รู้จักกำไล EM ที่ "เบนซ์ เรซซิ่ง" ต้องคล้องไว้หลังได้ประกันตัวออกจากคุก
หลังจากศาลอาญาอ่านคำพิพากษาจำคุก 8 ปี นายอัครกิตติ์ วรโรจน์เจริญเดช หรือเบนซ์ เรซซิ่ง อายุ 31 ปี ในความผิดฐานฟอกเงิน แล้วมีคำสั่งอนุญาตให้นายอัครกิตติ์ ประกันตัวไป โดยตีราคาประกัน 1 ล้านบาท พร้อมกำหนดให้ติดกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ (กำไล EM) กับจำเลยด้วย และห้ามมิให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล
>> ศาลสั่งคุก 8 ปี "เบนซ์ เรซซิ่ง" คดีฟอกเงิน พวกอีก 2 คนโดน 24 ปี
>> ศาลให้ประกันตัว “เบนซ์ เรซซิ่ง” ห้ามออกนอกประเทศ-ติดกำไล EM
หลายคนอาจจะสงสัยว่า กำไล EM คืออะไร Sanook! News หาคำตอบมาฝากกันตรงนี้แล้ว โดยกำไล EM นั้นคืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (Electronic Monitoring : EM) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมผู้กระทำผิดแทนการจำคุกในเรือนจำ ประกอบด้วยตัวอุปกรณ์ส่งสัญญาณ มีลักษณะคล้ายนาฬิกาหรือสายรัดข้อมือ/ข้อเท้า ตัวอุปกรณ์รับสัญญาณ และศูนย์ควบคุมกลาง ที่ใช้ติดตามตัว เมื่อสวมใส่อุปกรณ์ที่ข้อมือ/ข้อเท้า หรืออวัยวะส่วนอื่น ก็จะสามารถตรวจสอบการเดินทางของผู้สวมใส่ได้ ซึ่งบ้านเราเริ่มนำอุปกรณ์ที่ว่านี้มาทดลองใช้กับกลุ่มผู้ที่อยู่ในระหว่างคุมประพฤติโดยไม่ต้องถูกขังในเรือนจำ
ซึ่งกว่าจะได้เริ่มนำมาใช้จริง กระทรวงยุติธรรมมีการศึกษาจากประเทศที่นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวมาใช้ เช่น บราซิล อิสราเอล เกาหลีใต้ อังกฤษ แคนาดา สิงคโปร์ เป็นต้น จนเมื่อปี 2556 ในยุคของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก เป็นเจ้ากระทรวง ได้ออกกฎกระทรวง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจำคุกโดยวิธีการอื่น ที่สามารถจำกัดการเดินทางและอาณาเขต พ.ศ. 2556 โดยการใช้วิธีการลงโทษแบบใหม่นี้ ต้องให้ศาลเป็นผู้ออกคำสั่ง ซึ่งเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เป็นผู้ยื่นคำร้อง ตามเหตุที่กฎกระทรวงระบุไว้ คือ
- ผู้ซึ่งต้องจำคุกจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก
- ผู้ซึ่งต้องจำคุกจำเป็นต้องเลี้ยงดูบิดา มารดา สามี ภริยา หรือบุตร ซึ่งพึ่งตนเองมิได้และขาดผู้อุปการะ
- ผู้ซึ่งต้องจำคุกเจ็บป่วยและต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
- ผู้ซึ่งต้องจำคุกมีเหตุควรได้รับการทุเลาการบังคับให้จำคุกด้วยเหตุอื่นๆ
หลังจากนั้นกระทรวงยุติธรรม ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานศาลยุติธรรมในการนำกำไล EM มาใช้ควบคุมตัวผู้กระทำผิด ซึ่งเหตุผลหนึ่งคือเพื่อลดความแออัดของนักโทษที่มีอยู่มากในเรือนจำทั่วประเทศนั่นเอง
>> "คนล้นคุก" กรมราชทัณฑ์เผยนักโทษในเรือนจำไทยแออัดสุดในอาเซียน
จนกระทั่งเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา ศาลยุติธรรมประกาศพร้อมเริ่มใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว หรือเครื่องมือที่เรียกว่า EM ซึ่งเป็นกำไลใส่ที่ข้อเท้า พร้อมกับระบุตำแหน่งที่อยู่ และส่งข้อมูลพิกัดของผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวทุกๆ 2 นาที โดยมีระบบการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง ไปยังห้องควบคุมสั่งการของเจ้าหน้าที่ เมื่ออุปกรณ์ถูกตัดหรือทำลาย จะส่งเสียงสัญญาณเตือนดังขึ้นทันที หรือกรณีพยายามหลบหนีออกนอกพื้นที่ควบคุม เจ้าหน้าที่จะประสานตำรวจออกติดตามตัวทันที โดยเริ่มนำมาใช้งานเมื่อวันที่ 1 มีนาคมที่ผ่านมา ผ่านการนำร่องใช้ใน 23 ศาลทั่วประเทศ
ซึ่งการจะนำกำไล EM มาสวมใส่ให้ผู้กระทำผิดคนใดนั้น จะมีการประเมินแบบทดสอบความเสี่ยงหลบหนีก่อนว่ามีมากน้อยเพียงใด
>> 1 มี.ค.เริ่มใช้ กำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ ติดตามตัวผู้ต้องหา-จำเลย