ตีระฆังสะเทือนถึงดวงดาว

ตีระฆังสะเทือนถึงดวงดาว

ตีระฆังสะเทือนถึงดวงดาว
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปัญหา (ที่กลายเป็นดราม่า ตามเคย) เรื่องวัดไทร พระราม 3 ตีระฆังยามดึกดื่นจนไปรบกวนผู้อยู่อาศัยบางคนในคอนโดใกล้เคียง เป็นอีกตัวอย่างของความซับซ้อนทั้งเชิงกฎหมาย วัฒนธรรม ประเพณี การขยายตัวของเมืองอย่างไม่เป็นระเบียบ และความจำเป็นในการอยู่ร่วมกันที่ดูเหมือนจะยากขึ้นทุกวัน

เสียงแตกเป็นสองฝั่งใหญ่ๆ คือ ที่เห็นว่าคอนโดไม่เคารพประเพณีของวัดและแสดงอาการ “เหนือกว่า” โดยการร้องเรียนไปยังเขตบางคอแหลมให้วัดเลิกตีระฆัง แถมยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองเป็นสิ่งแปลกปลอมที่มาทีหลังวัด ซึ่งเป็นสถานที่เก่าแก่อายุกว่า 300 ปี ส่วนอีกฝั่งมองว่า วัดเองนั่นแหละไม่ปรับตัว ไม่มองว่าเมืองขยายตัวออกไปและผู้คนใน “ชุมชน” มีจำนวนมากขึ้น และแตกต่างจากเมื่อก่อน การกระทำกิจกรรมที่ดูเหมือนเป็นเรื่องปกติอาจจะไม่ปกติอีกต่อไปในสายตาของคนหลายคนที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนใกล้เคียง (ทั้งนี้ รายละเอียดยังต้องสืบให้แน่ชัด เพราะมีรายงานว่า ผู้พักอาศัยในคอนโดที่รายงานความไม่พอใจไปยังเขตฯ มีเพียงคนเดียว ซึ่งหมายถึงเรื่องนี้เหตุลุกลามโดยไม่จำเป็นเลย)

>> โซเชียลเดือด! กทม.ส่งจดหมาย ขอวัดตีระฆังเบาๆ เหตุ "กวนเวลานอน" ชาวคอนโดหรู

>> คนใน "คอนโดหรู" แจงอีกมุม มีร้องเรียนวัดตีระฆังดังแค่ห้องเดียว ทำโดนเหมาด่า

เราจะหาความสมดุลระหว่างกฎหมาย วัฒนธรรม และความเห็นอกเห็นใจกันอย่างไร โดยเฉพาะในโลกที่ความแตกต่างในทางนิสัย กิจวัตร ศาสนา มีมากขึ้น และทุกความแตกต่างนั้นสามารถออกเสียงให้คนทั่วไปรับรู้ได้ และใครจะเป็นผู้ประสานความแตกต่างนั้น เพราะอย่างกรณีที่เกิดขึ้น ไม่มีทางที่คอนโดจะทุบทิ้งย้ายหนี หรือวัดอายุ 300 ปีจะเก็บระฆังเก่าแก่แล้วเลิกตีไปเลย หรือย้ายวัดหนีไปตีระฆังที่อื่น

เหตุผลที่ว่าวัดอยู่มาเก่าแก่นั้นสมควรต้องรับฟังและให้ความเคารพ และ “ความใหม่” ของคอนโดไม่ได้แปลว่ามีสิทธิ์เหนือ “ความเก่า” แต่ในขณะเดียวกัน มันมีความสุ่มเสี่ยงที่จะอ้างเหตุผลว่า “ใครมาก่อน” เพราะไม่เช่นนั้นโรงเรียน ห้าง ร้านอาหาร หรือศาสนสถานหลายๆ แห่ง (ทั้งพุทธ คริสต์ อิสลาม) ก็ไม่ได้มาก่อนชุมชนรอบข้างเสมอไป และการมาใหม่มักสร้างปัจจัยที่ไปกระทบสิ่งที่มีมาเก่าก่อนเสมอ

ในทางตรงกันข้าม ผู้อาศัยอยู่ในคอนโดหรือบ้านมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้องให้กฎหมายรับประกันความสงบสุขในการมีชีวิต ไม่ใช่แค่เสียงระฆังจากวัดหรือเสียงเรียกไปละหมาดจากสุเหร่า ซึ่งไม่น่าจะรบกวนประสาทได้มากกว่าเสียงมอเตอร์ไซค์ที่บิดกันหนักหน่วง เสียงดนตรีจากบาร์ที่มาเปิดรอบบ้าน (อันนี้โดนกันถ้วนหน้า) เสียงงานก่อสร้างตอกเสาเข็มของคอนโดหรือหมู่บ้าน แม้แต่เสียงจากสนามบินที่เคยเป็นปัญหากับหลายๆ ชุมชนแถวลาดกระบัง 

ยังไม่ต้องพูดถึงศาสนสถานอื่นๆ เช่นสุเหร่า ที่แต่ก่อนมักอยู่ในชุมชนมุสลิม แต่พอบ้านจัดสรรขยายตัวไปซื้อที่ที่เคยเป็นไร่นาชานเมืองแล้วสร้างบ้านราคาหลายสิบล้าน มีผู้อยู่อาศัยจากทุกศาสนาไปอยู่ร่วมกับชุมชนเดิม เสียงเรียกไปละหมาดของสุเหร่าก็ยังดังตั้งแต่ตีห้าเหมือนที่เคยเป็นมาเป็นร้อยๆ ปี แต่จากเสียงที่เป็นเสียงสวรรค์อาจกลายเป็นเสียงรบกวนสำหรับคนที่ไม่อยู่ร่วมในวัฒนธรรมนั้น (สุเหร่าแห่งหนึ่งในเมืองมาซย์ ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส แก้ปัญหานี้โดยไม่ใช้เสียงเรียกไปละหมาดออกลำโพง แต่ใช้สาดไฟสีไปรอบๆ สุเหร่าเมื่อถึงเวลาสวดมนต์แทน เป็นการปรับตัวของคนกลุ่มน้อยเข้าหาสังคมที่ความคุกรุ่นเรื่องเชื้อชาติและศาสนาเคยสร้างปัญหามากมายมาแล้ว)

>> ดราม่าพระตีระฆัง "เพชร กรุณพล" แจงแค่ปลาเน่าตัวเดียว อย่าเหมารวมทั้งคอนโด

>> "ทับทิม มัลลิกา" ฉะอีกราย อยู่คอนโดหรูไม่เคยได้ยินเสียงระฆังวัดดัง

ถ้าแบบโลกสวยก็ต้องบอกว่า ไม่ใครก็ใครสักคนต้องเสียสละ แต่ถ้าพูดแบบมีเหตุผล มีสติ เรื่องแบบนี้ชุมชนต้องคุยกันแล้วหาทางออก โดยหวังว่ากฎหมายของทางการจะเป็นตัวช่วยสุดท้าย แต่ละชุมชนแต่ละพื้นที่อาจะมีทางออกที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับสมาชิก ลูกบ้าน และบริบททางเชื้อชาติ ศาสนา ประวัติศาสตร์ ฯลฯ โดยมีรัฐเป็นตัวประสานใช้กฎหมายเป็นกรอบให้เกิดการสนทนา และไม่จำเป็นต้องเอากันให้ถึงเป็นถึงตาย เช่น ชุมชนพุทธกับชุมชนอิสลามที่รั้วติดกันมีมากมายเต็มกรุงเทพฯ แต่มีปัญหานี้น้อยมาก เพราะวัดก็ต้องฟังเสียงละหมาด สุเหร่าก็ต้องฟังเสียงสวดภาณยักษ์ ถ้าวันไหนมากไปก็บอกกันได้ ไม่ใช่ต้องเผชิญหน้ากันตลอด

>> ฟังชัดๆ คลิปพระตีระฆัง "วัดไทร" ดังขนาดไหน คนอยู่คอนโดหรูถึงร้องเรียน

>> ทำไมต้องตีระฆัง? เมื่อ "วิถีพุทธ" ถูกลดคุณค่า เพราะวิถีไทยสมัยใหม่

กรณีวัดตีระฆังนี้ เราอาจจะต้องรอข้อมูลละเอียดกว่านี้ เช่นหากเป็นจริงที่ว่ามีลูกบ้านแค่คนเดียวหรือสองคนไปร้องเรียนโดยที่ลูกบ้านคนอื่นๆ ไม่เคยเห็นว่าเป็นปัญหา เรื่องทั้งหมดคงไม่ใหญ่โตเป็นไวรัลกันแบบนี้ อีกประเด็นหนึ่งคือ ทางการอาจจะต้องใจเย็นๆ ใช้วิธีการพูดคุยกับทุกฝ่ายก่อนจะออกกฎห้ามหรือสั่งการใดๆ กฎหมายเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องยึดถือนั้นแน่นอนอยู่แล้ว แต่ก่อนจะถึงกฎหมาย กฎอื่นๆ ของสังคมยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยประสานความไม่เข้าใจได้ เว้นเสียแต่ว่าประเทศไทยถึงจุดที่เรื่องอะไรก็คุยกันไม่ได้แล้ว กฎหมายอะไรก็ใช้อ้างไม่ได้แล้ว

หวังว่าอย่าให้ถึงวันนั้น (หรือถึงเร็วเกินไป) เลย

 

เกี่ยวกับผู้เขียน

ก้อง ฤทธิ์ดี 

นักข่าว บรรณาธิการ คอลัมนิสต์ และนักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง ที่สนใจประเด็นความเคลื่อนไหวต่างๆ ของสังคมอย่างต่อเนื่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook