"ดร.ธรณ์" โพสต์แจงสาเหตุ ทำไมต้องปิดปรับปรุง อ่าวมาหยาแบบไร้กำหนด

"ดร.ธรณ์" โพสต์แจงสาเหตุ ทำไมต้องปิดปรับปรุง อ่าวมาหยาแบบไร้กำหนด

"ดร.ธรณ์" โพสต์แจงสาเหตุ ทำไมต้องปิดปรับปรุง อ่าวมาหยาแบบไร้กำหนด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองอธิการบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อมชื่อดัง ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ชี้แจงถึงประเด็นการฟื้นฟูอ่าวมาหยา และสาเหตุที่จำเป็นต้องมีการประกาศปิดต่อไปอย่างไม่มีกำหนดในฤดูท่องเที่ยวปลายปีนี้ โดยระบุว่า

อ่าวมาหยาเป็นอ่าวกึ่งปิด มองจากภาพก็พอทราบ ภายในอ่าวเป็นแนวปะการังน้ำตื้นหลายสิบไร่ เรื่อยไปจนเกือบจรดหาดทราย แผ่นดินของอ่าวมาหยามีพื้นที่ 30 ไร่นิดๆ เป็นเขตที่ผมเขียนไว้ว่า “ฟื้นฟูป่า/หาดทราย” ถัดไปด้านหลังสุด (เขตทางเข้าใหม่) เป็นอ่าวเล็กๆ ที่สามารถเข้ามาสู่อ่าวมาหยาได้ บริเวณนั้นมีปะการังอยู่บ้าง (อ่าวทุกแห่งทุกหาดในพีพีล้วนมีปะการัง) พื้นที่เล็กกว่าอ่าวมาหยาหลายเท่า

การฟื้นฟูอ่าวมาหยาที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน ทำใน 2 ลักษณะ อันดับแรก ติดตั้งทุ่นบอกเขต ไม่ให้เรือเข้ามาในอ่าวมาหยา เพราะเรือคือสาเหตุหลักที่ทำให้ปะการังน้ำตื้นในอ่าวมาหยาเสียหายหนัก เมื่อไม่มีเรือ เราสามารถฟื้นฟูปะการังได้ โดยใช้แนวทางให้ธรรมชาติฟื้นตัว และช่วยปลูกปะการังเพิ่มเติมโดยกรมอุทยานกับม.เกษตรศาสตร์

ผมเคยนำเรื่องของการฟื้นตัวของปะการังในเขตนี้มาเล่าให้ฟังหลายหน พื้นที่ในอ่าวมาหยาจะไม่เปิดให้เรือเข้ามาอีกเลย...ตลอดไป เพราะถ้าเรือเข้ามาเมื่อไหร่ ทั้งหมดที่ทำไปก็สูญเปล่า ธรรมชาติจะฟื้นตัวกี่ปี จะช่วยปลูกปะการังกี่พันกี่หมื่นกิ่ง เรือเข้ามาเมื่อไหร่ ทุกอย่างก็ตายเหี้ยนเหมือนเดิม เพราะฉะนั้น ตรงนี้เป็นเขตห้ามเรือเข้าถาวร (ลองดูภาพอีกครั้งเพื่อความเข้าใจ พื้นที่ฟื้นฟูปะการังที่ผมเขียนไว้น่ะครับ) อีกพื้นที่คือหาดทรายและป่า เนื่องจากอ่าวมาหยามีนักท่องเที่ยวมหาศาล ทำให้เกิดผลกระทบในบริเวณนั้น 

ผลกระทบจะเป็นเท่าไหร่ ผมไม่สามารถบอกเพื่อนธรณ์ได้ เนื่องจากไม่ใช่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านป่าหรือด้านหาดทราย แต่กรมอุทยานมีการประสานกับผู้เชี่ยวชาญลงไปศึกษาติดตาม นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนทำท่าเรือเพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ทางด้านหลัง และทางเดินในป่าชายหาดเพื่อลดผลกระทบจากการขึ้นเที่ยวบนบก

การฟื้นฟูดังกล่าวต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง จึงเป็นที่มาของการงดให้บริการท่องเที่ยวชั่วคราวเพื่อลดผลกระทบ จากนั้นเมื่อเปิดใหม่ จะมีระบบควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว เช่น การเข้าไปเป็นรอบ แต่ละรอบมีจำนวนคนที่จำกัดไว้ชัดเจน ฯลฯ ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่าการฟื้นฟูอ่าวมาหยาแบ่งเป็น 2 ส่วน 1. เขตฟื้นฟูปะการังในอ่าวมาหยาที่จะไม่อนุญาตให้เรือเข้าอีกแล้ว 2. ส่วนที่กำลังฟื้นฟูเพื่อปรับรูปแบบในการรับนักท่องเที่ยวให้พอเหมาะและเกิดความยั่งยืน

ผมคงจะลงไปอ่าวมาหยาอีกในไม่ช้า เพื่อที่จะไปดูว่า ปะการังในอ่าวมีการฟื้นตัวแค่ไหนและอย่างไร จะนำมารายงานให้เพื่อนธรณ์ทราบครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook