ถอดรหัสพลังงานทางเลือกใหม่ของโลก “รถยนต์ไฟฟ้า” เหมาะแค่ไหนกับพฤติกรรมของคนไทย

ถอดรหัสพลังงานทางเลือกใหม่ของโลก “รถยนต์ไฟฟ้า” เหมาะแค่ไหนกับพฤติกรรมของคนไทย

ถอดรหัสพลังงานทางเลือกใหม่ของโลก “รถยนต์ไฟฟ้า”  เหมาะแค่ไหนกับพฤติกรรมของคนไทย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จากวิกฤตการณ์โลกร้อนที่กำลังระบาด ทุกประเทศล้วนประสบกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วง ซึ่งหนึ่งในต้นตอของสาเหตุมาจากปริมาณของรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นทุกวันตามจำนวนของประชากรและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เนื่องจากรถยนต์หนึ่งคันจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ชั้นบรรยากาศมาถึง 200 กรัมต่อกิโลเมตรที่วิ่ง ซึ่งถ้าในพื้นที่นั้นมีรถยนต์มากกว่า 1 ล้านคัน สมมติว่าแต่ละคันวิ่งกันในระยะ 10 กิโลเมตร นั่นเท่ากับว่าในวันนั้นจะมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึงสองล้านกิโลกรัมต่อวันเลยทีเดียว

ด้วยสาเหตุนี้จึงส่งผลให้ “รถยนต์ไฟฟ้า” กลายเป็นทางออกของปัญหาที่หลายประเทศทั่วโลกต่างตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญ กระทั่งมีการออกกฎหมายเกื้อหนุนรถยนต์ไฟฟ้าให้กลายเป็นพาหนะหลักของประเทศ อาทิ จีนที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการร่างนโยบายห้ามไม่ให้มีการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่ใช้น้ำมันทุกประเภท  อินเดียก็ตั้งเป้าหมายจะใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนที่รถทุกประเภทที่ใช้น้ำมันให้ได้ทั้งประเทศภายในปี 2030 อังกฤษเริ่มมีนโยบายสั่งห้ามการผลิตรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลและเบนซิลตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป เพื่อแก้ปัญหามลพิษ พร้อมกับสนับสนุนเงินมูลค่า 255 ล้านปอนด์เพื่อช่วยเหลือหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ปัญหามลพิษที่เกิดจากยานพาหนะ และกลุ่มประเทศใน EU ก็ต่างพร้อมใจชูมือสนับสนุนนโยบายพลังงานไฟฟ้าอย่างเต็มที่ ส่งผลให้ในปัจจุบันมียอดขายรถยนต์ไฟฟ้ามากกว่า 1.6 ล้านคันทั่วโลก ซึ่ง “นอร์เวย์” คือตลาดกลุ่มที่เติบโตเร็วที่สุด และคาดว่าจะเป็นประเทศแรกที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ภายในปี 2025

เรื่องของรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่แค่ผู้ขายเท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุน เพราะในทางกลับกันส่วนของผู้บริโภคในหลายประเทศก็ได้รับการเกื้อหนุนจากรัฐบาล ด้วยการปรับลดภาษีสำหรับผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ  เนื่องจากทุกภาคส่วนมองเห็นตรงกันว่านี่จะเป็นความร่วมมือครั้งใหญ่ในการกอบกู้วิกฤตสิ่งแวดล้อมของโลกให้กลับคืนมาบริสุทธิ์เหมือนเดิม โดยประเทศไทยก็ถือเป็นหนึ่งในนั้นเพราะล่าสุดกระทรวงการคลังได้ประกาศราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับรถยนต์คือรถยนต์ไฟฟ้า EV เต็มรูปแบบได้รับการลดอัตราภาษีสรรพสามิตลงเหลือ 2% (ซึ่งเป็นอัตราการเสียภาษีสรรพสามิตที่ต่ำที่สุด ในบรรดารถยนต์ทุกประเภท)

ข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อทั่วโลกตื่นตัวและพร้อมใจกันลุยสู่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เราจึงทำการเจาะลึกหาข้อดีของรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม พบว่ามีอยู่หลายข้อไล่เลียงมาตั้งแต่เงียบและเร็ว ชาร์จพลังงานที่บ้านได้โดยไม่จำเป็นต้องแวะปั๊มน้ำมันทำให้ค่าใช้จ่ายในการเดินทางถูกกว่าเดิม และที่สำคัญคือไม่มีท่อไอเสียที่จะปล่อยควันพิษออกมา เรื่องของการประหยัดคือหัวใจสำคัญที่หลายคนให้ความสนใจ รถยนต์ไฟฟ้าประหยัดอย่างไร เรามีคำตอบ

ประหยัดแรกคือรถยนต์ไฟฟ้าสามารถชาร์จพลังงานที่บ้านได้ ดังนั้นคุณไม่จำเป็นต้องแวะปั้มน้ำมันให้ยุ่งยาก สามารถชาร์จได้ขณะที่จอดอยู่ในบ้าน นี่คือประหยัดแรกคือประหยัดเวลาและค่าเดินทาง ประหยัดถัดมาคือค่าใช้จ่ายในการดูแล เพราะรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ไม่มีส่วนประกอบเกี่ยวกับเครื่องยนต์ และมีองค์ประกอบการขับเคลื่อนที่น้อยและเรียบง่ายกว่าเครื่องยนต์สันดาป ไม่มีท่อไอเสีย ไม่มีกรองไอเสียต้องเปลี่ยน ไม่ต้องเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง หรือเรียกได้ว่าการดูแลรักษารถยนต์ทั่วไปในชีวิตประจำวัน เหลือแค่การดูแลลมยางเท่านั้น  

เตรียมตัวให้ทันเทรนด์โลก “รถยนต์ไฟฟ้า”

เมื่อ “รถยนต์ไฟฟ้า” มาแน่ และกำลังจะกลายเป็นเทรนด์หลักของโลก ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทำความรู้จักกับเรื่องนี้อย่างละเอียด โดยรถยนต์ไฟฟ้าแบ่งออกได้เป็น  3 ประเภทคือ

1.รถยนต์ไฟฟ้าแบบ 100% (Electric Vehicle : EV) คือ รถยนต์ไฟฟ้าที่มีมอเตอร์ไฟฟ้าเป็นต้นกำลังให้รถยนต์เคลื่อนที่ และใช้พลังงานไฟฟ้าที่ถูกชาร์ตเข้ามาอยู่ในแบตเตอรี่แบบลิเธียมไอออนเท่านั้น ข้อดีของแบตเตอรี่ชนิดนี้ที่ทำให้เป็นที่นิยมกันอย่างแพร่หลายในวงการยานยนต์คือ

  • มีน้ำหนักเบาเพราะผลิตจากโลหะลิเธียมซึ่งเป็นโลหะที่มีน้ำหนักเบา
  • แบตเตอรี่มีขนาดเล็ก แต่สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้มากกว่าในปริมาตรที่เท่ากัน
  • อายุการใช้งานของแบตเตอรี่สามารถใช้งานได้อย่างยาวนาน

2.รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (Plug-in Hybrid Electric Vehicle : PHEV) คือ รถยนต์ไฟฟ้าที่พัฒนาต่อยอดมาจากรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด โดยสามารถประจุพลังงานไฟฟ้าได้จากแหล่งพลังงานภายนอก (Plug-in) จึงสามารถใช้พลังงานพร้อมกันจาก 2 แหล่ง ทำให้วิ่งได้ระยะทางและความเร็วที่เพิ่มขึ้นด้วยพลังงานจากไฟฟ้าโดยตรง

3.รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (Hybrid Electric Vehicle : HEV) คือ รถยนต์ที่ประกอบด้วยเครื่องยนต์เผาไหม้ภายในเป็นต้นกำลังในการขับเคลื่อนหลัก ซึ่งใช้เชื้อเพลิงที่บรรจุในยานยนต์และทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มกำลังของรถยนต์ให้เคลื่อนที่ซึ่งทำให้เครื่องยนต์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงต่ำกว่ายานยนต์ปกติ โดยพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในมอเตอร์จะได้กลับคืนมาจากพลังงานที่ต้องสูญเสียจากการเบรกและถูกนำมาประจุไว้ในแบตเตอรี่

เจาะตลาดประเทศไทยพร้อมแค่ไหนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า

แม้ว่าตอนนี้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจะยังไม่แพร่หลายและจำกัดตัวอยู่ในวงแคบ ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง แต่จากผลการสำรวจล่าสุดพบว่าคนไทยกว่า 44 เปอร์เซ็นต์รอการมาถึงของรถยนต์ไฟฟ้า และในกลุ่มของคนที่กำลังตัดสินใจจะซื้อรถคันใหม่พร้อมจะพิจารณารถยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวเลือกสำคัญ เพราะเล็งเห็นถึงความคุ้มค่าของการใช้งานระยะยาว ทว่าในความอยากได้ย่อมมีความลังเล โดย 2 ปัจจัยหลักที่ผู้ใช้งานหน้าใหม่กังวลมากที่สุดเมื่อคิดจะลงทุนกับรถยนต์ไฟฟ้าคือ “ความปลอดภัย” และ “ความสะดวกสบายในการชาร์จไฟ”  ซึ่งหากภาคอุตสาหกรรมและภาครัฐบาลสามารถขจัดอุปสรรคเหล่านี้ลงได้ ความเป็นไปได้ของรถยนต์ไฟฟ้าก็จะมีอยู่สูง

ประเทศไทยกับแผนงานโครงข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

ด้วยความที่เป็นหนึ่งในความกังวลที่สุดของคนที่คิดจะใช้รถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาลและเอกชนที่มุ่งหวังจะพัฒนาให้ประเทศปลอดมลพิษจากรถยนต์จึงร่วมแรงกันอย่างเต็มกำลังเพื่อให้บริการด้านรถยนต์ไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายว่าจะขยายสถานีชาร์จให้ได้ถึง 690 แห่งภายในปี 2036 พร้อมกับแท่นชาร์จที่ครอบคลุมทุกประเภทคือ               

  1. หัวชาร์จแบบปกติ (Normal Charger) ใช้เวลาชาร์จ 8 ชั่วโมง
  2. หัวชาร์จแบบเร็ว (AC Normal Charger)ใช้เวลาชาร์จ 2-3 ชั่วโมง
  3. หัวชาร์จแบบเร็วมาก (DC Quick Charger) ใช้เวลาชาร์จ 30 นาที

 อีกทั้ง กฟน. ยังได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่น  MEA EV สำหรับคนใช้ยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ เพื่อจะได้คอยตรวจสอบสถานที่ตั้งของสถานีชาร์จ รวมถึงชนิดของหัวชาร์จอย่างละเอียดได้แบบทันท่วงที เรียกว่าทั้งหมดนี้คือความร่วมมือครั้งใหญ่ของคนทั่วโลกอย่างแท้จริงเพื่อพา “โลก” ใบนี้กลับเข้าสู่โหมด GO GREEN อย่างเต็มรูปแบบ

 (Advertorial)

 

 

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook