"กัปตันจักรี" เผยเบื้องหลัง ดราม่าการบินไทยดีเลย์ "นักบินตกเป็นจำเลยสังคม"
จากกรณี เที่ยวบินที่ ทีจี 971 ซูริก-กรุงเทพฯ เกิดความล่าช้า เนื่องจากนักบินไม่ยอมนำเครื่องขึ้น เพราะที่นั่งของนักบินที่จะโดยสาร (Deadhead pilot) ไม่ได้นั่งชั้นเฟิร์สคลาส ทำให้ผู้โดยสารปกติประมาณ 300 คนต้องรอ สุดท้ายมีผู้โดยสาร 2 คน สามี-ภรรยา ยอมสละที่นั่งชั้นธุรกิจจึงทำให้เครื่องบินเดินทางได้ตามที่เสนอข่าวไปแล้วนั้น
>> "การบินไทย" ขอโทษดราม่าฉาว คณะนักบินไม่นำเครื่องขึ้นบิน ทำดีเลย์กว่า 2 ชม.
>> ฟังจากมุม "สามีภรรยา" ผู้ยอมสละที่นั่งการบินไทย จบดราม่าดีเลย์ 2 ชั่วโมง
ล่าสุด นาวาตรี จักรี จงศิริ กัปตัน ครูการบินและนักบินเทคนิค ฝูงบินโบอิ้ง 734 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ถึงสาเหตุการล่าช้าของเที่ยวบิน TG971 จากนครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มายังสนามบินสุวรรณภูมิ
โดยระบุว่า เวลาประมาณ 10.20 น. ลูกเรือและนักบินมาถึงเครื่อง กระทั่งเวลา 10.50 น. พบว่า นักบินเปลี่ยนกะ (Passive หรือ Deadhead Crew) ได้ที่นั่ง 16AB / 16JK ในชั้นธุรกิจ ซึ่งไม่ตรงตามคู่มือ
กัปตันผู้ที่มีอำนาจในการทำการบิน (Pilot-in-Command หรือ PIC) จึงได้โทรถามผู้จัดการสถานี (KK) ถึงเรื่องการจัดที่นั่งของนักบินเปลี่ยนกะ (Passive Seat) และขอให้เปลี่ยน 2 ที่นั่งสำหรับนักบินเปลี่ยนกะให้อยู่ในโซนเฟิร์สคลาส เนื่องจากเที่ยวบินนี้บินเฉพาะชั้นธุรกิจ (Business Class หรือ B/Class) และชั้นประหยัด (Economy Class หรือ Y/Class) จึงมีที่ว่างให้ชั้นเฟิร์สคลาสสำหรับนักบินเปลี่ยนกะ ใช้ที่นั่งในโซนเฟิร์สคลาสได้ตามสิทธิ แต่ได้รับคำตอบจากผู้จัดการสถานีซูริก ว่า “ที่นั่งเฟิร์สคลาสเต็มแล้ว”
กัปตันผู้มีอำนาจแปลกใจ เนื่องจากตอนสรุปก่อนทำงาน ว่า มีผู้โดยสารชั้นธุรกิจ ที่ได้นั่งชั้นเฟิร์สคลาส เพียง 3 ที่นั่ง และ 7 ที่นั่งตามลำดับเวลา และไม่แน่ใจว่า มีรายการจองผู้โดยสารชั้นธุรกิจที่ได้นั่งชั้นเฟิร์สคลาสเพิ่มเข้ามา หรืออัพเกรดผู้โดยสาร หรือมีเหตุผลอื่นใดที่ผู้จัดการสถานีซูริกไม่ได้อธิบายให้เข้าใจ จึงขอให้ผู้จัดการสถานีซูริก อย่าเพิ่งให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่อง ขอให้แก้ปัญหาตรงนี้ก่อน เพราะหากให้ผู้โดยสารขึ้นเครื่องแล้ว ต้องมีการสับเปลี่ยนที่นั่งภายหลัง จะทำให้แก้ปัญหาภายในเครื่องยุ่งยากกว่าเดิม
แต่ผู้จัดการสถานีซูริก ยืนยันที่จะไม่เปลี่ยนที่นั่งให้ผู้โดยสาร โดยตอบว่า “กัปตัน Passive แค่นอนกลับ ผู้โดยสารมีค่ากว่า” และกล่าวว่า “เดี๋ยวผู้โดยสารจะร้องเรียน” ก่อนที่ไม่มีการติดต่อใดๆ จากพนักงานภาคพื้นอีกเลย
เวลาผ่านไปถึง 50 นาที เลยเวลาเครื่องออก เป็นครั้งแรกที่ผู้จัดการสถานีซูริก เดินมาหน้าห้องนักบิน บอกว่า “ผู้โดยสารพร้อมแล้ว” กัปตันถามว่า “จัดการที่นั่งเรียบร้อยหรือยัง” ได้รับคำตอบว่า "ทำไม่ได้" และไม่ได้มีคำอธิบายใดอีก กัปตันจึงบอกว่า "ก็ยังไม่ต้อง Board" แต่ผู้จัดการสถานีซูริกกลับแจ้งดังชัดเจนว่า “งั้นก็ AOG เครื่อง เข้าโรงแรมนอนให้หมด” (AOG หรือ Aircraft on Ground คือ การให้เครื่องบินจอด) ทางนักบินทุกคนก็ตกใจ และงงกับคำพูดของผู้จัดการสถานีซูริก ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น พูดอย่างนั้นได้อย่างไร เวลาผ่านไป 30 นาที ผู้จัดการสถานีซูริกเดินมาพูดหน้าห้องนักบิน โดยบอกกัปตันผู้มีอำนาจว่า "ให้โทรกลับไปหา OS กัปตันณัฐชัยด้วย” แล้วเดินจากไป
กัปตันและนักบินหลายท่านที่นั่งในห้องนักบิน ได้พยายามเชิญผู้จัดการสถานีซูริกมานั่งคุย แต่ผู้จัดการสถานีซูริกปฏิเสธ และเดินจากไป เวลาผ่านไปอีก 30 นาที ผู้จัดการสถานีซูริก เดินมาแจ้งกัปตันอีกครั้งว่า “PIC ไปแจ้งเหตุผลแก่ผู้โดยสารหน้าเกทเอง” แล้วก็เดินจากไป อีก 10 นาทีต่อมา ผู้จัดการสถานีซูริกเดินมาพูดว่า “มีแต่ DK เท่านั้นที่จะบอกให้ผมย้ายที่นั่งผู้โดยสารได้” (DK คือ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้น)
เวลาผ่านไป 10 นาที เจ้าหน้าที่ภาคพื้น (Ground Staff) ผู้หญิงเข้ามาแจ้งว่า ผู้จัดการสถานีซูริกกำลังคุยกับกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายบริการลูกค้าภาคพื้น เวลาผ่านไป 15 นาที เจ้าหน้าที่ภาคพื้นเข้ามาแจ้งว่า ทุกอย่างเรียบร้อย จึงเริ่มทำการนำผู้โดยสารขึ้นเครื่อง แล้วเสร็จภายใน 20 นาที จึงดำเนินการขออนุญาตทำการบินต่อไป เครื่องบินจอดที่กรุงเทพฯ เวลา 00.06 น. ตามเวลาประเทศไทย
นอกจากนี้ น.ต.จักรี ยังโพสต์ข้อเสนอแนะจากเหตุการณ์ดังกล่าวว่า
1.เมื่อเที่ยวบินใดทำการบินเฉพาะชั้นธุรกิจ และชั้นประหยัด ด้วยเครื่องบินที่มีชั้นเฟิร์สคลาส ซึ่งมีอยู่ในเครื่องบินโบอิ้ง 747 และแอร์บัส A380 ขอให้ระบบปิดพื้นที่ชั้นเฟิร์สคลาส เพื่อผู้โดยสารชั้นธุรกิจ ไม่สามารถจองที่นั่งล่วงหน้าในชั้นเฟิร์สคลาสได้ ป้องกันปัญหาความเหลื่อมล้ำ การร้องเรียน ความเสียหายของเก้าอี้ อุปกรณ์บนเครื่องบิน หรือปัญหาอื่นๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
2.ขอให้พนักงานภาคพื้นติดต่อสื่อสารกับกัปตันผู้มีอำนาจ หรือหัวหน้าลูกเรือให้เข้าใจรับรู้ในสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้น อย่างถูกต้อง และต่อเนื่อง หากมีสิ่งใดเปลี่ยนแปลงไปจากเอกสาร หรือการกล่าวสรุปที่ได้รับก่อนการบิน เพื่อนักบินและลูกเรือจะได้เตรียมความพร้อมที่จะให้บริการอย่างถูกต้อง
3.การแก้ปัญหาใดๆ ก็ตามที่ต้องใช้เวลามาก ขอให้ทุกฝ่ายตระหนักถึงข้อจำกัดเรื่องชั่วโมงการบินของนักบินและลูกเรือด้วย ซึ่งเที่ยวบิน TG 971 วันดังกล่าว ทำการบินโดยนักบินเพียง 3 คน อีกเพียง 2 ชั่วโมงจะหมดเวลาตามข้อกำหนด ก็ต้องยกเลิกไฟลต์หรือ เพราะนักบิน 3 คนที่ต้องทำการบินต่อไปอีก 10-11 ชั่วโมงนั้น ไม่อาจทราบว่า จะพบเจออะไรระหว่างทาง และอาจกระทบกระเทือนถึงความปลอดภัยของเที่ยวบินได้
4.ลูกเรือเปลี่ยนกะ (Passive) แม้จะไม่ได้ปฏิบัติงานในเที่ยวบินนั้นๆ แต่ก็บินมาเพื่อเตรียมพร้อมในการทำงานในเที่ยวบินขากลับ ขอให้พนักงานภาคพื้นตรวจสอบตรวจตราจัดเตรียมรถรับส่งให้เพียงพอกับนักบินและลูกเรือในวันนั้น เพราะทางสถานีน่าจะทราบข้อมูลล่วงหน้าแล้ว ไม่สมควรให้ลูกเรือหรือนักบินนั่งแท็กซี่ไปโรงแรมเอง เพื่อความปลอดภัย ความเป็นระเบียบ และภาพลักษณ์ที่ดีของสายการบิน ซึ่งเที่ยวบินวันนั้น นักบินและลูกเรือ 4 คน ต้องเรียกรถแท็กซี่เพื่อนั่งไปโรงแรมที่พักเอง
>> "กัปตันสนอง" ไขข้อสงสัย ทำไมนักบินการบินไทยถึงต้องนั่งชั้น First Class
>> รู้หรือยัง? สายการบินดีเลย์ ผู้โดยสารจะได้รับการชดเชยอะไรบ้าง