แห่ค้านคำสั่ง สตช.เลิกรับนักเรียนนายร้อยหญิง - ชี้สวนทางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

แห่ค้านคำสั่ง สตช.เลิกรับนักเรียนนายร้อยหญิง - ชี้สวนทางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

แห่ค้านคำสั่ง สตช.เลิกรับนักเรียนนายร้อยหญิง - ชี้สวนทางแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เป็นข่าวใหญ่ในรอบสัปดาห์กับคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ อนุมัติยกเลิกการจัดสรรอัตราในการรับสมัครและสอบคัดเลือกข้าราชการตำรวจและบุคคลภายนอกหญิง เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ประจำปีการศึกษา 2562 ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อะไรคือเหตุผลที่แท้จริงในการยกเลิกครั้งนี้ แล้วความเท่าเทียมกันในสังคม ระหว่างชาย-หญิง ที่รัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติพยายามที่จะทำให้เกิดขึ้น ไม่มีจริงอย่างนั้นหรือ?

ซึ่งตามเนื้อหาหนังสือโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ขออนุมัติการดำเนินการรับสมัครและสอบคัดเลือกบุคคลภายนอก (ชาย) ผู้สำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หรือเทียบเท่า เข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประจำปีการศึกษา 2562 เป็นต้นไป จำนวน 280 อัตรา เข้าศึกษาต่อโรงเรียนเตรียมทหาร เพื่อจะเป็นนายตำรวจสัญญาบัตร ตามระเบียบกองทัพไทยว่าด้วยโรงเรียนเตรียมทหาร พ.ศ. 2560 และแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561

โดยใช้แนวทางการรับสมัครและสอบคัดเลือกฯ ตามแนวทางที่ประชุมคณะกรรมการศึกษาโรงเรียนเตรียมทหาร และประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป พร้อมทั้งขอยกเลิกการจัดสรรอัตราในการรับสมัครและสอบคัดเลือกข้าราชการตำรวจและบุคคลภายนอก (หญิง) เข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ และบุคคลภายนอกเข้าเป็น นักเรียนเตรียมทหาร ในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวน 280 อัตรา ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยอนุมัติไว้ โดยไม่มีกำหนด

จึงเกิดคำถามตัวใหญ่ขึ้นมาว่า เกิดอะไรขึ้นในอาณาจักรสีกากี?

สำหรับนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงมีการเปิดรับสมัครคัดเลือกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2552 ซึ่งนับเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 66-75 โดยมีหลักสูตรการเรียนเป็นเวลา 4 ปี ที่ต้องผ่านการฝึกระเบียบวินัยแบบทหาร หลักสูตรความเป็นผู้นำ วิชากฎหมาย รวมทั้งวิชาการตำรวจ ขณะที่ปัจจุบันมีนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงแล้วจำนวน 10 รุ่น ซึ่งรุ่นที่ 75 ผ่านพิธีต้อนรับนักเรียนนายร้อยตำรวจใหม่ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. ที่ผ่านมา

หน้าที่ของตำรวจหญิง ได้แก่ พนักงานสอบสวน ทำหน้าที่รับแจ้งความ ทำการสอบสวนคดี ส่งฟ้องต่ออัยการ ทำหน้าที่จราจร อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนที่ใช้รถใช้ถนน สืบสวนนอกเครื่องแบบ ทำงานด้านการป้องกันและปราบปราม รวมทั้งทำหน้าที่สายตรวจ เพื่อป้องกันและระงับเหตุ พิสูจน์หลักฐาน สืบหาวัตถุพยานในที่เกิดเหตุ ควบคุมฝูงชน

ซึ่งหลายคนจะคุ้นเคยกับชื่อ “กองร้อยน้ำหวาน” ภารกิจในการควบคุมดูแลฝูงชนในกรณีการชุมนุม หรืองานกีฬาต่างๆ ส่วนงานตำรวจท่องเที่ยว ดูแลนักท่องเที่ยวตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ  ตำรวจตระเวนชายแดน โดยเป็นทั้งนักรบและครูในเวลาเดียวกัน ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หน้าที่คือป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมข้ามชาติของคนต่างด้าว หรือแม้แต่เป็นฝ่ายอำนวยการ สนับสนุนการทำงานของทุกหน่วยงานด้วยก็ตาม

กองร้อยน้ำหวาน

และไม่แค่เรื่องการยกเลิกรับสมัครนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิง ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน นางเรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้เสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยกเลิกประกาศรับสมัครเฉพาะเพศชาย คุณวุฒิเนติบัณฑิตเพื่อเข้ารับราชการเป็นตำรวจสัญญาบัตร ทำหน้าที่สายงานสอบสวน จำนวน 250 อัตรา เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการกระทำที่แสดงถึงความไม่ยุติธรรมและไม่เสมอภาคกัน เป็นการเลือกปฏิบัติ และเป็นประกาศที่ขัดต่อกฎหมายและอนุสัญญาระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี โดยมีผู้ร้องจำนวน 99 คนร่วมลงนาม

โดยประกาศดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 27 วรรค 2 ที่กำหนดว่าชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน และมาตรา 40 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ขัดต่อพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ มาตรา 17 ที่ระบุว่าการกำหนดนโยบาย กฎระเบียบ ประกาศ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติของหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน หรือบุคคลใดในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศจะกระทำมิได้

อังคณา นีละไพจิตร

นอกจากนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ยังกล่าวถึงเรื่องเดียวกันว่า มีความห่วงกังวลต่อกรณีดังกล่าว ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในการเข้ารับราชการตำรวจ และขัดต่อบทบัญญัติข้อ 7 ของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women – CEDAW) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

ซึ่งระบุว่ารัฐภาคีจะใช้มาตรการที่เหมาะสมทุกประการ เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในด้านที่เกี่ยวกับการเมืองและทั่วๆ ไปของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะให้หลักประกันแก่สตรีภายใต้เงื่อนไขแห่งความเสมอภาคกับบุรุษ สิทธิที่จะเข้าร่วมในการวางนโยบายของรัฐบาลและดำเนินการตามนโยบาย และในการรับตำแหน่งราชการและปฏิบัติหน้าที่ราชการในทุกๆ ระดับของรัฐบาล

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยมีข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มีพนักงานสอบสวนหญิงในการสอบสวนคดีความผิดทางเพศ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีพนักงานสอบสวนหญิงประจำทุกสถานีตำรวจ อย่างไรก็ดี ตนเห็นว่ารัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติควรให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว

ดังนั้นไม่ควรปิดกั้นการเข้ารับราชการในทุกตำแหน่งด้วยเหตุแห่งเพศ และควรรับประกันการเพิ่มสัดส่วนของสตรีในกระบวนการทำงาน การมีส่วนร่วม และการตัดสินใจในทุกระดับของรัฐ ตามหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ทั้งนี้ เพื่อให้สตรีได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนงานของประเทศชาติ และเพื่อสร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมเคารพสิทธิมนุษยชนบนพื้นฐานความเป็นธรรมทางเพศต่อไป

ขณะที่ พ.ต.ท.พิชศาล พันธุ์วัฒนา อาจารย์ประจำโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เผยแพร่บทความผ่านวารสารวิชาการคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อประสิทธิผลการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนหญิงในพื้นที่นครบาล โดยผลการศึกษาพบว่า ตัวแปรสมรรถนะมีอิทธิพลโดยรวมต่อประสิทธิผลการปฏิบัติงานมากที่สุด รองลงมาได้แก่ คุณลักษณะที่ดี แรงจูงใจ และคุณลักษณะพื้นฐานส่วนบุคคลเป็นลำดับสุดท้าย เมื่อพิจารณาโดยรวมพบว่าตัวแปรองค์ประกอบทุกตัวสามารถอธิบายการผันแปรประสิทธิผลการปฏิบัติงานได้

ข้อค้นพบชี้ว่า ตัวแปรสมรรถนะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประสิทธิผลการปฏิบัติงานของพนักงานสอบสวนหญิง เมื่อเป็นเช่นนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะองค์กรต้นสังกัดต้องสนับสนุนงบประมาณให้หน่วยการศึกษาในสังกัดใช้ในการจัดการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มสมรรถนะในการปฏิบัติงานให้กับพนักงานสอบสวนหญิง เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล ส่วนผู้บังคับบัญชาต้องส่งเสริมให้พนักงานสอบสวนหญิงศึกษาหาความรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกฎหมายให้ครอบคลุมต่อการปฏิบัติงานให้ได้มากที่สุด และที่สำคัญคือ ตัวผู้ปฏิบัติงานหรือพนักงานสอบสวนหญิงต้องมีความใฝ่เรียนรู้ ปรับตัวเพื่อการเรียนรู้สิ่งใหม่ตลอดเวลา และนำสิ่งที่ได้จากการเรียนรู้ประยุกต์เป็นเครื่องมือใช้ในการปฏิบัติงานเพื่อให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิผล

สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง

ด้าน สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง จากมูลนิธิส่งเสริมความเท่าเทียมทางสังคม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า เป็นการเลือกปฏิบัติเกี่ยวกับเพศอย่างชัดเจน เนื่องจากเห็นได้ชัดมากว่าขัดต่อนิยามความเท่าเทียมและขัดต่อประกาศ ตามมาตรา 17 ของประกาศกฏเกณฑ์นโยบายจะต้องไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐหรือเอกชน รวมทั้งผิดในหลักการความเสมอภาค และผิดหลักปฏิญญาสากลทั้งเรื่องอนุสัญญาซีดอร์ เป็นอนุสัญญาว่าด้วยการเลือกปฏิบัติต่อสตรี พร้อมทั้งผิดต่อเป้าหมายความเสมอภาคที่ตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) พูดเองว่าจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“พูดไปถึงกรณีพนักงานสอบสวนหญิงด้วย เพราะเป็นเรื่องจำเป็นและสำคัญในการทำคดีที่มีความละเอียดอ่อน คดีที่เป็นประเด็นทางสังคม รวมทั้งคดีที่เป็นความผิดเกี่ยวกับเพศ ในฐานะที่ทำงานด้านผู้หญิง พบว่าผู้หญิงที่ถูกกระทำ แม้ตำรวจผู้ชายจะให้บริการดี ถ้าเลือกได้ขอเลือกเป็นตำรวจผู้หญิงจะดีกว่า” สุเพ็ญศรี ระบุ

ไม่เว้นแม้แต่ เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและผู้ประสานงานขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (We Move) กล่าวว่า เรื่องนี้ประเด็นแรกคือขัดต่อรัฐธรรมนูญ ถัดมาคือขัดต่อ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ขัดต่ออนุสัญญาที่ประเทศไทยเป็นภาคี ขัดต่อทิศทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ตัวนายกฯ ไปประกาศไว้ที่นิวยอร์ก และการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จะทำแบบนี้ต้องมีเหตุผลที่ชี้แจงได้ ไม่ใช่ไม่รู้ว่าจะไม่รับด้วยสาเหตุใด ในทิศทางการทำงานว่าด้วยความเสมอภาคนั้น แม้ในความเป็นจริงจะมีข้อยกเว้นบางประการ เช่น การยกเว้นรับพยาบาลหญิงไปดูแลพระสงฆ์ในโรงพยาบาลสงฆ์ หรือยกเว้นรับผู้หญิงในงานเหมืองแร่ เพราะจะมีผลกระทบต่อการเป็นหมันได้ ถ้าเป็นเรื่องในลักษณะนี้ยังถือว่ารับได้ แต่เรื่องตำรวจไม่ใช่ ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งใดก็ตาม ไม่ได้มีข้อกำหนดว่าผู้หญิงทำไม่ได้

“ที่ผ่านมามี นรต.หญิงมาแล้ว 10 รุ่น ประมาณ 700 คน การสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจก็ใช้เกณฑ์การแข่งขันที่เสมอภาคกัน ข้อเขียนเดียวกัน ว่ายน้ำ 50 เมตรเหมือนกัน วิ่ง 1,000 เมตร เหมือนกัน ซึ่งไม่ได้ไปเอาเปรียบ ผู้หญิงต่างหากที่ต่อสู้ในอัตราที่สูงกว่าผู้ชาย ผู้ชายสู้กันสัดส่วน 1 ต่อ 100 แต่ผู้หญิง 1 ต่อ 160 ประเทศไทยมีผู้หญิงเป็นตำรวจในสัดส่วนแค่ 7% ในขณะที่กลุ่มประเทศอาเซียน เช่น ฟิลิปปินส์ มีสัดส่วนตำรวจหญิงสูงถึง 20% รองลงมาคือ มาเลเซีย ทั้งๆ ที่เป็นประเทศมุสลิม รวมทั้งอินโดนีเซียเช่นกัน กลายเป็นว่าประเทศไทยล้าหลังประเทศอื่นเขา นี่คือคำตอบของประเทศไทย 4.0” เรืองรวี ให้ข้อมูล

เรืองรวี พิชัยกุล

ทั้งนี้ จากข้อมูลทั่วทั้งโลก สัดส่วนประเทศที่มีตำรวจหญิงมากที่สุดคือ สวีเดน สูงถึง 30% สหรัฐอเมริกา 15% ซึ่งทุกประเทศพยายามนำผู้หญิงเข้าสู่อาชีพตำรวจ เพราะที่ผ่านมาอาชีพนี้จะมีแต่ผู้ชาย

“ที่สำคัญที่สุด คือ กำลังทำลายความฝันของผู้หญิงเป็นพันๆ คนที่อยากจะทำงานสายนี้ ไม่ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก แล้วคนที่เตรียมตัวเพื่อจะสานฝันตัวเองล่ะ ฟิตร่างกายเพื่อจะเข้าสอบ แต่อย่างไรก็ยังชื่นชมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพราะที่ผ่านมาก็ให้ความสำคัญของ นรต.หญิงและชาย ส่งเสริมภาพลักษณ์เสมอภาคกัน ดูได้จากเว็บไซต์ทางการของเขา และมี นรต.มุสลิมด้วย โรงเรียนนายร้อยตำรวจให้โควตาพิเศษกับเด็กในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามาเรียนได้ ตรงนี้คือมาตรการที่เสมอภาคที่สุด” เรืองรวี กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากนี้ เรืองรวี ยังฝากคำถามไปยัง พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ ซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิดสมัยใหม่คนหนึ่ง ทั้งยังเคยทำงานวิจัยตำรวจในอาเซียน ดังนั้น ท่านต้องเข้าใจว่ากลุ่มประเทศอาเซียนโปรโมตตำรวจผู้หญิงขนาดไหน และที่สำคัญที่สุดปีหน้าประเทศไทยจะเป็นประธานอาเซียน แล้วจะตอบคำถามประเทศในกลุ่มอย่างไรว่าทำไมถึงยกเลิกการรับตำรวจหญิง

“ขอตั้งคำถามว่า ไร้เดียงสา? ไม่มีความรู้ความเข้าใจ? หรือมีอคติ? ต้องตอบให้ได้ ถ้ามีอคติ ผู้ชายเป็นใหญ่อย่างเดียว แล้วเอาปัญหาระดับปัจเจกหรือส่วนตัว-ส่วนบุคคล มาตอบโจทย์ส่วนรวมของชาติบ้านเมืองได้อย่างไร ไม่ใช่ว่าเอาเกณฑ์ตำรวจผู้หญิงที่ลาออกเพราะเหนื่อยจากการทำงาน แล้วตำรวจผู้ชายไม่เหนื่อยเหรอ ก็เหมือนกัน” ผู้ประสานงาน We Move ตั้งคำถาม

นอกจากนี้ คุณเรืองรวี ยังตั้งขอสังเกตอีกว่า ครั้งนี้เป็นการกีดกันทางอ้อม เพราะโยนเรื่องนี้ให้กลายเป็นต้องผ่านโรงเรียนเตรียมทหาร ซึ่งกฏเกณฑ์โรงเรียนเตรียมทหารก็รับเฉพาะผู้ชาย และปัญหาที่จะตามมาคือการกีดกันทางเพศที่จะมากขึ้นเพราะ สตช.ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นแล้ว

เรืองรวี ทิ้งท้ายไว้ว่า “ที่สำคัญที่สุด คือ ระบุไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี หนึ่งในแผนงานคือการส่งเสริมความเท่าเทียมในสังคมและลดความเหลื่อมล้ำ ซ้ำยังเขียนไว้ชัดเจนว่า ต้องมีสัดส่วนผู้หญิงในระดับตัดสินใจ 30% แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมานี้ทำสวนทางแผนปฎิรูปประเทศชาติเลยเหรอ ทำอย่างนี้ยิ่งเหลื่อมล้ำเข้าไปใหญ่ ความยุติธรรมก็จะยิ่งเหลื่อมล้ำมากขึ้นไปอีก” 

พ.ต.ท.มนต์ชัย บุญศักดิ์

ในขณะที่บุคคลที่อยู่ในแวดวงสีกากีอย่าง พ.ต.ท.มนต์ชัย บุญศักดิ์ ข้าราชการบำนาญ ที่ทำงานในการผลักดันให้มีพนักงานสอบสวนหญิงขึ้นมา กล่าวว่า ที่ผ่านมาทำไมไม่เคยเห็นผู้หญิงสามารถขึ้นดำรงตำแหน่งผู้กำกับการได้ ทั้งๆ ที่ประเทศอื่นทำได้ เช่น ญี่ปุ่น ผู้หญิงสามารถขึ้นสู่ระดับบังคับบัญชาได้ แล้วระดับสถานีตำรวจคือแนวหน้าที่พบปะประชาชนก่อน และการทำงานคดีเด็ก คดีข่มขืน จำเป็นมากที่จะต้องมีตำรวจหญิง

ซึ่งหากจะให้เดาใจคนใน สตช.ที่ยกเลิกรับ นรต.หญิง ส่วนตัวเชื่อว่าอยากที่จะประหยัดและอยากจะขจัดความยุติธรรมลงไป เพราะต้องเข้าใจว่าผู้หญิงมีความเป็นระเบียบในตัว แต่ผู้ชายจะอะลุ้มอล่วยไปได้

“แล้วจะไปจำกัดเขา ปีหนึ่งจบมาเท่าไหร่ ทั้งหญิงทั้งชาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีความตั้งใจอย่างมากที่จะเป็นนายร้อย ตั้งใจจะรับใช้ชาติ ตั้งใจใช้ความรู้ความสามารถในการเป็นตำรวจหรือนักกฎหมาย” พ.ต.ท.มนต์ชัย กล่าวทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook