เปิดกฎหมาย "ลงทะเบียนสัตว์" นานาประเทศ ค่าธรรมเนียมสูงลิ่วกว่าไทยเยอะ

เปิดกฎหมาย "ลงทะเบียนสัตว์" นานาประเทศ ค่าธรรมเนียมสูงลิ่วกว่าไทยเยอะ

เปิดกฎหมาย "ลงทะเบียนสัตว์" นานาประเทศ ค่าธรรมเนียมสูงลิ่วกว่าไทยเยอะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ร่าง พ.ร.บ.ลงทะเบียนสัตว์ ทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ไปต่างๆ นานา แม้ว่าล่าสุดจะสั่งทบทวนไปก่อน เพราะค่าธรรมเนียมตัวละ 450 บาท ค่อนข้างเป็นภาระ แต่สำหรับกฎหมายเรื่องนี้ในบางประเทศ ค่อนข้างเข้มงวดกว่าของไทยมาก

สืบเนื่องจาก ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ที่ยังไม่มีผลบังคับใช้แต่อย่างใด มีประเด็นสำคัญในประโยชน์ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ซึ่งทำให้เจ้าของมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงมากขึ้น

แม้ว่าล่าสุดได้การตีกลับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไป เนื่องจากเห็นว่าการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมและอัตราค่าปรับ ในการขึ้นทะเบียนและการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ อาจเป็นภาระแก่ประชาชนเกินสมควร จึงจำเป็นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นและเสียงจากประชาชนเพิ่มเติมก่อน ตามข่าวที่รายงานไปแล้วนั้น

สำหรับกฎหมายลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงที่ถูกร่างเอาไว้ของไทยนั้น ได้มีข้อกำหนดเอาไว้ว่า เจ้าของสัตว์เลี้ยงต้องนำสัตว์ทุกประเภทมาขึ้นทะเบียน (บังคับใช้ระยะแรกกับสุนัขและแมว) พร้อมจัดเก็บค่าธรรมเนียม ประกอบด้วย ค่าคำร้องขอขึ้นทะเบียนฉบับละ 50 บาท ค่าสมุดประจำตัวสัตว์ฉบับละ 100 บาท ค่าเครื่องหมายประจำสัตว์ตัวละ 300 บาท รวมเป็นเงิน 450 บาท หากเจ้าของสัตว์เลี้ยงฝ่าฝืน ไม่นำสัตว์มาขึ้นทะเบียน จะมีโทษปรับไม่เกิน 25,000 บาท

ขณะที่ในต่างประเทศหลายชาติก็มีกฎหมายให้ลงทะเบียนสัตว์เลี้ยงเช่นเดียวกัน ประเทศเนเธอร์แลนด์ กำหนดให้สุนัขทุกตัวในประเทศต้องถูกขึ้นทะเบียน และมีการเรียกเก็บภาษีการถือครองสุนัขเป็นรายปี ซึ่งเจ้าของสุนัขทุกคนต้องจ่ายภาษีให้กับเขตเทศบาลหรือหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นที่ตนเองอาศัยอยู่

ซึ่งแต่ละพื้นที่ของเนเธอร์แลนด์จะมีอัตราการเรียกเก็บภาษีสุนัขในอัตราที่แตกต่างกันออกไป ในสุนัขตัวแรก ในอัตราตัวละ 112.80 ยูโร ต่อปี (ปีละ 4,274 บาท) สุนัขตัวที่ 2 ในอัตราตัวละ 176.76 ยูโร ต่อปี (ปีละ 6,700 บาท) และสุนัขตัวที่ 3 ในอัตราตัวละ 224.16 ยูโรต่อปี (ปีละ 8,500 บาท) ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่มีสุนัขในความดูแลมากเท่าใด ก็จะต้องเสียภาษีในอัตราที่สูงมากยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว

ประเทศไอร์แลนด์เหนือ ได้มีการออกกฎหมายบังคับว่า สุนัขและแมวทุกตัวจะต้องถูกขึ้นทะเบียนกับรัฐบาล และเจ้าของจะต้องจ่าย “ค่าใบอนุญาต” ในการครอบครองสุนัขและแมวในอัตราตายตัวที่ปีละ 12.50 ปอนด์สเตอร์ลิง หรือประมาณปีละ 540 บาท

ส่วนที่ ประเทศเยอรมนี มีกฏหมายบังคับให้ผู้เลี้ยงสุนัขและแมว ต้องจ่ายเงินภาษีบำรุงท้องที่ให้กับเขตปกครองท้องถิ่นที่ตนอาศัยอยู่ ซึ่งแต่ละท้องที่จะเรียกเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันออกไป เช่น กรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของเยอรมนี มีการเรียกเก็บภาษีจากผู้ครอบครองสุนัขและแมวในอัตราตัวละ 140 ยูโรต่อปี (ปีละ 5,300 บาท) และหากผู้ใดมีสุนัขและแมวในความครอบครองมากกว่า 1 ตัว สุนัขและแมวตัวต่อๆ ไป (ตัวที่ 2,3,4…..) จะถูกเก็บภาษีในอัตราตัวละ 180 ยูโรต่อปี (ปีละ 6,820 บาท)

เช่นเดียวกับ ประเทศนิวซีแลนด์ ที่มีกฎข้อบังคับให้สุนัขและแมวทุกตัวที่มีอายุตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป เจ้าของหรือผู้ดูแลนำมาขึ้นทะเบียน พร้อมกับฝังไมโครชิพ รวมถึงติดป้ายแท็ก ซึ่งจะมีการเปลี่ยนสีทุกปี ขณะที่ในนิวซีแลนด์ไม่มีการเก็บภาษีสุนัขและแมว มีแต่เพียงการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเล็กน้อยในการฝังไมโครชิพและลงทะเบียนเท่านั้น

>> รัฐหนุนกฎหมายป้องกันทารุณสัตว์ เล็งขึ้นทะเบียนหมา-แมว ฝ่าฝืนปรับสูงสุด 25,000
>> สั้นๆ ง่ายๆ ทำความเข้าใจกฎหมาย “ขึ้นทะเบียนสัตว์เลี้ยง” แบบกระชับใน 5 ข้อ
>> "ลุงตู่" สั่ง "ทบทวน" ขึ้นทะเบียนหมาแมว แต่ไม่ถึงกับถอนร่างกฎหมาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook