อยู่ระหว่างการชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง คาดว่าจะนำเสนอให้ ครม.พิจารณาภายในปีนี้ ก่อนเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และจะเริ่มจัดเก็บภาษีได้ในปี 2554 การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะทำรายได้ให้รัฐได้ปีละ 60,000-70,000 ล้านบาท ซึ่งจะเข้ามาทดแทนรายได้ส่วนหนึ่งจากภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ที่จะหายไป

สำหรับการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น จุดประสงค์ไม่ได้ต้องการเน้นการหารายได้ เนื่องจากรายได้ที่จัดเก็บเป็นของท้องถิ่น แต่ต้องการสร้างความเป็นธรรม และความเหลื่อมล้ำในสังคม รวมทั้งปรับโครงสร้างระบบภาษีให้เหมาะสม ซึ่งจะนำมาใช้จัดเก็บทดแทนภาษีโรงเรือนและภาษีบำรุงท้องที่ เนื่องจากโครงสร้างเดิมไม่ยุติธรรม

นายกรณ์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาษีโรงเรือนไม่ได้จัดเก็บตามมูลค่าของที่ดิน แต่จัดเก็บตามรายได้ ทำให้ผู้มีรายได้จากทรัพย์สินต้องเสียภาษี ขณะที่ที่ดินเปล่าไม่ต้องเสียภาษี ส่วนภาษีบำรุงท้องที่ อ้างอิงการประเมินมูลค่าที่ล้าสมัยตั้งแต่ปี 2524-2525 จึงต้องปรับปรุงระบบภาษีให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งต่างประเทศการจัดเก็บภาษีที่ดินของท้องถิ่นคิดเป็น 70-80% ของรายได้ทั้งหมดของท้องถิ่น ขณะที่ของไทยคิดเป็นเพียง 1 ใน 10 ของรายได้ท้องถิ่นเท่านั้น

"เบื้องต้นการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะจัดเก็บจากเจ้าของที่ดิน ผู้ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินต้องเสียภาษีสูงกว่าผู้ใช้ประโยชน์ และอาจยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินแปลงขนาดเล็ก ที่ส่วนใหญ่เกษตรกรรายย่อยใช้เป็นที่ดินทำกิน เพื่อให้ผู้มีที่ดินเปล่าจำนวนมากๆ นำที่ดินออกมาใช้ประโยชน์ อาจจะนำที่ดินมาให้เกษตรกรเช่าทำกิน ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของตรรกะในการพัฒนาประเทศ เนื่องจากยังมีประชาชนยากจนจำนวนมากไม่มีความสามารถเข้าถึงที่ดิน"

นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดจะจัดเก็บภาษีบ้านและที่อยู่อาศัย เพื่อเป็นรายได้กลับมาบำรุงท้องถิ่น เนื่องจากบ้านพักอาศัยของประชาชนต้องใช้ประโยชน์จากระบบสาธารณูปโภคของท้องถิ่น ควรจ่ายเงินสนับสนุนการพัฒนาท้องถิ่น สร้างประโยชน์กลับคืนมา

อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีมรดกนั้น ยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากค่อนข้างยุ่งยาก และหลายประเทศลดบทบาทของภาษีมรดกไปมากแล้ว จึงขอเดินหน้าเก็บภาษีทรัพย์สินก่อน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook