เปิดใจ นักดาราศาสตร์ไทยคนแรก ที่ได้ไปขั้วโลกใต้ พร้อมลุยสำรวจนาน 5 เดือน
นักดาราศาสตร์ไทยคนแรก เตรียมขึ้นเรือจีนลุยขั้วโลกใต้ รวม 5 เดือน เก็บข้อมูลรังสีคอสมิก-ดาราศาสตร์ ละเอียดยิบทุกเส้นละติจูด
นายพงษ์พิจิตร ชวนรักษาสัตย์ นักดาราศาสตร์จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. นักดาราศาสตร์ไทยคนแรก ที่ได้เดินทางไปสำรวจและวิจัยด้านดาราศาสตร์ที่ทวีปแอนตาร์กติกา หรือ ขั้วโลกใต้ ตรวจความพร้อมเครื่องตรวจวัดนิวตรอนและคอมพิวเตอร์ประมวลผลและเก็บข้อมูล ที่ติดตั้งในตู้คอนเทนเนอร์ "ช้างแวน" ก่อนออกเดินทางไปกับเรือสำรวจวิจัย “เชว่หลง" (Xue Long) หรือ “เรือมังกรหิมะ” ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์จีน เพื่อศึกษาอิทธิพลของรังสีคอสมิกที่มีต่อโลก ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 โดยมีระยะเวลาการเดินทางรวม 5 เดือน
การเดินทางสู่ขั้วโลกใต้เพื่อวิจัยทางดาราศาสตร์ครั้งนี้เป็นโครงการความร่วมมือศึกษาวิจัยดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์บรรยากาศขั้วโลก ระหว่างสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
โดยที่มาของการเดินทางครั้งประวัติศาสตร์ของนักดาราศาสตร์ไทยครั้งนี้ เริ่มต้นในปี 2556 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชประสงค์ให้ประเทศไทยศึกษาวิจัยดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์บรรยากาศบริเวณขั้วโลก ร่วมกับ สาธารณรัฐประชาชนจีน และ มอบหมายให้ สดร. ประสานงานโครงการดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
กระทั่งวันที่ 6 เมษายน 2559 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จเป็นประธานในพิธีลงนามความร่วมมือระหว่าง สดร. กับสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีน (Polar Research Institute of China : PRIC) ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกคณะกรรมการด้านวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาวิจัยขั้วโลกใต้ (Scientific Committee on Antarctic Research : SCAR) อย่างเป็นทางการในปีเดียวกัน
ต่อมา สดร. และ มช. ส่งข้อเสนอต่อสถาบันวิจัยขั้วโลกแห่งจีนในปี 2561 เพื่อศึกษาผลกระทบของรังสีคอสมิกต่อโลก และได้รับอนุมัติให้นำตู้คอนเทนเนอร์ติดตั้งบนเรือสำรวจวิจัย “เชว่หลง" (Xue Long) หรือ “เรือมังกรหิมะ” ออกเดินทางเก็บข้อมูลจากเมืองเซี่ยงไฮ้ สาธาณรัฐประชาชนจีน ไปยังสถานีวิจัยจงซาน (Zhongshan) ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งของทวีปแอนตาร์กติกา
สำหรับตู้คอนเทนเนอร์ “ช้างแวน” พัฒนาโดยนักวิจัยไทยและได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเดลาแวร์และมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน ริเวอร์ฟอลส์ สหรัฐอเมริกา ภายในติดตั้งเครื่องตรวจวัดนิวตรอน มีระบบควบคุมอุณภูมิภายในให้คงที่และห้องควบคุมที่ใช้อิเล็กทรอนิกซ์และซอฟต์แวร์ที่พัฒนาขึ้นใหม่
มีกำหนดส่งคอนเทนเนอร์ช้างแวนที่ไปยังเซี่ยงไฮ้ในวันที่ 4 ตุลาคม 2561 ก่อนที่เรือสำรวจวิจัยจะออกเดินทางออกจากจากสาธาณรัฐประชาชนจีนไปยังทวีปแอนตาร์กติกา ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2561 และจะเดินทางกลับสู่เมืองเซี่ยงไฮ้อีกครั้งในวันที่ 10 เมษายน 2562 รวมระยะเวลาการเดินทางทั้งหมด 5 เดือน
ตลอด 5 เดือนของการเดินทางเครื่องตรวจวัดนิวตรอนจะเก็บข้อมูลและศึกษาสเปกตรัมของรังสีคอสมิกในทุกเส้นละติจูดเพื่อให้เข้าใจสนามแม่เหล็กโลกที่เชื่อมโยงกับสภาพอวกาศได้มากขึ้น รังสีคอสมิกเป็นอนุภาคพลังงานสูงหรือรังสีแกมมาจากนอกโลกที่ผ่านเข้ามาในชั้นบรรยากาศของโลก และส่งผลกระทบทางอ้อมต่อสิ่งมีชีวิต
โดยพายุสุริยะที่ปะทุออกมาอย่างรุนแรงในลักษณะการแผ่รังสีส่งผลกระทบต่อนักบินอวกาศ ทำให้ระบบไฟฟ้าปิดตัวลงและรบกวนสัญญาณวิทยุต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังอาจส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศและสภาพภูมิอากาศของโลกด้วย แต่ในขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงอิทธิพลเหล่านั้น
นายพงษ์พิจิตร ชวนรักษาสัตย์ นักดาราศาสตร์ไทย วัย 25 ปี ผู้เดินทางในครั้งนี้ บอกว่า รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่ได้รับเลือกให้เดินทางไปกับกลุ่มวิจัยขั้วโลกในครั้งนี้ ตอนนี้ได้เตรียมความพร้อมด้านร่างกายที่จะต้องเผชิญกับสภาพอากาศแถบขั้วโลก พร้อมกับความรู้เพื่อให้การทดลองสำเร็จไปด้วยดี
และคาดหวังว่าการสำรวจวิจัยครั้งนี้จะได้ผลลัพธ์ที่เป็นองค์ความรู้ใหม่ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ รวมทั้งเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาดาราศาสตร์ให้กับคนรุ่นใหม่ของประเทศไทย