อยุธยาเตรียมพร้อมรับน้ำหลากหน้าฝน ยันไม่ท่วมถึงเกาะเมืองเก่า
ผอ.ชลประทานอยุธยา ปัดกระแสข่าวน้ำท่วมเกาะเมือง ยัน วางระบบป้องกันน้ำไว้พร้อม ทั้งเสริมกำแพงและคันดิน-เตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำกว่า 90 ตัว
นายโบว์แดง ทาแก้ว ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงมาตรการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ว่า ขณะนี้ ชลประทาน มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำไว้ ในจุดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม จำนวน 54 จุด รวม 93 เครื่อง รถสูบน้ำจำนวน 3 คัน ไว้สแตนด์บาย
ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้สั่งการให้ ทางโยธาธิการ องค์การบริหารสวนจังหวัด (อบจ.) นิคมอุตสาหกรรม เตรียมเครื่องสูบน้ำไว้เสริม หากเครื่องสูบน้ำของชลประทาน ไม่เพียงพอ ก็จะใช้ เครื่องสูบน้ำ ของหน่วยงานดังกล่าว เข้ามาเสริมได้ทันที
ส่วนปริมาณน้ำที่จะเติมเข้ามาในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ส่วนการคาดการณ์ว่า ปริมาณน้ำจะมากน้อยเพียงใด ในช่วงเดือนกันยายน นี้ จึงจะรู้ เพราะต้องประเมินจากปริมาณของฝนที่ตกลงมาซึ่งขณะนี้ น้ำเริ่มไต่ระดับขึ้นมาแล้ว
ขณะที่เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ ทางชลประทานมีการพร่องน้ำไว้รอรับน้ำฝนแล้ว จากนั้นจะเป็น เขื่อนแควน้อย และทุ่งบางระกำ ตามลำดับ พอมาถึงช่วงล่าง ที่เขื่อนเจ้าพระยา ก็จะทดน้ำ ออกจากคลองชลประทานทั้งฝั่งซ้ายและขวา และมีพื้นที่ลุ่มต่ำ ที่ทำแก้มลิงอีก 12 ทุ่ง ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ผ่านจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง อยู่ 2- 2.50 เมตร น้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาวันนี้ ระบายออก 780 ลบ.เมตร/ วินาที
ผู้อำนวยการโครงการชลประทานพระนครศรีอยุธยา ยังปฏิเสธกระแสข่าวลือ ว่า น้ำจะเข้าท่วมพื้นที่เกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา โดยระบุว่า บริเวณพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ได้มีการทำคันดินไว้หมดแล้ว โดยผู้ว่าฯอยุธยา ได้ให้งบประมาณกับทางโยธาธิการจังหวัดในการจัดหากระสอบทราย และทำกำแพงกั้นน้ำ คาดว่า ภายใน 1-2 ปีนี้ ก็จะป้องกันน้ำเข้าท่วมพื้นที่เกาะเมืองได้ทั้งหมด
ในส่วนของเกาะเมือง ที่เคยทำคือ จะใช้ทุ่งบางกุ้งตอนบนและแก้มลิงทุ่งมะขามหย่อง สามารถรับน้ำได้ 1.2 ลบ.ม. ทุ่งภูเขาทอง รับน้ำได้ 2 ล้าน ลบ.ม. และพื้นที่นาโดยรอบตัวเมืองพระนครศรีอยุธยา อีกประมาณ 2,000 ไร่ ที่จะให้ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าวให้แล้วเสร็จ 100% ก่อน ไม่เกิน 15 ก.ย. นี้ จากนั้นหากปริมาณน้ำมามาก ก็จะปล่อยน้ำลงพื้นที่นาของเกษตรกร เพื่อทำเป็นแก้มลิงพักน้ำ ซึ่งจะตัดตอนน้ำ ที่จะไหลลงสู่เกาะเมือง ได้อีกส่วนหนึ่ง
ทั้งนี้ พื้นที่แก้มลิงที่ใช้สำหรับรับน้ำทั้งหมดในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา คาด ว่าจะสามารถรองรับปริมาณน้ำได้ มากถึง 1,000-1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร
ขณะที่ การสำรวจสถานการณ์ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วงที่ผ่านวัดไชยวัฒนาราม วันนี้พบว่า ต่ำกว่าตลิ่งอยู่ประมาณ 1 เมตร ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากชลประทาน มาตรวจระดับน้ำทุกวันในช่วงเช้าและช่วงบ่าย เพื่อรายงานสถานการณ์น้ำให้ชลประทานจังหวัดได้รับทราบ
โดยแผ่นป้องกันน้ำท่วมที่อยู่ริมตลิ่ง ของวัดไชยวัฒนาราม ที่เป็นแผ่นพับ สามารถยกขึ้นได้เมื่อมีระดับน้ำท่วมเสมอตลิ่งหรือล้นตลิ่ง เจ้าหน้าที่ระบุว่า อีก 15 วันจะทำการยกแผ่นป้องกันน้ำท่วม ที่วัดไชยวัฒนารามขึ้น เพราะมีการแจ้งเตือนว่า ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้น