รถตู้ฯ น้อยลง ใครบ้างที่กระทบ? ฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง

รถตู้ฯ น้อยลง ใครบ้างที่กระทบ? ฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง

รถตู้ฯ น้อยลง ใครบ้างที่กระทบ? ฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รถตู้ฯ น้อยลง ใครบ้างที่กระทบ? ฟังเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการและผู้เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ซึ่งเป็นวันแรกหลังจากที่กรมขนส่งทางบกไม่อนุมัติขยายอายุการใช้งานของรถตู้โดยสารที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี ทั้งที่รับส่งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดเพื่อความปลอดภัย ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนมาก รวมถึงผู้โดยสารที่ต้องเดินทางโดยใช้รถตู้สาธารณะต่างได้รับผลกระทบลดหลั่นกันไป

แม้ว่าทางอดีตอธิบดีกรมขนส่งทางบกจะพยายามแก้ปัญหาเรื่องของจำนวนรถที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยการเพิ่มรถเมล์ ขสมก.ใน 6 เส้นทางเพื่อทดแทนรถตู้ที่ต้องหยุดวิ่ง อย่างไรก็ตาม จากการลงพื้นที่สัมภาษณ์ของ Sanook! News ปัญหานี้ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่เฉพาะกับผู้โดยสาร เพราะผู้ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงนี้โดยตรงคือเหล่าผู้ประกอบการเดินรถตู้สาธารณะที่ต้องขาดรายได้

อีกด้านของการเปลี่ยนแปลง

“คือมันส่งผลกระทบเพราะเราต้องหยุดเดินรถทันที ซึ่งก็เดือดร้อนกันหมดเพราะรายได้เรามาจากการเดินรถอย่างเดียว แล้วผู้โดยสารก็โดนผลกระทบด้วยเพราะรถบริการของเรามีไม่เพียงพอ ปัจจุบันมีเหลือแค่ 110 คัน จากเดิมที่มี 130 คัน บางส่วนก็ถูกเอาไปจอดซ่อมบ้าง” นี่คือเสียงสะท้อนจากหนึ่งในผู้ประกอบการที่ดูแลคิวรถตู้และผู้โดยสารเส้นทางอนุสาวรีย์ชัยฯ – ห้างฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต หนึ่งในเส้นทางที่มีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน

แม้กระทั่งเส้นทางที่ไม่ได้มีผู้โดยสารใช้บริการมากนัก บางส่วนก็ได้รับผลกระทบและต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องจำนวนรถที่ไม่พอให้บริการเช่นกัน “อย่างวินนี้ (อนุสาวรีย์ชัยฯ - มหาวิทยาลัยกรุงเทพ) มีรถสัก 30 คัน พอกฎนี้ออกมา รถก็หายไปประมาณ 7 คัน แค่นี้มันก็มีผลกระทบแล้ว อย่างของเราที่หายไป 7 คัน นี่ก็เท่ากับเราเสียผู้โดยสารไปเป็นร้อยคนเลยนะ แล้วไม่ใช่แค่กับเราอย่างเดียว อย่างถ้าผู้โดยสารจะไปทำงาน บ้านคุณอยู่ดอนเมือง ตอนเช้ารถที่ดอนเมืองจะมีอยู่ 30 คัน จำนวนเที่ยวจะได้อยู่ที่ 40 เที่ยว แล้วถ้ารถหายไป เที่ยวก็ต้องน้อยลง พอคนเหลือก็ต้องกระจายกันไปขึ้นที่อื่นอีก” คุณเอก (นามสมมติ) หนึ่งในผู้เช่าและเจ้าของรถตู้ที่ให้บริการในบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ มาร่วม 20 ปีแบ่งปันข้อมูลกับเรา

สำหรับในบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ คุณเอกเล่าว่าที่นี่จะมีรถให้บริการทั้งหมดสี่หมวด หมวดหนึ่งคือรถที่เดินทางในช่วงปริมณฑลของกรุงเทพฯ เช่น มีนบุรีและห้างฟิวเจอร์พาร์ค ในขณะที่หมวดสอง สาม และสี่ จะวิ่งระหว่างกรุงเทพฯ กับต่างจังหวัดในระยะทางไม่เกิน 300 กิโลเมตร 

“อย่างหมวดสองหมวดสามนี่ เขาให้เปลี่ยนเป็นรถไมโครบัส แล้วคันหนึ่งราคามัน 2-3 ล้าน คนขับก็รับต้นทุนไม่ไหว ต้องรอรัฐเข้ามาช่วย อย่างพวกท่ารถต่างจังหวัด ถ้าเขาเปลี่ยนแล้วรายได้มันดีขึ้นก็โอเค แต่ส่วนใหญ่ที่ไม่เปลี่ยนกันเพราะต้นทุนมันสูง เราก็อยากให้รัฐเข้ามาช่วยลดต้นทุนตรงนี้ให้ถูกลงมาหน่อย เพราะใครที่เขาเปลี่ยนไม่ได้ก็ต้องไปทำอาชีพอื่นซึ่งบางคนเขาขับมา 20 – 30 ปีแล้ว”

ทางออกอยู่ที่ไหน?

เพื่อจะรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งได้รวมตัวกันเพื่อเข้าไปต่อรองกับทางศาลปกครองเพื่อขอให้ผ่อนคลายเรื่องข้อบังคับเมื่อวันที่ 1 ที่ผ่านมา

“อย่างแรกเลย มันมีบางคนที่เขายังไม่พร้อมที่จะออกรถใหม่ รถตู้บางคัน ถึงจะ 10 ปีแล้วแต่สภาพมันยังดีอยู่ อย่างน้อยถ้ายืดเวลาต่อให้คนขับสักสองปี เขาก็น่าจะมีเวลาเก็บเงินไว้ออกรถคันใหม่ อีกอย่างรถไฟฟ้าหลายสายจากนอกเมืองมันก็มาที่อนุสาวรีย์ชัยฯ ถ้าออกรถใหม่คนขับเขาก็มองว่ามันจะไม่คุ้ม” หนึ่งในตัวแทนจากผู้ประกอบการที่ให้บริการรถโดยสารเส้นทางระหว่างอนุสาวรีย์ชัยฯ – มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ให้ข้อมูลเพิ่มเติม

สิ่งนี้สอดคล้องกันกับความต้องการของคุณเอกที่อยากให้ภาครัฐปรับระเบียบข้อบังคับใหม่ เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการบางส่วนที่ไม่สามารถออกรถใหม่ได้ทันที

“ตอนนี้เรายังแก้ไขอะไรไม่ได้ ก็ต้องรอจนกว่าจะออกรถใหม่ถึงจะดำเนินการอะไรได้ ซึ่งเราก็อยากขอรัฐว่า ให้ผู้ประกอบการของเราออกมาวิ่งบ้างได้ไหมสำหรับรถที่อายุเกิน เพื่อที่เราจะได้ดำเนินชีวิตต่อไปได้ระหว่างที่รอรถใหม่ อย่างน้อยสักเดือนหรือสองเดือน เพราะแต่ละวัน ถ้าคนขับไม่ได้วิ่งรถ เราก็ไม่มีเงินมาใช้จ่ายเพราะหลายคนก็เป็นเสาหลักของครอบครัว อีกทั้งส่วนใหญ่ก็เป็นเจ้าของรถเองซึ่งมันก็กระทบกับการทำมาหากินของเขา”

เสียงจากทางผู้โดยสารและผู้เกี่ยวข้อง

เมื่อลองพูดคุยกับ คุณฝน (นามสมมติ) หนึ่งในผู้โดยสารที่ต้องใช้บริการรถตู้เส้นอนุสาวรีย์ชัยฯ – ดอนเมืองเป็นประจำ ทั้งเช้าและเย็น เธอเล่าว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลกระทบต่อเธอ โดยเฉพาะเรื่องของเวลาในการเดินทางที่เปลี่ยนไปจากเดิม

“อย่างเมื่อเช้า กว่าจะถึงก็เก้าโมง เพราะต้องรอรถนานมาก เป็นชั่วโมง ซึ่งปกติตอนเช้าเราจะรอไม่นาน ส่วนตอนเย็นก็แล้วแต่ ถ้าไม่ใช่ช่วงคนเลิกงานก็ไม่เกิน 30 นาที เป็นปกติของตอนเย็น”

เมื่อลองถามความเห็นดูว่า หากผู้ประกอบการจะเอารถตู้ที่อายุเกิน 10 ปี มาวิ่ง คุณฝนในฐานะผู้โดยสารจะรับได้หรือไม่ เธอระบุว่าเรื่องนี้ต้องดูข้อตกลงกันก่อน แต่ส่วนตัวอยากให้เปลี่ยนไปตามกฎหมาย แต่ก็ต้องเปลี่ยนในลักษณะที่ไม่ส่งผลกระทบแบบนี้ เพราะเธอเองก็ไม่รู้ว่าวันต่อๆ ไปจะต้องเผื่อเวลาเดินทางแค่ไหน

จากข้อมูลอีกด้านของ รศ.ดร.สรวิศ นฤปิติ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ในขั้นแรก ก่อนที่ผู้ประกอบการจะเช่าซื้อรถมาใช้เพื่อให้บริการขนส่ง ทุกคนจะต้องทราบข้อมูลเรื่องอายุการใช้งานของรถแต่ละประเภท เหตุเพราะข้อกำหนดนี้ถือเป็นระเบียบที่ใช้กันทั่วโลก ที่มากไปกว่านั้น เรื่องความปลอดภัยของรถตู้เองก็เป็นอีกประเด็นที่ทำให้นักวิชาการหลายคนต้องตั้งคำถาม “เรื่องรถตู้เป็นเรื่องที่นักวิชาการถกเถียงกันว่ามันเหมาะจะใช้เพื่อขนส่งคนหรือเปล่า เพราะเราก็เห็นว่ามีข่าวอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถตู้ให้เห็นอยู่บ่อยๆ อย่างเมืองนอกส่วนใหญ่เขาไม่ใช้กัน แต่จะใช้เป็นรถมินิบัสแทน โดยเฉพาะรถที่ต้องวิ่งระหว่างจังหวัดควรจะเปลี่ยนเป็นรถมินิบัส ซึ่งก็มีบางบริษัทที่เริ่มเอามาใช้แล้ว”

เมื่อสอบถามอาจารย์เพิ่มเติมในเรื่องของรถเมล์อย่างที่ผู้ให้บริการรถตู้สาธารณะตั้งข้อสังเกต ทาง อาจารย์ รศ.ดร.สรวิศ มองว่า แม้รถเมล์อาจจะมีสภาพที่เก่า อย่างไรก็ตาม ก็ยังถือว่ามีความปลอดภัยกว่าเมื่อเทียบกับรถตู้ “ในกรณีของรถเมล์ ต้องบอกก่อนเลยว่ารถเมล์เป็นรถที่มีขนาดใหญ่ เพราะฉะนั้นโอกาสพลิกคว่ำแทบจะไม่มีเลย รถส่วนใหญ่เองก็ไม่ได้วิ่งด้วยความเร็วสูง เน้นการขนส่งในเมืองเป็นหลัก ส่วนรถตู้เป็นรถที่สามารถเร่งความเร็วได้ ขึ้นทางด่วนได้ ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่เคยมีการกำหนดความเร็วของรถก็ยิ่งอันตรายกว่านี้”

แม้จะมีเรื่องของความปลอดภัยเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้รัฐต้องจำกัดการให้บริการของรถตู้สาธารณะบางส่วน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องปริมาณรถที่ไม่เพียงพอให้บริการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งส่งผลในวงกว้าง เห็นได้ชัดเจนผ่านภาพของคนจำนวนมากที่ต้องยืนรอรถโดยสารบริเวณสถานี BTS หมอชิต ซึ่งผู้โดยสารบางส่วนต้องถูกทิ้งให้ตกค้างเหตุเพราะข้อจำกัดเรื่องปริมาณรถ

หลายวันที่ผ่านไป

จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม ศาลได้ตัดสินว่าจะไม่รับคำร้องขอไต่สวนฉุกเฉินที่ทางตัวแทนผู้ประกอบการรถตู้สาธารณะในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดยื่นเพื่อขอผ่อนคลายข้อบังคับ เนื่องจากมองว่าไม่ใช่เหตุฉุกเฉิน นั่นหมายความว่า ข้อกำหนดในเรื่องอายุการใช้งานของรถตู้สาธารณะก็จะยังคงถูกบังคับใช้ต่อไป

สำหรับขั้นตอนการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทางกรมการขนส่งทางบกเองก็พยายามหารือเพื่อหาข้อสรุปในการกู้เงินลงทุนจากภาครัฐ เพื่อจัดหารถตู้คันใหม่มาทดแทนให้วิ่งบริการแทนรถตู้ที่หมดอายุขัยตามกฎหมาย

จากการลงพื้นที่ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ทีมงานของ Sanook! News พบว่าปัญหาในเรื่องจำนวนรถที่ให้บริการบริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯ ดูเหมือนจะคลี่คลายไปได้แล้วส่วนหนึ่งเนื่องจากไม่ได้มีผู้โดยสารยืนต่อคิวเป็นจำนวนมากเพื่อรอขึ้นรถ คาดว่าส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะเด็กๆ อยู่ในช่วงปิดภาคเรียน อย่างไรก็ตาม สำหรับการเยียวยาผู้ประกอบการ เราอาจจะต้องรอดูกันต่อไปว่าทางภาครัฐจะใช้นโยบายใดอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อช่วยเหลือในจุดนี้ เพราะนอกจากเรื่องของความสะดวกสบายแล้ว ปัญหานี้ยังเกี่ยวพันกับเรื่องของปากท้องของคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook