มิติใหม่ของการรักษาโรค “ผู้ช่วยหมอเอไอ” เข้ามามีบทบาทในวงการแพทย์แผนจีน
สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า นายฉวี เจี้ยนกั๋ว วัย 64 ปีได้รับการรักษาพยาบาลแบบใหม่ในเซี่ยงไฮ้ ด้วยการวางข้อมือผ่านเครื่องวัดชีพจรอัตโนมัติและได้รับการรายงานผลภายใน 2 นาที ผ่านทางโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้องมีแพทย์อยู่ด้วย
อุปกรณ์ขนาดเล็กเพื่อการบันทึกการเต้นของหัวใจเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทเทคโนโลยีจีนพัฒนาขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของจีน ผ่านการผสานกันระหว่างข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI)
เครื่องตรวจวัดที่ผลิตโดยบริษัท Ping An Good Doctor ได้ถูกนำมาจัดแสดงในงาน AI World Expo 2018 ในเซี่ยงไฮ้ ในช่วงเวลาที่จีนกำลังผลักดันและส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก
“ฉันมาที่นี่เพื่อดูว่าการรักษาโดยแพทย์แผนจีนแบบจีนสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีแพทย์ ซึ่งมันสะดวกมากจริงๆ” ฉวีหนึ่งในผู้ร่วมงานจัดแสดงสินค้าซึ่งเป็นอดีตพนักงานด้านไอทีที่เกษียณอายุแล้วกล่าว
คณะกรรมการสาธารณะสุขแห่งชาติจีน (National Health Commission) ระบุว่า ในปี 2017 จีนมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์น้อยกว่า 12 ล้านคน ในขณะที่จีนมีจำนวนประชากรมากเกือบ 1.4 พันล้านคน
Ping An Good Doctor ที่เพิ่งจดทะเบียนในฮ่องกง เจ้าของแพลตฟอร์มด้านการดูแลสุขภาพออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่ลงทะเบียนกับแพลตฟอร์มนี้แล้ว 228 ล้านราย
Bi Ge โฆษกของบริษัทกล่าวว่า แพลตฟอร์มของบริษัทมีผู้ใช้งานที่ขอรับปรึกษาปัญหาสุขภาพทุกวัน วันละประมาณ 500,000 ครั้ง
เครื่องวัดชีพจรเป็นส่วนหนึ่งของระบบการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ผ่านระบบเอไอหรือปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งช่วยให้ผู้ป่วยสามารถตรวจร่างกายเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็วและรับใบสั่งยาได้โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลหรือร้านขายยา
บริการของ Ping An ประกอบด้วยแอปพลิเคชันในมือถือที่ผู้ป่วยสามารถป้อนข้อมูลส่วนบุคคล ประวัติทางการแพทย์ของตนเอง และอธิบายถึงอาการป่วยของตัวเองให้กับ “พนักงานต้อนรับ” ระบบเอไอที่จะส่งข้อมูลต่อไปยังแพทย์ที่เป็นคนจริงๆ เพื่อให้แพทย์ทำการวินิจฉัย
“มันช่วยลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ของจีนได้อย่างมาก...เมื่อมีเอไอเข้ามาช่วยก็ทำให้แพทย์ลดภาระงานที่ง่ายๆ ทั่วไปและต้องทำซ้ำๆ ได้ หลิวคัง อดีตแพทย์ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยปักกิ่งเหลียนเหอกล่าว พร้อมเสริมว่าการพัฒนาด้านการแพทย์แบบเอไอของจีนโดยรวมยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการวิ่งตาม
บริษัท นักวิจัย และสตาร์ทอัพในสหรัฐฯ และยุโรป ก็เริ่มนำเทคโนโลยีเอไอมาใช้กับความต้องการด้านการดูแลสุขภาพต่างๆ บริษัทจีนเองได้เรียนรู้จากประเทศอื่นๆ และนำมาพัฒนาระบบการดูแลด้านสุขภาพด้วยเอไอเช่นกัน เช่น การวินิจฉัยภาพทางการแพทย์ ระบบการผ่าตัดหุ่นยนต์ และการวิจัยและพัฒนายา
หมอเก่งๆ ในประเทศจีนเป็นที่ต้องการอย่างมาก แต่มีอุปทานต่ำและไม่มีการกระจายทรัพยากรด้านนี้อย่างเท่าเทียม
รายงานจากศูนย์ข้อมูลสารสนเทศของรัฐ ประจำปี 2017 ระบุว่า โรงพยาบาลที่มีโครงสร้างพื้นฐานระดับสูงในประเทศจีนมีสัดส่วนไม่ถึงร้อยละ 10 แต่ต้องบริการจำนวนผู้ป่วยครึ่งหนึ่งของประเทศ
Big Data และบริการที่นำเอไอเข้ามาช่วย รวมถึงเทคโนโลยีการสื่อสารทางไกล ที่หลายบริษัทกำลังพยายามพัฒนา ช่วยให้ผู้ป่วยในหัวเมืองระดับสองและสามของจีน สามารถเข้าถึงคำแนะนำจากมืออาชีพอย่างแพทย์ที่เก่งๆ ที่อยู่ในเมืองใหญ่ได้