พม.จ่อแก้กฎหมายหอพัก เปิดทางคนทำงานอายุเกิน 25 ปี อยู่หอได้

พม.จ่อแก้กฎหมายหอพัก เปิดทางคนทำงานอายุเกิน 25 ปี อยู่หอได้

พม.จ่อแก้กฎหมายหอพัก เปิดทางคนทำงานอายุเกิน 25 ปี อยู่หอได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พม.แก้กฎหมายหอพัก ปลดล็อกเปิดทางให้คนวัยทำงานอายุเกิน 25 ปีอยู่ได้แล้ว แต่ให้กำหนดคุณสมบัติให้ชัดเจนเพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย รวมถึงวางระบบ รปภ. ที่เข้มงวด คาดชงกฤษฎีกาพิจารณาได้ตุลาคมนี้

พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวหลังประชุมคณะกรรมการส่งเสริมกิจการหอพัก ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 61 ประกอบด้วย ผู้บริหาร พม. ผู้แทนหน่วยงานและผู้ประกอบการหอพักว่า ที่ประชุมหารือถึง พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2558 ที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้

ซึ่งมีการควบคุมเข้มงวดเกินไป โดยเฉพาะประเด็นที่กำหนดอายุผู้อยู่อาศัยต้องเป็นนักเรียนนักศึกษาอายุไม่เกิน 25 ปีเท่านั้น แต่สภาพความเป็นจริงปัจจุบัน จำนวนนักเรียนนักศึกษาลดลงไปมาก ส่งผลให้มีจำนวนนักเรียนนักศึกษาเข้าอยู่อาศัยหอพักน้อย จนผู้ประกอบการไม่สามารถประกอบกิจการและปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวได้

ดังนั้น ที่ประชุมจึงพิจารณาเห็นควรแก้ไขกฎหมายดังกล่าวให้เข้ากับยุคสมัย ด้วยการเตรียมแก้ไข พ.ร.บ.หอพักฯ ที่จะไม่กำหนดอายุและการศึกษาผู้อยู่อาศัย แต่จะกำหนดคุณสมบัติผู้พักอาศัยอายุเกิน 25 ปี ขึ้นไป เพื่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยในหอพัก เช่น เป็นผู้ที่อาศัยเดิม ต้องไม่มีประวัติอาชญากรรมและไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง ซึ่งจากนี้กรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการจะไปจัดทำรายละเอียดคุณสมบัติให้ชัดเจนต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังหารือถึงปัญหาการต่อใบอนุญาตของหอพัก ที่สร้างตาม พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2507 แต่ไม่สามารถต่อใบอนุญาตได้ใน พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2558 เนื่องจากติดปัญหามาตรฐานอาคาร ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายผังเมือง

ส่งผลให้ขณะนี้มีหอพักที่ไม่มีใบอนุญาตจำนวน 4,194 แห่งทั่วประเทศ ส่วนหอพักที่มีใบอนุญาตมีอยู่ 8,450 แห่ง ที่ประชุมจึงหารือกับกรมโยธาธิการและผังเมือง เพื่อหาแนวทางส่งเสริมให้ผู้ประกอบการหอพักสามารถขอรับใบอนุญาตตามคุณสมบัติที่กฎหมายกำหนด

ทั้งนี้ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบให้ปลดล็อกการใช้กฎหมายดังกล่าวกับหอพักที่สร้างก่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2558 ด้วยการให้วิศวกรเป็นผู้รับรองว่าอาคารมั่นคงแข็งแรง ก็สามารถมาขอต่อใบอนุญาตหอพักได้

อย่างไรก็ตาม หลังมีการปรับปรุงกฎหมายในประเด็นดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ประกอบการยังไม่มาขอรับใบอนุญาต จะต้องถูกดำเนินการทางกฎหมาย โดยมีโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 5,000 บาท ตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ซึ่งทางกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบอย่างเข้มงวด

ที่ประชุมยังมอบให้กรมกิจการเด็กและเยาวชนจัดทำคู่มือปฏิบัติงานหอพัก การเปรียบเทียบและดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.หอพักฯ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง สถานศึกษา และผู้ประกอบการเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน

ขณะเดียวกันมอบให้ฝ่ายเลขานุการเร่งจัดทำร่างปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.หอพัก พ.ศ.2558 ซึ่งจะมีการแก้ไขประมาณ 2-3 มาตรา เพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินงานหอพัก คาดว่าจะเสนอให้กฤษฎีกาพิจารณาได้ภายในเดือนตุลาคม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook