“ศัลยกรรมแบบไหน” ให้ร่างกายปลอดภัยและชีวิตไม่พัง
เชื่อว่าทุกวันนี้ คงไม่มีใครไม่คุ้นเคยกับการทำศัลยกรรมเสริมความงาม เพราะไม่ว่าจะเป็นดารา คนดัง หรือแม้กระทั่งคนทั่วไป ก็หันมาใช้บริการนี้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งยิ่งวิทยาการทางการแพทย์ในปัจจุบันสามารถทำให้การแปลงโฉมสามารถทำได้อย่างเป็นธรรมชาติเท่าไร ก็ยิ่งดึงดูดความสนใจของหนุ่มสาวยุคนี้ได้มากเท่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ปากนิดจมูกหน่อยแบบเกาหลีที่เพิ่งผ่านไป หรือเทรนด์หน้าลูกครึ่งที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ธุรกิจศัลยกรรมก็ยังคงเติบโตได้เรื่อยๆ เพราะนอกจากจะทำให้คนหน้าตาดีขึ้นแล้ว ยังพาเอาโอกาสต่างๆ เข้ามาในชีวิตด้วย ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน ชื่อเสียง หรือกระทั่งความรัก แม้ว่าขณะเดียวกัน เราจะได้ยินข่าวคราวของผู้ใช้บริการศัลยกรรมเสริมความงาม ที่ไม่สามารถไปถึงฝั่งฝันจากการทำศัลยกรรมที่ผิดพลาด บางรายเสียโฉม พิการ บางรายเสียชีวิต แต่หลายคนก็ยังเลือกเส้นทางนี้ เมื่อปฏิเสธไม่ได้ว่าศัลยกรรมเสริมความงามก็มีส่วนช่วยให้ชีวิตดีขึ้น คำถามก็คือเราจะเดินบนเส้นทางนี้ไปสู่โอกาสอย่างปลอดภัยได้อย่างไร Sanook! News จะพาคุณไปหาคำตอบ เพื่อชีวิตที่ “ปัง” ไม่มีความพังมาแผ้วพาน
>> พิษศัลยกรรม! สาวร้องสักปากชมพูคลินิกพริตตี้ดัง ทำติดเชื้อเป็นหนอง
>> "เม จีระนันท์" อดีตนักร้อง เผยประสบการณ์บินทำหน้าอกที่เกาหลี ติดเชื้ออาการปางตาย
>> พริตตี้สาวสองร้องสื่อ ฉีดฟิลเลอร์ทำหน้าเบี้ยว-เป็นหนอง คลินิกปัดรับผิดชอบ
ต้องดูอะไรบ้าง ก่อนทำศัลยกรรม
ที่ผ่านมา เมื่อต้องหาข้อมูลเกี่ยวกับโรงพยาบาลหรือคลินิกศัลยกรรม เรามักจะได้ยินคำแนะนำว่า สถานพยาบาลนั้นๆ ต้อง “น่าเชื่อถือ” ซึ่งดูแล้วก็เป็นคำกว้างๆ ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า ที่ว่าน่าเชื่อถือนั้น ต้องเป็นอย่างไรกันแน่ ประเด็นนี้ นพ.สงวน คุณาพร เลขาธิการสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจัย 4 ประการที่เราต้องคำนึงถึงก่อนที่จะรับบริการศัลยกรรมเสริมความงาม เพื่อลดความเสี่ยงในการผิดพลาด ประกอบด้วย ตัวผู้รับบริการ แพทย์ หัตถการหรือประเภทของการทำศัลยกรรม และสถานประกอบการ
(1) ผู้รับบริการ
นพ.สงวนระบุว่า แม้ปัจจุบัน ผู้ที่จะเข้ารับการทำศัลยกรรมจะมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ แต่ในทางการแพทย์และทางกฎหมาย ผู้ที่จะเข้ารับการศัลยกรรมควรจะมีอายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งถือว่าบรรลุนิติภาวะแล้ว สามารถตัดสินใจ และทำนิติกรรมด้วยตัวเองได้ แต่สำหรับผู้ที่อายุน้อยกว่า 20 ปี ควรได้รับการยินยอมจากผู้ปกครองก่อน นอกจากนี้ ผู้รับบริการควรมีสุขภาพดี ไม่มีโรคประจำตัว หรือหากมีโรคประจำตัว ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ และหากศัลยแพทย์ประเมินแล้วว่าไม่มีผลต่อการทำศัลยกรรม ก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม สำหรับอาการผิดปกติบางอย่าง ซึ่งเป็นข้อห้ามทางศัลยกรรม เช่นเป็นโรคเลือดออกง่ายหรือเลือดหยุดไหลยาก แพทย์จะต้องชั่งน้ำหนักให้ดีว่าควรทำศัลยกรรมหรือไม่ อีกทั้งผู้เข้ารับบริการจะต้องมีสติสัมปชัญญะดี ไม่มีโรคทางจิตเวช มีความพร้อมทางจิตใจที่สมเหตุสมผล และมีความคาดหวังจากศัลยกรรมตามความเป็นจริง
(2) แพทย์
แพทย์ถือว่ามีบทบาทสำคัญในการทำศัลยกรรมเสริมความงาม ดังนั้น ผู้ที่จะให้บริการด้านศัลยกรรมจึงควรเป็นแพทย์หรือศัลยแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันที่ทางราชการรับรองจริง อย่างไรก็ตาม ศัลยแพทย์ตกแต่งในประเทศไทยกลับมีอยู่ราว 300 คนเท่านั้น ทว่า พรบ. การประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้ให้สิทธิแพทย์ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม สามารถทำการรักษาและทำหัตถการได้ทุกประเภท ทำให้แพทย์จบใหม่ที่ยังไม่ได้เรียนเฉพาะทาง ก็สามารถให้บริการทำศัลยกรรมเสริมความงามได้ ตราบใดที่ไม่ได้โฆษณาว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านใดด้านหนึ่ง ประกอบกับความสะดวกสบายในการดูแลผู้ป่วย ที่ไม่ใช่ผู้ป่วยฉุกเฉิน มีระบบนัดหมายแน่ชัด และยังเป็นที่ต้องการในปัจจุบัน ก็ทำให้แพทย์ทั่วไปเลือกที่จะเดินในเส้นทางสายนี้เป็นจำนวนมาก
แม้ว่า พรบ.การประกอบวิชาชีพเวชกรรมจะเอื้อให้มีจำนวนแพทย์มากขึ้น แต่การให้สิทธิตาม พรบ. นี้ กลับมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยในประเด็นนี้ นพ.นพรัตน์ รัตนวราห ศัลยแพทย์ เจ้าของคลินิกศัลยกรรมตกแต่งนพรัตน์ มองว่า แพทย์ทั่วไปกับแพทย์ที่จบหลักสูตรเฉพาะทางด้านการศัลยกรรมมีความแตกต่างกัน ในแง่ของความรู้พื้นฐานด้านการศัลยกรรม และรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ
“ความรู้พื้นฐานมันต่างกันเยอะ การหายของเนื้อเยื่อ การใส่อะไรให้คนไข้แล้วมีปฏิกิริยาอะไรบ้าง เขาก็ไม่รู้ เขารู้แต่ว่าจะตัดกระดาษอย่างไร จะพับกระดาษเป็นรูปนกทำอย่างไร แต่ไม่รู้ว่าเนื้อกระดาษเป็นอย่างไร พับแบบนี้จะอยู่ไหม คุณต้องเรียนรู้เกี่ยวกับการเย็บแผลอย่างไรให้ประณีต เกิดแผลเป็นน้อย การหายของแผลจะหายเร็วได้อย่างไร การตัดเส้นเลือด ตัดอย่างไร” นพ.นพรัตน์ขยายความ
และจากความนิยมในการศัลยกรรมความงาม ก็ทำให้ธุรกิจด้านนี้กลายเป็นเค้กก้อนโตที่ใครๆ ก็อยากมาแบ่งผลประโยชน์อันมหาศาล ตัวละครอีกกลุ่มที่เข้ามาจับจองชิ้นเค้กก็คือ คนดังและนักธุรกิจ ที่ไม่ได้มีความรู้ด้านการแพทย์ แต่มีเงินทุนมากพอที่จะเปิดคลินิกเสริมความงาม และเน้นการบริหารงานเชิงธุรกิจมากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมส่งผลต่อผู้รับบริการอย่างมาก
“การที่เจ้าของไม่ได้เป็นแพทย์ เขาก็จะมองการบริหารและนโยบายที่เป็นธุรกิจเพียงอย่างเดียว คือจะทำอย่างไรก็ได้ที่ให้กำไรมากที่สุด ก็คือจ้างบุคลากรถูกๆ อุปกรณ์ถูกๆ แล้วเก็บเงินแพงๆ ให้การตลาดเป็นตัวนำ ทำให้การแข่งขันในตลาดมีสูง และก็จะมีปัญหาต่างๆ ตามมา พอมีคลินิกลักษณะนี้เกิดขึ้นมากขึ้น แพทย์เฉพาะทางจริงๆ ก็ไม่พอ ก็จะมีแพทย์ที่ไม่ได้จบเฉพาะทาง หรือแพทย์ที่ยังเด็กอยู่ ไปอบรมคอร์สสั้นๆ แต่ที่จริง ในรายละเอียดของแพทย์เฉพาะทางมันมีข้อมูลมากมายมหาศาล ซึ่งเขายังไม่ได้เรียน ก็จะทำให้ผิดพลาดเยอะ บางคลินิกก็ทำการตลาดดีมาก คนไข้นั่งรอล้นเลย ก็ต้องรีบๆ ผ่า โดยที่ดูผลประโยชน์เป็นสำคัญ ไม่ได้มีการคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์กับคนไข้ ทำให้ความเมตตา ความเอื้ออาทรมันน้อยลงไป” นพ.นพรัตน์เผยข้อมูลอีกด้านของธุรกิจศัลยกรรม
(3) หัตถการ
หัตถการคือ การตรวจวินิจฉัยความปกติและความผิดปกติ รวมไปถึงวิธีการต่างๆ ในการดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งต้องทำโดยผู้ที่ผ่านการเรียนรู้และฝึกอบรม สำหรับการทำศัลยกรรมเสริมความงาม นพ.สงวนแนะนำว่า ผู้ที่เข้ารับบริการต้องศึกษาข้อมูลเบื้องต้นว่าหัตถการประเภทนั้นๆ เหมาะสมกับร่างกายอย่างไร รวมทั้งต้องพูดคุยในรายละเอียดกับศัลยแพทย์ ทั้งความเหมาะสมกับร่างกาย ข้อจำกัด ภาวะแทรกซ้อน และทางเลือกอื่นๆ ในกรณีที่ไม่สามารถทำหัตถการนั้นๆ ได้ ซึ่งศัลยแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและรักษาจริยธรรมในวิชาชีพจริงๆ จะสามารถให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาแก่ผู้รับบริการ
(4) สถานประกอบการ
สำหรับสถานประกอบการในการทำศัลยกรรม นพ. สงวนแนะนำว่าควรเป็นโรงพยาบาลหรือคลินิก ซึ่งหากเป็นคลินิกทั่วไป จะสามารถทำหัตถการที่ไม่ต้องให้ยาสลบ และไม่ต้องให้ผู้ป่วยค้างคืน หรือหากเป็นคลินิกขนาดใหญ่ที่มีห้องผ่าตัด อุปกรณ์ และบุคลากรพร้อม แต่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงพยาบาล ก็คงจะต้องขออนุญาตจากส่วนราชการในการทำหัตถการที่ให้ยาสลบ และอนุญาตให้ผู้ป่วยค้างคืนได้ เป็นกรณีไป ด้าน นพ.นพรัตน์ระบุว่า ภายในสถานประกอบการจะต้องสะอาด ไฟสว่าง วัสดุอุปกรณ์ได้มาตรฐาน และมีการฆ่าเชื้อทำความสะอาดอย่างดี นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องการทำศัลยกรรม สามารถตรวจสอบชื่อของแพทย์ในสถานพยาบาลนั้นๆ ทางเว็บไซต์ของแพทยสภา หรือตรวจสอบสถานะความเชี่ยวชาญของแพทย์ได้ในเว็บไซต์ของสมาคมวิชาชีพผู้เชี่ยวชาญด้านนั้น เช่น ศัลยแพทย์ตกแต่งหรือเสริมความงาม สามารถตรวจสอบสถานะความเชี่ยวชาญได้ทางเว็บไซต์หรือโทรสอบถามได้ที่สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย หรือสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ด้านผู้ใช้บริการจริงอย่างคุณณิชพัณณ์ วัฒน์สิทธาสิริ หรือ กุ๊กไก่ พริตตี้ผู้ผ่านการศัลยกรรมเสริมความงามหลายครั้งตั้งแต่วัยรุ่น และมักจะใช้บริการศัลยกรรมจากโรงพยาบาลในประเทศเกาหลีใต้เป็นหลัก ก็มองว่าการศัลยกรรมเสริมความงามสามารถเกิดข้อผิดพลาด หรือที่เรียกว่า “เคสหลุด” ได้ แต่ส่วนตัวคุณกุ๊กไก่จะเลือกโรงพยาบาลที่ตรวจสอบอย่างดีแล้วว่าไม่มีเคสหลุด ไม่ได้เชื่อรีวิวเพียงอย่างเดียว เพราะเธอมองว่าการตลาดของธุรกิจเหล่านี้ค่อนข้างน่ากลัว
“กุ๊กไก่จะดูทั้งเคสรีวิวด้วย แล้วก็ถามจากเพื่อนที่เป็นคนเกาหลี คือให้เขาช่วยเสิร์ชข่าวภาษาเกาหลี เพราะว่าข่าวเกาหลีที่เขาประกาศว่าเคสหลุด มีคนตาย มีคนไปประท้วงกันหน้าโรงพยาบาล มันเป็นภาษาเกาหลีไง คนไทยไม่มีทางอ่านเจออยู่แล้ว คือเราก็ให้เขาช่วยหาหรือปรึกษาเขาว่าโรงพยาบาลนี้ไม่ได้ดังในไทยเลย แต่ว่ามันดีใช่ไหม ให้เพื่อนช่วยเช็คเช็ก เราต้องดูหลายๆ ทาง” คุณกุ๊กไก่กล่าว
Before & After
เมื่อตัดสินใจจะทำศัลยกรรมแล้ว อีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญคือการพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างแพทย์กับผู้รับบริการ โดย นพ.นพรัตน์ กล่าวว่า ศัลยแพทย์ที่ดี ไม่ใช่แค่รู้ว่าคนไข้ควรผ่าตัดอะไร แต่ต้องรู้ด้วยว่าคนนี้ไม่ควรผ่า ต้องมีการประเมินสภาพจิตใจและความคาดหวังในการทำศัลยกรรมทุกครั้ง
“บางครั้งก็มีคนไข้ที่มีปัญหาครอบครัว สามีไปมีกิ๊ก แล้วมาปรึกษาประชด หรือทำศัลยกรรมไปเลย เพราะคิดว่าถ้าตัวเองดูดีขึ้น สามีต้องกลับมา ถ้ามีเงื่อนไขแบบนี้ แปลว่าไม่พร้อม หรือกลุ่มคนที่มีความคาดหวังสูงเกินจริง คิดว่าพอทำศัลยกรรมปุ๊บ แล้วฉันต้องสวยเวอร์วังอลังการ ทั้งที่ความจริงเนื้อมันเปลี่ยนแปลงได้แค่นิดเดียว หรือมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับศัลยกรรมว่าผ่าตัดแล้วต้องทำวิธีนี้ แล้วมันจะออกมาเป็นแบบนี้ เราต้องเคลียร์ให้ชัดก่อนว่าจะได้ประมาณนี้ ถ้าคุณเข้าใจผิด ก็ไม่ควรทำ”
สำหรับผู้ที่ผ่านด่านการประเมินสภาพจิตใจแล้ว จะมีการพูดคุยในรายละเอียดเกี่ยวกับความต้องการของผู้รับบริการ ข้อจำกัดทางร่างกาย และภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้น เช่น ติดเชื้อ เอียง เบี้ยว อาจมีการใช้ภาพประกอบร่วมด้วย เพื่อให้การสื่อสารชัดเจนที่สุด รวมทั้งนัดหมายเพื่อตรวจซ้ำหลังผ่าตัด
“ถ้าคนที่ไม่ได้มีความหวาดกลัว ก็ไม่มีอะไร เพราะการศัลยกรรมสมัยนี้มีความปลอดภัยขึ้นมาก เพียงแต่สภาพร่างกายต้องพร้อม ผู้ที่มีโรคประจำตัวจะมีความเสี่ยงในการที่ดมยา ถ้าไม่ดมยาก็อาจจะเลือดหยุดช้า อาจจะมีการติดเชื้อรอบๆ บริเวณที่ผ่าตัดอยู่ หรือว่าการพักผ่อนไม่เพียงพอ ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ซึ่งทำให้เส้นเลือดฝอยเปราะ แตกง่าย หรือเป็นความดันโลหิตสูง ที่จะทำให้เลือดออกเยอะหลังผ่าตัด หรือการกินอาหารเสริม วิตามินต่างๆ หรือยาที่กินประจำ แล้วมันมีผลต่อเลือด ถ้าเลือดไม่หยุดก็จะเกิดอันตรายได้ ต้องเช็คเช็กร่างกาย ถ้าผ่าตัดเล็กๆ ก็จะเป็นการถามประวัติ แต่ถ้าเป็นการผ่าตัดใหญ่ก็จะเจาะเลือดเอ็กซเรย์ปอด เพราะต้องดมยาสลบ แล้วก็ต้องทำความสะอาดร่างกายมาให้ดี ก่อนผ่าตัด ไม่ต้องแต่งหน้ามา” นพ.นพรัตน์อธิบายเกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนผ่าตัด ด้านคุณกุ๊กไก่ก็เสริมว่า ก่อนการผ่าตัด โดยเฉพาะการผ่าตัดใหญ่อย่างการทำโครงหน้า จำเป็นต้องเตรียมลางานหรือหาวันว่างหลายๆ วัน ทั้งวันเดินทาง วันผ่าตัด และช่วงเวลาสำหรับพักฟื้น
สำหรับการดูแลตัวเองหลังจากผ่าตัด นพ.นพรัตน์แนะนำว่าควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และไปตรวจตามนัดทุกครั้ง อย่าเพิ่งรีบประเมินผลการผ่าตัด เพราะยังมีอาการบวม อาจทำให้ผู้รับบริการวิตกกังวล แต่ให้คอยสังเกตอาการผิดปกติต่างๆ ในส่วนที่ผ่าตัด และหากพบความผิดปกติก็ไม่ควรปล่อยไว้ ให้รีบปรึกษาแพทย์ที่ผ่าตัดให้ทันที
ทำอย่างไร เมื่อศัลยกรรมทำ “พัง”
“ศัลยกรรมที่ผิดพลาดคือจมูก ครั้งล่าสุดที่แก้ใหม่ เพราะว่าอันเก่ามันเจ็บและมันแดงมาประมาณปีกว่าแล้ว แต่เราไม่รู้ตัว แต่เพื่อนเห็นว่ามันแปลก มันแดง ก็คุณหมอคนเก่าบอกว่าเขาใส่กระดูกหลังหูให้กุ๊กไก่ แต่เราก็เจ็บ ก็เลยตัดสินใจแก้ พอไปแก้ที่เกาหลี หมอบอกว่าพอเปิดจมูกออกมา ข้างในไม่มีกระดูกหลังหู มีแต่ซิลิโคนตัดแปะไว้ นี่คือสาเหตุที่จมูกอักเสบและแดง ช็อก! เพราะกระดูกหลังหูไปอยู่ไหนก็ไม่รู้” กุ๊กไก่เล่าถึงประสบการณ์การทำศัลยกรรมที่เกือบ “พัง” เมื่อ 8 ปีก่อน แต่เธอก็ไม่ได้ดำเนินคดีกับแพทย์คนดังกล่าวแต่อย่างใด
ประสบการณ์ของเธอครั้งนี้ ก็สอดคล้องกับความเห็นของ นพ.สงวน ที่กล่าวว่า นอกจากตัวผู้รับบริการแล้ว ปัจจัยที่อาจก่อให้เกิดความผิดพลาด ก็ได้แก่ แพทย์ที่ไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ หรือแพทย์เถื่อน ที่ระบบราชการไม่สามารถตรวจสอบดูแลได้อย่างทั่วถึง เนื่องจากขาดบุคลากร หัตถการที่ไม่เหมาะสมจนทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ในขณะเดียวกัน แพทย์ที่ทำหัตถการก็ไม่สามารถหาวิธีรักษาที่เหมาะสมได้ รวมทั้งตัวสถานประกอบการที่ไม่มีความพร้อมพอ ทำให้เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน ก็ไม่สามารถกู้ชีพได้ทัน
สำหรับการเอาผิดในกรณีการศัลยกรรมที่ผิดพลาด นพ.สงวนกล่าวว่า ปัจจุบันนี้ ผู้เสียหายสามารถเอาผิดได้หลายช่องทาง เช่น หากคิดว่าแพทย์ที่ให้บริการทำโดยขาดความรู้ความสามารถ หรือไม่รับผิดชอบพอ ก็สามารถร้องเรียนไปที่แพทยสภา หรือกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ตรวจสอบว่าแพทย์คนดังกล่าวมีความรู้ความเชี่ยวชาญจริง เหมาะสมกับที่ให้บริการผู้ป่วยหรือไม่ รวมทั้งสามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในด้านการเยียวยาผู้เสียหาย นพ.สงวนระบุว่า โดยทั่วไปแล้ว การศัลยกรรมความงามย่อมมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างการรักษาได้ ศัลยแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านนี้จึงมักจะให้ความรู้และมีการพูดคุยทำความเข้าใจกับคนไข้ ก่อนที่จะรับบริการ “เสมอ” ดังนั้น จึงมักจะไม่มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายอย่างชัดเจน แต่จะเป็นลักษณะของการตกลงเรื่องค่าใช้จ่าย หากมีการผ่าตัดแก้ไขในภายหลัง
“ส่วนมากจะเกิดเรื่องก็เพราะว่า เมื่อมีความเสียหายหรือมีภาวะแทรกซ้อน แพทย์เจ้าของไข้มักจะบ่ายเบี่ยงหรือปฏิเสธความรับผิดชอบ เนื่องจาก หนึ่ง การแก้ไขภาวะแทรกซ้อน บางทีมันมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการที่ผู้ป่วยเสียเงินมาทำศัลยกรรมครั้งแรกๆ อีก สอง แพทย์ไม่มีความรู้ความสามารถในการรักษาเรื่องเหล่านี้ แต่การที่จะบอกผู้ป่วยว่าทำไม่ได้ก็อาจจะทำให้เสียภาพลักษณ์ หรือถ้ามีข่าวออกไปแล้ว ก็อาจจะมีผลเสียต่อการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของตัวเองได้ อีกอย่างก็คือ แพทย์ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญที่จะดูออกว่านี่คือภาวะแทรกซ้อน ไม่ทราบว่านี่คือปัญหาที่ต้องแก้ หรือถ้าไม่แก้จะเกิดอะไรขึ้นตามมา” นพ.สงวนกล่าว