“เป็นเช่นอื่น อยู่ภายใน”: สำรวจโลกเร้นลับของเพศหลากหลายใต้เงาศาสนา

“เป็นเช่นอื่น อยู่ภายใน”: สำรวจโลกเร้นลับของเพศหลากหลายใต้เงาศาสนา

“เป็นเช่นอื่น อยู่ภายใน”: สำรวจโลกเร้นลับของเพศหลากหลายใต้เงาศาสนา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ความหลากหลายทางเพศ” และ ศาสนา” คือของสองสิ่งที่ไม่มีวันที่จะเดินทางมาบรรจบกันได้โดยง่าย ยิ่งในโลกทัศน์ของศาสนาที่มีความเคร่งครัดและเต็มไปด้วยกฎเกณฑ์อย่างศาสนาอิสลาม ความหลากหลายทางเพศคือเรื่องแปลกแยกที่สมควรถูกบัญญัติว่าเป็นบาปมหันต์และเป็นเรื่องต้องห้ามที่ไม่มีใครอยากพูดถึง

การกดทับที่เข้มข้นนี้ทำให้ชาวมุสลิมที่เป็น LGBTIQ+ ส่วนใหญ่ต้องเร้นกายอยู่ในเงามืด พวกเขาต้องเก็บซ่อนตัวตนที่แท้จริงไว้ภายในเพื่อที่จะหาทางประนีประนอมและต่อรองเพื่อให้ตัวเองยังสามารถอยู่ในสังคมได้ ชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ไม่เคยอยู่ในความรับรู้ของสังคมไทยหรือแม้แต่ในสังคมของชาวเพศหลากหลายด้วยกันเอง จนกระทั่ง สมัคร์ กอเซ็ม อาจารย์และนักวิชาการชาวมุสลิมคนแรกที่ออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองและคนอื่นๆ ในฐานะชาวเพศหลากหลายที่ต้องมีชีวิตอยู่ภายใต้ร่มเงาของศาสนาอิสลาม ประสบการณ์ชีวิตอันแสนเข้มข้นของพวกเขาเหล่านั้นได้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นครั้งแรกผ่านงานนิทรรศการภาพถ่ายที่ชื่อ Otherwise Inside เป็นเช่นอื่น อยู่ภายใน

กว่าจะมาเป็น “Otherwise Inside”

จุดเริ่มต้นของนิทรรศการภาพถ่ายชุดดังกล่าวเกิดจากการลงพื้นที่เพื่อทำงานวิจัยภาคสนามทางมานุษยวิทยาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ อ.สมัคร์ เพื่อจะทำความเข้าใจกับความเป็น “Queer” (คำเรียกอย่างกว้างของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ) ที่ซ้อนทับอยู่ใต้เงาของศาสนาอิสลาม ระหว่างทำงาน เขาได้ถ่ายภาพจำนวนหนึ่งไว้และได้นำมาจัดแสดงที่ WTF Gallery and Café แกลเลอรีกึ่งบาร์เล็กๆ ที่ซ่อนตัวอยู่ในซอยสุขุมวิท 51

ภาพถ่ายและงานแสดงชุดนี้ถ่ายทอดเรื่องราวของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศที่ต้องมีชีวิตอยู่ใต้ร่มเงาของศาสนา ต้องต่อสู้ทั้งกับตัวเองและสังคม ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะปิดบังตัวตนเพราะกลัวว่าจะต้องถูกขับออกจนกลายเป็นคนนอกของสังคม ยิ่งในพื้นที่ที่เป็นสังคมปิดอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ความหลากหลายทางเพศถือว่าเป็นเรื่องต้องห้ามที่ไม่ควรถูกพูดถึงอย่างเด็ดขาด

เพศหลากหลายใต้เงาของศาสนา

จากการลงพื้นที่เพื่อพูดคุย อ.สมัคร์ มองว่าแต่ละเพศภายใต้ร่ม LGBTIQ+ นั้นต่างถูกกดทับด้วยน้ำหนักที่ต่างกันไป “สำหรับคนข้ามเพศ (T หรือ Transgender ใน LGBTIQ+) ที่ต้องการจะทำศัลยกรรมเพื่อข้ามเพศ พวกเขาไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ได้เลย หนทางเดียวที่พวกเขาจะเป็นตัวเองได้นั่นคือการต้องออกจากศาสนาอิสลามและพื้นที่สามจังหวัด หรือหากคุณเป็นเกย์และต้องการที่จะแสดงอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองอย่างชัดเจน โอกาสเดียวที่จะทำเช่นนั้นได้คือต้องออกจากบ้านเกิดไปเรียนหรือทำงานตามหัวเมืองใหญ่ๆ ที่ซึ่งเปิดกว้างมากกว่า ซึ่งก็เป็นความสุขชั่วคราวเท่านั้น เพราะเมื่อถึงวัยหนึ่ง ชายชาวมุสลิมจะต้องเดินทางกลับมายังบ้านเกิดของตัวเองเพื่อแต่งงานและทำหน้าที่ลูกที่ดีพร้อมกับดูแลพ่อแม่ นี่คือพันธะผูกพันที่ไม่อาจปฏิเสธได้” นี่คือความซับซ้อนที่ชาวมุสลิมเพศหลากหลายจำนวนมากต้องเผชิญ สำหรับพวกเขาแล้ว การจะยืนหยัดอยู่ในสังคมได้มีทางเลือกแค่สองทางเท่านั้น หนึ่งคือ ยอมโอนอ่อนทำตามสิ่งที่สังคมคาดหวัง เก็บกดตัวตนและอัตลักษณ์ไว้ภายใน ในขณะที่อีกทางหนึ่งคือ เดินทางออกจากบ้านเกิดเพื่อใช้ชีวิตอย่างที่ตัวเองต้องการ ละทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลังและเตรียมตัวรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเข้ามาในอนาคต

ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งของสังคมมุสลิมในภาคใต้ที่ส่งผลให้ความหลากหลายทางเพศถูกกดทับไว้อย่างแน่นหนา ในทัศนะของ อ.สมัคร์ สิ่งนั้นคือสภาพของสังคมและความเชื่อที่ก้ำกึ่งอยู่ระหว่างความโมเดิร์นและความล้าสมัย การพูดคุยเรื่องรูปร่างหน้าตาและเพศภาวะของผู้อื่นถือเป็นเรื่องปกติทั่วไปในสังคม หลายคนทำหน้าที่เป็น “ตำรวจทางวัฒนธรรม” ที่คอยจ้องจับผิดคนที่มีลักษณะไม่ตรงตามขนบของศาสนา อาจกล่าวได้ว่า การจะเป็นปัจเจกที่ไม่โอนอ่อนไปตามสังคมถือเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก โดยเฉพาะในสังคมปิดที่ยังคงยึดถือค่านิยมแบบโบราณ ที่มากไปกว่านั้น อ.สมัคร์มองว่าชาวมุสลิมส่วนใหญ่ยังเชื่อว่า “ความหลากหลายทางเพศ” เป็นเรื่องของค่านิยมแบบตะวันตกที่เข้ามาแปดเปื้อนในศาสนาอิสลาม ในโลกทัศน์เช่นนี้ แต่ละเพศใต้ร่ม LGBTIQ+ ไม่เคยถูกแยกย่อยออกมา หากแต่ถูกเรียกเป็นก้อนรวมๆ ว่า “ปอแน” ซึ่งเป็นคำที่หมายถึง กะเทย

ในสังคมของชาวมุสลิม การเปิดเผยอัตลักษณ์และรสนิยมทางเพศของชาว LGBTIQ+ ถือเป็นเรื่องคอขาดบาดตายที่น้อยคนจะกล้าเสี่ยง การสวมหน้ากากเพื่อเป็นคนอื่นในบางเวลาจึงเป็นเรื่องที่หลายคนต้องฝึกฝน นี่คือเงื่อนไขการใช้ชีวิตในสังคมมุสลิมที่สามจังหวัดภาคใต้ อ.สมัคร์อธิบายว่า ข้อจำกัดนี้ทำให้ชาวเพศหลากหลายในพื้นที่จำนวนมากต้องหาทาง “ประนีประนอม” กับตัวเอง นี่คือสิ่งที่เขาเรียนรู้จากการพูดคุยกับหลายๆ คน ไม่ว่าจะเป็นเกย์ที่ยอมมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงแค่เพียงแค่ครั้งเดียวตามหน้าที่เพื่อให้มีลูก เด็กบางคนที่มีท่าทางตุ้งติ้งแต่เลือกที่จะอธิบายตัวเองว่าเป็น “ผู้ชายเรียบร้อย” อ.สมัคร์ยังได้เล่าเรื่องเพื่อนกะเทยของเขาเองที่แต่งตัวเป็นผู้หญิงในตอนกลางคืน เพื่อนสาวใส่รองเท้าส้นสูงสีแดงออกไปเริงร่าตามผับบาร์ ขณะเดียวกันก็ยังทำละหมาดวันละ 5 ครั้ง อย่างที่พ่อแม่ขอไว้ ยังคงแต่งตัวเป็นชายเวลาเข้ามัสยิด  เหล่านี้คือกลยุทธ์การต่อสู้และต่อรองกับสังคมของเหล่า “กะเทยมุสลิม” ที่จะช่วยไม่ให้พวกเขาต้องถูกสังคมถีบจนกระเด็น

“Bromance” ความสัมพันธ์ต้องห้ามที่มีอยู่จริง

หนึ่งในจุดเด่นของนิทรรศการภาพถ่ายชุดนี้คือ การเผยประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างเพศชายด้วยกันที่ก้าวเหนือไปกว่าคำว่าเพื่อน (Bromance) ในสังคมมุสลิม เรื่องนี้ อ.สมัคร์ได้เรียนรู้ด้วยตนเองตั้งแต่สมัยที่ยังเรียนอยู่ใน “ปอเนาะ” หรือโรงเรียนสอนศาสนา เขามองว่า ความสัมพันธ์ในรูปแบบนี้เป็นความสัมพันธ์แบบปกติที่เกิดขึ้นในทุกสังคมที่มีการแบ่งแยกชายหญิงชัดเจน และเกิดขึ้นได้แม้แต่กับสังคมที่มีการต่อต้านพฤติกรรมรักร่วมเพศอย่างรุนแรง นี่คือความย้อนแย้งอย่างหนึ่งที่ชวนให้ต้องตั้งคำถาม “สังคมมุสลิมเป็นสังคมที่ต่อต้านพฤติกรรมรักร่วมเพศอย่างชัดเจน ทว่าในขณะเดียวกัน ข้อกำหนดและกฎเกณฑ์ภายในสังคมกลับกลายเป็นสิ่งที่เอื้อให้เกิดพฤติกรรมนั้นเสียเอง สมัยยังเด็ก ผมเห็นรุ่นพี่หลายคนที่หาข้ออ้างและข้อยกเว้นให้กับพฤติกรรมทางเพศของตัวเอง นี่คือสิ่งที่วัยรุ่นทำกันทั่วไปเมื่อพ้นไปจากสายตาของผู้ใหญ่ เพียงแต่ไม่มีใครกล้าพูดออกมาดังๆ เท่านั้นเอง” อ.สมัคร์เล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ส่วนตัวที่นำไปสู่การสร้างงานชุดนี้

ความเข้าใจ กุญแจสำคัญสู่ความเท่าเทียมทางเพศ

สิ่งหนึ่งที่ อ.สมัคร์ อยากให้สังคมมุสลิมเข้าใจ ไม่ใช่เรื่องของการยอมรับในเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่เขามองว่าสังคมมุสลิมควรจะมี “พื้นที่” ให้กลุ่มคนเหล่านี้บ้าง “แม้แต่กับคนมุสลิมทั่วไป พวกเขาต้องเจอกับความขัดแย้งภายในตัวเองอยู่แล้ว แต่คนที่มีความหลากหลายทางเพศจะต้องเจอกับความกดดันที่ซับซ้อนกว่านั้นมาก หลายคนพยายามต่อรองกับสังคมเพื่อไม่ให้ตัวเองถูกทำให้กลายเป็นคนนอก ในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้ ประเด็นเรื่อง Queer อาจไม่ใช่ปัญหาหลักที่คนสนใจ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทุกคนควรต้องยอมรับนั่นก็คือ เราล้วนอยู่ในสังคมที่มีความหลากหลายและทุกคนควรจะมีสิทธิในการเลือกเป็นมุสลิมในแบบของตัวเอง งานชิ้นนี้มีขึ้นไม่ใช่เพื่อเปิดประเด็นอย่างเดียว แต่เราต้องการให้สังคมได้สังเกตเห็นบางคนรอบตัวที่มักจะถูกมองข้ามหรือไม่เคยถูกพิจารณาอย่างละเอียดและเข้าใจในความแตกต่างของพวกเขา”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook