“เขื่อนลาวแตก” เกี่ยวอะไรกับคนไทย?

“เขื่อนลาวแตก” เกี่ยวอะไรกับคนไทย?

“เขื่อนลาวแตก” เกี่ยวอะไรกับคนไทย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากเหตุการณ์น้ำท่วมฉับพลันในแขวงอัตตะปือ สปป.ลาว จากการที่เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตก เมื่อวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2561 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 23 ราย และสูญหายกว่าร้อยคน รวมทั้งบ้านเรือนได้รับความเสียหาย ตอกย้ำด้วยสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย โดยเฉพาะในจังหวัดเพชรบุรี ที่เตรียมการรับน้ำจากเขื่อนแก่งกระจานภายในสัปดาห์นี้ ยิ่งทำให้ “เขื่อน” กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ถูกจับตามองมากขึ้น

เหตุการณ์เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย เกี่ยวข้องอย่างไรกับประเทศไทย และมีอะไรที่เราต้องเรียนรู้เพื่อรับมือกับสถานการณ์เขื่อนในประเทศไทยบ้าง มาฟังมุมมองจากนักวิชาการ ทั้งสายวิศวกรรมและสังคมศาสตร์กัน

>> ทำความรู้จัก เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย “แหล่งพลังงานของเอเชีย”

>> ลาวใต้ยังวิกฤต! ภาพล่าสุดเผย น้ำยังไหลแรงทะลุสันเขื่อน

>> ภาพมุมสูง ลาวเขื่อนแตก มวลน้ำทะลักท่วมมิดหลังคา-คนสูญหายนับร้อย (มีคลิป)

เขื่อน 101


ก่อนจะไปเจาะลึกเกี่ยวกับเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย ในประเทศลาว รศ.ดร.ฐิรวัตร บุญญะฐี จากภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับเขื่อน ในเวทีจุฬาเสวนา เรื่อง “เขื่อนแตก เรื่องของลาวกับเรื่องของเรา” เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2561 ว่า โดยทั่วไปแล้ว เขื่อนสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่
(1) เขื่อนคอนกรีตแบบกราวิตี้ ที่ใช้น้ำหนักของเขื่อนถ่วงเพื่อต้านแรงดันน้ำ มีน้ำหนักมาก และมักจะสร้างบนชั้นหิน
(2) เขื่อนกลวงหรือเขื่อนครีบ เป็นเขื่อนคอนกรีตที่ลดน้ำหนักโครงสร้างลง เพื่อให้พื้นฐานรากสามารถรับน้ำหนักของเขื่อนได้ โดยการเลาะโครงสร้างคอนกรีตออกให้เหลือเป็นครีบ เหมาะสำหรับการสร้างเขื่อนที่ไม่ใช่เขื่อนขนาดใหญ่
(3) เขื่อนคอนกรีตแบบโค้ง ที่ตัวเขื่อนจะยันภูเขาอยู่สองข้าง และแรงดันน้ำจะถ่ายเข้าสู่โครงสร้างคอนกรีต และดันไปที่ภูเขาที่อยู่สองข้างของเขื่อน มักจะสร้างในพื้นที่ที่เป็นหุบเขาสูงชัน
(4) เขื่อนดิน ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่าคอนกรีต สามารถสร้างบนชั้นดิน ชั้นกรวด หรือทรายได้ ส่วนใหญ่จะมีราคาถูก เพราะสามารถหาแหล่งดินที่มีคุณสมบัติเหมาะสมได้ในบริเวณที่ก่อสร้างเขื่อน และเขื่อนในลาวส่วนใหญ่จะเป็นเขื่อนดิน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ไม่สามารถหาดินปริมาณมากๆ ได้ อาจนำดินเหนียวมาถมเป็นแกน แล้วก็พยุงด้วยหินทั้งซ้ายขวา เรียกว่าเขื่อนหินทิ้ง หรือเขื่อนหินถม แต่ไม่ว่าจะใช้วัสดุใดในการสร้าง เขื่อนทุกประเภทสามารถออกแบบให้ปลอดภัยได้ เพียงแต่ต้องพิจารณาสภาพแวดล้อมโดยรอบพื้นที่เขื่อน รวมทั้งทดสอบและดูแลวัสดุในการก่อสร้างอย่างรอบคอบ

นอกจากการแบ่งประเภทของเขื่อนตามลักษณะของวัสดุก่อสร้างแล้ว ประเทศไทยยังมีการแบ่งประเภทของเขื่อนตามความจุเก็บกักด้วย โดยกรมชลประทานได้กำหนดขนาดของเขื่อน ได้แก่ เขื่อนที่มีความจุเก็บกักเกิน 100 ล้าน ลบ.ม. เป็นเขื่อนขนาดใหญ่ เขื่อนที่มีความจุเก็บกักตั้งแต่ 1 ล้าน - 100 ล้าน ลบ.ม. เป็นเขื่อนขนาดกลาง และเขื่อนที่มีความจุเก็บกักต่ำกว่า 1 ล้าน ลบ.ม. เป็นเขื่อนขนาดเล็ก ดังนั้น เมื่อพิจารณาเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย ซึ่งมีความจุเก็บกัก 1,000 ล้าน ลบ.ม. ก็จะถือว่าเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศไทยนั่นเอง

AFP

เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยกับนโยบายแบตเตอรีแห่งเอเชีย


ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ลาวแสดงจุดยืนในการเป็น “แบตเตอรีแห่งเอเชีย” โดยมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้ผลิตพลังงานให้แก่ประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย โดยตั้งเป้าให้สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของประเทศ คือพลังงาน ซึ่งเริ่มเห็นผลสำเร็จในด้านเศรษฐกิจแล้ว เนื่องจากเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ลาวเริ่มมีตัวเลขส่งออกเพิ่มขึ้น ประมาณ 14.5% มูลค่าการส่งออกประมาณ 2,600 ล้านเหรียญสหรัฐ และเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย ก็เป็นอีกหนึ่งโครงการในนโยบายแบตเตอรีแห่งเอเชีย ของลาวนั่นเอง

รศ.ดร.ฐิรวัตร อธิบายว่า เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย ประกอบด้วยเขื่อนหลัก 2 เขื่อน ได้แก่เขื่อนเซเปียน และเขื่อนเซน้ำน้อย ทำหน้าที่ปิดลำน้ำ และกักน้ำไว้ พร้อมส่วนประกอบที่เรียกว่า Spillway ทำหน้าที่ระบายน้ำไม่ให้น้ำล้นสันเขื่อน เมื่อปริมาณน้ำในเขื่อนมีมากเกินไปจนล้นสันเขื่อน น้ำจะกัดเซาะสันเขื่อนอย่างรุนแรง ทำให้เขื่อนแตก ฉะนั้น ภาพในข่าวที่มีน้ำพุ่งออกมาจากเขื่อน คือการเร่งระบายน้ำทาง Spillway เพื่อลดระดับน้ำในเขื่อน ไม่ใช่ภาพเขื่อนแตกแต่อย่างใด

และเนื่องจากเขื่อนหลักทั้งสองทำหน้าที่กักน้ำในลำน้ำ ทำให้น้ำเอ่อล้นไปตามซอกเขา จึงจำเป็นต้องมี “เขื่อนปิดช่องเขา” (Saddle Dam) เพื่อกันให้น้ำอยู่ในพื้นที่เดียว โดยในโครงการเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยมีเขื่อนปิดช่องเขาอยู่ 6 เขื่อน เรียกว่า เขื่อน A, B, C, D, E และ F ซึ่ง ผศ.ดร.อนุรักษ์ ศรีอริยวัฒน์ หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายแนวคิดการสร้างเขื่อนปิดช่องเขาไว้ว่า

“หลักการของเขื่อนปิดช่องเขาก็คือ เรามีเขื่อนหลัก ซึ่งปกติจะตั้งไว้ให้สูงที่สุด ระดับของสันเขื่อนจะอยู่สูงสุด เพราะเวลาน้ำไหล จะไหลจากช่องที่เตี้ยกว่า ส่วนเขื่อนปิดช่องเขาจะไม่สูงกว่าเขื่อนหลัก และตัวสัน Spillway ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นองครักษ์พิทักษ์เขื่อน เพราะมีหน้าที่ป้องกันไม่ให้เขื่อนพัง จะอยู่ในจุดที่ต่ำที่สุด ส่วนสาเหตุที่ทำให้เขื่อนพัง อันดับ 1 คือการที่น้ำล้นสันเขื่อน สาเหตุต่อมาคือเขื่อนทรุดตัว เนื่องจากฐานรากไม่ดี และอีกสาเหตุคือการสไลด์ตัวของชั้นดิน หรือ Piping และเหตุผลอื่นๆ

Gettyimages

จากการติดตามข่าว เราอาจได้ยินเพียงชื่อเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย แต่ รศ.ดร.ฐิรวัตร ได้อธิบายถึงสาเหตุที่แท้จริงของโศกนาฏกรรมครั้งนี้ว่าเขื่อนที่แตกนั้นไม่ใช่เขื่อนหลัก แต่เป็นเขื่อนปิดช่องเขา Saddle Dam D รวมทั้งการบริหารจัดการที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

“เขื่อนที่พังไม่ใช่เขื่อนหลัก แต่เป็นเขื่อน Saddle Dam D เนื่องจากเขื่อนนี้เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำอย่างเดียว แต่ไม่มี Spillway ซึ่งไม่แปลก เพราะว่าเขื่อนนี้มันใช้อุด เพื่อให้เขื่อนกักน้ำได้เต็มทั้งหุบเขา สมมติว่าน้ำกำลังจะล้นสันเขื่อน วิธีการที่เขาทำก็คือ เข้าไปเร่งระบายน้ำผ่าน Spillway ที่เขื่อนหลัก แล้วน้ำทั้งหุบเขาก็จะลดลงพร้อมๆ กัน อันนั้นคือวิธีแก้ไขโดยปกติ” รศ.ดร.ฐิรวัตรกล่าว พร้อมเสริมว่า จากการสังเกตลำดับเวลาในการเกิดเหตุการณ์ จะเห็นได้ว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ เขื่อนมีรอยแตกจากการทรุดตัวบริเวณด้านเหนือน้ำอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าก็ให้การว่า มีการพบความเสียหายที่ตัวเขื่อนตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคมแล้ว ซึ่งหมายความว่าเจ้าหน้าที่รู้เหตุการณ์แล้ว แต่ไม่สามารถแจ้งเตือนผ่านทางการ สปป.ลาว ได้ทันเวลา ส่งผลให้เกิดความเสียหายใหญ่หลวงดังกล่าว

แม้ว่าสถานการณ์เขื่อนแตกจะเป็นสิ่งที่คาดการณ์ได้ยาก และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ในทุกพื้นที่ แต่ รศ.ดร.ฐิรวัตร กล่าวว่า โดยปกติแล้ว ก่อนจะเริ่มโครงการก่อสร้างเขื่อน จะต้องมีการประเมินความเสี่ยง และผลกระทบต่อพื้นที่โดยรอบ รวมทั้งแผนการอพยพ และในระหว่างการก่อสร้าง ก็จะมีการตรวจสอบคุณภาพระหว่างการก่อสร้าง เพื่อป้องกันหรือลดความเสียหายของภัยพิบัติ รวมทั้งมีการตรวจวัดพฤติกรรมของเขื่อน ใน 4 สถานการณ์ ได้แก่ เมื่อก่อสร้างเสร็จใหม่ๆ จะมีการสังเกตว่าเขื่อนมีพฤติกรรมที่จะสไลด์ออกทางด้านซ้ายหรือขวาหรือไม่ ถ้ามี ก็จะต้องทบทวนการออกแบบและแก้ไข จากนั้นก็จะเฝ้าระวังเขื่อน เมื่อเติมน้ำครั้งแรก จนกระทั่งหลังจากการเติมน้ำครั้งแรก เขื่อนจะเริ่มปรับตัวจนแข็งแรงมากขึ้น ต่อมาคือ พฤติกรรมของเขื่อนเมื่อมีการระบายน้ำออกอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเกิดความเสียหายต่อตัวเขื่อน และสุดท้ายคือการออกแบบเพื่อป้องกันความเสียหายจากแผ่นดินไหว นอกจากนี้ ระหว่างการใช้งานก็จะมีการตรวจวัดและบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอ หากมีการซ่อมบำรุงอย่างถูกต้อง ปัญหาใหญ่ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น

Gettyimages

เขื่อนแตกที่ลาวกระทบไทยหรือไม่


ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในลูกค้า ที่ซื้อไฟฟ้าจากลาว เหตุการณ์เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อยแตกอาจสร้างความวิตกกังวลให้กับคนไทยว่าจะเกิดผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของเรา กรณีนี้ รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากข้อมูลล่าสุดในปี 2560 เรามีการนำเข้าไฟฟ้าจากลาวทั้งหมด 8% เท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากตัวเลขขนาดของโครงการโรงไฟฟ้าอื่นๆ ที่เรามี และขนาดความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย ถือว่ามีผลกระทบทางเทคนิคน้อยมาก เนื่องจากไฟฟ้าที่นำเข้าจากลาว ไม่ใช่เชื้อเพลิงหลัก แต่เป็นหนึ่งในนโยบายกระจายความเสี่ยงในการพึ่งพาพลังงานเท่านั้น

“ถ้าเทียบกับพลังงานทั้งหมด เรามีน้ำในประเทศไทยอยู่ 6.48% โดยรวมแล้วเราพึ่งพาน้ำในประเทศไทยและลาว จริงๆ แล้ว ไม่เยอะเท่าไร ตัวที่เยอะมากๆ เลยคือแก๊ส ซึ่งโรงไฟฟ้าในประเทศไทยคิดเป็น 61% ตรงนี้จึงค่อนข้างน่าเป็นห่วงว่าเราพึ่งพาเชื้อเพลิงชนิดใดชนิดหนึ่งมากไปหรือเปล่า รัฐบาลก็เลยต้องกระจายความเสี่ยงโดยการหาเชื้อเพลิงชนิดอื่นมาเสริมบ้าง การซื้อน้ำและถ่านหินจากลาวก็เป็นหนึ่งในเหตุผลเรื่องการกระจายความเสี่ยงด้านเชื้อเพลิง อีกเหตุผลหนึ่งคือเราซื้อไฟฟ้าจากลาวด้วยราคาที่ถูกที่สุดเท่าที่เชื้อเพลิงอื่นๆ จะผลิตได้ในประเทศไทย” รศ.ดร.กุลยศกล่าว

แม้คนไทยจะไม่ต้องกังวลกับเรื่องไฟฟ้าอีกต่อไป แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากกว่า คือการดูแลและบำรุงรักษาเขื่อนในประเทศไทย ซึ่ง ผศ.ดร.อนุรักษ์ ระบุว่า ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยมีเขื่อนขนาดใหญ่อยู่ 34 เขื่อน ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ในขณะที่เขื่อนขนาดกลางและขนาดเล็กยังจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากผู้เชี่ยวชาญมากกว่านี้

ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เขื่อนขนาดกลางมีการดูแลน้อย คือทุกคนไปดูแลที่เขื่อนใหญ่ ไม่ได้มีกำลังคนไปดูแลเขื่อนขนาดกลาง จริงๆ แล้วเขื่อนขนาดกลางหลายแห่งก็มีรายงานปัญหาเรื่องการรั่วซึมอยู่มากผิดปกติ ยังไม่ถึงขั้นแตก แต่การรั่วซึมก็เป็นสัญญาณสำคัญ ที่น่าห่วงมากกว่านั้นคือเขื่อนขนาดเล็ก เพราะทุกวันนี้ เขื่อนขนาดเล็กทั้งหมดถูกโอนจากกรมชลประทานให้ไปอยู่ในการดูแลของ อบต. คำถามคือ หน่วยงานท้องถิ่นจะมีความสามารถในการดูแลได้หรือเปล่า ด้วยความที่มันเล็ก ถ้ามันรั่วหรือแตกขึ้นมา อย่างมากก็ท่วมนิดหน่อย คงไม่ถึงขั้นคนตาย แต่ก็มีความเสียหายระดับหนึ่ง” ผศ.ดร.อนุรักษ์อธิบาย พร้อมเสริมว่าตนเชื่อว่า กรณีเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย น่าจะจุดประกายให้เกิดงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องเขื่อนแตกออกมาอีกครั้ง เช่นเดียวกับการคาดการณ์สถานการณ์ของเขื่อนศรีนครินทร์ โดยใช้แบบจำลอง (simulation) หลังจากเกิดเหตุสึนามิ เมื่อ พ.ศ. 2547

“สิ่งที่อยากจะฝากไปทางภาครัฐก็คือ เราจะทำแบบจำลองได้ดี เราต้องมีข้อมูลที่ควรจะมี คือข้อมูลระยะยาว ที่จะทำนายเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรืออะไรก็ตาม หากจะวิจัยให้ถูกก็ต้องมีข้อมูล 30 ปี ขึ้นไป สำรวจทั่วประเทศ และต้องเผยแพร่ข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาประเทศไทยหาข้อมูลลักษณะนี้ยากมาก ถ้าผมเป็นนักวิจัย ไปเก็บข้อมูลก็เก็บได้แค่ 1-2 ปี แล้วก็เลิกกัน มันก็หนีไม่พ้นคือให้หน่วยงานภาครัฐเก็บ แล้วก็ควรจะมีการกระจายให้ทุกคนได้รับรู้ข่าวสารเหล่านี้” ผศ.ดร.อนุรักษ์กล่าว

ทีมแพทย์ทหารชาวจีนเดินทางมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่แขวงอัตตะปือAFPทีมแพทย์ทหารชาวจีนเดินทางมาเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่แขวงอัตตะปือ

ไทยจะช่วยเหลือลาวได้อย่างไร


แม้จะเห็นได้ชัดว่าเหตุการณ์เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย เป็นเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายในวงกว้าง แต่เราแทบไม่ได้ข่าวคราวการขอความช่วยเหลือจากทางการ สปป. ลาว แต่อย่างใด รวมทั้งยังมีกระแสข่าวว่ารัฐบาล สปป. ลาว ปฏิเสธไม่ให้สื่อมวลชนไทยเข้าไปทำข่าวในพื้นที่ เรื่องนี้มีที่มาที่ไปอย่างไร และไทยจะช่วยเหลือลาวได้อย่างไร ในฐานะที่เราเป็นประเทศเพื่อนบ้านและผู้ซื้อพลังงานไฟฟ้า คุณอดิศร เสมแย้ม นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญเรื่องประเทศลาว สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้อธิบายไว้ว่า แขวงอัตตะปือ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการเขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย เป็นพื้นที่ห่างไกลที่ค่อนข้างทุรกันดาร เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่ใช้ทิ้งสารเคมีที่เรียกว่า “ฝนเหลือง” ในสมัยสงครามเวียดนาม ทำให้พืชผลล้มตาย ขณะเดียวกัน ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่ก็เป็นกลุ่มลาวเทิง ที่พูดภาษากลุ่มมอญ-ขะแมร์ ซึ่งแตกต่างจากภาษาทางการ ทำให้การเข้าถึงพื้นที่ รวมทั้งการเยียวยาเป็นไปได้ยาก

สำหรับสาเหตุที่ไทยไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปช่วยเหลือ ในขณะที่อนุญาตให้เครื่องบินทหารของจีนเข้าประเทศ คุณอดิศรมองว่า โดยปกติ ลาวจะไม่ค่อยเปิดรับความช่วยเหลือ แต่การที่อนุญาตให้จีนเข้าไป น่าจะเป็นเพราะจีนได้เข้าไปลงทุนสร้างเขื่อนในลาวเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการช่วยเหลือของจีนก็ไม่ต่างจากประเทศทางยุโรป จึงทำให้ลาวเปิดโอกาสให้กับจีนมากกว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับลาว มักจะอยู่ในระดับประชาชนด้วยกัน ไม่เกี่ยวกับรัฐ

“ผมเคยทำวิจัยเรื่องคุณธรรมในอาเซียน พบว่าความสัมพันธ์มันเกิดขึ้นในภาคประชาชน คือเดิมในลาวมีแม่น้ำเยอะ มีเด็กตกน้ำตายเยอะ ก็เลยเกิดความช่วยเหลือในด้านการกู้ภัย เนื่องจากลาวเติบโตในเรื่องการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มีถนน แล้วก็มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมาก แต่การกู้ภัยยังไม่มี ก็จะมีองค์กรในประเทศไทยไปช่วยอบรม เช่น ฝึกดำน้ำ ฝึกกู้ภัยต่างๆ ทำให้มีการพัฒนาเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่เกี่ยวกับรัฐเลย”

สำหรับกระแสข่าวเรื่องการห้ามสื่อไทยเข้าไปทำข่าว คุณอดิศรมองว่าน่าจะเป็นเรื่องของกฎหมายการเข้าประเทศ เนื่องจากแขวงอัตตะปือไม่ใช่พื้นที่ที่ติดกับชายแดนไทย การเข้าพื้นที่จึงต้องใช้พาสปอร์ต อีกทั้งเหตุการณ์นี้ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับลาว จึงต้องเริ่มมีการจัดระเบียบสื่อมวลชนที่จะเข้าไปทำข่าวด้วย และคุณอดิศรก็เชื่อว่าเหตุการณ์ครั้งนี้น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดแนวทางในการจัดระเบียบหรือการวางแผนป้องกันในอนาคต

สำหรับแนวทางในการช่วยเหลือจากประเทศไทย คุณอดิศรกล่าวว่า ไทยควรทบทวนบทบาทของตัวเอง และวางแนวทางช่วยเหลือฟื้นฟูในระยะยาว ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายและใช้ทรัพยากรค่อนข้างมาก

“ผมคิดว่าการที่จะฟื้นฟู รัฐบาลอาจจะต้องไปช่วยในฐานะมิตรประเทศ ผ่านหน่วยงานที่เรามีความร่วมมืออยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตความเป็นอยู่หลังจากนี้ ซึ่งใช้เวลาไม่น่าจะน้อยกว่า 5-6 ปี เป็นการฟื้นฟูการประกอบอาชีพ การเกษตร พันธุ์พืช ที่เรามีความชำนาญ และให้การช่วยเหลือได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ผมมองไกลๆ และเป็นสิ่งที่เราต้องพูดคุยกัน ก็คือการช่วยเหลือกันทางด้านการแพทย์หรือด้านภาวะจิตใจของผู้ประสบภัย” คุณอดิศรกล่าว

นอกจากนี้ สิ่งที่คุณอดิศรมองเห็นจากเหตุการณ์ครั้งนี้ คือความงดงามจากการช่วยเหลือในรูปแบบการบริจาคของประชาชนในประเทศกลุ่มอาเซียน เป็นความร่วมมือร่วมใจโดยไม่มีเรื่องพรมแดนมาเกี่ยวข้อง แม้จะยังมีความสับสนวุ่นวายอยู่ แต่ก็นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดีในการพัฒนาภูมิภาคอาเซียนต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook