นลิน กัญญ์นลิน – นางแบบสาวที่กล้าท้าทายคำว่า “เพศ” และไม่ยอมจำนนต่อกรอบใดๆ

นลิน กัญญ์นลิน – นางแบบสาวที่กล้าท้าทายคำว่า “เพศ” และไม่ยอมจำนนต่อกรอบใดๆ

นลิน กัญญ์นลิน – นางแบบสาวที่กล้าท้าทายคำว่า “เพศ” และไม่ยอมจำนนต่อกรอบใดๆ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

งาน ELLE Fashion Week เพิ่งผ่านไปได้ไม่นาน จุดเด่นของมหกรรมแฟชั่นครั้งนี้ นอกเหนือจากคอลเล็กชันเสื้อผ้าหลากสไตล์จากหลายแบรนด์ ภาพของนายแบบและนางแบบที่เดินกันอย่างมั่นใจบนรันเวย์เองก็เป็นสีสันอย่างหนึ่งที่ทีมงาน Sanook! News ไม่อาจละสายตาได้ หนึ่งในนั้นที่สะดุดตาพวกเรามากที่สุดด้วยลุคที่ “แปลก” อย่างน่าสนใจ คือนางแบบสาวร่างสูงที่ปรากฏตัวบนรันเวย์ของ Thai Designers หลากหลายแบรนด์ หนึ่งในนั้นคือ Takara Wong แบรนด์แรกที่มอบโอกาสให้เธอได้เดินปิดโชว์ในชุดกระโปรงแดงจัดจ้านที่เข้ากันกับเสื้อลายร้อนแรงที่สวมใส่

 

นลิน กัญญ์นลิน เสถียรุจิกานนท์ คือนางแบบสาวที่เรากำลังพูดถึง สำหรับวงการแฟชั่นแล้ว นลิน ไม่ใช่หน้าใหม่แต่อย่างใด ย้อนกลับไปเมื่อ ELLE Fashion Week ปี 2016 นลิน ได้เปิดตัวครั้งแรกบนรันเวย์ของแบรนด์ Greyhound และได้กลายเป็นขาประจำของรันเวย์แฟชั่นนับแต่นั้นมา

สิ่งที่ทำให้นลินแตกต่างและโดดเด่นจากนางแบบคนอื่นๆ นอกจากลุคสไตล์ร็อคสตาร์ที่แต้มด้วยกลิ่นอายความขบถที่ผสมระหว่างความแมสคิวลีนและเฟมินีนอย่างลงตัว นลิน ถือได้ว่าเป็นนางแบบสาว “ข้ามเพศ” ในจำนวนไม่กี่คนที่เริ่มต้นอาชีพจากศูนย์ในฐานะมือสมัครเล่น จนสามารถก้าวเข้าสู่วงการแฟชั่นได้อย่างเต็มภาคภูมิ แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใดในโลกตะวันตก แต่สำหรับวงการแฟชั่นไทย เธอคือตัวแทนของ “คนข้ามเพศ” ที่กล้าลุกขึ้นมาขายความเป็นตัวเองในแบบที่แตกต่างไปจากภาพของ “นางแบบ” ที่วงการแฟชั่นไทยคุ้นชิน

ทำไมถึงสนใจงานในวงการแฟชั่น? จุดไหนที่เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เราอยากเป็นนางแบบอาชีพ?

ตั้งแต่เด็กเราไม่เคยคิดอยากเป็นนางแบบเลย เพราะเรารู้สึกว่ามันไกลตัว แต่ใจจริงเราอยากเป็นอาร์ทิสต์ เป็นนักวาดภาพ นักออกแบบ เพราะเราชอบการวาดรูประบายสี บวกกับตัวเองก็มีความสนใจในเรื่องของแฟชั่นด้วย จนมาถึงจุดหนึ่ง เราได้ไปเดินแบบให้กับงานโปรเจ็กต์มหาลัยของเพื่อน เราก็เลยเริ่มสนใจตรงนี้ เริ่มรู้สึกว่า เอ๊ะ! มันก็ไม่ได้ไกลตัวมาก แต่ก็ไม่คิดว่ามันจะสามารถเป็นอาชีพแบบทุกวันนี้ได้ เราก็ลองทำของเราไปเรื่อยๆ อยู่หลายปีเหมือนกัน จนมาถึงจุดพลิกผันของชีวิตตอนประกวด The Face Thailand ถึงจะไม่เข้ารอบ แต่มันทำให้เราได้รู้ว่าตัวเราอาจไม่เหมาะกับสื่ออย่างโทรทัศน์ แต่อาจจะเหมาะกับการเป็นนางแบบมากกว่า บวกกับตอนนั้นมีคนให้โอกาสเราไปเดินงาน ELLE Fashion Week ด้วย เรียกว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานในฐานะนางแบบอาชีพจริงๆ

อะไรคือสิ่งที่ทำให้นลินแตกต่างจากนางแบบคนอื่น?

ถ้าเรื่องความสวย แน่นอนคือเราไม่คิดว่าเราสวย แต่เราเลือกที่จะเสนอความเป็นตัวเอง แล้วมันมีคนที่ชอบ คาแรคเตอร์ของเราจะดูมีความเป็นร็อคสตาร์นิดๆ บวกกรันจ์หน่อยๆ ซึ่งในวงการแฟชั่น มันก็ยังไม่มีคนที่มีลุคแบบนี้ จะให้เราไปสู้กับลุคแบบเมนสตรีมในตลาด การแข่งขันมันก็สูงมาก เราเลยเลือกเป็นชนกลุ่มน้อยในตลาดแฟชั่น แต่การเป็นตัวเองนี่แหละที่ทำให้เราแฮปปี้ แล้วยิ่งมีคนชอบ ทำงานได้เงิน เราก็ภูมิใจ

แบรนดิ้งของเรา เรามองว่ามันคือความก้ำกึ่งระหว่างความเป็นผู้หญิงและความเป็นผู้ชาย เป็นผู้หญิงที่ขายความเท่ สำหรับนลิน นลินมองว่าตัวเองเป็นผู้หญิงคนหนึ่งที่มีคราบของผู้ชาย มีความแข็งแกร่งแบบแมสคิวลีนสัก 80 เปอร์เซ็นต์ เฟมินีนสัก 20 เปอร์เซ็นต์ แต่เราก็ไม่ได้นิยามตัวเองว่าเป็นเฟมินิสต์นะ แต่เป็นเวิร์คกิ้งวูแมนที่สามารถทำงานได้อย่างมืออาชีพมากกว่า

นลินมองว่าตัวเองไม่ใช่นางแบบที่ขายความสวย แล้วความสวย หรือ ผู้หญิงที่สวย ในความคิดของนลินต้องเป็นอย่างไร?

เราเคยได้ยินประโยคที่ว่า “You look beautiful” กับ “You feel beautiful” นี่คือเวิร์ดดิ้งอมตะสำหรับเราเลยในการนิยามความสวย การที่ผู้หญิงจะสวยได้ สำหรับเรามีสองแบบ คือคุณ “ดูสวย” หรือว่าคุณ “รู้สึกว่าคุณสวย” ความสวยสำหรับเรามันจึงเป็นสิ่งที่จำกัดความไม่ได้ง่ายๆ แต่สิ่งที่ทุกคนจะสามารถสัมผัสได้จากตัวคุณคือ ความมั่นใจ ในความคิดของนลิน ผู้หญิงที่มั่นใจคือผู้หญิงที่สวย ซึ่งเขาไม่ได้จำเป็นต้องเพอร์เฟ็กต์ร้อยเปอร์เซ็นต์

อย่างเรา ถ้าวัดจากเสียงของคนส่วนใหญ่ เราว่าเราไม่ได้สวยอะไรขนาดนั้น แต่สำหรับนลิน นลินมั่นใจ เพราะเรา feel beautiful จากภายใน แต่สำหรับผู้หญิงที่คนส่วนใหญ่มองว่าสวย เราก็มองว่าเขาก็สวยนั่นแหละ ซึ่งความสวยทั้งภายนอกและภายใน สำหรับเรา มันมีคุณค่าเท่าๆ กัน นิยามของความสวยสำหรับนลิน มันเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง นั่นเพราะเราทุกคนล้วนมองต่างกัน

การเป็นนางแบบที่เป็นคนข้ามเพศต้องเจอแรงกดดันมากกว่าปกติไหม? เทียบกับนายแบบนางแบบชายหญิงทั่วไป

เราเจอนะ แต่ไม่ได้สูงมาก อาจจะไม่ได้โดนคอมเพลนเรื่องเพศเท่าไหร่ แต่มันก็มีรีแอคชั่นของบางคนที่เราสัมผัสได้ ซึ่งเราก็คิดว่าอาจจะเป็นเพราะเขายังไม่เชื่อในตัวเรา เพราะนางแบบข้ามเพศมันเป็นเรื่องใหม่มากในวงการ เป็นคนกลุ่มน้อยจริงๆ แน่นอนเราไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของคนอื่นได้ สิ่งที่นลินทำคือการพยายามพิสูจน์ตัวเอง แสดงให้คนอื่นเห็นว่าเราสามารถทำงานได้

คิดจะโกอินเตอร์ฝั่งตะวันตกไหม?

อยาก แต่เราคิดว่าถ้าจะไป เราอยากไปแบบเต็มภาคภูมิ อยากให้เราพร้อมก่อนจริงๆ  สิ่งที่เราตั้งใจคือ เราอยากให้วงการแฟชั่นไทยยอมรับในตัวสาวประเภทสองมากขึ้น นลินไม่อยากเป็นคนที่ต้องไปเรียนจบเมืองนอกก่อนเพื่อให้สังคมไทยยอมรับ เราอยากเริ่มจากในไทยที่เขาว่ากันว่ายากๆ นี่แหละ เพราะเราคิดว่าไทยยังไม่เปิดรับมากขนาดนั้น นลินเชื่อว่า เมื่อมีหนึ่งมันย่อมต้องมีสองตามมา ถ้าเราทำได้ มีผู้ใหญ่ให้โอกาส เราก็อยากจะทำตรงนี้ให้ดีที่สุด

สิ่งที่ประทับใจที่สุดตั้งแต่ก้าวเข้ามาในวงการนี้คืออะไร?

(หัวเราะ) เรื่องนี้ให้เจาะจงเลยคงยาก เพราะเราเดินแบบมาเยอะมาก แต่สิ่งที่เราประทับใจคือทุกโอกาสที่คนอื่นมอบให้เรา ซึ่งเอาจริงๆ มันน้อยมากเลยนะ ที่แบรนด์เสื้อผ้าผู้หญิงจะให้ผู้หญิงข้ามเพศไปเดิน แล้วยิ่งไม่ได้มีลุคแบบเฟมินีนจ๋าด้วย ลุคเรามันไม่สามารถเบลนด์ไปกับคนอื่นได้ แล้วยิ่งเราไว้ผมสั้น สำหรับคนไทยก็จะมองว่าเป็นลุคของผู้ชาย เราก็เลยประทับใจมากกับทุกแบรนด์ ทุกรันเวย์ที่เขาเลือกเราไปเดินเพราะเขากล้าที่จะเสี่ยงกับเรา

นลินไม่เคยโดนเลือกไปเดินในฐานะนายแบบเลยนะ เราถูกเลือกไปเดินในฐานะ “นางแบบ” ตลอด แล้วหลายแบรนด์ที่เราไปเดินก็เป็นแบรนด์ผู้หญิงที่ไม่ได้ขายลุคเท่ๆ ด้วย ตรงนี้ทำให้เราประทับใจมาก สมมติถ้าวันหนึ่งเราต้องเป็นคนเลือก ในสายตาของชายจริงหญิงแท้ เราจะกล้าเลือกคนข้ามเพศคนนี้มาเดินหรือเปล่า? เราไม่รู้ แต่พี่ๆ เขาให้โอกาสเรา มันยิ่งทำให้เราอยากทำให้เต็มที่ ส่วนตัว เราคิดว่าเราโชคดีมากที่ได้โอกาสตรงนี้ เพราะมีคนอีกมากที่อยากเป็นนางแบบ พอได้โอกาสมาก็เลยอยากจะทำให้ดีที่สุด

มีใครที่เป็น Role Model หรือเปล่า? แล้ววงการนางแบบนี่พอเข้ามาทำแล้วเหมือนหรือต่างจากภาพที่คิดไว้ไหม?

เราชอบนางแบบไทยทุกคนนะ ทุกคนอินสไปร์เรา ด้วยคาแรคเตอร์ ด้วยวิธีการทำงาน ความตรงต่อเวลา อะไรต่างๆ นางแบบไทยมีความสวยที่หลากหลาย แต่สำหรับเรา เราชอบคนที่เก่ง แล้วก็เป็นตัวของตัวเอง

พอเราได้สัมผัสกับเพื่อนที่เป็นนางแบบจริงๆ คือทุกอย่างมันต่างจากที่คิดมาก คือทุกคนไม่ได้ไฮคลาส กินหรูอยู่สบาย ทุกคนคือเป็นกันเองหมด ในไทย นางแบบไม่ใช่ดารา ถ้าเป็นเมืองนอก นางแบบอาจต้องมีบอดี้การ์ด แต่ที่นี่ นางแบบหนึ่งคนคือหนึ่งฟันเฟืองบนรันเวย์ ซึ่งก็ไม่มีใครสูงใครต่ำกว่าใคร เรามองว่านางแบบก็เหมือนพนักงานออฟฟิศ เพราะเราต่างก็เป็นหนึ่งในฟันเฟืองของบริษัทเหมือนกันที่จะทำยังไงให้เสื้อผ้าออกมาดูดีที่สุด

อะไรคือนิยามของคำว่า ประสบความสำเร็จ สำหรับนลิน?

สำหรับนลิน การประสบความสำเร็จคือวันหนึ่งที่เรามีชื่อเสียง แล้วเรามีเสียงในสังคม ซึ่งเสียงเรามันสามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ เราอยากทำให้สังคมมองเห็นคุณค่าของชาว LGBTIQ+ นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของเรา การประสบความสำเร็จ สำหรับเรา เรามองว่ามันเป็นเรื่องของการสร้างคุณค่ามากกว่าเรื่องของชื่อเสียง ถ้ามีชื่อเสียงแล้วไม่สามารถช่วยเหลือคนอื่นได้ เราจะมีชื่อเสียงไปทำไม

 

คิดว่าตัวเองมีความเป็น activist?

ส่วนหนึ่ง เพราะเรารู้สึกว่าคนอื่นเองก็ทำอะไรหลายอย่างให้เรา ทั้งโอกาส ทั้งประสบการณ์ ซึ่งคนที่เขาให้เรา เขาก็ไม่ได้หวังผลตอบแทนอะไร มันเป็นอะไรที่พูดไม่ออก มันคือความสุขที่แท้จริง เราเลยคิดว่า ถ้าวันหนึ่งเราได้เป็นคนนั้นล่ะ ได้เป็นคนที่ให้โอกาสคนอื่นหรือทำให้คนอื่นมีโอกาสเหมือนที่เราได้ นลินมองว่านี่มันคือความสุขที่ประเมินค่าไม่ได้จริงๆ แม้แต่เงินทองหรือชื่อเสียง เพราะของพวกนี้มันมาแล้วก็ผ่านไป แต่การให้โอกาสคนอื่นมันเป็นอะไรที่ยั่งยืนมากกว่า

ปัจจุบันมีคนข้ามเพศจำนวนมากที่อยากทำงานในวงการแฟชั่น ทำงานในฐานะนางแบบ นลินพอจะมีคำแนะนำอะไรให้คนกลุ่มนี้ไหม? แล้วถ้าต้องเจอกับความล้มเหลวจะต้องทำอย่างไร?

อย่างตัวเราเอง เราก็เริ่มมาจากศูนย์ จะเข้ามาทำงานตรงนี้ ก่อนอื่นเราต้องดูเรื่องความสูงของเราว่าถึงเกณฑ์ไหม เรื่องไซส์กับบุคลิกภาพ ซึ่งเอาจริงๆ มันไม่ใช่สิ่งที่ปรับยาก อย่างตัวนลินเอง เราเป็นคนตลก เก้งก้าง ทโมน ไม่ได้เรียบร้อย เรายังเป็นนางแบบได้เลย มันมีคนที่ยอมรับ สิ่งสำคัญคือความมุ่งมั่น ความตั้งใจ เพราะสาวประเภทสองต้องพยายามมากกว่าผู้หญิง ยิ่งผู้หญิงมีความพยายามมากเท่าไหร่ เรายิ่งต้องมีความพยายามให้มากกว่าเขา เพราะเราไม่ใช่ตัวเลือกหลักของตลาด เราเลยยิ่งต้องพิสูจน์ให้คนอื่นเห็นว่าเราทำได้

เป็นเรื่องปกติที่ลูกค้าจะคิดว่าเราทำไม่ได้ไว้ก่อน เพราะเขาเองก็ไม่เคยเห็นว่ามันมีอยู่จริง เขาไม่เคยเห็นว่ามีนางแบบข้ามเพศที่เข้ามายืนตรงนี้ได้ ถ้าอยากมายืนในจุดนี้ เราต้องเตรียมใจ ไม่ใช่แค่อยากเป็นเพราะเห็นคนอื่นแล้วอยาก ต้องดูว่าเราเหมาะสมไหม เราทำได้หรือเปล่า เพราะว่าอาชีพนางแบบ เมื่อเรียกว่ามันเป็นอาชีพแล้ว นลินคิดว่ามันโคตรหินอะ เพราะการทำให้ลูกค้ายอมรับ การทำให้งานวันนั้นเสร็จมันไม่ได้ง่าย ที่เราเคยเจอกับตัวคือลูกค้าไม่ชอบ โดนยกเลิกงาน อาจจะเพราะลุคเรา หรือถ่ายไปแล้วลูกค้าไม่ชอบแล้วไม่เอาภาพเราก็มี อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ขึ้นอยู่กับความชอบของลูกค้า ช่างภาพ สไตลิสต์ล้วนๆ มันเป็นการทำงานที่ยืนพื้นอยู่บนอารมณ์ของคน สิ่งที่ตามมา คือความเครียด โรคซึมเศร้า ถ้าสามารถรับเงื่อนไขตรงนี้ได้ นี่คือสิ่งที่ฉันฝัน ทำเลย ทำเลยค่ะ ไม่ต้องฟังเสียงใครหรือแม้แต่เสียงของนลิน

การจะเป็นนางแบบ อย่าเพิ่งคิดว่าเราไม่เหมาะสม เราไม่สวยพอ เพราะไม่ลองก็ไม่รู้ นลินอาจให้คำแนะนำมากไม่ได้เพราะสิ่งเหล่านี้คือต้องลองด้วยตัวเอง อย่างตัวเรา เราโดนคนอื่นว่ามาตั้งแต่เด็กว่าไม่สวย เราดำ เราเหมือนผู้ชาย แม้กระทั่งเพื่อนในมหาลัยเราก็เคยพูดว่า เราอะเป็นนางแบบไม่ได้หรอก เขาก็ล้อเลียนเรา ซึ่งเราเข้าใจเขานะ เพราะภาพของสาวประเภทสองในไทยที่เป็นนางแบบมันยังไม่มี เราเลยเอาคำเหล่านั้นมาพัฒนาตัวเองแล้วหาทางทำให้คนอื่นยอมรับในตัวเรา ในท้ายที่สุด ทุกคนถ้าพยายาม ถึงไม่ประสบความสำเร็จ แต่มันก็น่าจะส่งผลดีในด้านใดด้านหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องของความมีวินัยหรืออย่างน้อยเราก็ได้ลอง ได้พยายามในสิ่งที่เราอยากจะเป็น ซึ่งมันดีกว่าการมานั่งเสียดายทีหลังแน่ๆ

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook