“แย่งลิฟต์คนพิการ” ดราม่าที่มีประเด็นมากกว่าการเอาเปรียบในสังคม

“แย่งลิฟต์คนพิการ” ดราม่าที่มีประเด็นมากกว่าการเอาเปรียบในสังคม

“แย่งลิฟต์คนพิการ” ดราม่าที่มีประเด็นมากกว่าการเอาเปรียบในสังคม
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัญหาเรื่องการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ เช่น ลิฟต์ในสถานีรถไฟฟ้า ที่นั่งสำรองในการขนส่งสาธารณะ รวมถึงห้องน้ำและที่จอดรถผู้พิการ เป็นอีกหนึ่งปัญหาเรื้อรังที่พร้อมจะปะทุกลายเป็นดราม่าได้ทุกเมื่อ ซึ่งส่วนมากจะมีตัวละครหลักเป็นคนปกติ ผู้พิการ เด็ก สตรีมีครรภ์ หรือผู้สูงอายุ โดยมี “มนุษย์กล้อง” เป็นเครื่องมือสำคัญในการกระจายดราม่าสู่โลกโซเชียล และเมื่อไม่กี่วันมานี้ ดราม่าดังกล่าวก็เกิดขึ้นอีกครั้งจนได้ เมื่อเพจคิดดี 4.0 ได้เผยแพร่ภาพที่ผู้พิการบนวีลแชร์ถูกคนปกติแซงคิวขึ้นลิฟต์ในสถานีรถไฟฟ้า BTS ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชาวเน็ตอย่างรุนแรง

>> สาวพิการเผยชุดภาพถ่าย คนไทยไร้มนุษยธรรม แซงคิว แย่งใช้ลิฟต์ผู้พิการ

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาให้ดี จะพบว่าดราม่าที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าเช่นนี้ กลับมีรากของปัญหาที่น่าสนใจและนำไปสู่การแก้ไขอย่างเร่งด่วนไม่แพ้เรื่องอื่นๆ ดังนั้น Sanook! News จึงขอพูดคุยถึงปัญหานี้ กับ “หนู – นลัทพร ไกรฤกษ์” เจ้าของเพจ ThisAble.me ซึ่งเป็นผู้พิการที่ใช้วีลแชร์ และได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางเหล่านี้

ดราม่า “แย่งลิฟต์คนพิการ” สะท้อนอะไร

จากดราม่าดังกล่าว คุณหนูได้แสดงความเห็นว่าประเด็นสำคัญที่เห็นได้ชัดคือ “การแซงคิว” ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในสังคมไทย ไม่ว่าจะสถานการณ์ใด เพียงแต่กรณีนี้มีตัวละครเป็นผู้พิการที่จำเป็นต้องใช้ลิฟต์เพื่อขึ้นไปยังสถานีรถไฟฟ้า จึงทำให้ประเด็นนี้ยิ่งได้รับความสนใจมากขึ้น ทั้งที่จริงแล้ว ในความเห็นของคุณหนู พื้นฐานของการเข้าคิวคือ มาก่อนได้ก่อน มาทีหลังได้ทีหลัง ไม่ว่าผู้ที่มาก่อนจะเป็นผู้พิการหรือคนปกติก็ตาม นอกจากนี้ ประเด็นดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นถึงการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนมากพอที่จะสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับลำดับความสำคัญของการให้บริการแก่ผู้ที่มีความต้องการพิเศษ ทั้งผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก สตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ที่มีสัมภาระจำนวนมาก

“เราเข้าใจว่าหน้าลิฟต์ในบางสถานี จะเขียนไว้ว่าอยากให้กลุ่มผู้ที่มีความต้องการพิเศษได้ใช้ก่อน แต่ด้วยความไม่ชัดเจน มันทำให้บางทีเราไปต่อคิวที่มีคนต่อคิวอยู่แล้ว 4 – 5 คน ซึ่งถ้าเขาเข้าลิฟต์ไป เราเองจะเข้าลิฟต์ไม่ได้ เราก็ไปยืนต่อหลังเขา เพราะมาทีหลัง แต่บางครั้ง 4 – 5 คนนั้นก็จะให้เราไปก่อน ซึ่งเราก็อึดอัด ไม่แน่ใจตัวเองว่าเราสามารถลัดคิวได้หรือเปล่า เพราะมันไม่มีการระบุให้ชัดเจน เพราะฉะนั้น เราก็มักจะบอกว่า ‘พี่ต่อคิวก่อน พี่ไปก่อนหนูเลยค่ะ’ เพราะเราเองก็ไม่อยากไปลัดคิวคนอื่นเหมือนกัน” คุณหนูเล่า

นอกจากการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนแล้ว โครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สามารถใช้งานได้จริง อย่างบันไดสถานีรถไฟฟ้าที่สูงชัน ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนปกติ ซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ ต้องพากันมากระจุกตัวเพื่อแย่งกันใช้ลิฟต์ที่มีอยู่ตัวเดียว จนกระทั่งเบียดเบียนผู้พิการในที่สุด โดยคุณหนูมองว่าคนปกติเองก็ไม่ได้มีทางเลือกในการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกมากนัก และเปรียบเทียบกับลิฟต์ในห้างสรรพสินค้า ที่มีจำนวนมากพอรองรับคนทั้งสองกลุ่ม โดยไม่จำเป็นต้องแย่งกัน

“ถ้าเทียบกับลิฟต์ห้างสรรพสินค้าที่มีหลายตัว เราว่าลำดับความสำคัญมันก็อาจจะต่างไป คนพิการเองอาจจะไม่จำเป็นต้องได้ขึ้นคนแรก เพราะมันมีหลายทางเลือก รวมถึงมีระบบที่ทำให้ทุกคนสามารถขึ้นไปได้เร็วเท่าๆ กัน ทุกคนก็จะรอไม่นาน” คุณหนูกล่าว

กลุ่มคนที่ถูกมองข้าม

ในขณะที่เราให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้พิการที่แสดงอาการทางร่างกายอย่างเห็นได้ชัด เช่น ผู้ใช้วีลแชร์หรือคนตาบอด แต่สิ่งที่เราไม่เคยรับรู้หรือสังเกตเห็น คือกลุ่มคนที่มีความต้องการพิเศษ แต่ไม่ได้แสดงอาการให้เห็นอย่างเด่นชัด อย่างผู้ป่วยโรคหัวใจ ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม หรือแม้กระทั่งคนอ้วน ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้ถูกตัดสินไปในทางลบ จากรูปลักษณ์ภายนอกที่ดูเป็นคนปกติ คุณหนูกล่าวว่า

“บางคนรูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้เป็นคนพิการ ไม่ได้เป็นคนแก่ ไม่ได้มีภาระหนัก แต่ก็อาจจะมีภาวะที่คนมองไม่เห็นอยู่ เรารู้จักพี่ที่เป็นโรคหัวใจ คือรูปลักษณ์ภายนอกเขาเหมือนคนทั่วไปเลย แต่เขาไม่สามารถเดินขึ้นบันไดเยอะๆ อย่างบันได BTS เมื่อไรที่เขาไปต่อคิวขึ้นลิฟต์ คนก็จะมองหน้า แล้วพอขึ้นรถ ก็มีโอกาสที่คนกลุ่มนี้จะนั่งในที่นั่งสำรอง เนื่องจากการยืนนานๆ บนรถที่โยกเยก มันไม่ปลอดภัยสำหรับสุขภาพเขา คนกลุ่มนี้ก็จะโดนถ่ายคลิปหรือถ่ายรูป ซึ่งเราคิดว่าการถ่ายภาพเหล่านี้มันไม่ถูกต้อง การแก้ไขก็ต้องเริ่มตั้งแต่ต้น คือทุกคนควรระลึกไว้เสมอว่าที่ตรงนี้เป็นที่ที่สงวนไว้สำหรับคนที่มีปัญหาในการยืนมากกว่า

“มันดูย้อนแย้งในสังคมเรา คือปากเราก็บอกว่าอย่าเอาเปรียบคนพิการนะ แต่เราก็ไปทำกับคนอีกกลุ่ม เรามีเพื่อนคนหนึ่งที่อ้วนมากๆ แล้วเขาขึ้นบันไดยาก แม้แต่บันไดเลื่อนยังขึ้นยากเลย พอไปใช้ลิฟต์ คนอื่นก็มอง เราคิดว่า นอกจากจะมองว่ามาใช้ลิฟต์ทำไม ยังมองว่าตัวใหญ่แล้วกินที่ มันมีการมองแบบนี้อยู่ในสังคม ซึ่งเราคิดว่ามันก็ไม่ยุติธรรมเท่าไรที่เราไปมองคนอื่นแบบนี้ แล้วก็ตัดสินไปทั้งๆ ที่เราก็ไม่รู้” คุณหนูกล่าวเสริม

นอกจากลิฟต์ BTS แล้ว อุปกรณ์ที่มักจะกลายเป็นประเด็นดราม่าบ่อยครั้งก็คือที่นั่งสำรอง หรือ Priority Seat ที่ทุกคนเข้าใจตรงกันว่ามีไว้สำหรับเด็ก สตรีมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้พิการ ซึ่งคนทั่วไปสามารถนั่งได้ แต่ต้องสละที่นั่งนี้ เมื่อมีคนกลุ่มดังกล่าวขึ้นมาบนรถ อย่างไรก็ตาม คุณหนูกลับบอกว่า “ไม่ใช่คนพิการทุกคนที่ต้องใช้ที่นั่งสำรอง” แต่ที่จริงแล้ว ผู้ที่ควรจะนั่งที่นั่งนี้ คือผู้ที่มีปัญหาด้านการยืน เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม หรือสตรีมีครรภ์

“เราเคยคุยกับพี่คนตาบอดคนหนึ่งเรื่องการใช้ BTS คือมันจะมีที่นั่งสำรอง พี่คนตาบอดเขาก็ยืนเกาะเสาอยู่ แล้วก็มีคนมาเรียกให้ไปนั่ง เพราะว่าที่มันว่าง เขาก็ตอบไปว่าเขายืนได้ เขาแค่มองไม่เห็น แต่ขาเขาไม่ได้เป็นอะไร เราก็คิดว่าสังคมอาจจะต้องทำความเข้าใจด้วยว่าคนพิการไม่จำเป็นต้องใช้ที่นั่งสำรองทุกคน อย่างที่ใครๆ เข้าใจ ก็อาจจะต้องเป็นดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่บนรถ และต้องฟังคนพิการด้วยว่าเขาอยากจะนั่งไหม บางครั้งหลายคนก็ยัดเยียดให้เขานั่ง โดยเฉพาะคนตาบอด พี่หลายคนบอกว่าก็ไม่ได้เป็นอะไร แต่บางครั้งก็ถูกยัดเยียดให้ไปนั่งในที่ที่อาจจะมีคนที่จำเป็นมากกว่า”

มองให้ไกลกว่าดราม่า

เมื่อมองกรณีดราม่าแย่งลิฟต์ดังกล่าวก็อดไม่ได้ที่จะตั้งคำถามไปถึงโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นถนน ทางเท้า สะพานลอย ว่ามันตอบโจทย์คนทุกกลุ่ม ตามสโลแกน “ชีวิตดีๆ ที่ลงตัว” จริงหรือไม่ เพราะเมื่อไม่นานนี้ เราได้เห็นข่าววินมอเตอร์ไซค์ช่วยกันยกผู้พิการบนวีลแชร์ขึ้นสะพานลอย จนได้รับคำชื่นชมในน้ำใจอย่างล้นหลาม ขณะเดียวกันก็มีหลายคนมองว่าโครงสร้างพื้นฐานในเมืองฟ้าอมรของเรานั้น ไม่ได้เป็นมิตรกับคนทุกสภาพร่างกายอย่างเท่าเทียมกัน แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีไว้เพื่อคนที่ “เดินได้” เท่านั้น และแม้ว่าโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้จะอำนวยความสะดวกเพียงใด แต่ก็ไม่มีมาตรฐานที่เท่ากันในทุกพื้นที่ ทำให้ชีวิตประจำวันของผู้พิการต้อง “ลุ้นระทึก” อยู่ตลอดเวลา

โครงสร้างพื้นฐานในปัจจุบันก็มีประโยชน์ แต่มันไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน การมีโครงสร้างเหล่านี้อยู่คือความฟลุคที่เราคาดเดาไม่ได้ เราไม่มีทางรู้เลยว่าที่ที่เราจะไปจะมีทางลาดขึ้นฟุตปาธหรือเปล่า อยู่ดีๆ จะมีสะพานลอยมาขวางกลางฟุตปาธหรือเปล่า หรือจะมีกระถางต้นไม้หรือเปล่า สมมติว่าถนนเส้นที่เราอยู่ คือถนนรัชดา-ห้วยขวาง ฟุตปาธมันใหญ่ แต่ปรากฏว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับฟุตปาธที่ใหญ่ขึ้นก็คือการที่มอเตอร์ไซค์มาวิ่ง พอมอเตอร์ไซค์มาวิ่ง เขาก็ต้องคิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่มา ซึ่งก็คือเสากั้นมอเตอร์ไซค์ เสร็จแล้วยังไงต่อ วีลแชร์ไปไม่ได้เหมือนเดิม” คุณหนูเล่าถึงการเดินทางไปทำงานในย่านห้วยขวาง ที่เธอต้องแก้ปัญหาเสากั้นมอเตอร์ไซค์ โดยการขับวีลแชร์อ้อม หรือเรียก รปภ. บริเวณนั้นให้มาช่วยยกวีลแชร์ จนสุดท้ายต้องทำหนังสือถึงสำนักงานเขต ให้มารื้อถอนเสากั้นออก

“เสานั้นก็หายไปจริงๆ นะ 3 วันก็เอาออก แต่เราคิดว่ามันควรจะคิดตั้งแต่ออกแบบไง ของแบบนี้เปลืองงบจะตาย เราคิดว่าไม่ควรเป็นภาระของคนที่ต้องใช้ฟุตปาธ เพราะเราไม่มีวันรู้หรอกว่าเราจะออกจากเขตที่เราอยู่เมื่อไร เพราะฉะนั้น จะไปแก้แค่ตรงที่มีคนพิการมันไม่ได้ คนพิการไม่ได้ใช้ชีวิตแค่ในพื้นที่ของเขา แต่เขาสามารถใช้ชีวิตในทุกพื้นที่ที่เขาอยากจะไป เพราะฉะนั้น เราคิดว่าควรทำเป็นมาตรฐานของการสร้างสิ่งต่างๆ เรื่องนี้มันควรจะคิดได้ตั้งแต่คนทำแล้วนะ ไม่ควรให้เราต้องมานั่งร้องเรียน ทำมาแล้ว แล้วไปรื้อ” คุณหนูกล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ แนวคิดเรื่องการออกแบบสำหรับคนทุกกลุ่ม หรือ Universal Design ก็เริ่มมีการพูดถึงมากขึ้น และเริ่มแพร่หลายในองค์กรเอกชนหลายแห่ง ทว่าสำหรับภาครัฐเอง การออกแบบลักษณะนี้ดูเหมือนจะยังไม่ประสบความสำเร็จในทางปฏิบัติเท่าที่ควร ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการขาดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐแต่ละแห่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ทั่วไปคือเสาไฟฟ้าที่ผุดขึ้นมากลางฟุตปาธ

ประเทศไทยจะมีปัญหาอย่างหนึ่งคือการออกแบบของใครของมัน คนหนึ่งออกแบบส่วนนี้มา พออีกเจ้าหนึ่งมาสร้างต่อกัน การเชื่อมต่อเหล่านั้นมันไม่ได้ถูกทำให้แนบเนียน แล้วเราสามารถไปได้ เช่น พอพูดว่าฟุตปาธเป็นของ กทม. แต่เสาไฟฟ้าเป็นของการไฟฟ้า กทม. บอกว่าไม่รู้ ฉันทำทางลาดมาดีมาก ฉันทำฟุตปาธมาอย่างสวยงาม คนพิการใช้ได้ การไฟฟ้าก็บอกว่าสร้างตามแปลน มันก็ต้องอยู่ตรงนี้ แล้วเราจะหาความ Universal จากมันได้ที่ไหนเหรอ ในเมื่อทั้งสองฝ่ายต่างก็พูดว่าตัวเองทำตามหน้าที่ที่ตัวเองได้รับมอบหมาย เพราะฉะนั้น การจะทำ Universal Design หรือทำให้เมืองมันเป็นมิตรกับทุกคนได้ มันไม่ได้เกิดจากแค่หน่วยใดหน่วยหนึ่ง” คุณหนูกล่าว และชี้ให้เห็นถึงผลกระทบต่อผู้พิการ ที่มากกว่าการใช้ชีวิตประจำวัน นั่นคือการขาดมิติของการใช้ชีวิตอย่างคนทั่วไป เพียงเพราะว่าการเดินทางมีข้อจำกัด

“เราคิดว่าทุกคนอยากออกมาข้างนอกแหละ อยากออกมาทำงาน สังสรรค์กับเพื่อนเหมือนคนปกติ แต่พอการเดินทางมันยากขึ้น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น พอต้องไหว้วานคนอื่น ความเกรงอกเกรงใจ สิ่งเหล่านี้พอมันบวกลบคูณหารกันแล้ว มันก็ทำให้เขาเลือกออกมาเฉพาะที่จำเป็น สิ่งที่ต้องทำจริงๆ อย่างไปโรงพยาบาล ไปเรียน แค่นี้ มันก็ขาดมิติของความมีชีวิตชีวาในชีวิตน่ะ”

ทางออกอยู่ที่ “ความเห็นอกเห็นใจ”

แม้ว่าปัญหาที่มีจะดูซับซ้อนยุ่งเหยิง แต่สิ่งแรกที่คุณหนูแนะนำให้ทำ คือผู้พิการหรือผู้ที่ประสบปัญหาต้องช่วยกัน “ส่งเสียง” เพื่อบอกความต้องการต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเรียกร้องให้มีการออกแบบการเดินทางภายในเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้คนทุกกลุ่ม ทุกสภาพร่างกาย สามารถเดินทางได้อย่างราบรื่น ปลอดภัย รวมทั้งมีทางเลือกในการเดินทางที่มากขึ้น จนไม่ต้องพยายามแก่งแย่งสิ่งอำนวยความสะดวกจนเกิดความขัดแย้ง ซึ่งคุณหนูได้ยกตัวอย่างทางลาดสำหรับวีลแชร์ ที่นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้พิการแล้ว ยังส่งผลดีต่อคนปกติด้วย

“เมื่อวานเพิ่งคุยกับพี่คนหนึ่งว่า พี่เขาไปนั่งดูตึกแห่งหนึ่งที่มีบันไดขนาบด้วยทางลาด 2 ข้าง เขานั่งดูอยู่ครึ่งวันว่าจะมีคนมาใช้ทางลาดไหม แล้วบันไดกับทางลาด คนใช้อะไรมากกว่ากัน ปรากฏว่าคนส่วนใหญ่เดินขึ้นทางลาด แทนที่จะเดินขึ้นบันได เนื่องจากทางลาดมันปลอดภัยต่อเข่า เดินแล้วไม่สะดุด มันก็มีหลายเหตุผลที่ไม่จำเป็นต้องสร้างอะไรเพื่อคนพิการอย่างเดียวนี่ ทุกคนก็ใช้ได้” คุณหนูเล่า

และไม่ใช่แค่การเรียกร้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น คุณหนูยังมองว่าคนในสังคมด้วยกันก็สามารถช่วยเหลือกันได้ ไม่ใช่ด้วยความสงสาร แต่ด้วยความเห็นอกเห็นใจ และความเชื่อที่ว่าทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความสะดวกสบายในชีวิตเท่าๆ กัน ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook