ผู้ใช้รถ "ฟอร์ด" ยิ้มออก ศาลสั่งชดใช้เหยื่อเกียร์มีปัญหารวม 23 ล้านบาท
ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ถ.เจริญกรุง 63 “กลุ่มผู้ใช้รถยนต์ฟอร์ดรุ่นเฟียสต้าและรุ่นโฟกัส” ได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาในคดีที่ได้มีการยื่นฟ้องคดีผู้บริโภคแบบกลุ่ม “308 ราย” ยื่นฟ้องบริษัท ฟอร์ด เซลส์ แอนด์ เซอร์วิส แห่งประเทศไทย จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงในการเป็นผู้สั่งผลิตและจำหน่ายในประเทศไทย เป็นจำเลยเรื่องชำรุดบกพร่อง, สินค้าไม่ปลอดภัย เนื่องจากการผลิตและจัดจำหน่ายรถยนต์ชำรุดบกพร่องไม่ได้มาตรฐาน ไม่เป็นไปตามคำโฆษณา และทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงอันตราย เรียกค่าเสียหายเชิงลงโทษและจิตใจ รวมจำนวนกว่า 24 ล้านบาท
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า บริษัทฟอร์ดสั่งประกอบและผลิตรถยนต์ทั้ง 2 รุ่นออกมาจำหน่ายในประเทศไทยจำนวน 9 หมื่นคันต่อปี แต่พบรถยนต์ที่มีปัญหาไม่เกิน 500 คันเท่านั้น และยังไม่มีผู้เสียหายรายใดได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แม้ทางบริษัทฟอร์ดจะยอมรับว่ามีข้อบกพร่องชำรุด ในเรื่องชุดคลัทช์และโมดุลเกียร์ แต่ก็เป็นปัญหาที่สามารถซ่อมแซมและเปลี่ยนอะไหล่ได้ ยังไม่ถือว่ารถยนต์ทั้ง 2 รุ่นเป็นสินค้าที่ไม่มีความปลอดภัย หรือไม่ได้มาตรฐาน
ศาลจึงไม่มีอำนาจสั่งให้ทางบริษัทฟอร์ด ซื้อคืนรถที่มีปัญหาจากผู้เสียหาย / ห้ามจำหน่ายหรือเรียกเก็บรถทั้ง 2 รุ่นที่ยังอยู่ในท้องตลาดได้ แต่ให้ทางบริษัทฟอร์ด ชดใช้ค่าเสื่อมราคาจากการซ่อมครั้งละ 2 หมื่นบาท และค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้รถระหว่างซ่อมวันละ 1,000 บาท ให้กับโจทก์และสมาชิกกลุ่มรวมทั้งสิ้น 296 ราย ตกรายละ 15,000 บาท ถึง 240,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 23 ล้านบาท และให้จ่ายดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับจากวันฟ้อง โดยให้ชำระเงินคืนให้กับผู้เสียหายภายใน 7 วัน
ส่วนผู้เสียหายอีก 12 ราย ศาลให้ยกฟ้องเนื่องจากผู้เสียหายนำรถยนต์ไปดัดแปลงสภาพติดตั้งระบบแก๊ส LPG จำนวน 6 ราย และไม่เคยนำรถยนต์เข้าซ่อมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงชิ้นส่วนชุดคลัทช์และกล่องควบคุมโมดุลเกียร์ที่มีปัญหา จำนวน 6 ราย
ด้านนายจิณณะ แย้มอ่วม ทนายความ ยืนยันว่าคำพิพากษาวันนี้ถือเป็นชัยชนะของพลังผู้บริโภค แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่เห็นด้วย และจะหารือเรื่องการยื่นอุทธรณ์ โดยเฉพาะประเด็นรถด้อยคุณภาพ ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย และต้องการให้บริษัทซื้อรถหรือเรียกรถคืน รวมถึงอุทธรณ์ให้กับผู้เสียหายทั้ง 12 คนที่ไม่ได้รับเงินชดเชยด้วย โดยภายใน 1 เดือนจะทราบผล เช่นเดียวกับจำเลยที่มีสิทธิ์จะยื่นอุทธรณ์เช่นกัน
นอกจากนี้ ทนายความยังระบุอีกว่า กลุ่มผู้เสียหายต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปกฎหมายและสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. และอยากผลักดันกฎหมาย Lemon Laws หรือตั้งองค์กรอิสระให้มาคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริงเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งมีการคืนเงินให้กับผู้เสียหายที่รถมีปัญหาภายใน 3 เดือน หรือเปลี่ยนคันใหม่ให้ หากพบว่ารถยังมีปัญหาอยู่ใน 6 เดือน