เลือดข้นคนจาง: ความคลั่งลูกชายของสังคมจีนที่กำลังเปลี่ยนแปลง

เลือดข้นคนจาง: ความคลั่งลูกชายของสังคมจีนที่กำลังเปลี่ยนแปลง

เลือดข้นคนจาง: ความคลั่งลูกชายของสังคมจีนที่กำลังเปลี่ยนแปลง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นาทีนี้คงจะไม่มีอะไรที่เป็นกระแสทั่วบ้านทั่วเมืองได้เท่ากับซีรีส์เรื่องใหม่ของค่ายนาดาว บางกอก “เลือดข้นคนจาง” ซีรีส์ที่ว่าด้วยความขัดแย้งและการฆาตกรรมภายในครอบครัวเศรษฐีเชื้อสายจีนขนาดใหญ่ หนึ่งในปมที่ถูกทิ้งไว้ให้เป็นคำถามในใจของผู้ชมหลายคน นั่นก็คือภาพของลูกสาวคนเล็กในตระกูลซึ่งเป็นคนที่ทำงานหนักที่สุดเพื่อที่จะดูแลธุรกิจของครอบครัว ทว่าเมื่อพินัยกรรมของอากงถูกเปิดเผย เธอกลับได้รับมรดกในสัดส่วนที่น้อยกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับผู้ชายคนอื่นในตระกูล

>> "แหม่ม คัทลียา" ขยี้ดราม่า ปมลูกสาวคนจีน ใน "เลือดข้นคนจาง"

อาการเลือกที่รักมักที่ชังนี้ สำหรับสังคมจีน เป็นค่านิยมที่ถูกสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานนับพันปี จากการค้นคว้า Sanook! News พบว่า เรื่องนี้เกี่ยวพันทั้งกับเรื่องของสภาพสังคม ค่านิยม รวมถึงวิธีคิดบางอย่างที่ได้รับอิทธิพลมาจากหลักการทางศาสนา

ความไม่สมดุลทางเพศในสังคมจีน

จากข้อมูลของ กาญจนา ตั้งชลทิพย์ ในบทความเรื่อง "ความไม่สมดุลทางเพศในประเทศนิยมมีลูกชาย" มีหลายปัจจัยทีเดียวที่ทำให้ค่านิยมในการมีลูกชายกลายเป็น "คุณค่า" สูงสุดอย่างหนึ่งในสังคมจีน

  • ความจำเป็นของสังคมเกษตรกรรมที่ต้องการแรงงานจำนวนมาก สังคมจีน แต่โบราณ เป็นสังคมเกษตรกรรม ผู้ชายจึงเป็นกำลังสำคัญในการผลิตและหาเลี้ยงครอบครัว ในขณะที่ลูกสาว เมื่อแต่งงานแล้ว จะต้องย้ายไปอยู่บ้านฝ่ายชาย (Patrilicality) ไม่สามารถทำหน้าที่เป็นแรงงานให้กับครอบครัวตัวเองต่อไปได้ การมีลูกสาวจึงถือว่าเป็นเรื่องเสียเปรียบในแง่ของแรงงานการผลิต เมื่อสอบถามเพิ่มเติมจาก กรพนัช ตั้งเขื่อนขันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากความจำเป็นด้านแรงงาน การที่คนในสังคมจีนมีจำนวนมากก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่เข้ามากำหนดค่านิยมของสังคมเช่นกัน สิ่งนี้ถูกสะท้อนออกมาผ่านการจัดระเบียบของสังคมจีน มีการสร้างลำดับชั้นความสัมพันธ์ขึ้นมา มีการจัดลำดับว่าใครสำคัญกว่าใคร ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนที่อายุมากกับคนที่อายุน้อย พี่กับน้อง พ่อกับลูก สามีกับภรรยา และผู้ชายกับผู้หญิง
  • ลูกชายมีหน้าที่ในการดูแลพ่อแม่ ตามแนวคิดของลัทธิ ขงจื๊อ ความกตัญญูเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ลูกชายคนโตมีหน้าที่ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในการดูแลครอบครัวและพ่อแม่ ด้วยเหตุนี้ สังคมจีนจึงได้คิดค้นวิธีการอันหลากหลายที่เชื่อกันว่าจะช่วยให้ได้ลูกชายมาเพื่อสืบสกุล ลูกสาวเมื่อแต่งงานก็จะถือว่ากลายเป็นคนของครอบครัวอื่น การมีลูกชายจึงเรียกได้ว่าเป็นการสร้างความมั่นคงอย่างหนึ่งของพ่อแม่ในยามแก่เฒ่า นี่เป็นแนวคิดที่มีอิทธิพลอย่างมาก โดยเฉพาะในสังคมที่ไม่มีรัฐสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุ
  • ลูกชายมีพันธะในการสืบสกุล ลูกชายคนโตของครอบครัวมีหน้าที่ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ อย่างเช่น ลูกชายเท่านั้นที่สามารถนำวิญญาณพ่อแม่ไปสู่สรวงสวรรค์ ซึ่งลูกสาวไม่สามารถทำได้ อาจารย์กรพนัชเสริมว่า พิธีกรรมต่างๆ ในสังคมจีนที่เน้นในเรื่องของลัทธิบูชาบรรพบุรุษนี้เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อสร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันและความสามัคคีในครอบครัวโดยยึดโยงอยู่กับ “ราก” ของตระกูลเป็นสำคัญ

นอกจากนั้น สังคมจีนยังเป็นสังคมที่การสืบเชื้อสายของตระกูลจะถูกถ่ายทอดต่อได้โดยเพศชาย (Patrilineal) การที่ลูกชายไม่มีบุตรไว้เพื่อสืบสกุล สำหรับสังคมจีน ถือเป็นบาปมหันต์ อาจารย์กรพนัช ขยายความเพิ่มในเรื่องนี้ว่า สังคมจีนมีคำกล่าวที่ว่า 不孝有三,无后为大 "ปู๋เสี้ยวโหย่วซาน อู๋โฮ่วเหวยต้า" หรือแปลว่า ความอกตัญญูนั้นมีอยู่สามประการ ที่หนักหนาสาหัสที่สุดก็คือการไม่มีทายาท ผู้ชายจึงถูกคาดหวังว่าต้องมีหน้าที่สืบสกุลต่อไป ทว่าเมื่อไม่สามารถมีลูกชายได้ ภรรยาหรือสะใภ้ก็มักจะกลายเป็นจำเลยในสายตาของครอบครัวสามีอยู่ร่ำไป

>> "เลือดข้นคนจาง" ละครย้อนรอยตำนานชิงมรดกตระกูลดัง

นโยบายลูกคนเดียว ต้นกำเนิดของความไม่สมดุลระหว่างเพศชายและเพศหญิง

จากข้อมูลของอาจารย์กรพนัช นโยบายนี้ถูกนำมาใช้อย่างเป็นระบบช่วงทศวรรษที่ 70 ราวปี 78-79 พอหลังยุค 80-90 นโยบายนี้ถูกเอามาใช้อย่างเข้มงวดมากขึ้น การที่รัฐอนุญาตให้คนในสังคมมีลูกได้คนเดียว คนส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะมีลูกชาย แม้จะมีการห้ามไม่ให้ทำอัลตราซาวด์ แต่ก็ไม่สามารถใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ หลายคนเมื่อมีลูกเป็นผู้หญิงก็เลยจำเป็นต้องกำจัดลูกสาวทิ้งเสีย เพราะมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ ทำให้ในปัจจุบันจีนต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องความไม่สมดุลของประชากรชายและหญิงที่มีจำนวนต่างกันมาก

ในบทความของ BBC ไทย ระบุว่า ในปี 2015 รัฐบาลจีนได้ยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว แต่แนวโน้มเรื่องจำนวนประชากรก็ยังน่าเป็นห่วง แม้ว่าจะมีจำนวนที่เพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ก็ต้องใช้เวลาอีกนานทีเดียวกว่าที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างชัดเจน เช่นเดียวกันกับประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ อัตราการแต่งงานของคนจีนมีจำนวนที่ลดลง ในขณะที่จำนวนคู่หย่าร้างเพิ่มมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ จีนจึงมีประชากรเพศชายจำนวนมากที่อายุมากกว่า 30 ทว่ายังไม่แต่งงาน คนส่วนนี้ส่วนใหญ่เป็นคนยากจนที่อยู่ตามชนบท

ป้ายโฆษณาเพื่อสนับสนุนนโยบายลูกคนเดียวในจีนgettyimagesป้ายโฆษณาเพื่อสนับสนุนนโยบายลูกคนเดียวในจีน

จีนใหม่ – จีนเก่า

เมื่อพิจารณาดูแล้ว นอกเหนือจากนโยบายเรื่องลูกคนเดียว อาจารย์กรพนัชมองว่ายังมีปัจจัยอื่นอีกที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการเกิดของประชากรชาวจีนในปัจจุบัน นั่นก็คือการที่ผู้หญิงจีนมีการศึกษามากขึ้น มีตัวเลือกในชีวิตมากขึ้น หลายคนก็เลยเลือกที่จะไม่แต่งงานหรือมีลูก เพราะเรื่องค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูที่เพิ่มจากสมัยก่อน

แม้ผู้หญิงจีนดูเหมือนว่าจะเป็นฝ่ายเสียเปรียบในอดีต ทว่าในปัจจุบัน พวกเธอกลับกลายเป็นฝ่ายกุมอำนาจในแง่ของความสัมพันธ์ อาจารย์เล่าติดตลกว่า ในเมื่อมีผู้ชายเยอะกว่า เวลาจะแต่งงาน ผู้หญิงจะกลายเป็นฝ่ายเลือกทันทีเพราะมีจำนวนน้อยกว่า เลยเกิดอาการที่ว่า “ถึงฉันไม่สวยแต่ฉันก็เลือกได้นะ” อาการสวยเลือกได้นี้ถูกสะท้อนออกมาในรายการ Take Me Out ที่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้เป็นฝ่ายเลือกผู้ชายคนที่ถูกใจซึ่งไทยเราซื้อลิขสิทธิ์เข้ามาอีกต่อ กลายเป็นว่า ผู้ชายต้องเจอกับแรงกดดันในการที่จะหาคนมาแต่งงานมากขึ้น ทำให้ในหลายพื้นที่ มีการนำเข้าเจ้าสาวจากต่างประเทศที่ยากจนกว่าเพื่อมาแต่งงานและสืบสกุลต่อไป

โลกทัศน์ที่มีต่อลูกสาวของสังคมจีนถือว่าเปลี่ยนไปมากทีเดียวในปัจจุบัน ในทัศนะของอาจารย์ เธอมองว่านั่นเป็นเพราะคนที่เกิดในช่วงยุคนโยบายลูกคนเดียวต่างเติบโตเป็นผู้ใหญ่หมดแล้ว มีผู้หญิงจำนวนมากที่ได้รับการศึกษา ได้รับการลงทุนในแบบเดียวกันกับลูกชาย เป็นการตอกย้ำสังคมว่า ถึงฉันจะเป็นผู้หญิง ฉันก็สามารถประสบความสำเร็จได้ บางคนอาจจะทำได้ดีกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ สำหรับพวกเธอ การมีคู่หรือมีลูกเลยไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไป หากลองเทียบกันดูแล้ว ลูกผู้หญิงที่โสดในปัจจุบัน อันที่จริง สามารถดูแลพ่อแม่ได้ดีกว่าลูกชายด้วยซ้ำ เพราะเวลาที่ลูกชายเป็นฝ่ายดูแล ปัญหาคลาสสิคที่มักจะตามมาก็คือความบาดหมางระหว่างแม่ผัวลูกสะใภ้ ลูกผู้ชายบางคนอาจจะฟังเมียมากกว่าแม่ด้วยซ้ำ เมื่อมีจำนวนที่น้อยกว่า ผู้หญิงหลายคนเลยเลือกที่จะแต่งงานกับผู้ชายที่ร่ำรวยเพื่อจุนเจือทางบ้าน  เหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ทัศนคติของสังคมที่มีต่อลูกผู้หญิงเริ่มเปลี่ยนไป แม้ว่าจะไม่ได้เปลี่ยนไปทั้งหมด แต่ก็เปลี่ยนไปจากอดีตมากทีเดียว

อืม…เอาจริงๆ ก็น่าตั้งคำถามเหมือนกันนะว่าทำไมในสังคมไทย อาการเลือกที่รักมักที่ชังนี้ถึงยังฝังรากอยู่ในครอบครัวคนจีนโพ้นทะเล? Sanook! News เลยอยากจะชวนให้ผู้อ่านร่วมกันแบ่งปันเรื่องราวของตัวเอง ไม่แน่อาจมีใครได้แง่มุมอะไรใหม่ๆ เอาไว้คุยกันเวลารวมญาติครั้งหน้าก็ได้นะ!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook