"ชัยอนันต์ สมุทวณิช" นักรัฐศาสตร์ชื่อดัง เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 74 ปี
ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ อดีตนายกราชบัณฑิตสถาน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้มีชื่อเสียง และมีบทบาทต่อการเมืองไทยอย่างสูง เสียชีวิตเมื่อกลางดึกที่ผ่านมา ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในวัย 74 ปี
ศ.ดร.ชัยอนันต์ เป็นนักรัฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับประเทศและนานาชาติ อีกทั้งเป็นนักวิชาการที่มีบทบาทอย่างสูงต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เคยดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายกราชบัณฑิตสถาน วุฒิสมาชิก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ฯลฯ
ศ.ดร.ชัยอนันต์ เกิดเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2487 เป็นบุตรของ พล.ต.ต.ชนะ สมุทวณิช โดยนามสกุล “สมุทวณิช” เป็นนามสกุลพระราชทาน ในสมัยรัชกาลที่ 6 จบการศึกษาจากวชิราวุธวิทยาลัย ก่อนเข้าศึกษาต่อที่แผนกนิติศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบปริญญาตรีจาก Victoria University of Wellington ประเทศนิวซีแลนด์ สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ประเทศสหรัฐอเมริกา
หลังจากกลับมาจากต่างประเทศได้เข้าเป็นอาจารย์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และต่อมาได้โอนย้ายมาสอนที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ระดับ 11
ในทางการเมือง ศ.ดร.ชัยอนันต์ถือเป็นนักวิชาการที่มีบทบาทอย่างสูงต่อพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย มีผลงานสำคัญมากมายจนได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มีบทบาทเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด เป็นหนึ่งในผู้ลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ 100 คน ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และในปี 2531 ได้ร่วมกับนักวิชาการคนอื่นๆ เช่น ศ.ดร.ปราโมทย์ นาครทรรพ และ รศ.ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ รวบรวมนักวิชาการ 99 คนลงชื่อเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และรณรงค์เรื่องนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ศ.ดร.ชัยอนันต์ เป็นผู้หนึ่งที่มีบทบาทเคลื่อนไหวในการเรียกร้องให้ ทักษิณ ชินวัตร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 รวมทั้งเคยดำรงตำแหน่งสำคัญทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งเสียชีวิต
ทั้งนี้ ในระหว่างเวลา 11 ปีที่ ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย โดยเป็นนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยคนแรกที่ได้กลับมาเป็นผู้บังคับการนั้น อาจารย์ชัยอนันต์ได้ริเริ่มนำทฤษฎีการศึกษาที่สนับสนุนให้เด็กได้แสวงหาความรู้อย่างมีความสุข มาปรับใช้กับการเรียนการสอนในวชิราวุธวิทยาลัย ด้วยมีความเชื่อว่า "การเล่นเพื่อรู้ เป็นวิธีการสำคัญในการพัฒนาเด็ก โดยได้คิดบัญญัติศัพท์ Plearn ซึ่งมาจากคำว่า play + learn เป็นการเปลี่ยนการเรียนตลอดชีวิต ให้เป็นการเพลินตลอดชีวิต"
ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุด ดังนี้
• มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก
• มหาวชิรมงกุฎ
• เหรียญดุษฎีมาลา เข็มศิลปวิทยา
ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช สมรสกับ นางสุภาธร สมุทวณิช (สกุลเดิม สาครบุตร) มีบุตร-ธิดา 3 คน คือ
พชร สมุทวณิช และพลอย จริยะเวช (คู่แฝด) กับนายพลาย สมุทวณิช