บ้านโฉลกหลำ... วันเดียวเที่ยวไม่จบ
เที่ยวทะเลไหนดี...
คำถามนี้ อาจมีคำตอบมากมาย แต่ท้ายสุดและสุดท้าย มาจบลงที่ “เกาะพะงัน”
พอบอกเกาะพะงัน เพื่อนๆ มักบอกเป็นเสียงเดียวกัน ฟูลมูลปาร์ตี้...
ไม่ใช่ค่ะ ไม่ได้เที่ยวฟูลมูน แต่ทริปนี้ขอมาดื่มด่ำกับธรรมชาติและดูวิถีชีวิตชาวเลของชาวบ้าน เพราะเชื่อว่าที่เกาะพะงันยังมีแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจให้ใกล้ชิดธรรมชาติอีกหลายจุด
“บ้านโฉลกหลำ” ต.เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นชุมชนเล็กๆ ที่เราเลือกเป็นแหล่งเช็คอิน เพื่อเติมพลังให้กับตัวเอง โดยไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อนเลยว่า ชุมชนแห่งนี้เคยโด่งดังและเป็นที่รู้จักของคนทำอาชีพทางทะเล เพราะมีหน้าอ่าวที่ใหญ่ เรือสัญจรไปมาทางน้ำเส้นทางนี้ต้องแวะมาจอด ที่นี่จึงเคยเป็นจุดที่เฟื่องฟูมีคนเข้าออกพลุกพล่าน
แต่นั่นเป็นอดีตเมื่อประมาณเกือบสามสิบปีที่ผ่านมา เพราะปัจจุบันชุมชนแห่งนี้ดำรงวิถีชีวิตประมง ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิมพื้นฐานแบบเรียบง่าย ไม่มีคนเข้าออกมากมายเหมือนแต่ก่อน เพราะหน้าอ่าวที่เคยเป็นร่องลึกเกิดตื้นเขินโดยธรรมชาติ ทำให้เรือเข้ามาจอดไม่ได้ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ เริ่มมีนักท่องเที่ยวสายชิลล์ชอบธรรมชาติมาเที่ยวกันมากขึ้นแล้ว ชาวบ้านจึงลุกขึ้นมาบริหารจัดการเปิดบ้าน และทำรีสอร์ทเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว
ป้าเจ้าของร้านอาหารที่ไปทานยิ้มยิงฟันขณะเล่าให้ฟังว่า บ้านโฉลกหลำ เพิ่งได้รับรางวัลชมเชยจากการคัดเลือกชุมชน OTOP นวัตวิถี จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อเร็วๆ นี้ด้วยนะ
ดีจริง ไม่คิดเลยว่า ทริปนี้จะได้เที่ยวและสัมผัสแบบใกล้ชิดกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนที่มีเรื่องราวน่าสนใจมากมายขนาดนี้
จุดเด่นที่มาแล้วต้องไม่พลาด คือ ดำน้ำดูปะการัง เพราะบ้านโฉลกหลำเป็นจุดดำน้ำที่ขึ้นชื่อลำดับต้นๆ ของเมืองไทย สามารถดำน้ำได้ทั้งแบบน้ำตื้นและน้ำลึก เช่น ที่หาดขอม หาดท้องหลาง เกาะม้า และที่หน้าอ่าวโฉลกหลำเลย
แต่ถ้าชอบแนวแอดเวนเจอร์ต้องไปที่ “วังไทร Adventure Park” มีกิจกรรมให้วัดใจอย่างปีนหน้าผาและซิปไลน์ ครูที่มาดูแลกิจกรรมที่นี่เคยเป็นมือหนึ่งเรื่องการปีนหน้าผาอ่าวนาง จ.กระบี่ เลยทีเดียว จึงไม่ต้องสงสัยว่าเมื่อเข้ามาแล้วมีกิจกรรมมากมายหลายฐานให้สนุกได้ทั้งวัน
เมื่อเข้ามาที่นี่จึงได้ยินแต่เสียงกรี๊ดของคนที่เริ่มลองเล่นกิจกรรมต่างๆ เป็นครั้งแรก...
ด้วยความอยากใกล้ชิดชาวบ้าน จึงแวะลงไปดูสวนมะพร้าว มีลิงกำลังเก็บมะพร้าวพอดี และได้ดูวิธีการทำผลิตภัณฑ์น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น แถมท้ายด้วยการทำขนมพื้นบ้าน พี่คนทำบอกว่า กิจกรรมนี้ต้องนัดแนะกันก่อน เพราะไม่ได้มีให้ดูทุกวัน ถ้านักท่องเที่ยวสนใจก็สอนให้ได้
โชคดีจังที่ไปแล้วตรงจังหวะพอดี เลยได้ร่วมทำกับเขาด้วย...
เดินเที่ยวและทำกิจกรรมแล้ว ท้องเริ่มหิว ได้รับคำแนะนำอีกครั้งจากคนในพื้นที่ว่า มาโฉลกหลำ ต้องไม่พลาดชิมอาหารพื้นบ้านที่เข้ากันมีรวมทั้งหมด 5 อย่างด้วยกัน คือ ข้าวมันกะทิ เป็นข้าวที่เอากะทิมาร่วมปรุง (ลักษณะเหมือนข้าวมันไก่) ทานร่วมกับ น้ำชุบ ซึ่งก็คือน้ำพริก หน้าตาคล้ายๆ น้ำพริกเผา ทานกับผักสด อีกอย่างคือ น้ำชุบมุงมัง คือ การเอาลูกตะลิงปลิงมาซอย ใส่หอม พริกขี้หนู หรือกุ้งแห้งร่วมไปด้วย หมูโค คือ การเอามาหมูมารวนทำให้แห้งใส่เครื่องปรุงรส และ แกงเลียง แบบบ้านๆ จะมีกุ้งแห้งที่ชาวบ้านทำเอง และผักที่ปลูกไว้ในบ้านนำมาทำเป็นแกงเลียง
หลังได้ชิมแล้วต้องยกนิ้วให้ เพราะหรอยจังฮู้
มนต์เสน่ห์ของบ้านโฉลกหลำอีกอย่าง คือ การได้เดินชิลล์บนถนนสายซีฟู้ด นักท่องเที่ยวเรียกว่า Seafood Street ทุกร้านอาหารในย่านตลาดจะมีแต่อาหารทะเลสดๆ ที่สามารถเลือกซื้อและเลือกร้านนั่งได้เลย หรือถ้าชอบบรรยากาศแบบชิลล์ๆ ที่มองเห็นพระอาทิตย์ตกดิน และยังเห็นมุมกว้างของพะงันได้ทั้งเกาะแบบ 360 องศา ก็สามารถเลือกร้านในละแวกนั้นได้เช่นกัน
เผลอเดินเที่ยวแวบเดียว หนึ่งวันแล้วยังเที่ยวไม่ครบเลย จริงดังที่มีคนบอกไว้ก่อนหน้านี้ว่า “โฉลกหลำ วันเดียวเที่ยวไม่จบ” เพราะนี่ยังไม่ได้ไปแวะเที่ยวที่หาดมารีบู ซึ่งเป็นหาดทรายสะอาด ทรายนิ่มเท้า มีมุมสวยๆ ให้ถ่ายภาพ ให้นอนอาบแดด แถมยังมี ทะเลแหวก อยู่ที่หน้าหาด รวมถึงเกาะม้าอีกด้วย
การมาเที่ยวที่นี่ไม่ยากเลย จากกรุงเทพฯ มาลงที่ จ.สุราษฎร์ธานี ตรงไปที่ท่าเรือ เพื่อข้ามไปเกาะพะงัน จากท่าเรือที่เกาะพะงันมีรถสองแถวที่เป็นรถประจำทาง หรือจะใช้บริการรถรับจ้างเหมาก็แล้วแต่ความสะดวก สามารถตรงไปในหมู่บ้านได้เลย เมื่อถึงในหมู่บ้านก็ไม่ต้องห่วงเรื่องที่พัก เพราะมีทั้งโรงแรมขนาดใหญ่และรีสอร์ทให้เลือกพักได้ตามความสะดวกของเงินในกระเป๋า
ก่อนกลับ ชาวบ้านที่นี่ยังกระซิบบอกอีกว่า มีเทศกาลไดหมึก แต่ต้องมาช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน ช่วงนั้นมองออกไปหน้าหาดจะเห็นแสงสีเขียวระยิบระยับอยู่ในทะเล แล้วเจอกันอีกครั้ง บ้านโฉลกหลำ ชุมชนของคนที่มีแต่รอยยิ้มและมิตรไมตรี
“บ้านโฉลกหลำ” จ. สุราษฎร์ธานี เป็นส่วนหนึ่งของโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ถูกขับเคลื่อนพัฒนาประเทศตามโครงการ “ไทยนิยม ยั่งยืน” จากการที่รัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ที่มุ่งสร้างรายได้และความเจริญ ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการร่วมกันภาครัฐ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งอย่างแท้จริง เพื่อสร้างรอยยิ้ม คืนความสุข เพื่อคนไทยทุกคน และหากใครที่ชื่นชอบการท่องเที่ยว วิถีชีวิต ภูมิปัญญา และวัฒนธรรมแบบไทยๆ สามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่