ความชั่วของ "ผู้ดีอังกฤษ" VS "ผู้ดีไทย"

ความชั่วของ "ผู้ดีอังกฤษ" VS "ผู้ดีไทย"

ความชั่วของ "ผู้ดีอังกฤษ" VS "ผู้ดีไทย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อวันพุธที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2561 ลอร์ด เบทส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงความก้าวหน้านานาชาติ (ดูแลด้านการให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมการพัฒนาของประเทศต่างๆ) และสมาชิกสภาขุนนางของสหราชอาณาจักร ได้ขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีจากการมาสายเพียง 1 นาที ทำให้เขามาไม่ทันการตอบกระทู้จาก บารอนเนสลิสเตอร์ แห่งเบอร์เตอร์เซตต์ สมาชิกสภาขุนนางจากพรรคแรงงาน เขาบอกว่าเขารู้สึกผิดที่มาไม่ทันเวลา โดยกล่าวว่า

“ผมถือว่าผมควรเคารพต่อหน้าที่ในฐานะตัวแทนรัฐบาลในการตอบคำถามตามกฎเกณฑ์ต่อสภา ผมเชื่อมาโดยตลอดว่าเราควรจะยกระดับมาตรฐานของมารยาทไปสู่ระดับสูงสุด ผมรู้สึกละอายเป็นอย่างยิ่งต่อการที่ผมไม่ได้ทำหน้าที่ของตนเอง ดังนั้นผมจึงขอยื่นลาออกจากตำแหน่งต่อนายกรัฐมนตรี โดยให้มีผลในทันที ผมขออภัย”  ลอร์ด เบทส์กล่าวต่อสภาสูง กรณีมาไม่ทันตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาสูงของพรรคฝ่ายค้าน

AFP: ลอร์ด เบทส์

ทำเอาสมาชิกแห่งสภาขุนนางโห่ร้องไม่เห็นด้วยต่อการมาสายเพียงเล็กน้อยของลอร์ด เบทส์ ต้องทำให้รัฐมนตรีถึงกับลาออกเพราะเพียงการขอโทษก็เหมาะสมพอเพียงแล้ว

ต่อมาทางโฆษกแห่งทำเนียบรัฐบาลของสหราชอาณาจักรได้ชี้แจงว่า หนังสือลาออกของลอร์ด เบทส์ถูกปฏิเสธไปแล้ว เนื่องจากทางนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ มองว่า ความผิดของเขาไม่จำเป็นจะต้องลาออก

สรุปแล้วลอร์ด เบทส์ได้แสดงความละอายต่อความชั่วคือการไม่ตรงต่อเวลา ซึ่งฝรั่งถือว่าเป็นบาปหนักทางมารยาทผู้ดีอังกฤษ ซึ่งก็ได้แสดงสปิริตออกมาว่าผู้ดีอังกฤษยังไม่สูญพันธุ์จากอังกฤษนะจ๊ะ

อีทีนี้ลองมาดูความชั่วของผู้ดีไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ดูบ้างนะครับ เพื่อการเปรียบเทียบกันสนุกๆ ดีกว่าอยู่เปล่าๆ ถึงแม้ว่าระยะเวลาจะห่างกันเป็นร้อยปีก็ตาม

ครับ! เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงปฏิรูปการปกครองอย่างเป็นทางการ โดยการตั้งกระทรวงขึ้นมา 12 กระทรวง เป็นจุดเริ่มต้นของการบริหารงานส่วนกลางตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และยังตั้ง “เสนาบดีสภา” ขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นที่มาของ “ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี” ในปัจจุบันนั่นเอง

เสนาบดีสภาเริ่ม “ชุมนุม”  หรือประชุมกันครั้งแรกในเดือนเมษายนนั่นเอง การชุมนุมเสนาบดีสภาจัดให้มีขึ้นเวลากลางคืนเวลา 2 ทุ่ม โดยประชุมกันครั้งละหลายชั่วโมง บางทีก็ประชุมนานถึงตีสาม และประชุมติดๆ กันหลายวันก็มีบ่อยครั้ง ซึ่งการลงมติที่ประชุมเสนาบดีสภาถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์

ปัญหาของการชุมนุมเสนาบดีคือ การที่ไม่มีใครอยากเป็นประธานของที่ประชุมจึงต้องจับสลากเป็นวันๆ ไป แต่ปัญหาของการมาประชุมสายทำให้ที่ประชุมต้องคอยเนื่องจากขาดองค์ประชุม และการลุกออกไปจากที่ประชุมเพื่อกลับบ้านก่อนการประชุมเลิกนั้น ทำให้การชุมนุมเสนาบดีขลุกขลักมีปัญหา จึงมีการชุมนุมเสนาบดีเพื่อแก้ปัญหาการที่เสนาบดีบางคนมาสายแต่กลับเร็วโดยถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็น “ความชั่ว” ต้องมีการลงโทษ

มีการลงมติที่ประชุมโดยการ “โหวตมืด” หรือการลงคะแนนลับนั่นแหละ ให้มีการลงนามและลงเวลาที่มาประชุมเพื่อเป็นหลักฐานโดยมีบทลงโทษดังนี้ คือ

  • มาสาย 1.5 นาที คิดเป็นสาย 5 นาที ปรับ 2 สลึง (50 สตางค์)
  • มาสาย 6 - 10 นาที คิดเป็นสาย 10 นาที ปรับ 1 บาท
  • หากมาสาย 1 ชั่วโมง 19 นาที ก็คิดเป็นสาย 1 ชั่วโมง 20 นาที ปรับ 8 บาท
  • ส่วน “ความชั่ว” แบบที่ไม่มาประชุมและไม่ลาล่วงหน้า หรือมาแล้วกลับก่อนเลิกประชุม ให้นับเวลาประชุมจนเลิกประชุมเป็นเกณฑ์ในการปรับเงิน
  • ส่วนการไม่ลงนาม ไม่ลงเวลา หรือลุกออกไปจากห้องประชุมให้ปรับครั้งละ 1 บาททุกครั้ง 

สำหรับเงินค่าปรับให้เอาเข้ากองกลางเพื่อสำหรับแจกให้แก่ผู้มาประชุม

การประชุมเสนาบดีนี้ต้องจัดตอนกลางคืน เนื่องจากตอนกลางวันต้องทำงานที่กระทรวง จะเห็นได้ว่าในสมัยก่อนท่านทำงานกันหนักเหลือเกิน และมาตรฐานความชั่วของท่านก็สูงเหลือเกิน

แต่นั่นก็เป็นเรื่องสมัยก่อนของบ้านเรากับสมัยนี้ที่อังกฤษนะครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook