ศาลฎีกาฯ ยกฟ้อง "ทักษิณ" คดีแทรกแซงฟื้นฟูกิจการ "ทีพีไอ"
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาด้วยมติเสียงข้างมาก เห็นว่า กรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ทักท้วงกรณีกระทรวงการคลัง เข้าเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัททีพีไอ ไม่ได้มีเจตนาพิเศษที่จะแสวงหาผลประโยชน์เพื่อตนเอง หรือเพื่อผู้อื่น ในการเสนอชื่อคณะกรรมการบริหารแผน 5 คนใหม่ และข้อเท็จจริงปรากฏว่าการเข้าบริหารแผนพื้นฟูของกระทรวงการคลังในกิจการทีพีไอ ก็เกิดจากความยินยอมของธนาคาร เจ้าหนี้ ลูกหนี้ สหภาพแรงงาน รวมทั้งเป็นไปตามคำสั่งของศาลล้มละลายกลาง ซึ่งกระทรวงการคลังถือเป็นหน่วยงานรัฐที่ต้องดูแลแก้ไขเศรษฐกิจของประเทศ
ขณะที่ปัญหาการเข้าฟื้นฟูกิจการทีพีไอ ก็สืบเนื่องมาจากเศรษฐกิจสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่ประกาศลอยตัวค่าเงินบาท จนกระทบต่อธุรกิจต่างๆ ที่กู้เงินกับต่างชาติ มูลค่าหนี้จะสูงเพิ่มขึ้นเท่าตัว โดยกรณีของทีพีไอมีมูลค่าหนี้สูงขึ้น 1.3 แสนล้านบาท ภายในข้ามคืน จากเดิมอยู่ที่ 65,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งกระทบต่อบริษัทที่มีพนักงานกว่า 7 พันคน อีกทั้งนายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหารทีพีไอ รวมทั้งสหภาพแรงงานของบริษัทก็เคยเสนอให้กระทรวงการคลังเข้ามาแก้ไข
นอกจากนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ ในการไต่สวนก็ยังฟังไม่ได้ว่า เมื่อกระทรวงการคลังเข้าบริหารแผน และจ่ายค่าตอบแทนให้กับคณะผู้บริหารที่โจทก์อ้างว่าเป็นพรรคพวกของจำเลย รวมทั้งการซื้อขายหุ้นเพิ่มทุนของกิจการทีพีไอ ก็กำหนดให้ซื้อได้เพียงหน่วยงานในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง เช่น ปตท. ธนาคารออมสิน และ กองทุน กบข. เป็นต้น จึงไม่ปรากฏพยานหลักฐานว่าจำเลยได้รับผลประโยชน์เหล่านั้นแต่อย่างใด
ซึ่งเงินค่าตอบแทนเกี่ยวกับการฟื้นฟูกิจการก็ปรากฏว่า เป็นคดีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาให้คืนเงินค่าตอบแทนจากการเข้าบริหารแผนฟื้นฟู จำนวน 224 ล้านบาทเศษแล้ว ดังนั้น ข้อกล่าวหาที่โจทก์ฟ้องยังไกลเกินกว่าเหตุ ไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามมาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ