มหาศาล! "ขยะพิษ" ตกค้าง 300 ตัน ผู้ว่ากาฬสินธุ์ลุยลงพื้นที่ พร้อมหามาตรการแก้ไข
วันที่ 21 ส.ค. 2561 ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ลงพื้นที่ติดตามปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ แหล่งใหญ่ตำบลเดียวที่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลักเข้าพื้นที่เดือนละ 50 ตัน
ผงะพบกากขยะอิเล็กทรอนิกส์ตกค้างกว่า 300 ตัน สั่งการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เร่งหามาตรการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ ป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม พร้อมเดินหน้าสร้างเตาเผาขยะแก้ปัญหาระยะยาว
จากกรณีขยะอิเล็กทรอนิกส์นำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง จนหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาทางแก้ไข สั่งระงับการนำเข้าขยะพิษอย่างเข้มงวด
กระทั่ง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ประกาศขยะพิษต้องหมดภายใน 2 ปี
ขณะที่ จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นแหล่งคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์มานานกว่า 20 ปี โดยนายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ ได้สั่งการให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
ดำเนินการคุมเข้มการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดทั้งให้มีมาตรการควบคุมไม่ให้ทำการเผาขยะ ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ตามข่าวที่เสนอแล้วนั้น
ล่าสุดวันที่ 21 สิงหาคม 2561 ที่บ้านหนองบัว หมู่ 3 และหมู่ 11 ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ พร้อมด้วยนายธนูสินธุ์ ไชยสิริ ปลัด จ.กาฬสินธุ์ นายพิชิต สมบัติมาก ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์
นายประสูตร หอมบันเทิง นายอำเภอฆ้องชัย และคณะกรรมการสาธารณสุขจังหวัด (คสจ.) ซึ่งเป็นตัวแทนจากหลายภาคส่วน ได้ลงพื้นที่สอบถามปัญหาและความต้องการของชาวบ้าน รวมทั้งผู้ประกอบการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้เพื่อแสวงหาข้อมูลประกอบการแก้ไขปัญหา และดำเนินการจัดสร้างเตาเผาขยะ ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นเจ้าภาพสานต่อ ขณะที่ชาวบ้านที่ เฝ้ารอคอยเตาเผาขยะในฝันตลอดระยะเวลา 20 ปี
นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า จากกรณีนำเข้าขยะพิษจากต่างประเทศ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสภาพแวดล้อมในบางจังหวัดแถบภาคกลาง ซึ่ง พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกมาประกาศคุมเข้มขยะพิษดังกล่าว
ในส่วน จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นแหล่งคัดแยกขยะ ที่ได้จากการตระเวนหาซื้อมาจากบ้านเรือนประชาชนทั่วประเทศ เพื่อทำการคัดแยก และเลือกเอาส่วนที่มีมูลค่าไปจำหน่ายนำรายได้เข้าครัวเรือนนั้น ไม่ได้เป็นขยะนำเข้าจากต่างประเทศ
แต่ที่ จ.กาฬสินธุ์มีชื่อเป็นประเด็นพ่วง เนื่องจากแหล่งรับซื้อชิ้นส่วนที่คัดแยกนั้น อยู่ในแถบจังหวัดที่นำเข้าขยะพิษจากต่างประเทศ ซึ่งความจริงมีพื้นฐานและสภาพที่แตกต่างกัน
แต่ที่เป็นปัญหาและหลายๆ ฝ่ายวิตกกังวลคือการบริหารจัดการขยะ ทั้งขั้นตอน วิธีการคัดแยกที่ไม่ถูกต้อง และการกำจัดขยะที่ไม่มีค่า โดยการนำไปทิ้งที่บ่อกำจัดขยะ ซึ่งพบว่ามีการลักลอบเผา ทำให้เกิดมลพิษ และหวั่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ทั้งนี้ ทราบว่าที่ผ่านมามีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา เข้ามาทำการศึกษาวิจัย เพื่อหาทางแก้ไข โดยเฉพาะการสร้างเตาเผาที่ถูกสุขาภิบาล แต่กลับเงียบหายไป
นายไกรสร กล่าวอีกว่า ตนลงพื้นที่ครั้งนี้ เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากบ่อกำจัดขยะ และอยากทราบรายละเอียดเชิงลึก เกี่ยวกับโครงการสร้างเตาเผาขยะที่พูดถึงกันมานานหลายปี แต่ไม่มีความคืบหน้าว่าติดขัดตรงไหน
ขณะที่ชาวบ้านตำบลโคกสะอาด ยังคงมีพฤติกรรมคัดแยกขยะโดยขาดการระมัดระวัง เพราะทำกันจนเกิดเป็นความเคยชิน ไม่กลัวเจ็บป่วย หรือได้รับผลข้างเคียง
จากการสอบถามไม่หวั่นเกิดผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากตรวจเช็คร่างกายกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นระยะ ไม่พบสารตะกั่วในกระแสเลือด จึงมั่นใจว่าตนเองปลอดภัย
และรู้แต่ว่าสิ่งที่ลงมือทำนั้นมีมูลค่า เป็นรายได้จุนเจือครอบครัว สร้างฐานะ มีเงินส่งเสียบุตรหลานเล่าเรียน ส่วนที่ชาวบ้านผู้ประกอบการคัดแยกขยะต้องการคือเตาเผาขยะ เพื่อจัดการกับขยะที่ไม่ถูกวิธี ไม่เกิดมลพิษ และกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ในการลงพื้นที่ นายไกรสร กองฉลาด ผวจ.กาฬสินธุ์ ยังได้เข้าไปสำรวจสภาพบ่อกำจัดขยะของ อบต.โคกสะอาด บนเนื้อที่ 23 ไร่ ซึ่งพบว่ายังไม่ถูกหลักสุขาภิบาล
เนื่องจากมีกลิ่น ร่องรอยการเผาไหม้ เกิดน้ำขังตามผิวดิน และไหลซึมลงสู่นาข้าวของชาวบ้าน ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบคือใบเหลือง จากการดูดซึมสารพิษ
ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ เมื่อเป็นเม็ดข้าวเปลือก และเก็บเกี่ยวไปรับประทาน ก็อาจจะมีสารเคมีปนเปื้อนและตกค้างในร่างกายผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ ปู ปลา สัตว์น้ำ หรือแม้กระทั่งคนที่สัมผัสกับน้ำ ดิน ก็อาจได้รับสารพิษนั้นเข้าสู่ร่างกายได้เช่นกัน
“เมื่อพบปัญหาในพื้นที่ และความต้องการของชาวบ้านดังกล่าว ได้มอบหมายให้สาธารณสุขจังหวัด อบจ. อบต. ท้องถิ่น และคณะกรรมการทุกฝ่าย เร่งหาแนวทางแก้ไข ที่จะลดปริมาณการนำเข้าขยะ และกำจัดขยะอย่างถูกวิธี
รวมทั้งติดตามเรื่องเตาเผาขยะที่เคยมีการออกแบบไว้ โดยจ้างมหาวิทยาลัยขอนแก่นออกแบบถึง 1,700,000 บาท มูลค่าก่อสร้าง 50 ล้านบาท โดยเบื้องต้นนี้ได้ให้แนวทาง อบต.โคกสะอาด ลงทะเบียนผู้ประกอบการคัดแยกขยะ และเป็นผู้รับซื้อชิ้นส่วนที่คัดแยกได้
ก่อนนำไปรวบรวมที่ อบจ. เพื่อเป็นการตัดวงจรนายทุนหรือพ่อค้าคนกลางหรือเอกชน ที่จะขนย้ายชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ออกจากพื้นที่ไปเกินขอบเขตการควบคุม
ซึ่งหากทุก อบต.โคกสะอาดทำได้ หรือองค์กรปกครองท้องถิ่นทั่วประเทศนำหลักการนี้ไปทำ ก็จะลดปริมาณขยะและจะไม่เกิดปัญหาเผาขยะ หรือเกิดการหมักหมมของขยะสิ่งปฏิกูล
ซึ่งปัจจุบันยังมีปริมาณขยะทั้งเศษแก้ว โฟม กากที่เกิดจากการเผายางและพลาสติกในบ่อบำบัดกว่า 300 กว่าตัน จึงต้องมองหาวิธีการแก้ไขร่วมกันให้เกิดความยั่งยืนคือ ให้ชาวบ้านอยู่ได้ สิ่งแวดล้อมอยู่ได้ ด้วยการลดปริมาณขยะ ไม่กระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม” นายไกรสรกล่าว
อัลบั้มภาพ 5 ภาพ