คนไทยทำได้! กฟผ. เผยผลสำเร็จงาน 25 ปีการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ช่วยคนไทยประหยัดไฟ

คนไทยทำได้! กฟผ. เผยผลสำเร็จงาน 25 ปีการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ช่วยคนไทยประหยัดไฟ

คนไทยทำได้!   กฟผ. เผยผลสำเร็จงาน 25 ปีการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ช่วยคนไทยประหยัดไฟ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนไทยทำได้!  กฟผ. เผยผลสำเร็จงาน 25 ปีการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) ช่วยคนไทยประหยัดไฟได้กว่าสองหมื่นล้านหน่วย

     การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก้าวเข้าสู่ปีที่ 50 พร้อมสานต่อความสำเร็จของโครงการการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management – DSM) ที่ทำต่อเนื่องมายาวนานถึง 25 ปี ด้วยผลลัพธ์ที่ชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในปี 2536 จนถึงเดือนกรกฎาคม 2561 ประเทศไทยสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้มากถึง 27,460 ล้านหน่วย (GWh) ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ จำนวน 15.6 ล้านตัน

     โครงการ DSM เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2536 ซึ่งตรงกับวาระครบรอบ 109 ปี ไฟฟ้าไทย โดยมีปรัชญาการดำเนินงานคือใช้วิธีการจูงใจให้ผู้ใช้ไฟฟ้าได้รับคุณประโยชน์จากไฟฟ้าเท่าเดิม หรือดีขึ้น แต่เสียค่าไฟฟ้าน้อยลง ซึ่งได้รับความร่วมมือจากประชาชนเป็นอย่างดีกับการร่วมใจใช้หลอดประหยัดไฟฟ้า ทั้งยังมีภาคส่วนจากเอกชนผู้ผลิตหลอดไฟฟ้าทั่วประเทศขานรับนโยบายอย่างเต็มกำลังยุติการผลิตหลอดฟลูออเรสเซนต์ขนาด 40 และ 20 วัตต์ หรือหลอดอ้วน หันมาผลิตหลอดฟลูออเรสเซนต์ ขนาด 36 และ 18 วัตต์ ทดแทน ส่งผลให้ขณะนั้นสามารถกำจัดหลอดอ้วนหมดไปจากตลาด

กลยุทธ์ 3 อ. เคล็ดลับความสำเร็จในการลดใช้พลังงาน

     ปี 2561 ถือเป็นวาระครบรอบปีที่ 25 ที่ กฟผ. ดำเนินงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า โดยส่งเสริมด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม ด้วยมาตรการและแนวทางต่างๆ เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ลดการนำเข้าเชื้อเพลิง ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) อีกทั้งช่วยรักษาเสถียรภาพในภาพรวมของกำลังการผลิตในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด ด้วยการดำเนินงานผ่านโครงการต่างๆ ภายใต้กลยุทธ์ 3 อ ได้แก่ อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า อาคารประหยัดไฟฟ้า อุปนิสัยประหยัดไฟฟ้า ด้วยความร่วมมือระหว่าง กฟผ. และกลุ่มพันธมิตร ประกอบด้วย หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าผลการดำเนินงานได้สร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภค ให้ตระหนักถึงประโยชน์ในการลดการใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ซึ่งถือเป็นแนวทางที่ทุกฝ่ายตั้งแต่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จัดจำหน่าย จนถึงผู้บริโภคได้รับประโยชน์โดยทั่วกัน


     1. อ.อุปกรณ์ประหยัดไฟฟ้า

     กฟผ. ดำเนินโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 โดยส่งเสริมการติดฉลากแสดงระดับประสิทธิภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำนวนรวม 30 ผลิณภัณฑ์ โดยจนถึงปัจจุบันมียอดการติดฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ไปแล้วกว่า 353 ล้านฉลาก

     ในปี 2560 เพื่อเป็นการรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยสวมใส่เสื้อประหยัดพลังงาน เสื้อที่ไม่ต้องรีด ผลิตจากผ้าที่ซักแล้วยังเรียบอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ และผู้ประกอบการ จำนวน 22 ราย และเริ่มติดฉลากเบอร์ 5 ตั้งแต่ เดือนมกราคม 2561 โดยตั้งเป้าหมายการรณรงค์ปีละ 1,700,000 ตัว ซึ่งจะสามารถช่วยให้ประเทศชาติ ประหยัดพลังงานไฟฟ้าได้ถึงประมาณ 7 ล้านหน่วยต่อปี หรือ 28 ล้านบาทต่อปี และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 3,600 ตันต่อปี

     ทั้งยังมีการดำเนินโครงการศึกษา วิจัย และส่งเสริมการใช้อุปกรณ์แสงสว่าง LED ในโครงการ Dark Sky เพื่อลดผลกระทบจากมลภาวะทางแสงต่อระบบนิเวศในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการใช้แสงสว่างในการปลูกดอกเบญจมาศจำนวนมาก ซึ่งแสงส่วนเกินของหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (CFL) กระเจิงขึ้นบนท้องฟ้าจนเกิดเป็นมลภาวะทางแสง (Light Pollution) บนท้องฟ้าเป็นวงกว้าง

     ในปี 2560 กฟผ. ได้นำร่องเปลี่ยนหลอดไฟในแปลงทดลองเป็นหลอด LED เพื่อลดการกระเจิงของแสงสู่ท้องฟ้าและสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่า 50% ผลการทดลองพบว่า หลอด LED สามารถช่วยลดการกระเจิงของแสงสู่ท้องฟ้าและลดภาระค่าใช้จ่ายได้กว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งเกษตรกรมีความพึงพอใจเป็นอย่างมากโดยโครงการมีกำหนดติดตั้งและประเมินผลแล้วเสร็จในปี 2561 ถึง 2562 คาดว่าจะก่อให้เกิดการลดการใช้ไฟฟ้าลงตลอดอายุโครงการประมาณ 5.4 GWh

     2. อ.อาคารประหยัดไฟฟ้า

     สำหรับ อ. “อาคารประหยัดไฟฟ้า” ได้มีการดำเนินงานพัฒนาบ้านที่อยู่อาศัยประสิทธิภาพการใช้พลังงานสูง หรือบ้านเบอร์ 5 ร่วมกับการเคหะแห่งชาติเป็นโครงการนำร่อง คาดว่าการยกระดับแบบบ้านและวัสดุในการก่อสร้างให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น จะทำให้การใช้ไฟฟ้าในบ้านลดลงกว่า 0.9 ล้านหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้าที่ลดลงของผู้อยู่อาศัยกว่า 3.6 ล้านบาทต่อปีประเมินเป็นการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศกว่า 489 ตัน

     ทั้งยังมีการให้คำปรึกษาและวางมาตรการช่วยลดการใช้ไฟฟ้าในอาคารและโรงงาน ควบคู่ไปกับการควบคุมการเปลี่ยนอุปกรณ์แสงสว่าง LED ภายในอาคารภาครัฐ กว่า 50,000 หลอด เช่น พระบรมมหาราชวัง วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สำนักงาน กปร. โครงการคุ้งบางกะเจ้าเฉลิมพระเกียรติฟื้นฟูสวนเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 ซึ่งสามารถประหยัดพลังงานไฟฟ้ากว่า 6.6 ล้านหน่วยต่อปี รวมถึงยังมีการตรวจประเมินโครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมโรงแรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Hotel) จำนวน 61 แห่ง

 

    3. อ.อุปนิสัยประหยัดไฟฟ้า

     สำหรับ อ. สุดท้าย กฟผ. เชื่อว่าการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืนต้องเริ่มจากการมีทัศนคติที่ดีในการใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่าจึงได้มีการพัฒนากิจกรรมการลดการใช้พลังงานไฟฟ้าเข้าสู่กระบวนการเรียนในโรงเรียน ถ่ายทอดความรู้และปลูกฝังอุปนิสัยที่ดีแก่เยาวชนในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการห้องเรียนสีเขียวที่ กฟผ. จัดทำขึ้นในโรงเรียน 465 แห่งทุกจังหวัดทั่วประเทศ ตลอดจนได้มีการต่อยอดสู่กิจกรรมลดใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งขยายผลสู่บ้านนักเรียนและชุมชน ได้แก่ กิจกรรมโรงเรียนคาร์บอนต่ำ และชุมชนประหยัดพลังงาน ซึ่งสามารถประเมินผลการลดการใช้ไฟฟ้าได้อย่างเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

 

แนวทางในอนาคต

     กระทรวงพลังงานได้จัดทำแผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2558 - 2579 (Energy Efficiency Plan : EEP 2015) โดยมีมาตรการหนึ่งในกลยุทธ์ภาคบังคับคือ มาตรการบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอนุรักษ์พลังงานสำหรับผู้ผลิตและผู้จำหน่ายพลังงาน (Energy Efficiency Resources Standards : EERS) ซึ่งเป็นมาตรการที่กำหนดให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายพลังงานจะต้องมีส่วนร่วมส่งเสริมให้ผู้ใช้พลังงานเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานโดยจะเริ่มต้นในปี 2566 - 2579 ประกอบกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) มีนโยบายผลักดันให้มาตรการฯ ดังกล่าวบรรลุผลเป็นรูปธรรม จึงมีความประสงค์จะให้เริ่มดำเนินการเป็นโครงการนำร่องก่อนในปี 2561 - 2565 โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่ให้บริการด้านพลังงานไฟฟ้าเป็นผู้ดำเนินมาตรการอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Resources Standard : EERS) ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.)

     สำหรับการดำเนินงานในปี 2561 มี กฟผ. เป็นเจ้าภาพหลัก มีหน้าที่ในการนำเสนอแผนงาน โครงการและแนวทางการตรวจวัดพิสูจน์ผลประหยัดให้ทาง สนพ. พิจารณา รวมทั้งรายงานผลความคืบหน้าการดำเนินงานให้ สนพ. ทราบ โดยมี กฟภ. และ กฟน. เป็นหน่วยงานสนับสนุน ทั้งนี้ ในช่วงโครงการนำร่องฯ จะมีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นเจ้าภาพหลักทุกปี ผ่านมาตรการหลัก 3 มาตรการ ได้แก่
     1. มาตรการประเภทให้คำปรึกษา : ดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ของการไฟฟ้าที่มีความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์เพื่อเข้าไปให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา ตรวจวัดการใช้พลังงาน รวมทั้งจัดทำข้อเสนอแนวทางการประหยัดพลังงานให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า
     2. มาตรการที่ใช้แรงจูงใจทางการเงิน : การไฟฟ้าจะให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่กลุ่มเป้าหมายที่มีความต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานตัวอย่างเช่น การให้เงินอุดหนุนเพื่อชดเชยการประหยัดพลังงานที่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ การให้ Incentive รวมทั้งการหา Partner ทางธุรกิจในการแจกคูปองหรือส่วนลดในการซื้ออุปกรณ์ประสิทธิภาพสูง
     3. มาตรการลักษณะภาพรวม (Mass): การส่งเสริมการประหยัดพลังงานในภาพรวม เช่น การจัดการพลังงานในรูปแบบ ESCO Matching การจัดทำมาตรฐานประหยัดพลังงานที่สูงกว่ามาตรฐานฉลากเบอร์ 5 รวมถึงการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์พลังงาน

     กฟผ. ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการดำเนินงานการจัดการด้านการใช้ไฟฟ้ามาตลอดระยะเวลา 25 ปี เพื่อการอนุรักษ์พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมมุ่งมั่นในการพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยสืบไป

Website: http://labelno5.egat.co.th/new58/
Facebook: https://www.facebook.com/labelNo5/



[Advertorial]

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook