นายกเจรจาฮ่องกงส่งแม้วกลับไทย เปิดใจฝันเลิกการเมืองทำรายการข่าว

นายกเจรจาฮ่องกงส่งแม้วกลับไทย เปิดใจฝันเลิกการเมืองทำรายการข่าว

นายกเจรจาฮ่องกงส่งแม้วกลับไทย เปิดใจฝันเลิกการเมืองทำรายการข่าว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

มาร์ค ล่า "แม้ว" เจรจาผู้นำฮ่องกงส่งตัวดำเนินคดีในไทย หากกลับเข้ามาอีก เชื่อพ.ร.ก. 4 แสน ล. ผ่านสภา-ไม่ขัด รธน. ปชป.เครียด วอน ส.ส.-ส.ว.เข้าประชุม "ชัย" รับหากถูกท้วงมีสิทธิ์ชะลอไปก่อน โพลล์ร้อยละ 73 หมดศรัทธานักการเมืองตีกัน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินหน้ากระบวนการไล่ล่าเอาตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย ขณะเดินทางไปเยือนเขตปกครองพิเศษฮ่องกง และเรียกร้องให้อดีตนายกฯ รับผิดชอบการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย

นายอภิสิทธิ์ขึ้น กล่าวแถลงที่สโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศ (เอฟซีซี) โดยย้ำว่า การเดินทางมาฮ่องกงครั้งนี้เป็นครั้งแรก หลังจากเกิดเหตุการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองช่วงสงกรานต์ แม้จะมีเวลาสั้นเพียง 11 ชั่วโมง แต่ก็ถือเป็นการเดินทางมาที่สำคัญ ได้พบนักธุรกิจฮ่องกง และยืนยันความสัมพันธ์ไทยและฮ่องกงที่มีความก้าวหน้า เติบโตทั้งด้านการค้า การลงทุน รวมถึงการท่องเที่ยว

นายอภิสิทธิ์ยัง ระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ สามารถคาดหวังความยุติธรรมจากไทยได้ แต่ต้องยอมรับผลที่ตามมาจากการกระทำของตัวเอง และรัฐบาลอาจพิจารณานิรโทษกรรมให้สมาชิกพรรคฝ่ายค้านอันเป็นส่วนหนึ่ง ของกระบวนการปรองดองเพื่อฟื้นคืนเสถียรภาพในประเทศ

นายกฯ เจรจาฮ่องกงส่ง "แม้ว" ดำเนินคดี

ขณะเดียวกัน สื่อต่างชาติในเกาะฮ่องกงยังสอบถามนายกฯ ถึงกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดี และเคยใช้เกาะฮ่องกงเป็นฐานในการเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า ทางการไทยได้เจรจากับทางการฮ่องกงหรือไม่ นายกฯ กล่าวยืนยันว่าไม่เกี่ยว แต่ก็มีการเจรจาทำสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งพยายามทำกับทุกประเทศ ไม่ใช่ทำเฉพาะกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานว่า นายกฯ ของไทยได้หารือกับนายโดนัลด์ เจิง ผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกงแล้ว ในการที่จะควบคุมตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งให้รัฐบาลไทยทันทีหากกลับเข้ามาในฮ่องกง คาดว่าคงจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้

"เรดนิวส์" ทำได้ แต่อย่าผิดกฎหมาย

นายอภิสิทธิ์กล่าว ภายหลังเดินทางเยือนเขตปกครองพิเศษฮ่องกงต่อกรณีที่กลุ่ม นปช.เตรียมออกหนังสือพิมพ์ของตัวเอง ซึ่งอาจเป็นการเตรียมปลุกระดมอีกรอบว่า อยู่ที่การทำงานของเขา ก็ขอให้เป็นสื่อที่เสนอข่าวสารความเห็นตามปกติ อย่าไปทำอะไรที่ผิดกฎหมาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการแถลงข่าวเปิดตัวหนังสือยังมีการระบุว่าทหารฆ่าประชาชน เกรงว่าจะเป็นการบิดเบือนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้ามีการให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกันความเป็นจริงทำให้เกิดความเสียหายก็เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย อย่าไปทำ

นายอภิสิทธิ์กล่าว ถึงกรณีที่กลุ่มพันธมิตรจะตั้งพรรคการเมืองว่า ทุกคนมีสิทธิตั้งพรรคการเมืองอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่มี ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ มีแนวโน้มจะไปอยู่กับพรรคพันธมิตรด้วยนั้น นักการเมืองก็ต้องพิจารณาการทำงาน เพราะอยู่กับพรรคการเมืองไหนเขาก็ต้องมั่นใจในแนวคิด และอุดมการณ์ ถ้าเขาคิดว่ามันมีพรรคการเมืองที่ดีกว่าแล้วย้ายไปด้วยอุดมการณ์ ก็ไม่มีปัญหา ส่วนจะมีผลกระทบกับพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ ยังไม่ได้วิเคราะห์ลึกลงไปขนาดนั้น แต่เราก็ยังเดินหน้าเตรียมความพร้อมของเราเต็มที่ ปิดสมัยประชุมก็จะไปสัมมนากัน

ส่งเสริมสื่อให้อิสระ-ช่วยยุติความรุนแรง

วันเดียวกัน ที่ห้องประชุมวิทยาลัยวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา จ.ชลบุรี นายกรัฐมนตรีเดินทางไปร่วมงานประชุมวิชาการวิชาชีพสื่อสารมวลชนระดับชาติ ในหัวข้อ "บทเรียนสื่อ : อำนาจรัฐ อำนาจทุน อำนาจประชาชน" โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา และสมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย จัดขึ้น

นายกรัฐมนตรีกล่าวในตอนหนึ่งว่า ปรารถนาเห็นสื่อมวลชนทำงานได้อย่างมีอิสระ แต่จะไม่พูดเรื่องความเป็นกลาง เพราะไม่เชื่อว่าคนเราจะดำรงความเป็นกลางได้ เพราะทุกคนก็มีความคิดเห็น เพียงแต่ขอให้มีความอิสระและรับผิดชอบ โดยรัฐบาลพร้อมอำนวยความสะดวกให้สื่อสามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายและจะสนับ สนุนส่งเสริมวิชาชีพ ทั้งในแง่ของการคุ้มครองและมาตรฐาน โดยไม่เพียงแต่จะให้เรื่องความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น แต่จะดูว่าจะสามารถจำกัดขอบเขตของอิทธิพล อำนาจรัฐ และอำนาจทุนได้มากน้อยแค่ไหน

"ในปัจจุบันบ้านเมืองมีความขัดแย้งค่อนข้างสูง แต่ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่มีความต้องการให้มีการปรองดองสมานฉันท์เกิดขึ้น ซึ่งสื่อมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์ยุติความรุนแรง" นายกรัฐมนตรี กล่าว

ฝันเลิกการเมือง ทำรายการวิเคราะห์ข่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการปาฐกถาครั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ตั้งประเด็น 4 ประเด็นให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ร่วมแสดงความเห็น คือ 1.การเปิดโอกาสให้ประชาชน โดยเฉพาะสื่อมวลชนรับรู้ถึงข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงโดยถูกต้อง 2.ตรวจสอบความเป็นไปได้ในการผลักดันกฎหมายคุ้มครองวิชาชีพสื่อ 3.ในแง่การจัดสรรทรัพยากรสื่อ และ 4.บทบาทของสื่อที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งภายในประเทศ

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังมอบนโยบายให้เจ้าหน้าที่ไม่ให้จำกัดสิทธิเสรีภาพการนำเสนอ ข่าวของสื่อ เพราะสื่อสามารถเป็นกระจกสะท้อนรัฐบาลได้ แต่การใช้สิทธิ์ตรงนี้ไม่ครอบคลุมถึงการนำเสนอโดยยั่วยุ หรือยุยงปลุกปั่น เช่น การชุมนุมทางการเมืองที่ให้ใช้อาวุธต่อสู้

นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมสัมมนายังเสนอให้นายกฯ ดูแลในเรื่องการฟ้องหมิ่นประมาท ซึ่งนายกฯ กล่าวว่า ในฐานะที่ตนก็เคยถูกกล่าวหา และถูกฟ้องอยู่หลายคดี ก็อยากเรียนว่า ถ้าเป็นการติชม วิจารณ์การปฏิบัติงานก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ก็ต้องดูว่าการวิจารณ์ติชมนั้นเป็นไปโดยสุจริตหรือไม่ ดังนั้นต้องดูเป็นกรณีๆ ไป เพราะบางครั้งมีการกล่าวหากันตามใจชอบ ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อคนที่ถูกกล่าวหา เช่น กรณีที่กล่าวหาว่าตนเป็นนักลวงโลก ไม่ได้อยู่ในรถที่กระทรวงมหาดไทย ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วมีคนจำนวนมากเห็น และรู้กันอยู่แก่ใจ

นายกรัฐมนตรียังกล่าวด้วยว่า หากต้องเลิกเล่นการเมือง อยากผลิตรายการโทรทัศน์ในลักษณะวิเคราะห์ข่าวสาร โดยอ้างอิงหลักกฎหมาย แต่ไม่ใช่ในลักษณะคุยข่าว และใฝ่ฝันอยากเห็นรายการโทรทัศน์ในลักษณะนี้เกิดขึ้นในสังคมไทยด้วย

ยาหอมท้องถิ่น ชะลอเลิก ผญบ.-ขึ้นเงินปี 53

นายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างปิดการประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้านและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะเวียนมาประชุมทุก เสาร์-อาทิตย์จนครบทุกจังหวัดทั่วประเทศว่า ขอให้การพิจารณาร่าง พ.ร.ก.ในวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคมนี้ผ่านไปก่อนแล้วจะเร่งติดตามกฎหมายที่กำนัน-ผู้ใหญบ้านเรียกร้อง กันอยู่ ส่วนเรื่องค่าตอบแทนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เป็นเพราะฐานะทางเศรษฐกิจของประเทศยังไม่เอื้ออำนวยเท่าใดนัก จึงขอให้ไปเริ่มในเดือนตุลาคมปี 2553 และจะขอทำเป็นสองจังหวะ

ส่วนเรื่องราคาพืชผลทางการเกษตรนั้น นายกฯ กล่าวว่า ต่อไปราคาพืชผลทางการเกษตรจะต้องไปด้วยกันกับราคาน้ำมัน ปัจจุบันรัฐบาลได้ใช้งบประมาณแทรกแซงพืชผลทางการเกษตรไปแล้วถึง 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งปกติจะต้องตั้งราคาจำนำไว้ต่ำกว่าราคาตลาด เพิ่งมาเปลี่ยนเมื่อปีที่ผ่านมาที่ตั้งราคาไว้สูงกว่าราคาตลาด จนทำให้ปัญหาเกิดตามมา เพราะรัฐบาลไม่มีเงินพอที่จะเป็นพ่อค้าซื้อสินค้าเหล่านั้น ถึงเวลาจะขายก็ลำบากมากขึ้น จึงต้องช่วยกันทำความเข้าใจต่อประชาชนว่าจะทำโครงการเหล่านี้ไม่จบไม่สิ้น ไม่ได้

ขณะที่เรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้น นายกฯ ได้ขอให้ไปทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่าได้โอนเงินไปให้หมดแล้ว หลังจาก 6 เดือนไปแล้วจะใช้ระเบียบเดียวกันคือ จะจ่ายให้ทุกเดือน และอยากขอความร่วมมือว่าหากมีการแสดงความคิดโดยใช้ความรุนแรงยุยงไปทำลาย ทรัพย์สินทางราชการและกฎหมายต้องช่วยกันห้ามปราม เพราะบ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้าไม่ได้ หากเราไม่สามารถหลุดพ้นจากจุดนี้

นายกฯ ยังกล่าวถึงการเดินทางไปเยือนฮ่องกง และพบนักธุรกิจที่มาลงทุนในเมืองไทยก็ได้รับคำถามว่า "เมื่อไรเมืองไทยจะสงบ" ซึ่งหากผู้นำชุมชนสามารถกลับไปทำให้ในชุมชนมีความแตกต่างได้ แต่ไม่มีความรุนแรง ไม่แตกแยก บ้านเมืองก็จะสงบ

เชื่อ พ.ร.ก.ผ่านสภา-ไม่ขัด รธน.

ส่วนเรื่องที่ฝ่ายค้านจะยื่นให้ประธานรัฐสภาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความการที่รัฐบาลขอออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท นายอภิสิทธิ์กล่าว ว่า ถ้าการยื่นตีความของฝ่ายค้านได้รับการตรวจสอบจากประธานรัฐสภาอย่างถูกต้อง แล้ว สภาก็ต้องชะลอการพิจารณาไว้ก่อน ทั้งนี้รัฐบาลยังยืนยันความจำเป็น และขอการสนับสนุนจากทุกฝ่าย เพราะที่ทำทั้งหมดมีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ การสนับสนุนให้เศรษฐกิจของเราเดินได้ มีการสร้างงาน และปรับปรุงบริการพื้นฐานของรัฐบาลที่จะมีให้แก่ประชาชน ทั้งเรื่องแหล่งน้ำ เส้นทางคมนาคม โรงเรียน สถานีอนามัย และการสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมถึงการทำเศรษฐกิจที่อิงกับความคิดสร้างสรรค์

เมื่อถามว่า รัฐบาลจะทำอย่างไร เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปโดยเร็วที่สุด นายอภิสิทธิ์กล่าว ว่า ศาลรัฐธรรมนูญก็พิจารณาโดยเร็วอยู่แล้ว เพราะรัฐธรรมนูญก็กำหนดเอาไว้ ตนมีโอกาสได้พูดคุยกับ นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง หลังกลับจากการเยือนฮ่องกง ก็ขอให้ใช้วิธีการในการเตรียมการในขั้นตอนต่างๆ เท่าที่จะทำได้ไป และถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาแล้วไม่มีปัญหาก็จะสามารถเดินหน้าได้เต็ม ที่
เมื่อถามว่า ถ้าศาลรัฐธรรมนูญตีความแล้วมีปัญหา จะทำอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าว ว่า ตนไปพูดล่วงหน้าไม่ได้ แต่รัฐบาลพร้อมชี้แจงและมั่นใจ ทั้งนี้ ถ้า พ.ร.ก.ถูกตีความว่าขัดรัฐธรรมนูญก็ใช้ไม่ได้ตั้งแต่ต้นอยู่แล้วตามรัฐ ธรรมนูญ

ปชป.วอน ส.ส.-สว. ร่วมพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี ส.ส.ฝ่ายค้าน ยื่นหนังสือต่อนายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยกรณีการออก พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ.2552 ว่าเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ว่า พรรคพร้อมจะให้กระบวนการตรวจสอบดำเนินไปตามกฎหมาย แต่การออกพ.ร.ก.ทั้ง 3 ฉบับ มีความจำเป็นในการพลิกสภาพเศรษฐกิจและจะเป็นตัวชี้ว่าเศรษฐกิจไทยที่อยู่ใน ระดับต่ำสุดจะคงอยู่ได้นานแค่ไหน

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยขู่วอล์กเอาท์ ไม่ร่วมพิจารณาร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว จะดูแลเสียงของรัฐบาลอย่างไร โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เบื้องต้นวิปฝ่ายค้านบอกชัดแล้วว่าขอฟังการประชุมก่อน ซึ่งเป็นเรื่องดีที่จะทำให้การประชุมสภาเดินไปได้ แต่หลังจากนั้นขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะตีความเมื่อไร อย่างไร ในส่วนของรัฐบาลซึ่งมีหน้าที่ดูแลเสียง ส.ส.ให้ครบองค์ประชุม เป็นเรื่องต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นเพราะร่างกฎหมายนี้ถือว่ามีความสำคัญ พรรคร่วมรัฐบาลต้องแสดงให้เห็นถึงความสำคัญด้วยการเข้าร่วมประชุมกันอย่าง พร้อมเพรียงกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ากฎหมายเกี่ยวกับการเงินถูกคว่ำกลางสภา รัฐบาลต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกหรือไม่ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ถูกต้อง แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้กังวลต่อปัญหานี้ เพราะถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะไม่ให้เกิดปัญหาขึ้น

ปธ.วิปรัฐบาลเชื่อองค์ประชุมครบแน่

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยยื่นเรื่องคัดค้านการออก พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาทว่า เพราะเป็นอำนาจของประธานสภาผู้แทนราษฎรที่จะวินิจฉัยว่าจะให้รอการพิจารณา พ.ร.ก.ดังกล่าวออกไปก่อนหรือไม่ หากต้องรอก็ยังมีเรื่องด่วนอีก 3 เรื่อง คือ พ.ร.ก.ภาษีสรรพสามิต พ.ร.ก.ภาษียาสูบ และ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทาง เศรษฐกิจอีก 3 แสนล้านบาทที่จะต้องพิจารณา หากประธานสภายื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามที่ฝ่ายค้านเสนอก็จะไม่ มีผลต่อการออก พ.ร.ก. เพียงแต่จะทำให้รัฐบาลเสียโอกาสในการนำงบประมาณมากระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อแก้ ปัญหาให้ประชาชน หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออก พ.ร.ก.ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านต้องรับผิดชอบ เพราะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนโครงการต่างๆ

นายชินวรณ์ ระบุว่า การออกพระราชกำหนดกู้เงินเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะทำได้อยู่แล้วตามรัฐ ธรรมนูญมาตรา 184 ที่สำคัญเคยมีกรณีตัวอย่างสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่เคยทำในลักษณะนี้มาแล้ว และศาลรัฐธรรมนูญก็วินิจฉัยว่าสามารถทำได้

เมื่อถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าเป็นการออก พ.ร.ก.โดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร นายชินวรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลก็ต้องนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการออกโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญก็คงจะต้องเรียก ประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.ก.นี้ต่อไป ซึ่งรัฐบาลจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นทันเดือนกรกฎาคมนี้

ประธานวิปรัฐบาล กล่าวถึงเสียงสนับสนุนของพรรคร่วมรัฐบาลในการพิจารณา พ.ร.ก.และพ.ร.บ.ในวันจันทร์ที่ 18 พฤษภาคมนี้ว่า มั่นใจว่าองค์ประชุมครบแน่ เพราะวิปพรรคร่วมรัฐบาลได้นัดประชุมมาก่อนหน้านี้และมอบหมายให้แต่ละพรรคมี แกนนำในการติดตาม ส.ส.อย่างใกล้ชิด รวมทั้งในวันที่ 18 พฤษภาคม จะนัดประชุมวิปพรรคร่วมรัฐบาลอีกครั้งในเวลา 08.30 น. เพื่อตรวจสอบความพร้อมของทุกพรรค

"ชัย" พร้อมชะลอ พ.ร.ก.หากถูกท้วงติง

นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่ายังไม่ได้รับหนังสือที่ฝ่ายค้านยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท หากยื่นเข้ามาในฐานะเป็นประธานก็มีหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อ และส่งไปศาลรัฐธรรมนูญตามระเบียบข้อบังคับ อย่างไรก็ตาม พ.ร.ก.ฉบับนี้เมื่อลงพระปรมาภิไธย และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ถือว่าถูกกฎหมาย และสามารถทำต่อไปได้ จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดว่าผิด ก็ถือว่าจบ ส่วนจะมีการยับยั้งการพิจารณาในที่ประชุมในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ ก็สามารถทำได้ แต่ก็ถือว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ประกาศใช้แล้ว ส.ส.ไม่มีสิทธิ์บอกว่าทำไม่ได้ บอกได้เพียงว่าอย่าให้สภารับหลักการของกฎหมายเท่านั้น

นายชัย กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.ก. วันที่ 18 พฤษภาคมว่า จะเปิดประชุมเพื่อพิจารณา แต่ถ้ามีการทักท้วงตนจะชะลอการพิจารณาโดยถามนายกฯ ว่าจะชะลอการเสนอร่าง พ.ร.ก.หรือถอนไปก่อน เพราะเป็นร่างที่รัฐบาลเสนอเข้ามา เมื่อรัฐบาลถอนทุกอย่างก็ยุติ

ส่วนกรณีการจัดสัมมนาผู้นำท้องที่ องค์กรปกครองท้องถิ่นและผู้นำศาสนาทั่วประเทศที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็น การจัดเพื่อหาเสียงล่วงหน้านั้น นายชัย กล่าวว่า ไม่ได้มองลึกขนาดนั้น เพราะการจัดสัมมนาเป็นการเดินตามหลักของการสมานฉันท์ปรองดอง แต่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น และในการสัมมนาก็เชิญประธานวิปฝ่ายค้านมาร่วม อีกทั้งประธานกรรมาธิการที่มาชี้แจงก็เป็นฝ่ายค้าน จึงไม่ได้เอาเปรียบอะไร เพียงแต่ในอดีตไม่มีใครคิดจะทำต่างหาก จึงไม่ได้คิดว่าจะเพื่อรองรับการเลือกตั้ง เพราะตนทำหน้าที่เป็นกลาง

"เทพไท" ปัด ปชป.อยู่หลังฉากคดีแม้วหมิ่นเบื้องสูง

นายเทพไท เสนพงศ์ โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ แถลงกรณีที่มีการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณในคดีหมิ่นสถาบัน และ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ออกแถลงการณ์ทำนองว่าถูกกลั่นแกล้ง ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นคนที่พูดเอาแต่ได้ วันที่ตัวเองทำผิดและถูกดำเนินคดีตามกฎหมายชัดเจน แต่กลับไม่ยอมรับ แต่วันที่ต้องการจะใช้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการกับคนอื่นก็ส่งทนายมาฟ้อง ร้องหลายคดี

ส่วนกรณี ส.ส.พรรคเพื่อไทยพูดถึงการดำเนินคดีของตำรวจว่ามีเบื้องหลังและใช้สอง มาตรฐาน นายเทพไทกล่าวว่า กระบวนการทั้งหมดรัฐบาลไม่ได้อยู่เบื้องหลังเรื่องใดทั้งสิ้น แต่เป็นกระบวนการยุติธรรมที่ตำรวจจำเป็นต้องดำเนินคดี

ผู้สื่อข่าวถามว่า การที่ตำรวจดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ จะถูกมองว่าเป็นสองมาตรฐานหรือไม่ เพราะตำรวจที่รับผิดชอบคดี นามสกุลปราศจากศัตรู ที่มีความเกี่ยวโยงกับพรรคประชาธิปัตย์ นายเทพไท กล่าวว่า ความจริงแล้วตำรวจท่านนั้น (พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู) เป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ซึ่งความรับผิดชอบก็อยู่ในหน่วยงานอยู่แล้ว ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยปกติ ไม่ได้เลือกปฏิบัติ เพราะไม่ว่าจะเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ หรือใครก็ตามที่ทำความผิด ตามมาตรา 112 ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ก็ต้องถูกดำเนินคดีอยู่แล้ว และเชื่อว่าหลังจากนี้จะมีคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ตามมาอีกหลายคดี ซึ่งกระบวนการยุติธรรมได้ดำเนินการไปแล้วอย่างน้อย 17 คดี

"ชวรัตน์" ยอมรับ ภท.มีปัญหาภายใน

นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีกลุ่มเพื่อนเนวินกดดันให้มีการเปลี่ยนตัว นายชาติชาย พุคยาภรณ์ รมช.เกษตรและสหกรณ์ กลุ่มนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ว่า ตอนนี้ไม่มีปัญหา ไม่มีใครมารายงานเรื่องนี้ แต่ยอมรับว่านายชาติชายไม่ได้เข้าร่วมประชุมพรรคภูมิใจไทยเลย เชื่อว่านายชาติชายอาจติดภารกิจที่สำคัญ จึงไม่ได้เข้าร่วม อย่างไรก็ตาม การไม่เข้าร่วมประชุมถือเป็นปัญหาบ้างเล็กน้อยในการทำงานร่วมกัน ยอมรับว่าพรรคภูมิใจไทยใช้ระบบต่างคนต่างกลุ่มดูแลในส่วนของตัวเองเหมือนกับ พรรคอัมโนของมาเลเซีย แต่ก็ยังไม่มีปัญหาอะไรในการทำงานร่วมกัน

เมื่อถามย้ำว่า กรณีปัญหาของนายชาติชายจะทำให้เกิดปัญหาความแตกแยกภายในพรรคหรือไม่ นายชวรัตน์กล่าวว่า ไม่ถึงกับทำให้พรรคแตก ส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไปกลุ่มต่างๆ อาจจะไม่อยู่ร่วมกันอีกก็เป็นเรื่องของอนาคต ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาเลือกตั้ง

ส่วนกรณีนี้จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีหรือไม่ นายชวรัตน์ กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มี เพราะนายกฯ กำหนดไว้ว่า 6 เดือน จึงจะมีการปรับ ครม. ขณะนี้เหลือเวลาอีกเดือนกว่า รอให้ถึงกำหนดแล้วจะบอก ที่ผ่านมายังไม่เคยได้พูดคุยหรือทำความเข้าใจกับนายชาติชาย

เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลเริ่มไม่พอใจพรรคประชาธิปัตย์ในการจัด สรรงบประมาณ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณใดๆ จากพรรคร่วมด้วยกัน ตอนนี้ยังทำงานได้ แต่หากมีปัญหาเชื่อว่าพรรคร่วมรัฐบาลคงต้องนัดหารือกันก่อน

กรณีที่นายกฯ เรียกพรรคร่วมรัฐบาลหารือที่บ้านพิษณุโลกกะทันหันและนายชวรัตน์ไม่เข้าร่วม ประชุมถือเป็นการส่งสัญญาณแสดงความไม่พอใจหรือไม่ หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า "ไม่มีอะไร เพียงแต่ผมไม่ได้รับข้อความเชิญเข้าประชุมก็เท่านั้น ไม่ได้มีปัญหาอะไร"

เมื่อถามถึงกรณีกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจะตั้งพรรคการ เมือง ถือว่าเป็นคู่แข่งของพรรคภูมิใจไทย นายชวรัตน์กล่าวว่า เปรียบเหมือนกับตั้งร้านตัดเสื้อใกล้ๆ กัน ก็จำเป็นต้องมีการแข่งขันกัน ยืนยันว่าไม่กลัว แต่ก็ไม่ประมาท

รวมใจไทยฯ เชื่อภายใน 3 เดือน ไม่มียุบสภา

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา และ รมว.พลังงาน กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่าง นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กับนายกฯ ขณะประชุม ครม.ว่า ตนมองว่าเรื่องนี้ไม่ได้เป็นการขัดแย้งของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ถือเป็นเรื่องธรรมดาของสังคมประชาธิปไตย ซึ่งต้องมีความคิดเห็นที่ตรงกันบ้าง แตกต่างกันบ้าง

หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา ระบุว่า จะไม่มีการยุบสภาภายใน 3 เดือนนี้แน่นอน แต่รัฐบาลจะอยู่ครบเทอมหรือไม่คงจะต้องดูสถานการณ์ในวันข้างหน้าอีกครั้ง

"ดิเรก" ปัดข่าวล็อบบี้ ส.ว.สรรหา หนุนแก้ รธน.

นายดิเรก ถึงฝั่ง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐ ธรรมนูญ ปฏิเสธข่าวกรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา เปิดเผยว่ามีคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ล็อบบี้ ส.ว.สรรหา เพื่อให้ร่วมสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญแลกกับการที่ ส.ว.สรรหาสามารถอยู่ในตำแหน่งได้จาก 3 ปี เป็น 6 ปี โดยยืนยันว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการยึดหลักความเป็นกลางในการทำงานมาโดยตลอด และไม่เคยปล่อยให้มีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเข้ามาชี้นำการทำงาน ส่วนกระแสข่าวที่เกิดขึ้นน่าจะเป็นเพียงความเข้าใจผิดมากกว่า

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ส.ว.สรรหา และประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่นที่ เกี่ยวข้อง กล่าวในประเด็นเดียวกันว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่มีข้อเท็จจริง เพราะการประชุมของคณะอนุกรรมการ 2 ครั้งที่ผ่านมา ยังไม่มีการลงรายละเอียดถึงเรื่องดังกล่าว มีเพียงการพิจารณาการยุบพรรค มาตรา 237 และที่มาของ ส.ส. ที่ให้กลับไปเป็นแบบปี 2540 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาข้อเสนอจากพรรคการเมืองต่างๆ ที่ส่งมา ยังไม่มีพรรคการเมืองไหนเสนอต่ออายุให้ ส.ว.สรรหาอยู่ต่อจนครบวาระ มีเพียงเสนอให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น เชื่อว่าการที่นายเรืองไกรนำข้อมูลมาพูด เป็นเพียงการพูดคุยในโรงอาหารทั่วไปเท่านั้น ไม่น่าจะถึงขั้นต่อรองกัน

"หากมีการแก้ไขให้ ส.ว.สรรหาอยู่ต่อจนครบวาระจริง จะลาออกจากตำแหน่งประธานคณะอนุคณะกรรมการชุดดังกล่าว และคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ รวมทั้งอาจจะลาออกจาก ส.ว.สรรหา" พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าว

ขณะที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กล่าวยืนยันว่า ข้อมูลดังกล่าวเป็นการหารือในวงสนทนากันระหว่าง ส.ว.จริง แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อ ส.ว.เหล่านั้นได้ เพราะเป็นมารยาททางการเมือง และตนยินดีจะรับผิดชอบเรื่องนี้เพียงคนเดียว

พท.อ้างทุกพรรคเห็นด้วยแก้มาตรา 237

นายไพจิต ศรีวรขาน ส.ส.นครพนม พรรคเพื่อไทย และกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ผลการหารือประสบผลสำเร็จ โดยเฉพาะ 2 ประเด็นใหญ่ คือ พรรคการเมืองส่วนใหญ่ ทั้งพรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรครวมใจไทยชาติพัฒนา พรรคเพื่อไทย ต้องการให้การเลือกตั้ง ส.ส.เป็นแบบเขตเดียว เบอร์เดียว ในส่วนระบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นต้องการมีบัญชีเดียวทั่วประเทศ ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ที่ยังไม่มีความชัดเจน และการแก้ไขมาตรา 237 ในกรณียุบพรรค เพราะพรรคการเมืองตามแนวประชาธิปไตยไม่ควรไปยุบ ใครทำผิดต้องลงโทษ คนทำผิดทั้งทางแพ่งและอาญาตาม พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ไม่ใช่ไปลงโทษพรรค ดังนั้นคณะอนุกรรมการจะเสนอ 2 ประเด็นดังกล่าวเข้าพิจารณาในที่ประชุมในวันที่ 19 พฤษภาคมนี้

ส่วนกรณีที่นายกฯ ระบุว่าจะพิจารณานิรโทษกรรมให้นักการเมือง แต่ไม่มีชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้น นายไพจิตกล่าวว่า นายกฯ พูดล่วงหน้าเหมือนตีกันนิรโทษกรรม พ.ต.ท.ทักษิณ นายกฯ อย่ากลืนน้ำลายตัวเอง เพราะที่ผ่านมาได้ย้ำตลอดถึงการใช้กฎหมาย หรือการออกกฎหมายต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม นิติรัฐ ถ้าจะนิรโทษกรรมให้ใครต้องดูว่าบุคคลนั้นไม่ได้รับความเป็นธรรมจริงหรือไม่ ถ้าจะคืนความเป็นธรรมต้องทำเหมือนกันหมด ถ้านิรโทษกรรมให้นายบรรหาร แต่ไม่นิรโทษกรรมให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็จะทำให้เห็นว่าเลือกปฏิบัติ ใช้ไม่ได้

นายไพจิต กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวการทาบทาม พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มานั่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ว่า เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม ตนและ ส.ส.อีสานหลายคนได้ไปพบ พล.อ.ชวลิต ที่ จ.นครพนม โดยทาบทามให้มาเป็นเสาหลักช่วยงานทางการเมืองของพรรค อาจเข้ามากำหนดยุทธศาสตร์พรรค เป็นประธานคณะที่ปรึกษาพรรค แต่คงไม่ใช่ตำแหน่งหัวหน้าพรรค ซึ่ง พล.อ.ชวลิต ก็ไม่ได้ปฏิเสธ

นปช.รำลึกพฤษภาทมิฬ ฉีกบัญชีบัวหลวง

ในช่วงค่ำวันเดียวกัน แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประมาณ 1,000 คน ได้รวมตัวกันที่ท้องสนามหลวง โดยตั้งเวทีเพื่อจัดกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 โดยมีแกนนำ นปช.เข้าร่วมการชุมนุม เช่น นายจตุพร พรหมพันธุ์ นพ.เหวง โตจิราการ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย เป็นต้น

นายจรัลกล่าวปราศรัยเล่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยโจมตีบทบาทของ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ซึ่งเป็นผู้นำการชุมนุมอย่างรุนแรง พร้อมทั้งเรียกร้องให้มวลชนเสื้อแดงประท้วงธนาคารกรุงเทพ ที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นที่ปรึกษา ส่วนนายสมยศ แกนนำ นปช.รุ่น 2 ได้นำประชาชนนับร้อยคนนำสมุดบัญชีเงินฝาก ใบถอนเงิน และบัตรเอทีเอ็มของธนาคารกรุงเทพ ออกมาทำลาย พร้อมทั้งตะโกนด่าทอธนาคารกรุงเทพอย่างหยาบคาย และให้ผู้ชุมนุมเลิกทำธุรกรรมกับธนาคารแห่งนี้โดยสิ้นเชิง

นายเมธาพันธุ์ โพธิธีรโรจน์ แกนนำ นปช.รุ่น 2 กล่าวหลังจากการฉีกทำลายสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพว่า ธนาคารกรุงเทพเป็นธนาคารที่สนับสนุนอำนาจนอกระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตย จนทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง เห็นได้ชัดเจนจากกรณีที่ธนาคารกรุงเทพเป็นคนออกเช็คช่วยชาติให้รัฐบาลพรรค ประชาธิปัตย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็ยังเคยสนับสนุนอำนาจเผด็จการผ่าน คมช. นปช.ต้องแสดงแนวทางอารยะขัดขืนด้วยวิธีการสันติอหิงสา จนกว่าธนาคารจะออกแถลงการณ์ชี้แจง และยุติการสนับสนุนอำนาจนอกระบบ
นาย เมธาพันธุ์กล่าวว่า นปช.จะเคลื่อนไหวผ่านองค์กรพุทธศาสนา ซึ่งเป็นองค์กรที่นำเงินไปฝากธนาคารกรุงเทพมากที่สุด โดยจะเคลื่อนไหวผ่านวัดต่างๆ และองค์กรชาวพุทธที่เป็นแนวร่วม ซึ่งขณะนี้มี 3-4 แสนคน และจะมีการเคลื่อนไหวต่อต้านห้างร้านต่างๆ กว่าร้อยบริษัทที่ทราบว่าให้การสนับสนุนอำนาจนอกระบบ หลักๆ ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย บริษัทในเครือสหพัฒน์ และเครือซีพี เป็นต้น
โพลล์ร้อยละ 73 มอง ส.ส.ตีกัน ทำให้หมดศรัทธา

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ที่ติดตามข่าวการทะเลาะวิวาทกันระหว่าง ส.ส.พรรคเพื่อไทย กับ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ กลางรัฐสภา เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม โดยสำรวจประชาชนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 1,410 คน ในช่วงบ่ายวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2552 พบว่า ร้อยละ 39.62 มองสาเหตุที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทในสภาคือ ขาดการควบคุมอารมณ์ และขาดสติ ร้อยละ 33.04 เห็นว่าเป็นนิสัยส่วนตัว ต่างฝ่ายต่างไม่ยอมกัน และร้อยละ 14.07 ขาดจริยธรรมในการเป็นนักการเมือง โดยประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 73.10 หมดความศรัทธาในตัวนักการเมือง และรู้สึกเบื่อหน่ายกับพฤติกรรมดังกล่าว

พท.ขอเคลียร์ ปชป.เหตุวางมวยในสภา

นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงเหตุวิวาทในสภาของสองพรรคใหญ่ว่า พรรคเพื่อไทยไม่ได้ติดใจ เพราะปัญหาไม่ได้ลุกลามออกไปนอกห้องประชุม บุคคลที่ทำให้เกิดเหตุก็ล้วนใจร้อน บางทีอาจเกิดความเครียดระหว่างประชุมด้วย ทั้งนี้ จะต้องคุยกับประธานวิปรัฐบาลเพื่อป้องกันเกิดขึ้นอีก เพราะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้มาหลายครั้ง ไม่อยากให้เป็นประเด็นหมักหมม โดยอาจหารือผ่านโทรศัพท์ เพราะจะมีการพิจารณา พ.ร.ก.กู้เงิน 4 แสนล้านบาท ในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้

"บวรศักด์" จวกคนหมิ่นสถาบัน ทำร้ายสังคม

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวปาฐกถาเรื่อง "ฐานรากของการสร้างสังคมแห่งความสมานฉันท์และวัฒนธรรมประชาธิปไตย" ว่า ที่สังคมแตกแยก เพราะสถาบันกษัตริย์ และศาสนา ถูกคุกคาม รวมถึงวัฒนธรรมเดิมปะทะกับวัฒนธรรมใหม่ ที่ผ่านมามีคนพยายามทำให้เกิดความเข้าใจผิด และบิดเบือน ตนจึงออกหนังสือเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพว่า ใครก็ตามหมิ่นพระบรมเดชานุภาพถือว่าทำร้ายสังคม ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาความแตกแยกในชาติต้องยึดโยง 3 ส่วน คือ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และวัฒนธรรม เพราะเป็นสถาบันที่สูงส่ง และให้คนไทยกลับสู่วัฒนธรรมเดิม คือ รักสงบ และมีอหิงสา สังคมถึงจะเข้าสู่สมานฉันท์ได้

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook