เผยภาพแรก “อุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินใหญ่ที่สุดในประเทศไทย”

เผยภาพแรก “อุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินใหญ่ที่สุดในประเทศไทย”

เผยภาพแรก “อุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินใหญ่ที่สุดในประเทศไทย”
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าในย่านธุรกิจสำคัญที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) จึงลุยเปิดเครื่องขุดเจาะโครงการก่อสร้างอุโมงค์ Outgoing ชิดลม ซึ่งเป็นอุโมงค์เชื่อมต่อระบบจ่ายไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3.6 เมตร ความลึกกว่า 30 เมตร ยาวประมาณ 1,800 เมตร เพื่อเพิ่มเส้นทางการจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบสายไฟฟ้าแรงสูง

อุโมงค์เชื่อมต่อระบบจ่ายไฟฟ้าถูกสร้างขึ้นภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคงเพียงพอ รองรับการเชื่อมต่อสายไฟฟ้าแรงสูงจากโครงการสายใต้ดินในพื้นที่ใกล้เคียง และช่วยปรับทัศนียภาพของกรุงเทพมหานครให้สวยงาม มีความปลอดภัยในกรณีที่เกิดผลกระทบจากพายุฝน หรือลมพายุในฤดูกาลต่างๆ และพร้อมผลักดันให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นมหานครอาเซียน Smart Metro อย่างเต็มรูปแบบ

ในการพัฒนาระบบจำหน่ายพลังงานไฟฟ้าในเขตเมืองให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดนั้น กฟน. ได้ก่อสร้างอุโมงค์สายไฟฟ้าใต้ดินแรงดันสูง 230 กิโลโวลต์ จำนวนมากถึง 4 แห่ง โดยแบ่งเป็นโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จคือ อุโมงค์สถานีต้นทางบางกะปิถึงสถานีต้นทางชิดลมระยะทาง 7 กิโลเมตร และอุโมงค์สายส่งไฟฟ้าลาดพร้าวถึงวิภาวดีระยะทาง 10 กิโลเมตร ส่วนโครงการที่อยู่ในระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการบริเวณคลองพระโขนง ระยะทาง 780 เมตร และโครงการอุโมงค์ Outgoing สถานีต้นทางชิดลมระยะทาง 1,800 เมตร นั่นเอง  

สำหรับการก่อสร้างอุโมงค์ Outgoing สถานีต้นทางชิดลมแห่งนี้ ใช้วิธีการก่อสร้างแบบ Shielded Tunneling ซึ่งต้องใช้เครื่องขุดเจาะขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางถึง 2.6 เมตร และ 3.6 เมตร เพื่อให้สามารถขุดอุโมงค์พร้อมๆ กับการติดตั้งผนังอุโมงค์ได้ในคราวเดียว ภายในอุโมงค์มีการติดตั้งระบบความปลอดภัยระดับสูงสุดด้วยเทคโนโลยีทันสมัยมากมาย อาทิ ระบบป้องกันความปลอดภัยในกรณีเกิดอุทกภัยด้วยระบบระบายน้ำ และการก่อสร้างทางลงอุโมงค์ในระยะพ้นน้ำที่ความสูง 1.20 เมตร รวมถึงมีการติดตั้งระบบแจ้งเตือนอัคคีภัย และระบบระบายอากาศเพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้         

โครงการนี้ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานในเขตพื้นที่เศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นการวางแผนระบบไฟฟ้าที่บูรณาการเชื่อมต่อกับท่อร้อยสายที่ กฟน. ก่อสร้างร่วมกับเส้นทางรถไฟฟ้าอีกด้วย โครงการดังกล่าวมีความคืบหน้าไปมากกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2563  และใช้งบประมาณในการก่อสร้างกว่า  878 ล้านบาท ซึ่งการก่อสร้างอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดินนี้ถือเป็นการดำเนินการที่เชื่อมโยงบูรณาการเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และรองรับการขยายตัวของเศรษฐกิจ และปริมาณการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในสังคมเมือง

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook