ทำไม พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ ถึงเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด

ทำไม พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ ถึงเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด

ทำไม พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่ ถึงเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

     ใครที่ยังคิดว่าการสูบบุหรี่เป็นสิทธิส่วนบุคคล จะสูบที่ไหน เมื่อไรก็ได้ ถือว่าคุณกำลังเข้าใจผิด และต้องทำความเข้าใจใหม่ เมื่อพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 กำหนดชัดเจนว่า บุหรี่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับทุกคน

     แม้ในเมืองไทยเราจะกำหนดพื้นที่สูบบุหรี่ไว้ชัดเจน ทั้งตามอาคารสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เอกชนหรือราชการ รวมถึงพิมพ์คำเตือนถึงโทษภัยของบุหรี่ไว้บนซองอย่างชัดเจน และกำหนดว่าจะขายให้กับใคร ที่ไหนได้บ้าง แต่ก็ยังมีนักสูบอีกมากที่ละเมิดกฎหมายทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว

     มาดูกันทีละข้อเลยดีกว่า ว่า พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ฉบับใหม่นี้ เกี่ยวข้องกับใคร ที่ไหน และอย่างไรกันบ้าง

ห้ามขายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

     จากผลวิจัยพบว่า การเริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่เด็กจะทำให้มีโอกาสเสพติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต และเลิกยากมากกว่าคนที่เริ่มสูบตอนโต ดังนั้น หากฝ่าฝืนขายผลิตภัณฑ์ยาสูบให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี มีโทษจำคุกสูงสุด 3 เดือน ปรับสูงสุด 30,000 บาท รวมถึงการห้ามแบ่งขายบุหรี่ เพราะการแบ่งขายบุหรี่เป็นมวนๆ ทำให้ราคาขายบุหรี่ถูกลง ส่งผลให้เด็กๆ สามารถเข้าถึงบุหรี่ได้ง่ายขึ้น หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 40,000 บาท

ห้ามขายบุหรี่ในวัด โรงเรียน โรงพยาบาล สวนสัตว์ สวนสาธารณะ ฯลฯ

     เพราะไม่ว่าจะเป็นวัด สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทุกศาสนา สถานพยาบาล โรงพยาบาล คลินิก ร้านขายยา สถานศึกษาทุกระดับ สวนสาธารณะ สวนสนุก สวนน้ำ หรือสวนสัตว์ ล้วนเป็นสถานที่ที่ทุกคนสามารถเข้าไปใช้บริการได้ ดังนั้น ควันบุหรี่มือสองจากผู้สูบจึงส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างได้โดยไม่รู้ตัว

     อีกทั้งจากการวิจัยยังพบว่า ในบรรยากาศที่มีควันบุหรี่ที่ผู้อื่นสูบ 20 มวน จะส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่สูบบุหรี่เท่ากับการสูบบุหรี่ 1 มวน โดยเฉพาะในเด็กทารกที่ได้รับควันบุหรี่มือสองตั้งแต่อยู่ในครรภ์ อาจเสี่ยงต่อการเกิดอาการ SIDS (Sudden Infant Death Syndrome) หรืออาการไหลตายกะทันหันในเด็กทารกช่วงขวบปีแรก ดังนั้นหากมีการฝ่าฝืนขายบุหรี่ในสถานที่ห้ามขายข้างต้น มีโทษปรับสูงสุด 40,000 บาท

ฝ่าฝืนสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบ

     ที่ผ่านมา หากเจอคนสูบบุหรี่ในร้านอาหาร ตลาด หรือสถานีขนส่งต่างๆ  คุณอาจไม่รู้ว่าควรทำอย่างไร แต่ในพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบสถานที่เหล่านั้น มีหน้าที่ประชาสัมพันธ์ แจ้งเตือน และควบคุมไม่ให้มีการสูบบุหรี่ ดังนั้น คุณสามารถเดินเข้าไปบอกพวกเขาให้จัดการตามกฎหมายได้ หากไม่ทำ เจ้าของ ผู้จัดการ หรือผู้รับผิดชอบสถานที่นั้นมีโทษปรับสูงสุด 3,000 บาท ส่วนคนที่ฝ่าฝืนสูบมีโทษปรับสูงสุด 5,000 บาท

     หรือถ้าคุณพบเจอใครไม่ปฏิบัติตาม สามารถโทร 191 แจ้งตำรวจในพื้นที่ได้โดยตรง เพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายได้

     เพราะการสูบบุหรี่ไม่ได้เป็นอันตรายสุขภาพของใครบางคน แต่ส่งผลกระทบต่อเราทุกคนที่หายใจร่วมกัน มาร่วมกันปฏิบัติตามกฎหมาย สอดส่อง ดูแล เป็นหูเป็นตา เพื่อรักษาอากาศบริสุทธิ์แก่ทุกคน

 

           

 [Advertorial]

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook